เกษตรพลังงานแสงอาทิตย์ (Agrivoltaics)
ผู้เรียบเรียง
ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์
นักเอกสารสนเทศชำนาญการ ฝ่ายบริการ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่หันมาสนใจและให้ความสำคัญกับการพยายามหาแหล่งพลังงานทดแทนพลังงานฟอสซิลที่มีแนวโน้มจะหมดไปเพิ่มขึ้น และมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนมากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ จะเห็นว่าผู้คนต่างก็มีความจำเป็นในการใช้ไฟฟ้าเพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ และอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ฉะนั้น การผลิตไฟฟ้าจึงถือว่าสำคัญ โดยมองว่าแหล่งพลังงานที่เป็นแหล่งใหญ่และนำมาใช้ได้คือ พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดควบคู่กันไปอีกด้านคือ การเกษตร เนื่องด้วยเป็นแหล่งต้นน้ำที่จะกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารด้วย สองสิ่งนี้หากทำควบคู่กันไปย่อมจะเกิดประสิทธิภาพที่มากกว่าและคุ้มค่าในระยะยาว
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา การไฟฟ้านครหลวง (Metropolitan Electricity Authority: MEA) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้ลงนาม ในพิธีสัญญาให้บริการติดตั้งและบำรุงรักษาอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก เพื่อทำข้อตกลงร่วมกัน ถือได้ว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการตามเป้าหมายเรื่องของ Carbon Neutrality ที่ตั้งไว้ภายในปี พ.ศ. 2593 และตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้บรรลุเป้าในเรื่องของ Net Zero Emissions ภายในปี พ.ศ. 2608 ตามแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ จึงถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนควรหันมาใส่ใจ และให้ความสำคัญกันเพิ่มขึ้น
เมื่อมองปัญหาในระดับโลก จะเห็นได้ว่าแหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังจะหมดไป ทำให้ผู้คนทั้งโลกพยายามหาแหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทน เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ซึ่งแนวคิดนี้ได้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน 2 คน คือ Adolf Goetzberger และ Armin Zastrow ได้เผยแพร่แนวคิดลงในวารสารชื่อ Journal of Solar Energy เรียกว่า “agrophotovoltaic” ต่อมาในปี 2547 ชาวญี่ปุ่นได้นำแนวคิดนี้ไปใช้ โดยเรียกต่อว่า “Solar Sharing” และตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ผู้คนต่างรู้จักกันในชื่อ “Agrivoltaics” โดยแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ การทำเกษตรในพื้นที่ที่มีโซลาร์เซลล์อยู่แล้วกับการเตรียมพื้นที่โซลาร์เซลล์ให้เหมาะกับพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่ กล่าวคือ การทำเกษตรในพื้นที่ที่มีโซลาร์เซลล์อยู่แล้ว แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1) ใช้พื้นที่ใต้แผงโซลาร์เซลล์เพื่อปลูกพืช กล่าวคือ ลักษณะนี้เป็นการนำพืชประเภทที่ใช้แสงน้อยมาปลูกไว้ใต้แผงโซลาร์เซลล์ เช่น ผักกาด มันเทศ มะเขือยาว ถั่วเหลือง 2) ใช้พื้นที่ระหว่างแผงโซลาร์เซลล์เพื่อปลูกพืช กล่าวคือ ลักษณะนี้เป็นการนำพืชประเภทที่รับแสงมากได้ แต่ใช้พื้นที่ปลูกน้อย และทนทานต่อการเข้าถึงพื้นที่ เช่น ว่านหางจระเข้ เนื่องจากต้องมีการเข้าพื้นที่เพื่อทำความสะอาด บำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์อยู่สม่ำเสมอ หรือกระทั่งมีการติดระบบการทำความสะอาด ชำระล้างที่อาจทำให้มีน้ำไหลลงมาค่อนข้างมากด้วยเช่นกัน จึงต้องเป็นพืชที่ทนรับสภาพต่าง ๆ เหล่านี้ได้พอสมควร 3) ใช้พื้นที่ใต้แผงโซลาร์เซลล์เพื่อเลี้ยงสัตว์ กล่าวคือ เป็นการเลี้ยงสัตว์ภายใต้แผงโซลาร์เซลล์ เพื่อไม่ให้รับแสงแดดมาก เช่น พื้นที่บ่อเลี้ยงปลาอยู่ใต้แผงโซลาร์เซลล์ ปลาก็จะอาศัยใต้แผงโซลาร์เซลล์เพื่อหลบแสงแดด เป็นการลดอุณหภูมิภายใต้น้ำให้ไม่ร้อนมาก ซึ่งอาจต้องพิจารณาว่าสัตว์แบบใดที่เหมาะกับลักษณะเช่นนี้บ้าง อีกลักษณะหนึ่งคือ การเตรียมพื้นที่โซลาร์เซลล์ให้เหมาะกับพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่ ลักษณะนี้จะเป็นการเลือกนำแผงโซลาร์เซลล์ไปติดตั้งภายหลังจากการมีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่แล้ว ซึ่งตัวอย่างผลจากการทดลองในประเทศฝรั่งเศส ที่ปลูกผักกาดหอม แตงกวา และข้าวสาลี จำนวน 3 แปลงนั้น โดยมีเงื่อนไขว่า แปลงที่ 1 ไม่มีแผงโซลาร์เซลล์บดบัง แปลงที่ 2 มีแผงโซลาร์เซลล์บดบังพื้นที่ครึ่งหนึ่ง และแปลงที่ 3 มีแผงโซลาร์เซลล์แบบเต็มพื้นที่ จากผลผลิตที่ได้พบว่า แผงโซลาร์เซลล์ไม่ได้ทำให้ผลผลิตลดลง กล่าวคือ ยังคงได้จำนวนผลผลิตเต็มจำนวน ไม่เสียหาย เพียงแต่ในส่วนของด้านสรีรวิทยา อาจพบว่า แปลงที่ 2 และ 3 ที่มีแผงโซลาร์เซลล์บดบังนั้น ผลผลิตที่ได้มีใบขนาดใหญ่และกระจายตัวเต็มพื้นที่มากกว่า ซึ่งจากผลลัพธ์ดังกล่าวนี้ ทำให้เห็นว่าการมีแผงโซลาร์เซลล์นั้น มีส่วนช่วยให้ผลผลิตในการเกษตรมีลักษณะผลผลิตที่ดีขึ้น และในทางกลับกัน การมีพืชเพาะปลูกอยู่ภายใต้แผงโซลาร์เซลล์นั้นก็มีส่วนช่วยให้แผงโซลาร์เซลล์ทำงานได้ดีขึ้น เนื่องจากการคายน้ำของพืชที่ระเหยขึ้นมาไปช่วยลดอุณหภูมิของแผงโซลาร์เซลล์ได้ ทำให้การผลิตไฟฟ้าได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สิ่งที่ควรพิจารณา เมื่อจะเริ่มทำการเกษตรแบบ Agrivoltaics มี 3 ส่วน ได้แก่ (1) พืชผลที่เหมาะสม ด้านนี้อาจต้องให้เกษตรกรช่วยเหลือในการเลือกประเภทพืชที่จะมาเพาะปลูก ควรเป็นประเภทที่ชอบความร่มเงา ไม่ต้องการแสงแดดมาก เป็นต้น เพื่อให้ผลผลิตงอกงาม (2) การประเมินผลกระทบของพืชผลและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กล่าวคือ ต้องพิจารณาประกอบด้วยว่า พืชที่นำมาเพาะปลูกจะไม่กัดกร่อนอุปกรณ์ต่าง ๆ ของโรงเรือนที่มีแผงโซลาเซลล์ หรือก่อให้เกิดความชื้นมากเกินไป เป็นการพิจารณาให้เหมาะสมที่สุด เพื่อจะได้เกื้อกูลและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับทั้งการเพาะปลูกและการผลิตไฟฟ้าด้วยกัน และ (3) ความสนใจสำหรับการออกแบบชั้นวางแผงโซลาร์เซลล์ กล่าวคือ ลักษณะที่ดีคือระยะความสูงจากพื้นดินถึงไม้ค้ำถ่อที่ใช้วางแผงโซลาเซลล์ ควรอย่างน้อย 2.5 เมตร เพื่อความสะดวกในการดูแลบำรุงรักษา และความเจริญงอกงามของพืชผลต่าง ๆ อีกทั้งแผงโซลาเซลล์จะต้องตั้งเอียงเป็นมุมโดยมีขายึดสามเหลี่ยมเสมอ เพื่อให้ได้พลังงานสูงสุด และโครงสร้างควรเป็นขายึดอะลูมิเนียมอัลลอยด์ เพื่อทนต่อการกัดกร่อนด้วย ทั้งนี้ การคายน้ำของพืชแม้อาจช่วยลดอุณหภูมิของแผงได้ดีขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่เท่ากับการใช้วัสดุที่ดี ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์ที่ดีควรใช้วัสดุที่เคลือบด้วยอะลูมินัม ออกไซด์ (Aluminum Oxide) หรือแทนทาลัม เพนทอกไซด์ (Tantalum Pentoxide) ซึ่งสามารถลดอุณหภูมิได้ 2.9-5 องศาเซลเซียส กล่าวคือ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้ คิดเป็นร้อยละ 14-47
ผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ได้แก่ (1) พลังงาน กล่าวได้ว่า เป็นการหาวิธีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มาชดเชยจากพลังงานที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เสียไป และใกล้หมดได้ทันเวลา (2) อาหาร นอกจากการมีแผงโซลาร์เซลล์ไว้ผลิตไฟฟ้าแล้วนั้น ภายใต้แผงยังสามารถเพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารได้ (3) สิ่งแวดล้อม กล่าวคือ โดยปกติการปลูกพืชจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาได้มาก แต่ในขณะเดียวกัน หากมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยมีแผงโซลาร์เซลล์อยู่นั้น กลับเป็นตัวช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกให้ลดลงทดแทนได้ (4) เศรษฐกิจ จากการที่เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์โดยใช้พื้นที่ภายใต้แผงโซลาร์เซลล์ได้นั้น ย่อมทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น โดยมีรายได้ทั้งจากการเพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ หรือมีวัตถุดิบในการทำอาหารที่ทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ถือได้ว่าเกิดผลกระทบที่ดีตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ และ (5) สังคม กล่าวคือ มีความมั่นคงทางพลังงานในทางตรง และทำให้เกิดผู้ประกอบการขึ้นมากมายในทางอ้อม
จากผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น หากเจาะจงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประโยชน์ของการใช้โซลาร์เซลล์มีด้านต่าง ๆ อย่างไรบ้างนั้น สรุปได้ดังนี้
(1) ช่วยประหยัดค่าพลังงานไฟฟ้า เนื่องด้วยเป็นการรับแสงจากอาทิตย์มาโดยตรงและกักเก็บไว้เป็นพลังงาน จึงนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้
(2) เพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตร กล่าวคือ สามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้มาใช้กับระบบหรืออุปกรณ์การทำงานทางด้านการเกษตรได้ทุกรูปแบบ เช่น ระบบการปั๊มน้ำเข้ารดในพื้นที่ เหมาะกับพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าถึงยาก เมื่อใช้พลังงานจากโซลาเซลล์แทนก็จะทำให้การปั๊มน้ำเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
(3) เพิ่มความยั่งยืน กล่าวคือ เป็นการใช้พลังงานในรูปแบบพลังงานหมุนเวียน จึงทำให้มีใช้ตั้งแต่ปัจจุบันไปถึงอนาคต
(4) ได้แหล่งพลังงานที่เชื่อถือได้ เนื่องจากพลังงานที่ได้จากแสงอาทิตย์โดยตรง ถือเป็นพลังงานจากธรรมชาติที่บริสุทธิ์และมีมากพอจะกักเก็บไว้เป็นพลังงานสำรองกรณีฉุกเฉินได้
(5) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ได้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่เกิดมลพิษหรือเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
(6) เป็นการลงทุนระยะยาว อายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์อยู่ที่ 25-30 ปี ถือว่าคุ้มค่าในการลงทุนหากตัดสินใจเลือกนำมาติดตั้งและใช้งาน เนื่องด้วยระหว่างทางนั้นจะช่วยประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายได้มาก ค่าบำรุงรักษามีน้อย เนื่องจากไม่ใช่สิ่งเสื่อมสภาพได้ง่าย และปัจจุบันค่าติดตั้งหรือค่าแผงโซลาร์เซลล์ก็ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายสูงเหมือนดังเช่นช่วงแรก
นอกจากนี้ ประเทศจีน ยังคงครองแชมป์ตำแหน่งโครงการ Agrivoltaics ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ จากฟาร์มโกจิเบอร์รี่ท่ามกลางทะเลทรายที่มีแผงโซลาเซลล์ขนาดใหญ่อยู่จำนวนมาก และในอีกหลาย ๆ ประเทศ เช่น เกาหลีใต้กับการปลูกบร็อกโคลี ที่พบว่าผลผลิตที่ได้ภายใต้แผงโซลาเซลล์ดีกว่าการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม หรือดังเช่นประเทศเคนยา ในทวีฟแอฟริกา ก็ได้ใช้เกษตรกรรมในลักษณะนี้เช่นกัน จะเห็นได้ว่า มีการนำไปใช้กันเกือบทั่วโลก
หากพิจารณาเฉพาะในแง่ของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาเซลล์ในประเทศแถบอาเซียนนั้น เวียดนามถือเป็นประเทศที่มีการผลิตไฟฟ้ารูปแบบนี้สูงสุด จำนวน 16.660 กิกะวัตต์ (GW) ส่วนไทยอยู่อันดับ 2 คือ 3.046 กิกะวัตต์ (GW) และฟิลิปปินส์ เป็นอันดับ 3 คือ 1.370 กิกะวัตต์ (GW) ซึ่งภายในปี พ.ศ. 2579 นั้น ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาเซลล์ให้ได้ เท่ากับ 15.6 กิกะวัตต์ (GW) โดยสาเหตุที่ประเทศไทยยังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาเซลล์ไม่ได้มากเทียบเท่าเวียดนาม ทั้งที่ประเทศไทยเรามีการริเริ่มผลิตไฟฟ้าแบบนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ที่จีนได้เข้ามารุกตลาดในไทย ที่ จ.ระยอง แล้วนั้น เหตุเพราะด้วยปัญหาที่ไทยไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและเต็มที่นั้น ต่างจากเวียดนามที่มีจุดมุ่งหมายทางด้านนี้อย่างชัดเจนและดำเนินการมาต่อเนื่อง ซึ่งหากเทียบเป้าหมายของไทยจากปัจจุบันกับปี พ.ศ. 2579 ที่ตั้งไว้นั้น ปัจจุบันไทยเราผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาเซลล์ได้เพียง 20%
สิ่งที่น่าสนใจคือ ตลาด Agrivoltaics โลก มีแนวโน้มเติบโตขึ้นปีละ 12.1% เนื่องด้วยจากตัวอย่างการเปรียบเทียบประสิทธิผลของการใช้พื้นที่เพื่อปลูกข้าวสาลีกับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์อย่างละครึ่งนั้น พบว่าได้ผลลัพธ์ทั้งผลผลิตของข้าวสาลี และพลังงานไฟฟ้าที่น้อยกว่า แบบที่ใช้พื้นที่ปลูกข้าวสาลีไปพร้อม ๆ กับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งทำในพื้นที่เดียวกัน ครอบคลุมทั้งพื้นที่ โดยได้ผลลัพธ์ทั้งผลผลิตของข้าวสาลี และพลังงานไฟฟ้าที่มากกว่า นอกจากนี้ ค่าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ก็มีแนวโน้มที่จะถูกลง ประกอบกับเกษตรกรไทยเริ่มนิยมทำการเกษตรรูปแบบนี้เพิ่มขึ้น โดยแนวคิดการเกษตรแบบ Agrivoltaics นี้ มีข้อดีคือ กรณีที่สามารถปรับระยะการตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้สูงขึ้นมาในระดับที่เพาะปลูกพืชผลต่าง ๆ ได้ด้วยนั้น นอกจากจะทำให้ช่วยลดอุณหภูมิจากแสงแดดที่ส่องลงมา ทำให้พืชผลไม่ได้รับความร้อนโดยตรงที่อาจทำลาย ทำให้เกิดความแห้งกร้าน หรือเผาไหม้ได้ หากมีการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ในระยะที่สูงกว่าพื้นดินพอสมควร เป็นต้นว่า 3-4 เมตร ก็จะช่วยรับการคายน้ำเพื่อลดอุณหภูมิของแผงโซลาเซลล์ได้ดีกว่าการติดตั้งในระยะใกล้พื้นดินเพียงไม่กี่เมตร เนื่องจากในพื้นดินจะมีการกักเก็บความร้อนได้มากและคายความร้อนในอุณหภูมิที่สูงกว่า โดยน้ำที่ระเหยขึ้นไปเมื่อกระทบแผงโซลาร์เซลล์ก็จะสะท้อนกลับลงมายังพืชผลและพื้นดิน ทำให้มีความชุ่มชื้น เกิดการหมุนเวียนไปเช่นนี้ ซึ่งแม้ว่าการทำเกษตรกรรมภายใต้การผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาเซลล์นั้นอาจคืนทุนช้าเล็กน้อย แต่ความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นก็มีมากสมกับการรอคอย โดยเกิดประโยชน์ทั้งการเพาะปลูกได้ผลผลิตที่ดีขึ้น และสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ และในอีกแง่มุมหนึ่ง พืชผลต่าง ๆ ที่เพาะปลูกอยู่ภายใต้แผงโซลาเซลล์นั้นมีการคายน้ำเพื่อช่วยลดอุณหภูมิของแผงโซลาเซลล์ได้ โดยเป็นที่รับรู้กันว่า หากแผงโซลาเซลล์มีความเย็นลงก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานได้มากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ความสูงและระยะห่างในการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ก็สำคัญ ไม่น้อยไปกว่าการคัดเลือกประเภทของพืชที่นำมาเพาะปลูกเลย
ทั้งนี้ โซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตรในปัจจุบัน มี 2 ประเภท คือ ระบบไฟฟ้ากระแสตรง (DC) และระบบไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) โดยไฟฟ้ากระแสตรง จะเป็นการนำพลังงานโซลาร์เซลล์ที่ได้ใช้โดยตรงทันที เต็มที่ ไม่มีการแบ่งกักเก็บสำรอง และใช้ได้เฉพาะช่วงกลางวันเท่านั้น เช่น การรดน้ำเข้าแปลง สูบน้ำเข้าแปลง ปั๊มน้ำใช้ในแปลง เป็นต้น ส่วนไฟฟ้ากระแสสลับ จะเป็นการกักเก็บพลังงานสำรองและนำไปใช้กับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ภายในบ้าน และส่วนใหญ่ใช้ช่วงกลางคืน โดยตัวอย่างอุปกรณ์หรือระบบต่าง ๆ ที่ใช้หลักการ Agrivoltaics เช่น ปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นระบบแรก ๆ ที่เกษตรกรจะทำก่อนเริ่มการเกษตรก็ว่าได้ ยิ่งในพื้นที่ห่างไกล ปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการใช้พลังงานได้คุ้มค่ามากที่สุด และประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากด้วย สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้โดยตรง ระบบระบายความร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ กล่าวได้ว่า ระบบในลักษณะนี้เหมาะแก่การปศุสัตว์ โดยเฉพาะฟาร์มโคนม จะเสียค่าใช้จ่ายกับเรื่องแบบนี้มาก ทั้งในการระบายความร้อน กลิ่นต่าง ๆ อีกทั้งต้องมีการควบคุมอุณหภูมิให้พอเหมาะในพื้นที่ปิด เพื่อป้องกันโรคระบาด หรือมลพิษต่าง ๆ ไม่ให้กระทบต่อสัตว์ที่เลี้ยง และเพื่อเป็นการรักษาผลผลิตที่เกิดขึ้นจากสัตว์ที่เลี้ยงด้วย ระบบให้แสงสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ เหมาะกับพืชที่ปลูกในร่ม ที่ต้องการแสงสว่างเพียงเล็กน้อยในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งระบบนี้จะช่วยให้พืชที่ปลูกในร่ม ในช่วงฤดูฝนหรือหนาวที่สภาพอากาศอาจไม่มีแสงแดดสักเท่าไร แต่จากพลังงานที่กักเก็บไว้ก็นำมาใช้ในส่วนนี้ทดแทนได้ ระบบพ่นยาฆ่าแมลงพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นการดึงพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ผ่านแบตเตอรี่ เพื่อนำไปใช้กับระบบพ่นยาฆ่าแมลง หรืออาจเป็นการชาร์ตแบตเตอรี่ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ก็ได้เช่นเดียวกัน และ รถแทรกเตอร์พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มาแทนน้ำมันในการขับเคลื่อน ซึ่งสามารถกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในช่วงกลางคืนได้เช่นกัน ในส่วนของรถแทรกเตอร์นี้ถือเป็นส่วนที่มีค่าใช้จ่ายสูง หากนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ทดแทนได้ เกษตรกรก็จะประหยัดค่าน้ำมันไปได้มาก
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
การไฟฟ้านครหลวง. (2566). MEA จับมือ ม.เกษตร เปิดโครงการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน.
สืบค้นจาก https://www.mea.or.th/public-relations/corporate-news-activities/announcement/
cFJN39qUN
ไทยรัฐออนไลน์. (2566). ชี้เทคโนโลยี Agrivoltaic ช่วยยกระดับภาคเกษตรไทย บนแนวคิดพัฒนาอย่างยั่งยืน.
สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-technology/2730760
พิมใจ ฮุนตระกูล. (2565). Agrivoltaic – เทคโนโลยี synergy ภาคพลังงานและการเกษตร. สืบค้นจาก
https://www.bangkokbiznews.com/business/1004129
สาระวิทย์. (2567). “Agrivoltaic” นวัตกรรมการทำเกษตรร่วมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์.
สืบค้นจาก https://www.nstda.or.th/sci2pub/agrivoltaic/
อรรถสิทธิ์ เหมือนมาตย์. (2566). เทคนิคการทำเกษตรกรรมภายใต้แผงโซลาร์เซลล์ (Agrivoltaics) โซลูชันเด่นที่
คาดว่าจะช่วยขจัดความหิวโหยของมนุษยชาติและสร้างความยั่งยืนทางพลังงานได้. สืบค้นจาก
https://www.salika.co/2023/03/09/agrivoltaics-trend-and-movement/
ANTAI. (2564). อะไรคือข้อควรพิจารณาสำหรับระบบเกษตรโวลตาอิก?. สืบค้นจาก
https://th.antaisolar.com/blog/what-are-the-considerations-for-agrivoltaic-system_b92
Marketeer. (2565). เวียดนามแชมป์ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ใน ASEAN ทิ้งห่างไทยไกลลิบ. สืบค้นจาก
https://marketeeronline.co/archives/279755
SORARUS. (2567). มารู้จัก โซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตร การเกษตรสมัยใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม.
สืบค้นจาก https://sorarus.com/tips-how-to-educate/solarcells-agriculture/
แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
Jamil, U. & Pearce, J. M. (2023). Maximizing Biomass with Agrivoltaics: Potential and Policy in Saskatchewan
Canada. Biomass, 3(2): 188-216. Retrieved from https://kasets.art/lyOImX
Jamil, U., Vandewetering, N. & Pearce, J. M. (2023). Solar photovoltaic wood racking mechanical design for
trellis-based agrivoltaics. PLoS ONE, 18(12): 1-36. Retrieved from https://kasets.art/ArJ8jv
Ko, D-Y., Chae, S-H., Moon, H-W., Kim, H. J., Seong, J., Lee, M-S. & Ku, K-M. (2023). Agrivoltaic Farming Insights:
A Case Study on the Cultivation and Quality of Kimchi Cabbage and Garlic. Agronomy, 13(10): 2625.
Retrieved from https://kasets.art/XHbWwd
Lama, R. K. & Jeong, H. (2024). Design and Performance Analysis of Foldable Solar Panel for Agrivoltaics
System. Sensors, 24(4): 1167. Retrieved from https://kasets.art/5ymXBl
Luo, J., Luo, Z., Li, W., Shi, W. & Sui, X. (2024). The Early Effects of an Agrivoltaic System within a Different Crop
Cultivation on Soil Quality in Dry–Hot Valley Eco-Fragile Areas. Agronomy, 14(3): 584. Retrieved from
https://kasets.art/nYqNCQ
Nakata, H. & Ogata, S. (2024). Geographic Information System-Based Analysis of Reclaimable Idle Cropland for
Agrivoltaics in Kansai, Japan: Enhancing Energy and Food Security. Agronomy, 14(2): 398.
Retrieved from https://kasets.art/tTWmvs
Scarano, A., Semeraro, T., Calisi, A., Aretano, R., Rotolo, C., Lenucci, M. S., Santino, A., Piro, G. & De Caroli, M.
(2024). Effects of the Agrivoltaic System on Crop Production: The Case of Tomato (Solanum
lycopersicum L.). Applied Sciences, 14(7): 3095. Retrieved from https://kasets.art/EB1z9q