อาหารเฉพาะบุคคล (Personalized Food)

ผู้เรียบเรียง

ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์

นักเอกสารสนเทศชำนาญการ ฝ่ายบริการ

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

            ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่หันมาสนใจและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการออกกำลังกาย ก็จะเป็นการเลือกบริโภคอาหารที่ดี เหมาะสมกับตัวเอง ประกอบกับมีความนิยมในสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์มากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาของแนวคิดอาหารเฉพาะบุคคล (Personalized Food) ที่เข้ามาตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ในแง่ของการวิเคราะห์และคัดเลือกอาหารให้เหมาะสมต่อการฟื้นฟูโรคของแต่ละบุคคล หรือการดูแลสุขภาพให้ตรงกับความต้องการ ซึ่งตลาดอาหารเฉพาะบุคคล (Personalized Food) นี้มีแนวโน้มเติบโตไปได้อีกมาก เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีการแพร่หลายมากนัก จึงถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะอาจส่งผลต่อกระแสการบริโภคอาหารในอนาคตอันใกล้นี้

ที่มา : etprotein.com

           นวัตกรรมอาหารเฉพาะบุคคล (Personalized Food) ในประเทศไทยอาจยังไม่แพร่หลายมากนัก เหมือนอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ในต่างประเทศทั่วโลกนั้น ถือได้ว่าผู้คนให้ความสนใจกันมาพอสมควรแล้ว ซึ่งนวัตกรรมนี้ เป็นการออกแบบโภชนาการด้วยแนวคิดแบบ Tailored to Fit คือการพิจารณาจากปัจจัยหลัก ได้แก่ รูปแบบการใช้ชีวิต สุขภาพ และสารพันธุกรรม (DNA) แล้วนำข้อมูลที่ได้มาปรับอาหารให้เหมาะกับแต่ละบุคคล แต่ละกลุ่มมากขึ้น แทนแนวคิดดั้งเดิมแบบ One Fit All ที่เป็นการผลิตอาหารหรือยาในรูปแบบสิ่งเดียวเหมาะกับทุกคน ซึ่งในความเป็นจริงโภชนาการเฉพาะบุคคล ถือเป็นเทคนิคที่มีการใช้ในวงการกีฬามาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ไม่แพร่หลายมากนัก

           การผลิตอาหารในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังเป็นในรูปแบบ One Fit All อยู่ แต่ในอนาคตการผลิตอาหารหรือยาจะเป็นในลักษณะที่เหมาะกับเฉพาะแต่ละบุคคลมากขึ้น เรียกว่า Personalized Food โดยอาจเริ่มเห็นการผลิตอาหารออกมาในรูปแบบเฉพาะกลุ่มมากขึ้นบ้าง เช่น อกไก่ปั่นสำเร็จรูปพร้อมดื่ม ไข่ขาวพาสเจอร์ไรซ์พร้อมปรุง เป็นต้น ซึ่งเหมาะแก่ผู้ที่ออกกำลังกายหรือต้องการดูแลสุขภาพ กลุ่มบุคคลที่แพ้อาหารเฉพาะบางประเภท รวมไปถึงการผลิตอาหารเพื่อเป็นเสมือนการรักษาโรค หรือบำรุง ดูแลให้ดีขึ้น เช่น อาหารที่เหมาะแก่ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น

           ประเภทของ Personalized Food แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามรูปแบบการส่งมอบและความเฉพาะเจาะจงของอาหาร โดยมีเกณฑ์การแบ่งคือ รูปแบบการส่งมอบ ได้แก่ Pre-packaged กับ Food Service และความเฉพาะเจาะจงของอาหาร ได้แก่ Mass-customized กับ Personalized ซึ่งประเภทของ Personalized Food 4 ประเภทนั้น ได้แก่

           1. อาหารสำเร็จรูปสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม

               เป็นการผลิตอาหารสำเร็จรูปที่ให้เหมาะสมกับบุคคลเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ออกกำลังกาย กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยตัวอย่างในประเทศไทย เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด ที่ผลิตข้าวต้มผู้สูงวัยออกมา มีลักษณะนิ่ม เคี้ยวง่าย ดูดซึมได้ดี และมีโภชนาการที่เหมาะกับผู้สูงอายุ เป็นต้น

           2. อาหารสำเร็จรูปสำหรับเฉพาะบุคคล

               เช่น บริษัท Nestle ที่นำข้อมูล DNA ของแต่ละบุคคลมาวิเคราะห์ ประมวลผล และคิดค้นพัฒนาสูตรอาหารให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ภายใต้แบรนด์ Lean Cuisine เป็นต้น

           3. ร้านอาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม

               ตัวอย่างร้านอาหารในประเทศไทย เช่น ร้านต้นกล้าฟ้าใส จะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่เหมาะกับบุคคลเฉพาะกลุ่ม ร้าน Vista Kitchen ที่เป็นอาหารตามแต่ละกรุ๊ปเลือด ซึ่งร้านอาหารลักษณะนี้เริ่มมีแพร่หลายมากขึ้นแล้ว

           4. ร้านอาหารสำหรับเฉพาะบุคคล

               เป็นลักษณะของการที่ผู้บริโภคได้รับผลตรวจสารพันธุกรรม (DNA) และอาจเชื่อมโยงข้อมูลผ่าน iPad ของร้านอาหาร เพื่อคัดเลือกและปรับแต่งอาหารให้เหมาะสมได้ โดยแสดงผลผ่านแถบสี เช่น อาหารที่ดี เหมาะสม จะแสดงสถานะเป็นสีเขียว ส่วนอาหารที่ไม่เหมาะสมเท่าใดนัก จะแสดงสถานะเป็นสีแดง ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้เหมาะสมกับตัวเองมากขึ้น และบางร้านก็จะมีการเสิร์ฟอาหารออกมาในรูปแบบของเทคโนโลยี 3D Printing Food

           ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องในวัฏจักรนี้ ได้แก่ 1. ผู้บริโภคส่งผลตรวจเลือดหรือน้ำลายให้แก่ผู้ให้บริการตรวจวิเคราะห์สุขภาพ (Testing Service) 2. ผู้ให้บริการตรวจวิเคราะห์สุขภาพ (Testing Service) ส่งผลตรวจสุขภาพให้แก่ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและอาหาร (Health and Nutrition Specialist) วิเคราะห์ผลต่อไป 3. ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและอาหาร (Health and Nutrition Specialist) ส่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้านโภชนาการและอาหารให้แก่ผู้ผลิตสารอาหาร (Food Ingredient) เพื่อผลิตและจัดส่งอาหารกลับคืนสู่ผู้บริโภคต่อไป

           แนวทางของ Personalized Food นั้น ต่อไปจะเป็นการใช้หลักวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จนไปถึง AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์มากยิ่งขึ้น ซึ่งการนำรหัสพันธุกรรม (DNA) พื้นฐานของผู้บริโภคมาวิเคราะห์ ย่อมทำให้เห็นลักษณะเฉพาะของร่างกายที่ชัดเจนขึ้นมากกว่า เพื่อนำไปคิดค้นหรือปรับปรุงโภชนาการให้เหมาะสมกับบุคคลนั้น ๆ เรียกหลักการนี้ว่า “โภชนศาสตร์พันธุกรรม” โดยในประเทศไทยเริ่มมีการใช้เทคโนโลยี Personalized Food ในหลายโรงพยาบาลแล้ว เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ ที่มีการพัฒนารูปแบบวิตามินเฉพาะบุคคล ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยตรวจวัดอย่างละเอียด ลงไปถึงระดับวิตามิน แร่ธาตุ อนุมูลอิสระ หรือฮอร์โมนในร่างกาย โดยเมื่อทราบว่าร่างกายคนไข้ขาดสิ่งใด จึงสามารถปรุงวิตามินรักษาได้อย่างตรงจุด เหมาะสม ซึ่งจากตัวอย่างเทคโนโลยีทางด้านนี้ ก็ทำให้ต่อไปอาจกลายเป็นแนวทางพัฒนายาได้เฉพาะกับบุคคลมากยิ่งขึ้น

           Personalized Food มีทิศทางการเติบโตต่อจาก Plant-based Food และมีแนวโน้มที่จะเติบโตไปได้อีกมาก ดังเช่น ปัจจุบันที่มีกระแสในส่วนของตลาดเฉพาะกลุ่ม ประเภทกลุ่มผู้ควบคุมน้ำหนัก กลุ่มผู้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเทียบเปอร์เซนต์อัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR%) จากมูลค่าตลาด (ล้านบาท) ในปี 2020 ถึงปี 2025 นั้นเท่ากับ 16.3%, 14.2% และ 11.3% ตามลำดับ โดยในส่วนของตลาดเฉพาะบุคคล เท่ากับ 18.7% ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยังมีโอกาสเติบโตไปได้อีกมาก สูงกว่ากลุ่มของตลาดเฉพาะกลุ่มอีก เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาและการประชาสัมพันธ์ช่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากพบว่า บุคคลเริ่มต้องการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัวในเรื่องต่าง ๆ และมีความต้องการสิ่งที่ตอบสนองเฉพาะตัวเพิ่มขึ้นไปเช่นกัน รวมถึงเรื่องของอาหารและยาเพื่อสุขภาพด้วย นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ยังชี้ว่า Personalized Food ในประเทศไทยจะสามารถเติบโตได้เฉลี่ยสูงถึงปีละ 14.2% หรือแตะที่ระดับ 5.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2025 ส่วนตลาดโลกน่าจะไปถึงประมาณ 3 ล้านล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 12.0%

           ตัวอย่างธุรกิจเกี่ยวกับนวัตกรรมนี้ เช่น บริษัท Nestle (ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) ที่นำผล DNA ของผู้บริโภคมาวิเคราะห์และพัฒนาอาหารให้เหมาะเฉพาะบุคคล ร้าน Sushi Singularity (ประเทศญี่ปุ่น) ที่นำตัวอย่างทางชีวภาพของผู้บริโภคมาประเมินผล คิดค้นเป็นซูชิที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะกับผู้บริโภคแต่ละคนมากยิ่งขึ้น บริษัท Verdify (ประเทศเนเธอร์แลนด์) พัฒนาแพลตฟอร์มให้ผู้บริโภคสามารถออกแบบสูตรอาหารที่เหมาะกับตัวเองหรือซื้อไปทำทานเองที่บ้านได้ และ Heinen (ประเทศสหรัฐอเมริกา) ที่เปิดเป็นศูนย์ให้บริการปรึกษา/แนะนำเกี่ยวกับโภชนาการทางอาหาร ซึ่งอยู่กลางห้างสรรพสินค้า (Supermarket) เลย เป็นต้น

           ในประเทศไทยจะเห็นตัวอย่างจาก บริษัท กรีน แอนด์ ออแกนิค จำกัด (Green & Organic) ผู้ผลิตอาหารเฉพาะโรคพร้อมทาน ได้รุกตลาด “อาหารเฉพาะโรคเฉพาะรายบุคคล” (Personalized Food) โดยผลิตอาหารพร้อมทาน รูปแบบที่คัดเลือกโภชนาการให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม แต่ละบุคคล ที่ผ่านมาได้ให้บริการส่งทั่วประเทศ โดยในต่างจังหวัด คิดเป็น 70% และในกรุงเทพฯ คิดเป็น 30% ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเชฟและนักกำหนดอาหาร และได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในการวิจัยผลของการบริโภคลดเค็มที่มีผลต่อการทำงานของไต โดยบริษัทนี้ถือเป็นตัวอย่างธุรกิจที่เริ่มดำเนินการภายใต้หลักคิดของ Personalized Food ซึ่ง “คุณชลกานต์ วิสุทธิพิทักษ์กุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีน แอนด์ ออแกนิค จำกัด นั้น ได้ให้ข้อมูลว่า ทางบริษัทมองว่าที่ผ่านมาผู้คนได้มีการปรับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตามที่แพทย์ หรือนักโภชนาการแนะนำในรูปแบบกว้าง ๆ ตามความเข้าใจแล้ว เช่น การลดหวาน ลดเค็ม หรือเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นรับประทานสิ่งใดเพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงสิ่งใด เป็นต้น แต่ยังเห็นได้ว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับทุกคนได้เหมือนกัน บางคนลดสิ่งหนึ่ง แต่กลับกลายเป็นไปเพิ่มการสะสมอีกสิ่งหนึ่งแทน จึงเป็นอีกโรคหนึ่งโดยไม่รู้ตัว ทำให้เป็นแนวคิดที่มองว่า แต่ละบุคคลควรได้บริโภคในสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง เพราะไม่ใช่วิธีการเดียวกันนี้ที่จะใช้กับทุกคนแล้วได้ผลลัพธ์ที่เหมือนกัน 

           นอกจากนี้ บริษัทยังยึดหลักการของการนำ Pain Point มาเป็นตัวผลักดัน กล่าวคือ ตลาดยังไม่ค่อยมี Personalized Food เท่าใดนัก จึงมองว่ายังมีโอกาสเติบโตไปได้มาก ส่วนใหญ่ยังคงเป็นรูปแบบ Individual Provider มากกว่า และพบว่ายังไม่มีรูปแบบที่มีนักโภชนาการดูแลตั้งแต่วันแรกจนถึงขั้นตอนที่สามารถสอบถามเพื่อขอคำแนะนำหรือคำปรึกษาได้ตลอดเวลา ที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่มีปัญหาสุขภาพ 90% และผู้บริโภคที่ต้องการดูแลสุขภาพ 10% โดยเป็นลูกค้าจากต่างจังหวัดมากถึง 70% และในกรุงเทพฯ เพียง 30% ส่วนใหญ่พบเป็นผู้ป่วยโรคไต 80% และอีก 20% เป็นผู้ป่วยโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดัน มะเร็ง ซึ่งพบว่า โรคไตเป็นโรคที่ฟื้นฟูได้ช้าที่สุด เร็วที่สุดคือ เบาหวาน และไขมัน ตามลำดับ

           สิ่งที่น่าสนใจคือการวางเป้าหมายทางการตลาดในอนาคต โดยเริ่มจากการร่วมมือกับภาครัฐ จัด “โภชนคลินิกสัญจร” ไปยังกลุ่มประกันสังคมในโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ มุ่งเน้นการทำอาหารให้เป็นยา อันนำไปสู่การเป็นผลลัพธ์ที่ยั่งยืน นอกจากนี้ มุ่งเป้าหมายการเจาะจงในกลุ่มโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น และจะมุ่งส่งออกไปยังตลาดประเทศแถบตะวันออกกลางก่อนเป็นลำดับถัดไป โดยในประเทศไทย หากผู้บริโภคต้องการก็จะมีหน้าร้าน Green & Organic ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ และช่องทางออนไลน์ไว้ให้บริการอยู่แล้ว

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ. (2565). PERSONALIZED NUTRITION. สืบค้นจาก https://www.wha-industrialestate.com/en/media-

            activities/articles/4424/personalized-nutrition

__________. (2567). “โภชนบำบัด” ดีไซน์เฉพาะบุคคล เทรนด์ใหม่ ผลักดันวงการอาหาร. สืบค้นจาก

            https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1120565

ฐานเศรษฐกิจ. (2564). “อาหารเฉพาะบุคคล” เทรนด์ใหม่ปฏิวัติอาหารโลก. สืบค้นจาก 

            https://www.thansettakij.com/economy/480382

AdminK (นามแฝง). (2567). เจาะแนวคิดการปั้น “อาหารเฉพาะโรครายบุคคล” จาก Green & Organic กับการจับ Pain Point 

            มาดีไซน์สู่ไอเดียอาหารสำหรับผู้ป่วย ปีแรกดันยอดทะลุ 70,000 มื้อ. สืบค้นจาก 

            https://www.brandbuffet.in.th/2024/04/green-and-organic-create-personalized-food/

NIAAcademyMOOCS. (2564). นวัตกรรมอาหารแห่งโลกอนาคตที่เป็นมากกว่าความอร่อย. สืบค้นจาก 

            https://moocs.nia.or.th/article/food-tech-2021

SME THAILAND. (2565). จับตาตลาด Personalized Food ธุรกิจอาหารมาแรงแห่งยุคคนรักสุขภาพ. สืบค้นจาก 

            https://www.smethailandclub.com/marketing/7846.html

Tangsiri (นามแฝง). (2564). เจาะกระแส Personalized Food อาหารเฉพาะบุคคล ที่โตแรงจนมีมูลค่า 55,000 ล้านบาทในปี 

            2025. สืบค้นจาก https://brandinside.asia/personalized-food-thailand/

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

Appleton, K. M., Bray, J., Price, S., Hartwell, H., Liebchen, G., Jiang, N., Mavridis, I., Saulais, L., Giboreau, A., 

            Perez-Cueto, F. J. A., Coolen, R. & Ronge, M. (2019). A mobile phone app for the provision of 

            personalized food-based information in an eating-out situation: Development and initial evaluation. 

            JMIR Formative Research. Retrieved from https://kasets.art/3vaja6

Chao, C., Nam, H. K., Park, H. J. & Kim, H. W. (2024). Potentials of 3D printing in nutritional and textural 

            customization of personalized food for elderly with dysphagia. Applied Biological Chemistry, 67(1): 

            1-14. Retrieved from https://kasets.art/ihou0y

Chen, R. & Chen, G. (2022). Personalized nutrition for people with diabetes and at risk of diabetes has begun. 

            Journal of Future Foods, 2(3): 193-202. Retrieved from https://kasets.art/QPwv4f

Derossi, A., Husain, A., Caporizzi, R. & Severini, C. (2020). Manufacturing personalized food for people 

            uniqueness. An overview from traditional to emerging technologies. Critical Reviews in Food Science 

            & Nutrition, 60(7): 1141-1159. Retrieved from https://kasets.art/iwRUNm

Princy, J., Senith, S., Kirubaraj, A. A. & Vijakumor, P. (2021). A Personalized Food Recommender System for 

            Women Considering Nutritional Information. International Journal of Pharmaceutical Research, 13(2): 

            1884-1887. Retrieved from https://kasets.art/rDOiKw

 

ดวงพร อรัญญพงษ์ไพศาล | 16/09/2567 | 8 | share : , ,
แบบประเมิน