บริษัทผีดิบกัดกินเราอย่างไร (Zombie Firm)

ผู้เรียบเรียง

จิรารัตน์ วงษ์ศรีสวัสดิ์

บรรณารักษ์ปฏิบัติการ ฝ่ายบริการ

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

        บริษัทผีดิบหรือซอมบี้ธุรกิจ (Zombie Firm; Zombie Company) หากอธิบายให้เข้าใจอย่างง่าย คือ บริษัทที่ยังดำเนินกิจการอยู่แต่รายได้และผลผลิตต่ำ ทำให้ต้องก่อภาระหนี้โดยการขอสินเชื่อหรือขอความช่วยเหลือจากรัฐฯและนำรายได้ไปชำระดอกเบี้ยในแต่ละรอบปีบัญชีเพียงเท่านั้น ไม่สามารถสร้างกำไรหรือเพิ่มการลงทุนให้บริษัทในปัจจุบันได้ อีกทั้งยังไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต โดย SCB Economic Intelligence Center: EIC เปรียบเทียบภาพของบริษัทเช่นนี้ว่าเป็น “ร่างของผีดิบที่เหลือเพียงวิญญาณ” โดยบริษัทผีดิบสามารถสังเกตได้จาก 3 ลักษณะหลัก ๆ ได้แก่

  1. บริษัทที่เปิดมาแล้ว 10 ปีขึ้นไป แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้บริษัทที่เพิ่งเปิดได้ไม่นานก็มีโอกาสเป็นบริษัทผีดิบได้
  2. สามารถสร้างรายได้และกำไรให้กับบริษัทได้ในระดับต่ำจนไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจได้ อีกทั้งแนวโน้มอนาคตก็คาดการณ์กำไรได้ในระดับต่ำเช่นเดิม มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยต่ำกว่า 1 เท่าต่อเนื่องกัน 3 รอบปีบัญชี
  3. เป็นบริษัทที่พัฒนาผลิตภาพ (Productivity) ได้ยากแต่ยังไม่ถูกตัดออกจากตลาด เพราะบริษัทที่เปิดมานานจะได้รับความน่าเชื่อถือและมีสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset) ทำให้สามารถยื่นกู้เงินและได้รับการช่วยเหลือจากรัฐฯเพื่อนำเงินมาหมุนเวียนธุรกิจได้ แต่อาจมีข้อเสียจากการช่วยเหลือมากกว่าการพยุงธุรกิจไว้ กล่าวคือ ทำให้บริษัทขาดแรงกระตุ้นและแรงจูงใจในการฟื้นตัว

       บริษัทผีดิบจะแตกต่างจากบริษัทปกติด้านการใช้และบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากบริษัทที่มีศักยภาพจะสามารถเผชิญกับวิกฤตและกลับมาดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้เพราะเป็นบริษัทที่มีผลิตภาพระดับสูงจึงทำให้มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงไปด้วยปัจจัยที่ก่อให้เกิดบริษัทผีดิบนั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ การปรับอัตราดอกเบี้ย แม้ปัจจุบันจะผ่านช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ภาคการผลิตหรือผู้ประกอบการได้รับผลกระทบหนัก ๆ มาแล้ว แต่การฟื้นตัวจากบริษัทผีดิบนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมีโอกาสกลายเป็นบริษัทผีดิบเนื่องจากเน้นการส่งออกที่พึ่งพาต่างประเทศ ยิ่งกว่านั้นการคงอยู่ของบริษัทผีดิบในตลาดส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ยังดำเนินอยู่ เพราะบริษัทขนาดใหญ่มักกีดกันธุรกิจรายใหม่ที่ต้องการเข้าตลาด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเผชิญกับปัญหาหนี้สินมากขึ้น เนื่องจากศักยภาพในการชำระดอกเบี้ยต่ำกว่าบริษัทขนาดใหญ่ การขาดแคลนสภาพคล่อง ทำให้การขยายและพัฒนาการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพทำได้ยากกว่า จึงมีแนวโน้มการกลายเป็นบริษัทผีดิบหรือซอมบี้ธุรกิจสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในประเทศไทยธุรกิจขนาดย่อมนั้นยังมีความเปราะบางสูงมากจนอาจเป็นปัญหาที่น่ากังวลในอนาคตไม่ต่างจากบริษัทขนาดใหญ่เช่นกัน

S__7651375

        การคาดการณ์วิกฤตเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก หากเกิดสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ในเวลาอันสั้นอีกครั้ง สัดส่วนของบริษัทผีดิบอาจกลับมาเพิ่มสูงขั้นได้อีกในเวลาไม่นานเพราะประชาชนเริ่มเรียนรู้จากหลายวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทำให้ภาคครัวเรือนระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อลดการเกิดหนี้สินและเตรียมเงินไว้ใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น เมื่อเงินจากภาคครัวเรือนเข้ามาหมุนเวียนในระบบน้อยลงจะกระทบต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจที่ต้องชำระดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้กลายเป็นบริษัทผีดิบหรือแม้แต่ส่วนที่เป็นบริษัทผีดิบที่กำลังจะหลุดพ้นนั้นก็กลับจมลงเช่นเดิม ดังนั้น บริษัทใดที่ยังมีความสามารถในการปรับตัวและเพิ่มผลิตภาพได้ในระดับต่ำลงอาจพิจารณาลดขนาดธุรกิจเพื่อป้องกันการกลายเป็นบริษัทผีดิบ รวมถึงการขอความช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องทางการเงินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้สถานบันการเงินควรพิจารณาการปรับอัตราดอกเบี้ยหรือสร้างนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ในทางกลับกัน บริษัทใดที่ไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพในการดำเนินธุรกิจเพื่อแข่งขันในตลาดได้แล้ว การปล่อยให้บริษัทผีดิบที่มีศักยภาพต่ำดำเนินธุรกิจต่อไปอาจเป็นเรื่องไม่ดีนัก โดยภาครัฐจะต้องจัดทำนโยบายเพื่อรองรับการออกจากตลาดของบริษัท เพื่อช่วยโอบอุ้มผู้ประกอบการ ดูแลปัญหาการว่างงานของแรงงาน และปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่อาจตามมาต่อไป ทั้งนี้ ภาครัฐฯควรช่วยส่งเสริมธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อลดการกีดกันการเข้าตลาดด้วย (กำพล อดิเรกสมบัติ และคณะ, 2563) แน่นอนว่าการจะแก้ปัญหานั้นต้องใช้ความร่วมมือและการตกลงเงื่อนไขต่าง ๆ ระหว่างภาคธุรกิจ ภาคการเงินและธนาคาร เพื่อสร้างเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปได้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง 

กำพล อดิเรกสมบัติ และคณะ. (2563). ผลกระทบ COVID-19 ต่อ Zombie Firm นัยต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทย. สืบค้นจาก 

https://www.scbeic.com/th/detail/file/product/7272/fu7ee5tav8/EIC_Note-Zombie-Firm_TH_20201216.pdf

เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์. (2564). โควิดทุบอสังหา กทม. ลูกค้าหาย ทั้งปีเหลือ 6 หมื่นหน่วย. สืบค้นจาก 

         https://www.thansettakij.com/property/491399

ณฐพงศ์ ตันติจิรานนท์. (2566). Uneven recovery เศรษฐกิจไทยฟื้น แต่ธุรกิจฟื้นไม่เท่ากัน. สืบค้นจาก 

         https://www.scbeic.com/th/detail/product/thai-business-171123

ไทยรัฐออนไลน์. (2566). ดอกเบี้ยแพง ดันแนวโน้ม บริษัทผีดิบ (Zombie firms) หนี้ท่วมหัว ในไทยพุ่ง! คาด 16% มีความเสี่ยง. 

         สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2715332

ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ และปางอุบล อำนวยสิทธิ. (2566). การฟื้นตัวของธุรกิจหลังโควิด ใครว่าขนาดไม่สำคัญ. สืบค้นจาก 

https://www.scbeic.com/th/detail/file/product/8741/ggzwsev264/EIC_In-Focus_Business-recovery_20230105.pdf

สมประวิณ มันประเสริฐ. (2567). กระสุนเงิน หรือ สเต็มเซลล์ ? หน้าที่ภาคการเงินกับซอมบี้ธุรกิจไทย. สืบค้นจาก 

           https://www.scbeic.com/th/detail/product/9444 

สุพริศร์ สุวรรณิก. (2563). ​“บริษัทผีดิบ” คืออะไร แล้วเราควรทำอย่างไรกับมัน?. สืบค้นจาก 

https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/Article_12Oct2020-2.html

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

Álvarez, L., García-Posada, M., & Mayordomo, S. (2023). Distressed firms, zombie firms and zombie lending: A 

taxonomy. Journal of Banking and Finance, 149. Retrieved From https://doi.org/10.1016/j.jbankfin.2023.106762

Blažková, I., & Dvouletý, O. (2022). Zombies: Who are they and how do firms become zombies? Journal of 

Small Business Management, 60(1), 119-145–145. Retrieved From https://doi.org/10.1080/00472778.2019.1696100

Machek, O. (2018). Determinants of becoming a zombie firm: A Pitch. Journal of Accounting & Management 

Information Systems / Contabilitate Si Informatica de Gestiune, 17(4), 677–684. Retrieved From https://doi.org/10.24818/jamis.2018.04009

Pinheira, L. F. C. C. (2022). Zombie Firms in the Eurozone: characterization, de terminants and consequences.

          Retrieved From http://hdl.handle.net/10400.22/22124

Qi, Y., Lyu, S., Yang, S., & Dong, S. (2023). How do zombie firms affect the financialization of normal firms? 

Applied Economics Letters, 30(14), 1940–1945. Retrieved From https://doi.org/10.1080/13504851.2022.2086678

Wang, C., Richardson, G., & Cao, Y. (2024). Long live the walking dead? Corporate tax avoidance and zombie 

firms in China. The British Accounting Review. Retrieved From https://doi.org/10.1016/j.bar.2024.101319

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ดวงพร อรัญญพงษ์ไพศาล | 21/03/2567 | 9 | share : , ,
แบบประเมิน