Digital Nomads: จากออฟฟิศสู่วิถีชีวิตใหม่
ผู้เรียบเรียง
จิรารัตน์ วงษ์ศรีสวัสดิ์
บรรณารักษ์ปฏิบัติการ ฝ่ายบริการ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จากวิกฤติการณ์โควิด – 19 ที่ผ่านมาทำให้เกิดคำเรียกการทำงานโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศว่า Work from Home หรือ Work from Anywhere ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์ของโรคระบาดจะคลี่คลายไป แต่กระแสของการทำงานจากที่ใดก็ได้นั้นไม่ได้ลดลงมากนัก หลายคนได้เรียนรู้ทักษะการใช้เทคโนโลยีและนำมาประยุกต์ใช้กับงานได้อย่างหลากหลายจนก้าวเข้าสู่ยุค Remote Work
คำว่า Nomads หรือ Nomadism มีความหมายว่า กลุ่มคนที่เดินทางและย้ายถิ่นอยู่เป็นประจำ เมื่อนำมาผนวกกับการทำงานที่อาศัยระบบดิจิทัลโดยใช้การสื่อสารและทำงานผ่านเครือข่าย จึงผสานกันเป็นชื่อที่เรียกว่า Digital Nomads หมายถึง วิถีชีวิตของบุคคลที่ทำงานระยะไกลจากสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยคนที่เรียกตนเองว่าเป็น Digital Nomads จะพ่วงด้วยอาชีพที่ทำอยู่ด้วย เช่น ฟรีแลนซ์, โปรแกรมเมอร์, บล็อกเกอร์ หรือผู้ที่ทำงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ ถือเป็นกลุ่มอาชีพที่มุ่งเน้นการทำงานและการท่องเที่ยวในเวลาเดียวกัน กลายเป็นจุดที่น่าสนใจมากสำหรับอาชีพนี้ เพราะนอกจากจะทำงานได้อย่างอิสระทุกที่ทุกเวลาแล้ว การย้ายไปท่องเที่ยวในที่ต่าง ๆ ยังส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจอีกด้วย
ธนาคารกรุงไทย (2566) กล่าวว่า กลุ่ม "Digital Nomads" มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 15.2 ล้านคนในปี 2562 และ 35 ล้านคนในปี 2565 และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคนภายในปี 2573 ซึ่งมักมีระยะการเข้ามาท่องเที่ยวประมาณ 6 เดือน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการท่องเที่ยวตามฤดูกาล ส่งผลให้เกิดรายได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีการใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึงร้อยละ 56 ซึ่งประเทศไทยนั้นเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของกลุ่ม Digital Nomads เนื่องจากมีค่าครองชีพต่ำและมีโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตที่ดี
ภาพแสดงภาพรวมข้อมูลของ Digital Nomads ในปี 2023
ที่มา: https://tatreviewmagazine.com/article/digital-nomadss-2023/
งานวิจัย กองวิจัยการตลาดการท่องเที่ยว (2566) ได้เก็บข้อมูลผู้ที่ประกอบอาชีพ Digital Nomads โดยพบว่า ช่วงอายุที่ประกอบอาชีพนี้มากที่สุดคือ Gen Z (ผู้ที่เกิดในช่วงปี 1997 - 2009) คิดเป็นร้อยละ 55.9 และ 10 อันดับแรกเป็นประชากรในประเทศรัสเซีย (ร้อยละ 16.3), ประเทศเยอรมนี (ร้อยละ 15.7), ประเทศสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 12.7) เป็นต้น โดยสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในประเทศไทยถือเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมในการเดินทางมาทำงานและท่องเที่ยวตามวิถีของ Digital Nomads ตัวอย่างเช่น กรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 25.5), ภูเก็ต (ร้อยละ 19.5), เกาะสมุย (ร้อยละ 16.3) ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่กิจกรรมสำหรับ Digital Nomads ก็เป็นกิจกรรมทั่วไปสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีให้บริการอยู่แล้ว แต่ในทางกลับกันคนไทยที่ทำงานแบบ Digital Nomads ยังมีจำนวนน้อย อาจเป็นเพราะองค์กรหรือหน่วยงานส่วนใหญ่ยังคงเน้นการทำงานในสำนักงานหรือทำงานเต็มเวลา ทำให้การทำงานระยะไกล (Remote Work) ยังไม่ได้รับความนิยมมากเหมือนในประเทศแถบตะวันตก อีกทั้งค่าครองชีพที่ต่ำเมื่อเทียบกับฝั่งเอเชียด้วยกันหรือแม้แต่การสนับสนุนด้านทักษะการเรียนรู้สารสนเทศที่ยังอยู่ในช่วงพัฒนาจนทำให้เกิดการจ้างงานที่น้อยลงในบางสายอาชีพ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อการเกิด Digital Nomads ภายในประเทศไทย
เมื่อการสร้างอาชีพ Digital Nomads ยังทำได้ยากในประเทศไทย ภาครัฐจึงเน้นไปที่จุดแข็งของประเทศ นั่นคือ ภาคการท่องเที่ยว โดยเลือกสนับสนุนการทำงานของ Workation (Work + Vacation) ซึ่งคล้ายคลึงกับ Digital Nomads โดยตั้งแต่ช่วงปี 2563 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดกิจกรรม Workation Thailand 100 เดียวเที่ยวได้งาน เพื่อกระตุ้นการเดินทางภายในประเทศและกระจายรายได้ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่ผ่านผู้ที่ทำงานแบบ Workation ทั้งนี้ การที่ Digital Nomads เข้ามาทำงานและท่องเที่ยวในประเทศไทย ถือเป็นข้อดีในทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยดึงกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ มีความรู้และมีทักษะในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนได้ ช่วยกันผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (กรุงเทพธุรกิจ, 2567) หรือเรียกว่า “เศรษฐกิจนักท่องเที่ยว (Visitor Economy)” ซึ่งหมายถึงการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจที่นักท่องเที่ยวนำมาสู่ท้องถิ่น โดย Digital Nomads มีความแตกต่างจากนักท่องเที่ยวทั่วไป แม้จะมีการย้ายประเทศบ่อยครั้งแต่ระยะเวลานั้นยังถือว่านานกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น จึงทำให้มีการบูรณาการเข้ากับชุมชนในระดับที่ลึกกว่า เช่น การสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนหรือการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกนโยบายที่สนับสนุนการเข้ามาทำงานและท่องเที่ยวของกลุ่ม Digital Nomads โดยประกาศการใช้ DTV หรือ Destination Thailand Visa เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อดึงดูดกลุ่ม Digital Nomads ให้มาที่ประเทศไทยมากขึ้น
วีซ่านี้อนุญาตให้ผู้ถือสามารถพำนักในประเทศไทยได้นานถึง 180 วันต่อครั้งและมีสิทธิ์ต่ออายุได้อีก 180 วัน เพื่อสนับสนุนการทำงานทางไกลและเปิดการเข้าถึงบริการต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทย การรับบริการทางการแพทย์ซึ่งช่วยเสริมกับ Medical Tourism ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทยเช่นกัน ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามของประเทศไทยในการปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มการทำงานแบบดิจิทัลที่กำลังเติบโตพร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวระยะยาวอีกด้วย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กนกวรรณ เกิดผลานันท์. (2567). มาริษย้ำนโยบายต่างประเทศ ‘การทูตกินได้ คนไทยมีศักดิ์ศรี’. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/world/1145942 /
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2566). Workation Thailand 100 เดียวเที่ยวได้งาน. สืบค้นจาก https://workationthailand.tourismthailand.org/#Sponsor
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์. (2567). วีซ่านักท่องเที่ยว ประเภทพิเศษ (Destination Thailand Visa: DTV). สืบค้นจาก https://kasets.art/y3fuy3
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2567). การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่หนึ่ง) เป็นวันที่สอง. สืบค้นจาก https://kasets.art/E32lPl
Kawalin Limprakhon. (2565). Digital Nomad เทรนด์อาชีพใหม่สำหรับคนอยากย้ายประเทศ!. สืบค้นจาก https://contentshifu.com/blog/digital-nomads
Krungthai Compass. (2567). Digital Nomad เทรนด์ฮิตติดลมบน สร้างโอกาสท่องเที่ยวไทย. สืบค้นจาก https://kasets.art/Zi8l9K
TAT Review Magazine. (2566). ทำความรู้จัก ‘Digital Nomad’ ในประเทศไทย. สืบค้นจาก
https://tatreviewmagazine.com/article/digital-nomads-2023/
แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
Bednorz, J. (2024). Working from anywhere? Work from here! Approaches to attract digital nomads. Annals of Tourism
Research, 105. https://doi.org/10.1016/j.annals.2023.103715
De Almeida, M. A., De Souza, J. M., Correia, A., & Schneider, D. (2023). Post-Covid-19 Digital Nomadism: Beyond Work from
(Almost) Anywhere. 2023 IEEE International Conference on Systems, Man, and Cybernetics (SMC), Systems, Man, and
Cybernetics (SMC), 2023 IEEE International Conference On, 4605–4611. https://doi.org/10.1109/SMC53992.2023.10393872
Ji, Y., Kim, S.-M., & Kim, Y. (2024). A Way to Attract Digital Nomads to Tourist Destinations in the New Normal Era. Sustainability
(2071-1050), 16(6), 2336. https://doi.org/10.3390/su16062336
Jiwasiddi, A., Schlagwein, D., Cahalane, M., Cecez, K. D., Leong, C., & Ractham, P. (2024). Digital nomadism as a new part of
the visitor economy: The case of the “digital nomad capital” Chiang Mai, Thailand. Information Systems Journal, 34(5), 1
493–1535. https://doi.org/10.1111/isj.12496
Tangguh Okta Wibowo. (2024). Dynamic of Migration lifestyle and settlement of nomad in Bali, Indonesia. Indonesian Journal of
Geography, 56(2), 291–298. https://doi.org/10.22146/ijg.90856
Ünal, G. (2024). The relationship between regional development and digital nomadism. Worldwide Hospitality & Tourism Themes, 1
6(3), 375–378. https://doi.org/10.1108/WHATT-03-2024-0056