เทรนด์การทำงานและการตลาด ปี 2024

ผู้เรียบเรียง

ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์

นักเอกสารสนเทศชำนาญการ ฝ่ายบริการ

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

            ปี 2024 นี้ เห็นได้ชัดว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากมายจากหลาย ๆ กระแส ดังเช่นเทรนด์การทำงานและการตลาดที่เป็นผลหรือเกี่ยวข้องกับสื่อสังคม (Social Media) โดยปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคนี้ส่วนหนึ่งของการทำงานให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดี ในการทำงาน ประกอบกับการใช้ Social Media จนไปถึงแนวทางการรับรู้เกี่ยวกับการใช้ AI ให้เหมาะสม หรือได้อย่างถูกต้อง ต่อเนื่องไปจนถึงเทรนด์ทางด้านการตลาดเช่นกัน ซึ่งต้องมีการปรับตัวกับการแข่งขันกันค่อนข้างสูง เพื่อความอยู่รอดและประสบความสำเร็จให้ได้ ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่ควรเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันในยุคนี้คือ เทรนด์การทำงานและการตลาดที่มีบทบาทส่งผลต่อกันได้ และเพื่อให้ปรับตัวตามเทรนด์ได้ทันท่วงที อีกทั้ง ได้มีความเข้าใจความเป็นไปที่อาจส่งผลกระทบต่อตัวเองได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ที่มา : anga.co.th
ที่มา : anga.co.th

            เทรนด์ของเทคโนโลยี หรือการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ต่อเนื่องมาจากปี 2023 นั้น เป็นไปในแนวทางของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาช่วยเหลือ โดยในปี 2024 นี้ยิ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า AI เข้ามาแทนที่การทำงานในหลาย ๆ ส่วนของมนุษย์เลย เพียงแต่สิ่งที่หลายองค์กรยังไม่สามารถปรับตัวหรือใช้งาน AI ได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ ความไม่พร้อมของศักยภาพบุคลากรในการทำงานที่ต้องมีการสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Reskill) หรือพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่เรามีให้ดีกว่าเดิม (Upskill) ใหม่ มีข้อมูลหลายชุดที่ตามปกติแบ่งตามกลุ่มคนทำงาน แต่หากใช้ AI ต้องมีการนำข้อมูลทั้งหมดมารวบรวมและจัดทำเป็นมาตรฐานของข้อมูลชุดใหม่เพียงชุดเดียว เพื่อป้อนให้กับ AI รวมถึงการที่โครงสร้างขององค์กรยังไม่พร้อม เป็นต้นว่า บุคลากรที่มีความเก่ง ชำนาญ มักได้รับมอบหมายการทำงานที่เพิ่มขึ้นไปอีก ทำให้อาจไม่มีเวลามากพอที่จะจัดการหลายงานพร้อมกันได้ หากมีการนำส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเตรียม AI ไปเพิ่มอีก 

            ในส่วนของเทรนด์การทำงานในยุคนี้ ผู้บริหารจะให้ความสำคัญกับทักษะของบุคลากรมากกว่าด้านอื่น ๆ กล่าวคือ จะพบว่าในการสมัครงานนั้น ทักษะหรือความสามารถพิเศษจะมีการเปลี่ยนแปลงไปประมาณ 10% ในทุก ๆ 3 ปี หากบุคลากรใดไม่มีทักษะอื่นใดเพิ่มเติมในช่วง 3 ปีนั้น ก็อาจถูกพิจารณาได้ ซึ่งแม้อาจไม่ตรงสายงาน แต่หากเป็นทักษะที่พัฒนาขึ้นได้ตรงกับงานนั้น ๆ ผู้บริหารก็จะรู้สึกพึงพอใจมากกว่า  โดยเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในปี 2024 นี้ ได้แก่ 1) Technology Skill 2) Acquisition Skill เช่น Analytical thinking, Creative thinking, Critical thinking และ 3) Innovation Skill 

              นอกจากเทรนด์การทำงานแล้ว สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ชัดไปพร้อม ๆ กับการทำงานก็คือ เทรนด์การตลาด ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกัน กล่าวได้ว่า เมื่อเทรนด์การทำงานเปลี่ยนไป การที่ผู้ประกอบการหรือธุรกิจที่ต้องดำเนินการหากลยุทธ์มาพัฒนา ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่คือคนทำงานนั้น เทรนด์การตลาดก็ย่อมเปลี่ยนไปด้วย เนื่องจากคนทำงานมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะกับการทำงาน เพื่อให้อยู่รอดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การตลาดเปลี่ยนแปลงตามไปเพื่อรองรับจุดนี้ ซึ่งเทรนด์การตลาด ปี 2024 ที่น่าสนใจ สรุปได้ดังนี้

           1) ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการค้นหาที่เปลี่ยนไปจากเดิม กล่าวคือ จากแต่เดิมเป็นการสืบค้นโดยใช้ Keyword ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นการสืบค้นในลักษณะข้อความที่ยาวขึ้น หรือเป็นประโยคคำถาม ในลักษณะของการให้รายละเอียดเพิ่มเติมที่ชัดเจนขึ้น เป็นไปได้ว่า อาจเป็นประสบการณ์จากการใช้ Chatbot ในปีที่ผ่านมา

               2) Sustainability & Ethical Marketing กล่าวคือ เป็นการที่ผู้บริโภคยุคใหม่สามารถแยกแยะหรือรู้เท่าทันกลยุทธ์ของแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ได้ โดยไม่ได้มองเพียงตัวสินค้าเท่านั้น แต่มองไปถึงกลยุทธ์รูปแบบอื่นที่มีการทำเพื่อสังคม หรือส่งเสริมให้เห็นถึงความยั่งยืน รวมถึงการมีจริยธรรมเพิ่มขึ้นด้วย

           3) เทรนด์วิดีโอสั้นยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ผู้คนในยุคนี้ไม่ได้นิยมวิดีโอเนื้อหายาว ๆ แบบในยุคก่อนเท่าใดนัก แต่ได้รับอิทธิพลจาก TikTok ที่มีการใช้แพลตฟอร์มวิดีโอสั้น (Short Form Video) มองว่า มีการสรุปใจความสำคัญ นำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ในเวลาอันกระชับ ซึ่งทำให้สื่อสังคมออนไลน์แบรนด์หรือค่ายอื่น ๆ เริ่มมีการพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งานอื่น ๆ เพิ่มลูกเล่นตามไปด้วย เช่น Reels ของ Meta เป็นต้น โดยในยุคนี้ หากจะทำการตลาดให้ได้ดี มีประสิทธิภาพ อาจต้องเปลี่ยนวิธีการมาเป็นผ่านรูปแบบวิดีโอสั้นแทน

            4) Hyper Personalization คือ การตลาดแบบเจาะจง/เจาะลึกเฉพาะบุคคล ไม่ใช่เพียงภาพรวมกว้าง ๆ ดังเช่นเมื่อก่อน ซึ่งต้องอาศัย Big Data ในการแบ่งส่วนการตลาด (Segmentation) ให้ได้ หากทำได้ จะช่วยให้ประหยัดเม็ดเงินในการโฆษณาแบบหว่าน และตรงกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งมีอิทธิพลต่อความต้องการของผู้บริโภค กระตุ้นการรับรู้และความต้องการได้มากขึ้น

              5) Social Media กลายเป็น Search Engine กล่าวคือ หากเป็นแต่เดิม คนส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจาก Google แต่ภายหลังที่ Social Media ต่าง ๆ มีการพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งานเพิ่มขึ้น ผู้คนก็สามารถใช้ Social Media ที่ตนกำลังติดตามอยู่นั้น เป็น Search Engine เพื่อสืบค้นโดยตรงได้เลย โดยระบบจะรวบรวมหรือประมวลผลจากวิธีการต่าง ๆ เช่น การติดแฮชแท็ก (#) ทำให้ได้ข้อมูลเรื่องเดียวกันมาได้อย่างตรงจุด

           นอกจากนี้ ยังมีเทรนด์การตลาดในปี 2024 ที่น่าสนใจในอีกมุมมองหนึ่ง มาเสริมประเด็นกัน เพื่อให้เห็นภาพที่กว้างขึ้น อันเป็นแนวทางในการนำไปปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ ดังนี้

            1) ฟังเสียงผู้บริโภคด้วย Social Listening กล่าวคือ เป็นการสื่อสารระหว่างแบรนด์สินค้ากับผู้บริโภคออนไลน์ให้ได้รับรู้ความต้องการที่ตรงจุด เพื่อการปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาให้ดีขึ้น เรียกว่าเป็นการตลาดดิจิทัลก็ว่าได้

            2) เข้าใจกลุ่มเป้าหมายด้วย Interactive Marketing กล่าวคือ เป็นการใช้เทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ เข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้เพิ่มขึ้น เช่น การเล่นเกม การถ่ายทอดสด (Live) ซึ่งจะทำให้ได้ผลตอบรับ (Feedback) กลับมาที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ทันที และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์สินค้าหรือแม้แต่ผู้นำเสนอเอง

            3) เข้าใจความต้องการเฉพาะบุคคลด้วย Personalization Marketing กล่าวคือ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลให้ทราบความต้องการเฉพาะบุคคล เพื่อหาวิธีการหรือกลยุทธ์ในการตอบสนองผู้บริโภคให้ได้รับในสิ่งที่พิเศษขึ้น คล้ายกับ Hyper Personalization ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

         4) ขับเคลื่อนธุรกิจด้วย AI Marketing กล่าวคือ ช่วยให้สามารถตอบสนองผู้บริโภคได้แบบเรียลไทม์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการสร้างกิจกรรม หรือการต่อยอดพัฒนากลยุทธ์ต่าง ๆ ให้กับแบรนด์ได้ ทั้งนี้ ด้วยเทรนด์ความนิยมของ AI ที่เพิ่มขึ้น ประเด็นด้านความปลอดภัยของข้อมูล (Security) และประเด็นเกี่ยวลิขสิทธิ์ (Copyright) ก็น่าจับตามองไม่แพ้กัน ดังนั้น การนำ AI มาปรับใช้ยังคงต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ควบคู่ไปด้วย

            5) ขับเคลื่อนธุรกิจด้วย Data Driven Marketing กล่าวคือ เป็นการใช้ข้อมูลเพื่อเป็นฐานในการตัดสินใจ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคจากพฤติกรรม หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นแคมเปญตามเทรนด์ต่าง ๆ เป็นต้น

           เทรนด์การตลาดดิจิทัลในปี 2024 นี้ กล่าวโดยสรุปได้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ 6 เทรนด์ มีสาระสำคัญคือ 1) AI (ปัญญาประดิษฐ์) กล่าวคือ เป็นการนำ AI มาใช้งานในลักษณะผู้ช่วย แต่ไม่ควรใช้ AI ทำงานแทนที่ทั้งหมด 2) เนื้อหา (Content) และการเล่าเรื่อง กล่าวคือ เป็นเรื่องสำคัญที่หากแบรนด์มีการเลือกใช้เนื้อหา (Content) และการเล่าเรื่องที่ดี ผู้บริโภคก็จะมีการคล้อยตามได้ง่าย เนื่องจากดึงดูดความสนใจได้มากกว่า และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ทางอ้อมให้กับแบรนด์ได้อีกด้วย 3) การตลาดที่สมจริงและโต้ตอบได้ กล่าวคือ ผู้คนยุคนี้ต้องการการโต้ตอบกลับทันที เพื่อความชัดเจน และการตลาดที่สมจริง จะช่วยเปิดประสบการณ์ ทำให้ผู้คนรู้สึกเปิดกว้างและเปิดโลกได้มากกว่า เช่น การท่องเที่ยวแบบ 3 มิติ ที่ผู้บริโภคอาจไม่ต้องเดินทางไปเองก็ได้สัมผัสตามใจ เป็นต้น 4) ทำความรู้จักเพื่อนและคู่แข่งให้มากขึ้น สิ่งนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ได้ข้อมูลสะท้อนกลับมา เพื่อทำให้สามารถวิเคราะห์และคิดหากลยุทธ์ได้ทันท่วงที 5) Hyper-personalization กล่าวคือ เป็นการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค แล้วเลือกนำเสนอให้ตรงกับสิ่งที่ผู้บริโภคนั้น ๆ สนใจ ย่อมเกิดผลลัพธ์ได้มากและรวดเร็วกว่า และ 6) Social Media เป็น Search Engine กล่าวคือ ในยุคนี้ ผู้คนไม่ค่อยนิยม Search หาจาก Google เท่าใดนัก แต่นิยมรับรู้ข้อมูลตามกระแสจาก Social Media ต่าง ๆ มากว่า เช่น TikTok เนื่องจากมองว่าเป็นการคัดกรองข้อมูลมาให้เรียบร้อยแล้ว รูปแบบสั้น กระชับ ไม่ต้องวิเคราะห์จากการสืบค้นหลายทาง รวมถึงมั่นใจว่าอยู่ในกระแสแน่นอน ซึ่งเหตุที่ได้รับความนิยมมากกว่านั้น ก็เนื่องด้วยเป็นรูปแบบที่ตรงกับพฤติกรรมผู้คนในสมัยนี้มากกว่า

           นอกจากนี้ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกัน เมื่อกล่าวถึงการตลาดในยุคนี้นั้น ยังมีลักษณะของรูปแบบการตลาดที่อาศัยบุคคลที่มีผู้ติดตามหรือมีชื่อเสียงเป็นผู้นำเสอนสินค้าหรือแบรนด์ผ่านช่องทาง Social Media ต่าง ๆ (Influencer Marketing) ที่ยังคงมาแรง โดยอาจมีลักษณะของการตลาดที่อินฟลูเอนเซอร์หรือนักรีวิวมาช่วยขาย และแบ่งรายได้จากค่าคอมมิชชั่นให้ (Affiliate Marketing) ซึ่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยผู้คนส่วนใหญ่มักเชื่ออินฟลูเอนเซอร์มากกว่าอยู่แล้ว ในส่วนของ Video Marketing จะเฟื่องฟูมากเช่นกัน เนื่องจากวิดีโอสั้นยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอสั้นในแพลตฟอร์ม TikTok, Instagram Reels, Facebook Reels และ Youtube Shorts โดยคอนเทนต์ส่วนใหญ่จะเน้นการเล่าที่เนื้อหาสั้น กระชับ เพื่อดึงดูดความสนใจ และให้ตอบโจทย์ผู้ชมสมัยใหม่ที่ไม่ชอบจดจ่อกับอะไรนาน ๆ อีกทั้ง ในยุคนี้มีแนวโน้มว่า Social Commerce กำลังจะกลายเป็นกระแสหลัก ที่คาดว่าจะเติบโตกว่า E-Commerce ภายในปี 2027 โดย Social Media หลายแห่งได้ปรับตัว ปรับลูกเล่นให้มีหลายฟังก์ชันแล้ว เช่น Instagram Shop หรือ TikTok Shop เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้โดยตรงตามฟีดโซเชียลมีเดียของตนเอง

            ประเด็น PDPA ที่เป็นการตลาด (Privacy-Centric Marketing) ถือได้ว่าสำคัญในยุคนี้เช่นกัน กล่าวคือ ผู้คนต่างให้ความสำคัญกับหลักกฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) กันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ส่งผลให้มีหลายบริษัทหรือหลายแบรนด์ที่ยกเลิกการเก็บข้อมูลแบบ Third-Party Cookies ไปแล้ว และใช้ข้อมูลจาก First-party Data และ Zero-party Data แทน ซึ่งเป็นความจำเป็นที่หลายบริษัทหรือหลายแบรนด์ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบถึงประเด็นนี้ก่อนด้วย

           อีกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการตลาดในยุคนี้คือ เงินเฟ้อกับเทรนด์การจับจ่ายของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ผู้บริโภคมีแนวโน้มท่องเที่ยวในประเทศมากกว่าต่างประเทศ เน้นเที่ยวสาธารณะมากกว่าสถานบันเทิง และลงทุนกับการฟื้นฟูสภาวะทางร่างกายและจิตใจมากกว่าเมื่อก่อน รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นได้ ดังเช่น ชนชั้นกลางที่หากไม่ซื้อของประเภทราคาถูก ก็อาจจะหันไปซื้อของพรีเมียมแทนเช่นกัน

ที่มา : supremetech.vn
ที่มา : supremetech.vn

           ยุคหลังมานี้ เราได้รับผลกระทบจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว (Digital Disruption) ซึ่งเป็นการที่แบรนด์น้องใหม่เล็ก ๆ น้อย ๆ ต่างทยอยกันเติบโตขึ้นมาแทนที่แบรนด์ใหญ่ดั้งเดิมมากมาย เริ่มจากที่หลายคนเรียกว่าเป็น ‘พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์’ แต่พัฒนาจนกลายเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและมีรายได้เพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากแบรนด์เล็ก ๆ เหล่านี้ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเล็ก ๆ ที่แต่ก่อนไม่เคยได้รับความสนใจจากแบรนด์ใหญ่ ๆ ได้ ในลักษณะของการมาอุดช่องว่าง หรืออาจมองว่าเป็นการมองเห็นช่องทางการตลาดที่ถูกละเลย แต่นำไปทำใหม่ขึ้นเพื่อให้มีความแตกต่างก็ว่าได้ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ ที่ผ่านมาอาจไม่ใช่เพียงกลุ่มเล็ก ๆ ตามที่แบรนด์ใหญ่ ๆ เข้าใจ เพียงแต่เมื่อก่อนไม่ได้มี Social Media ให้เข้าถึงได้ง่ายนัก แต่ปัจจุบันที่ Social Media เข้าถึงได้ทันที โดยแทบไม่เสียค่าใช้จ่าย จึงทำให้ทั้งตัวแบรนด์ใหม่เองก็ได้ทราบความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีการแสดงตัวตนออกมาได้มากขึ้นด้วย ในทางกลับกันตัวแบรนด์ใหม่เองก็สามารถทำสื่อประชาสัมพันธ์ได้ง่าย เพียงแต่เน้นกลยุทธ์และเนื้อหา (Content) ให้ตรงใจผู้บริโภคเท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดผลลัพธ์ได้ไม่ยาก ไม่เหมือนดังเช่นแบรนด์ใหญ่เมื่อก่อน

           กลยุทธ์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจในยุคนี้ มีหลายรูปแบบ อาทิ 1) The Localized Traditional กลยุทธ์การปรับตัวธุรกิจในพื้นที่ท้องถิ่น - จุดเด่นคือ ใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของการเป็นคนในท้องที่ให้ได้เปรียบ ทั้งการนำเสนอคุณภาพและความน่าเชื่อถือของสินค้า รวมถึงราคาที่ไม่แรงมาก 2) The High End, Digital First กลุยทธ์ตลาดบน เน้นขายของแพงที่ไม่แมส - จุดเด่นคือ เป้าหมายต้องชัดเจน เน้นตอบสนองในลักษณะที่ทำให้เกิด Digital Experience ในทุก Touch Point ให้ได้ ให้ความสำคัญกับความแตกต่างที่มีเอกลักษณ์ และไม่เกลื่อน แม้จะเป็นสินค้าราคาแพง แต่ก็มีกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อและยินดีจ่ายอยู่อย่างแน่นอน และ 3) The Low-Cost Champion กลยุทธ์ธุรกิจ Me-too ใครขายดีฉันขายด้วย แต่ขอตัดราคาให้ถูกกว่า – เป็นลักษณะของการขายสินค้าตามกระแส ซึ่งหากต้องการขายในราคาถูกกว่าคู่แข่ง ก็จะต้องอดทนรอให้เกิดความคุ้มทุนให้ได้อย่างน้อย 3 ปี เนื่องจากเป็นสินค้าราคาถูก แต่กลุ่มเป้าหมายที่มีรายได้ก็จะชัดเจน และอาจซื้ออย่างต่อเนื่อง

            นอกจากนี้ จากข้อมูลเกี่ยวกับ Consumer Insights 2024 ผู้บริโภคยุคใหม่ไร้ความจงรักภักดีที่มีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) แบบวันวานนั้น ทำให้เห็นว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่นิยมยึดติดในแบรนด์เท่าใดนัก พร้อมที่จะเปลี่ยนแบรนด์ที่ตอบสนองความต้องการได้ตลอดเวลา โดยพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z สามารถเปลี่ยนไปใช้แบรนด์ตามกระแสใหม่ ๆ ในช่วง 3 เดือน ได้ถึง 45% แสดงให้เห็นว่า การมี Brand Loyalty ลดลง ซึ่งเป็นโอกาสให้กับแบรนด์รุ่นใหม่เกิดขึ้นได้มากหากวางกลยุทธ์ได้ดี และจากผลการสำรวจพบว่า เป็นสินค้าแม่และเด็กสูงสุดกว่า 48% ที่ผู้คนนิยมเปลี่ยนใหม่ได้ตลอดเวลา ประเด็นสำคัญคือ ผู้บริโภคมักพบแบรนด์ใหม่ผ่านช่องทาง Social Media สูงสุดกว่า 55% และสะดวกซื้อทางออนไลน์ถึง 80% จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่หากแบรนด์ต่าง ๆ ต้องการทำรายได้ให้สูงกว่านี้ต้องปรับตัวหรือคิดหากลยุทธ์ใหม่ที่เหมาะสม

            จากเทรนด์การตลาดทั้งหมดที่ผ่านมา อันนำไปสู่การคิดหากลยุทธ์รูปแบบต่าง ๆ มารองรับ เพื่อการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับรูปแบบการทำงาน หรือพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป สรุปเป็นธุรกิจที่น่าสนใจและกำลังเป็นเทรนด์ในยุคนี้ ได้ดังนี้

           1. ธุรกิจสินค้ารักษ์โลก

               ในยุคนี้ นอกจากสินค้าและบริการที่ได้รับแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยคือ บรรจุภัณฑ์หรือกรรมวิธีแห่งการได้มาต่าง ๆ ที่เป็นการตอบสนองต่อการรักษ์โลก เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายหรือรีไซเคิลได้ง่าย การหมุนเวียนพลังงาน การใช้ซ้ำ เป็นต้น ซึ่งหากธุรกิจใดหันมาใส่ใจกับการรักษ์โลกมากยิ่งขึ้น ก็ย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ รวมไปถึงเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเลือก และส่งผลให้มีแนวโน้มเติบโตได้มากขึ้น

           2. สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม

               ผู้คนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและความงามกันมากขึ้น ฉะนั้น ธุรกิจใดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความงามอาจเป็นที่นิยม ไม่ว่าจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพจากภายใน เช่น อาหารสด ร้านอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น หรือหากเป็นการบำรุงความงามจากภายนอก เช่น เครื่องสำอาง เครื่องแต่งกาย สถานที่ออกกำลังกาย เสริมความงามต่าง ๆ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้คนเริ่มเกิดความเหนื่อยล้าได้ง่ายจากปัจจัยภายนอก และต้องการได้รับการดูแลทดแทน

           3. ธุรกิจที่ตอบรับกับสังคมผู้สูงอายุ

                   ในปัจจุบัน ผู้คนเริ่มมีอายุยืนนานขึ้น ทำให้สังคมผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หากธุรกิจสามารถปรับตัวเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุในยุคปัจจุบันมีแนวโน้มพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนเช่นดังเมื่อก่อน เป็นต้นว่า ใช้สื่อ Social Media ได้มากขึ้น ชอบวิถีชีวิตแบบเด็กรุ่นใหม่ ทั้งการแต่งกาย การท่องเที่ยว มีความทันสมัยขึ้น ไม่ได้นิ่งเฉยหรือเฉื่อยชาแบบเมื่อก่อน ที่อาจไม่ได้มีอะไรให้เล่นมากนัก ซึ่งธุรกิจใดตอบสนองผู้สูงอายุในจุดนี้ได้ ย่อมมีแนวโน้มจะเติบโตได้มากเช่นกัน เนื่องจากเป็นกลุ่มใหญ่ของสังคมไทย

           4. เทรนด์ธุรกิจที่ลดช่องว่างระหว่าง Gen ให้น้อยลง

             เป็นการที่ธุรกิจต้องสร้างเอกลักษณ์ให้กับตนเอง ให้มีความแตกต่างให้ได้ เนื่องจากการมีเอกลักษณ์จะช่วยลดช่องว่างระหว่าง Gen ลง ผู้ที่ชื่นชอบความมีเอกลักษณ์จึงเป็นวัยใดก็ได้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป

           5. เทรนด์ความปลอดภัยจากการใช้ AI

               เมื่อมีการนำ AI เข้ามาใช้ จะต้องไม่ส่งผลต่อการเลิกจ้างหรือละเมิดสิทธิบางอย่างของมนุษย์ ไม่เช่นนั้นผู้คนอาจรู้สึกเป็นลบกับการนำ AI เข้ามาใช้ได้ ซึ่งต้องทำให้เกิดเป็นรูปแบบของการสนับสนุน ส่งเสริมให้การทำงานของผู้คนมีประสิทธิภาพมากขึ้นแทน

           6. Pet Parents เทรนด์ธุรกิจสำหรับคนรักสัตว์

               ปัจจุบันผู้คนนิยมเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น รวมถึงมีการเลี้ยงสัตว์ที่หลากหลายมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งหากธุรกิจใดรองรับการนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาร่วมเพิ่มขึ้นได้ ย่อมเป็นการขยายฐานผู้บริโภคให้เพิ่มขึ้นไปได้อีก 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

ณัฐพล ม่วงทำ. (2566). Business Trends 2024 กลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่ผู้บริโภค No More Loyalty. สืบค้นจาก 

            https://www.everydaymarketing.co/trend-insight/business-trends-strategy-2024

            -the-era-of-no-more-customer-loyalty/

ลงทุนแมน. (2566). จับตา 8 เทรนด์การตลาดออนไลน์ ปี 2024 โดยเอเจนซีรับทำ SEO ชั้นนำ!. สืบค้นจาก 

            https://www.longtunman.com/47176

ANGA. (2566). รวมเทรนด์การตลาด 2024. สืบค้นจาก https://anga.co.th/marketing/marketing-trend-2024/ 

HumanSoft. (2567). 6 เทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจ ปี 2024 ผู้ประกอบการห้ามพลาด. สืบค้นจาก 

            https://www.humansoft.co.th/th/blog/business-trend-interest-2024

King Copywriting. (2567). เทรนด์การตลาด 2024 ด้วย 5 กลยุทธ์การตลาดดิจิทัลทันสมัย. สืบค้นจาก 

            https://kingcopywriting.com/marketing-trends-2024/

Ourgreenfish. (2566). 6 เทรนด์การตลาดดิจิทัลที่ควรรู้ ในปี 2024. สืบค้นจาก https://blog.ourgreenfish.com/

            marketing-trends-2024#gsc.tab=0 

Supattra Marketeer. (2566). เทรนด์ผู้บริโภค-การตลาด-การทำงาน ในปี 2024 จะเป็นอย่างไร สรุปเทรนด์ที่น่าสนใจจากงาน

            สัมมนา FUTURE TRENDS. สืบค้นจาก https://marketeeronline.co/archives/335408

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

Bashar, Abu, Wasiq, M., Nyagadza, B. & Maziriri, E. T. (2024). Emerging trends in social media marketing: 

            a retrospective review using data mining and bibliometric analysis.Future Business Journal, 

            10(1): 1-16. Retrieved from https://kasets.art/fBF5b0

Camoiras-Rodríguez, Z. & Varela-Neira, C. (2024). Social Media Managers' Performance: The Impact of the Work 

            Environment. Journal of Theoretical & Applied Electronic Commerce Research, 19(1): 671-691. 

            Retrieved from https://kasets.art/JFLAZp

Chen, J., Zhang, Y., Cai, H., Liu, L., Liao, M. & Fang, J. (2024). A Comprehensive Overview of Micro-Influencer 

            Marketing: Decoding the Current Landscape, Impacts, and Trends. Behavioral Sciences, 14(3): 243. 

            Retrieved from https://kasets.art/C39AXO

Church, N. J. (2024). Maintaining Your Marketing Competitiveness Through Marketing Innovations. 

            Mercados y Negocios, 25(51): 3-30. Retrieved from https://kasets.art/gGkAk3

Nugraha, A., Pratiwi, M. A., Ardenis, D. M., Amany, N., Ahmad, S. S. & Sukmawati, A. (2024). Is an Affiliate 

            Marketer a Decent Work for Generation Z in Indonesia?. International Journal of Applied Business 

            (TIJAB), 8(1): 45-55. Retrieved from https://kasets.art/ZNFmJt

Pratiwi, C. P., Rahmatika, R. A., Wibawa, R. C., Purnomo, L., Larasati, H., Jahroh, S. & Syaukat, F.I. (2024). 

            The Rise of Digital Marketing Agencies: Transforming Digital Business Trends. Journal of Application 

            Business & Management, 10(1): 162-172. Retrieved from https://kasets.art/R3MtGz

 

ดวงพร อรัญญพงษ์ไพศาล | 01/05/2567 | 16 | share : , ,
แบบประเมิน