Food Waste: ขยะอาหาร
ผู้เรียบเรียง
จิรารัตน์ วงษ์ศรีสวัสดิ์
บรรณารักษ์ปฏิบัติการ ฝ่ายบริการ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อาหารที่มนุษย์เราต้องรับประทานกันทุกวัน ปัจจุบันกลับกลายเป็นปัญหาที่ต้องพึงระวังเสียแล้ว เนื่องมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไปตามบริบทการใช้ชีวิต เช่น มักซื้ออาหารจำนวนมากแต่ไม่สามารถบริโภคให้หมดปล่อยให้หมดอายุเพราะบริโภคไม่ทันเวลาหรือการทิ้งอาหารที่ถึงกำหนด ‘ควรบริโภคก่อน (Best Before: BBE)’* เพราะคิดว่าหมดอายุแล้วจึงนำไปทิ้งและกลายเป็น ขยะอาหาร หรือ Food Waste ซึ่งจากการสำรวจพบว่าขยะอาหารมีสัดส่วนถึงหนึ่งในสามของอาหารที่ผลิตในโลก ตัวอย่างขยะอาหาร เช่น
- เศษอาหารจากมื้ออาหารหรือการตกแต่งจาน
- เปลือกผักและผลไม้
- อาหารแห้ง
- อาหารที่หมดอายุ (Expired Date: EXP)
- อาหาร ผัก หรือผลไม้ที่เน่าเสียจากการขนส่งหรือการซื้อเกินความจำเป็น
ขยะอาหารเกิดได้จากที่ไหน
ขยะอาหารเกิดได้ตั้งแต่หน่วยครัวเรือนไปถึงภาคธุรกิจ เรียกว่าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำนั้นสามารถเกิดขยะอาหารได้ทั้งสิ้น อาจเกิดจากภาคผู้จำหน่ายอาหาร เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านขายของชำ เกษตรกร ที่เก็บผัก-ผลไม้เพื่อนำมาวางจำหน่ายอย่างไม่รัดกุมทำให้ผลไม้เน่าเสียหรือผลผลิตเสียหายจนไม่สามารถจำหน่ายได้ (Food Loss) ภาคธุรกิจที่ผลิตอาหารออกมามากเกินไปจนเกิดสินค้าล้นตลาด หรือการผลิตอาหารที่ไม่ได้คุณภาพซึ่งต้องกำจัดทิ้งในที่สุด ภาคผู้ประกอบการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ศาสน-สถาน หรือโรงพยาบาล ที่มีอาหารเหลือทิ้งจากกิจการร้านอาหารต่าง ๆ จากงานสัมมนา งานประชุมที่ต้องจัดเลี้ยงอาหารเพื่อเตรียมให้ผู้เข้าร่วม หรือภาคครัวเรือนที่ซื้ออาหารเพื่อบริโภคมากเกินจำเป็น ทำให้ต้องทิ้งหรือหมดอายุไปก่อน
ผลกระทบจากขยะอาหาร
การทิ้งขยะอาหารปะปนกับขยะประเภทอื่นนั้นเกิดปัญหาต่อการนำขยะกลับไปใช้ประโยชน์และทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการกำจัดขยะปลายทางปฏิบัติงานได้ยาก รวมถึงขยะอาหารที่ทิ้งไม่ถูกวิธี เช่น การนำไปฝังกลบในดิน จะก่อให้เกิดจุลินทรีย์ที่สร้างก๊าซมีเทนซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายเท่าตัว ในประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากขยะอาหารประเภทเดียวถึงร้อยละ 4.73 เมื่อเทียบจากขยะประเภทอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในระยะยาว นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอีกด้วย เนื่องจากวงจรของขยะอาหารตั้งแต่การผลิตนั้นต้องใช้ต้นทุน พลังงาน และทรัพยากร ตลอดจนค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าอาหาร หรือโอกาสในการเข้าถึงอาหารของผู้ยากไร้ที่สวนทางกับปริมาณขยะอาหารที่เพิ่มขึ้น
ขยะอาหารของประเทศไทย
ผลการสำรวจขยะมูลฝอยประเทศไทยในปี 2564 พบว่า ขยะอาหารในประเทศไทยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 38.76 จากขยะทั้งหมด มีทั้งสัดส่วนที่ยังรับประทานได้และเป็นเศษอาหารปะปนกัน โดยแหล่งกำเนิดของขยะอาหารที่พบมากที่สุดคือ ตลาดสด ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ คอนโดมิเนียมและอะพาร์ตเมนต์ โรงแรมและรีสอร์ท วัด ครัวเรือน และสถานศึกษา ตามลำดับ โดยเกิดจากภาคการท่องเที่ยวมากที่สุด (กรมควบคุมมลพิษ, 2567) นอกจากนี้ ผลการศึกษาของปทุมพร กองสมบัติ (2565, 112) พบว่า ช่วงอายุที่มีการทิ้งขยะที่ก่อให้เกิดเป็นขยะอาหารสูงที่สุดคือ ช่วงอายุต่ำกว่า 30 ปี สาเหตุมาจากพฤติกรรมที่ต้องการความรวดเร็ว ความสะดวก และขาดความตระหนักด้านขยะอาหาร เน้นอาหารที่ต้องการบริโภคมากกว่าดูตามวันหมดอายุและการคำนวณปริมาณในการบริโภค แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความตระหนักและขาดข้อมูลในเรื่องการคัดแยกขยะอาหาร รวมถึงการขาดแรงกระตุ้นจากองค์กรท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพราะไม่มีการจัดทำนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการจัดการขยะ การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ และขาดการรายงานผลในด้านต่าง ๆ พฤติกรรมของผู้ประกอบการและผู้บริโภคจึงเปลี่ยนแปลงได้ยาก ประเทศไทยต้องสร้างระบบจัดการขยะอาหารที่เหมาะสม ภาคต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจต้องมีมาตรการรองรับ เช่น ร้านจำหน่ายอาหารอาจเตรียมภาชนะและเตรียมที่ทิ้งเศษอาหารไว้ให้บริการ รวมถึงผู้บริโภคก็ต้องตระหนักเรื่องการแยกขยะอาหารก่อนทิ้งเช่นกัน
จากปัญหาขยะอาหารที่เกิดขึ้น กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำ “แผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ. 2566 – 2573)” ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ที่จัดทำ “แผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570)” โดยทั้ง 2 แผนนี้จะใช้เป็นกรอบการดำเนินงานอย่างชัดเจนแก่ทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาขยะอาหาร ช่วยส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน เช่น กำหนดให้ปริมาณขยะอาหารลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ภายในปี 2570 การพัฒนาระบบข้อมูลอาหาร ขยายเครือข่ายและเพิ่มหน่วยงานเพื่อนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์
วิธีช่วยลดขยะอาหาร ทำได้หลายวิธีและสามารถประยุกต์ใช้ได้ เช่น
- วางแผนการเลือกซื้ออาหารในแต่ละวันโดยคำนวณปริมาณให้พอเหมาะ
- หมั่นทำความสะอาดตู้เย็นหรือตู้แช่อาหารอย่างสม่ำเสมอ ตรวจเช็กวันหมดอายุหรือวันที่ควรบริโภคก่อนเพื่อป้องกันอาหารเสียเปล่า
- คัดแยกขยะ เลือกทิ้งขยะให้ถูกประเภท และนำไปใช้ประโยชน์ต่อ เช่น นำเศษอาหารไปหมักเป็นปุ๋ยพืช
- ภาคธุรกิจสามารถผูกจำนวนวัตถุดิบต่าง ๆ ผ่านระบบ Point of Sale: POS และเลือกรูปแบบการขนส่งให้เหมาะสมเพื่อป้องกันความเสียหาย
- การส่งต่ออาหารแก่ชุมชน โดยปัจจุบันมีหน่วยงานที่เล็งเห็นปัญหาและช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ เช่น
5.1. มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (Scholars of Sustenance Foundation: SOS) หรือมูลนิธิรักษ์อาหาร โดยทางมูลนิธิจะรับอาหารส่วนเกินที่ยังไม่หมดอายุจากผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ค้าส่งและค้าปลีกมาแปรรูปเป็นอาหารเมนูใหม่และมอบให้ผู้ที่ขาดแคลนอาหาร จัดเป็นโครงการมากมายที่ช่วยเอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่ขาดแคลนอาหาร เช่น 1.) โครงการรักษ์อาหาร ในทุกวันจะนำส่งอาหารที่เหลือจากผู้ประกอบการหรือผู้จำหน่ายอาหารให้แก่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ชุมชนที่ต้องการอาหาร เป็นต้น 2.) โครงการอาสารักษ์อาหาร ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีจิตอาสาเข้าร่วมเรียนรู้และลงพื้นที่แจกจ่ายอาหารเพื่อช่วยเหลือสังคม ปัจจุบันมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ในประเทศไทยตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต หัว-หิน และเชียงใหม่ โดยสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://th.scholarsofsustenance.org/sos-thailand
5.2. Food Waste Hup เกิดจากการก่อตั้งร่วมกันของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่จากขยะอาหารโดยการนำขยะอาหารไปวิจัยให้เกิดประโยชน์ต่อไป ตัวอย่างงานวิจัยที่นำมาต่อยอดการใช้ประโยชน์แล้วเสร็จ เช่น การใช้ประโยชน์จากเปลือกไข่สำหรับทำขนมบิสกิตเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสุนัข โดยสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.foodwastehub.com/
*ควรบริโภคก่อน (Best Before: BBE) หมายถึง วันที่คุณภาพของอาหารทั้งในด้านรสชาติหรือโภชนาการอาจลดลงเมื่อถึงวันที่กำหนด แต่อาหารนั้นยังไม่หมดอายุและสามารถบริโภคได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กรมควบคุมมลพิษ. (2567). แผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ. 2566 – 2573 และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร
ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570). สืบค้นจาก https://www.mnre.go.th/buriram/th/news/detail/174663
จิราภพ ทวีสูงส่ง. (2567). นวัตกรรมรักษ์โลกฝีมือคนไทย ! เว็บฯ “Food Waste Hub” ช่วยจัดการปัญหาขยะอาหารเหลือทิ้ง.
สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/now/content/805
ซูไรญา บินเยาะ, ธันยพร สุวรรณหงส์ และธีรดา จิ๋วใสแจ่ม. (2566). Food Waste : โลกดีขึ้นได้ แค่กินให้หมด. สืบค้นจาก
https://www.masscomm.cmu.ac.th/food-waste-โลกดีขึ้นได้-แค่กินให/
ไทยโพสต์. (2567). Food Waste ปัญหาใหญ่ที่ซ่อนในศูนย์อาหาร. สืบค้นจาก
https://www.thaipost.net/news-update/521396/
ไทยรัฐออนไลน์. (2566). "ขยะอาหาร" มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ไม่ควรมองข้าม ผลกระทบต่อ "สิ่งแวดล้อม". สืบค้นจาก
https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2712617
ปทุมพร กองสมบัติ. (2565). ความรู้เรื่องขยะอาหารและพฤติกรรมการกักตุนอาหารของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น.
แก่นเกษตร,50 (suppl. 1), 111-117. สืบค้นจาก https://ag2.kku.ac.th/kaj/PDF.cfm?filename=18-Eco01_O_Final.pdf&id=4684&keeptrack=13
เมทิตา อังศุเมธ. (2564). แนวทางการจัดการขยะอาหารสําหรับงานอีเวนต์ในมุมมองของผู้ให้บริการสถานที่จัดงาน.
วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร. สืบค้นจาก
http://ithesis-ir.su.ac.th/dspace/handle/123456789/3977
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) . (2562). ขยะอาหาร เรื่องใกล้แต่ใหญ่กว่าที่คิด. สืบค้นจาก
แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
Elina Närvänen, Nina Mesiranta, Malla Mattila, Anna Heikkinen. (2020). Food Waste Management:
Solving the Wicked Problem. Retrieved from https://doi.org/10.1007/978-3-030-20561-4
Oana, M., Alina Maria, S., Alin, S., David, W., & Ioana Mihaela, B. (2023). Eating Vegetables and Avoiding Food
Waste. Agricultural Management / Lucrari Stiintifice Seria I, Management Agricol, 25(3), 85–90. Retrieved form https://shorturl.at/cAFZ6
Reynolds, C., Soma, T., Spring, C., & Lazell, J. (Eds.). (2020). Routledge Handbook of Food Waste (1st ed.).
Routledge. Retrieved from https://doi.org/10.4324/9780429462795
Rocio Campos‐Vega, B. Dave Oomah, Haydé Azeneth Vergara‐Castañeda. (2020). Food Wastes and By‐
products. Retrieved from https://doi.org/10.1002/9781119534167
Santeramo, F.G. (2021). Exploring the link among food loss, waste and food security: what the research
should focus on?. Agric & Food Secur, 10(26). Retrieved from https://doi.org/10.1186/s40066-021-00302-z
Sutinen, U.-M., & Närvänen, E. (2022). Constructing the food waste issue on social media: a discursive social
marketing approach. Journal of Marketing Management, 38(3/4), 219–247. Retrieved from https://doi.org/10.1080/0267257X.2021.1966077