สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถือกำเนิดมาพร้อมๆกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2486 โดยในระยะแรกได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศ และในปี พ.ศ. 2491 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้แนะนำให้รวมห้องสมุดของมหาวิทยาลัยซึ่งในขณะนั้นมีฐานะเป็นกรมหนึ่งของกระทรวงเกษตรและห้องสมุดของกรมเกษตรเข้าด้วยกัน
พ.ศ.2494
ได้รวมห้องสมุดของมหาวิทยาลัยและห้องสมุดของกรมเกษตร เรียกว่า “ห้องสมุดกลาง” องค์การความร่วมมือทางการบริหารระหว่างประเทศ (ICA) ได้ส่งนางมาร์เบล ไรท์มาช่วยจัดห้องสมุดภารกิจสำคัญที่นางไรท์ได้ดำเนินการ คือการนำระบบการจัดหมู่หนังสือของรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress) มาใช้ในการจัดหนังสือของห้องสมุดกลางบางเขนซึ่งเป็นการวางรากฐานของการจัดหมวดหมู่หนังสือในระบบนี้อาจกล่าวได้ว่าห้องสมุดกลางบางเขนเป็นห้องสมุดแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้ระบบนี้
พ.ศ.2496
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารห้องสมุดกลางแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่หลังตึกพืชพรรณเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2496 และห้องสมุดกลางได้รับการยกฐานะเป็นแผนกห้องสมุด
พ.ศ.2499
ห้องสมุดกลางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการแบ่งส่วนราชการอย่างเป็นทางการเป็นแผนกห้องสมุด สำนักงานเลขานุการกรม กรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พ.ศ. 2508
ได้ย้ายห้องสมุดกลางมาอยู่ที่อาคารเอกเทศสูง 3 ชั้น (ตั้งอยู่หลังอนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์) มีพื้นที่ 1,638 ตารางเมตรก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 และมีพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2508 โดยนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร ใช้ชื่ออาคารว่าหอสมุดกลาง
พ.ศ. 2515 -2518
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับงบประมาณจากโครงการเงินกู้ธนาคารโลกเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาก่อสร้างอาคารหอสมุดกลางหลังใหม่ทั้ง 2 วิทยาเขต (วิทยาเขตบางเขนและวิทยาเขตกำแพงแสน)นอกจากนี้ยังได้รับงบประมาณการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศครุภัณฑ์ตลอดจนการพัฒนาบุคลากร ในการวางแผนการดำเนินการพัฒนามีผู้ที่มีบทบาทสำคัญนอกเหนือจาก ผศ.ดรุณา สมบูรณกุล ผู้บริหารในขณะนั้นแล้วยังมี Dr. Dorothy Parkerผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์มาช่วยวางแผนและเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาห้องสมุดตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.– 31 พ.ค. 2517 และMr. J.R. Blanchard อดีตผู้อำนวยการห้องสมุด Shields Library แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเดวิสสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. 2517- 24 ก.พ. 2518
พ.ศ. 2518
มหาวิทยาลัยได้จัดสรรทุนฝึกงานตามโครงการเงินกู้ธนาคารโลกโดยใช้ระยะเวลาฝึกงาน 6 เดือนบรรณารักษ์ที่ได้รับทุนคือ นางพิบูลศิลป์ วัฑฒนะพงศ์ฝึกงานด้านเอกสารและวารสาร และ นางสมบูรณ์ ไทรแจ่มจันทร์ฝึกงานด้านวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเดวิสสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2520
หอสมุดกลางได้รับการยกฐานะจาก “แผนกห้องสมุด” เป็น“สำนักหอสมุด”มีฐานะเทียบเท่าคณะ สำนัก สถาบันของมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 โดยมี ผศ.ดรุณา สมบูรณกุลเป็นผู้อำนวยการคนแรกของสำนักหอสมุดการบริหารงานของสำนักหอสมุดแบ่งงานออกเป็น 5ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหารสำนักงานฝ่ายงานเทคนิค ฝ่ายบริการผู้ใช้ ฝ่ายวารสารและเอกสาร และฝ่ายห้องสมุดสาขาโดยได้จัดรูปแบบการบริหารห้องสมุดกลางและห้องสมุดคณะเป็นแบบศูนย์รวม (Centralization)
พ.ศ. 2522
การก่อสร้างอาคารหอสมุดกลางหลังใหม่ทั้ง 2 วิทยาเขต (วิทยาเขตบางเขนและวิทยาเขตกำแพงแสน)ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยโดยอาคารสำนักหอสมุดวิทยาเขตบางเขนได้รับงบประมาณค่าก่อสร้าง จำนวน 28 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2518 สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2522 (พื้นที่ใช้สอย 6,700 ตารางเมตร)ส่วนอาคารห้องสมุดวิทยาเขตกำแพงแสนได้รับงบประมาณค่าก่อสร้างจำนวน 12 ล้านบาท เริ่มสัญญาก่อสร้างเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2521 สร้างเสร็จในปีพ.ศ. 2522
พ.ศ. 2523
ย้ายห้องสมุดจากอาคารหอสมุดกลางมายังอาคารหลังใหม่ซึ่งได้รับชื่ออาคารว่าอาคารช่วงเกษตรศิลปการ หรืออาคารสำนักหอสมุดเปิดให้บริการมาถึงปัจจุบัน ในวันที่ 13 มีนาคม 2523 ได้รับมอบหมายจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติให้เป็นศูนย์สนเทศทางการเกษตรแห่งชาติ (Thai National AGRIS Centre) เพื่อเป็นศูนย์เครือข่ายความร่วมมือในระบบสารสนเทศเกษตรนานาชาติ (AGRIS FAO) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก IDRC (International Development Research Center) มีหน้าที่รวบรวมข้อสนเทศด้านการเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้องและส่งดรรชนีข้อสนเทศเหล่านี้เผยแพร่ในดรรชนีวารสารร่วมกับศูนย์ข้อมูลของประเทศต่างๆ รวม 127 ประเทศนอกจากเผยแพร่เป็นตัวเล่มแล้วยังเผยแพร่ข้อมูลในรูปซีดีรอมและออนไลน์
พ.ศ. 2524
ศูนย์พัฒนาการวิจัยระหว่างประเทศ (International Development Research Center-IDRC) สนับสนุนให้สำนักหอสมุดจัดตั้งศูนย์สนเทศทางกระบือนานาชาติ (International Buffalo Information Center-IBIC) ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกระบือและเผยแพร่งานวิจัยแก่นักวิจัยและผู้สนใจทั่วไปและเน้นการให้บริการโดยเฉพาะกระบือที่ใช้งาน (water buffalo หรือ swamp buffalo)
พ.ศ. 2529
สำนักหอสมุดได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานสารนิเทศสาขาเกษตรศาสตร์มีข่ายงานด้านการเกษตร ซึ่งประกอบด้วยห้องสมุดศูนย์เอกสารของหน่วยงานในระดับกรม กอง กระทรวงที่มีบทบาทด้านการเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้องหน่วยงานในสถาบันการศึกษาทั้งระดับวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมีหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลหรือสารนิเทศจากแหล่งต่างๆเป็นสื่อกลางและเผยแพร่ข้อมูลด้านการเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้อง
พ.ศ. 2535
สำนักหอสมุดแบ่งการบริหารงานออกเป็น 7 ฝ่าย ประกอบด้วย สำนักงานเลขานุการ ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ ฝ่ายวิเคราะห์ทรัพยากรห้องสมุดและทำบัตรรายการ ฝ่ายบริการ ฝ่ายโสตทัศนวัสดุ ฝ่ายห้องสมุดสาขา และฝ่ายวารสาร
พ.ศ. 2539
สำนักหอสมุดมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายใน โดยแบ่งการบริหารงานออกเป็น 8 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายบริหารและธุรการทั่วไป ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรห้องสมุด ฝ่ายวิเคราะห์ทรัพยากรห้องสมุดและทำบัตรรายการ ฝ่ายวารสาร ฝ่ายโสตทัศนวัสดุ ฝ่ายบริการ ฝ่ายห้องสมุดสาขา และฝ่ายสารนิเทศ
พ.ศ. 2542
โครงสร้างการบริหารงานภายในสำนักหอสมุดแบ่งออกเป็น 11 ฝ่าย ได้แก่ สำนักงานเลขานุการ ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ ฝ่ายวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ฝ่ายฝึกอบรมและเผยแพร่วิชาการ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายบริการเทคโนโลยีการศึกษา ฝ่ายบริการสารสนเทศ ฝ่ายบริการยืมคืน ฝ่ายสารสนเทศ ฝ่ายห้องสมุดสาขา และฝ่ายหอสมุดกลางกำแพงแสน
พ.ศ. 2543
เริ่มให้บริการวารสารอิเล็กทรอนิกส์และฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายฐานข้อมูลแรกที่เริ่มจัดหามาให้บริการ คือ ฐานข้อมูล Science Direct
พ.ศ. 2544
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยศูนย์สนเทศทางการเกษตรแห่งชาติได้รับการจัดอันดับ 1 ใน 10 ศูนย์เครือข่าย AGRIS ที่มีผลงานและกิจกรรมเพื่อการพัฒนาสารสนเทศด้านการเกษตรของ AGRIS / FAO
พ.ศ. 2546
สำนักหอสมุดได้ทำการปรับเปลี่ยนโครงการการบริหารโดยแบ่งออกเป็น 9 ฝ่าย คือ สำนักงานผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ ฝ่ายวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ฝ่ายบริการ ฝ่ายสารสนเทศ ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ ฝ่ายห้องสมุดสาขา ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และฝ่ายหอสมุดกลาง กำแพงแสน
พ.ศ. 2547
ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างอาคารหลังใหม่โดยเชื่อมต่อกับอาคารช่วงเกษตรศิลปการและสร้างเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
พ.ศ. 2548
สำนักหอสมุดปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ และขอจัดตั้ง สำนักหอสมุด กำแพงแสน โดยสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้ จัดตั้ง สำนักหอสมุด กำแพงแสน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2548 โดยเป็นหน่วยงานภายใต้การบริหารจัดการของวิทยาเขตกำแพงแสน มีฐานะเทียบเท่าคณะ ต่อมาสำนักหอสมุดจึงได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่โดยแบ่งออกเป็น 8 ฝ่าย คือ สำนักงานเลขานุการ ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ ฝ่ายสารสนเทศ ฝ่ายวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีการศึกษา ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายบริการ และฝ่ายห้องสมุดสาขา
พ.ศ. 2549
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่ออาคารการเรียนรู้ว่า “เทพรัตน์วิทยาโชติ” ซึ่งมีความหมายว่าอาคารที่รุ่งเรืองด้วยความรู้อันวิเศษดุจดวงแก้วแห่งเทพ
พ.ศ. 2551
สำนักหอสมุดได้มีการปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ สำนักหอสมุดอีกครั้ง ตามประกาศสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2551 โดยแบ่งให้เหลือ 6 ฝ่าย คือ สำนักงานเลขานุการฝ่ายจัดการทรัพยากรสารสนเทศ ฝ่ายบริการ ฝ่ายสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และฝ่ายเทคโนโลยีการศึกษา
พ.ศ. 2552
ได้รับงบประมาณในการปรับปรุงอาคารช่วงเกษตรศิลปการ (อาคารเดิม) จำนวน 40 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม – ธันวาคม พ.ศ. 2552 (ปรับปรุงแล้วเสร็จและเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552)
เปิดให้บริการ Research Square พื้นที่นั่งอ่านเพื่อการค้นคว้าวิจัยสำหรับนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา อาจารย์นักวิจัย และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ได้รับรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชนจากสำนักงาน ก.พ.ร. รางวัลดีเด่นประเภทนวัตกรรม การให้บริการประจำปี 2552
พ.ศ. 2553
สำนักหอสมุดได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการโครงการสร้างขุมกำลังบุคลากรด้านอนุรักษ์พลังงาน (BEAT 2010) หรือ Building Energy Award of Thailand : BEAT ให้เป็น 1 ใน 16 อาคารชั้นนำที่เข้าแข่งขันการอนุรักษ์พลังงานในระยะเวลา 1 ปี (มิถุนายนพ.ศ. 2553 – มิถุนายน พ.ศ. 2554) ผ่านสื่อออนไลน์และประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องอาคารที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงบางส่วนและเป็นการพัฒนาบุคลากรให้เกิดความตระหนักในการอนุรักษ์พลังงานโดยมีสถาบันวิศวกรรมพลังงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาผลอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมโครงการนี้จึงเป็นโอกาสให้สำนักหอสมุดได้ปรับปรุงอาคารทั้งสองหลังครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งโดยเฉพาะอาคารช่วงเกษตรศิลปการที่มีการจัดโซนนิ่งพื้นที่การจัดเก็บสิ่งพิมพ์และพื้นที่นั่งอ่านให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนโคมไฟที่มี Sensor เป็นระบบควบคุมการ เปิด – ปิดโคมไฟส่องสว่างเพื่อการประหยัดพลังงานพร้อมกับการคัดแยกหนังสือเพื่อให้สะดวกต่อการใช้และการบริหารจัดการพื้นที่ในการให้บริการ ได้แก่การคัดแยกหนังสือที่มีเนื้อหาเน้นวิชาการและหนังสือที่มีเนื้อหาไม่เน้นวิชาการออกจากกันและคัดแยกหนังสือวิชาการตามช่วงปีใหม่และเก่าให้จัดเก็บไว้แยกกัน ได้แก่ หนังสือที่มีการจัดพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) เป็นต้นไป จัดเก็บและให้บริการที่ชั้น 1 สำหรับหนังสือที่มีปีพิมพ์เก่ากว่าปี ค.ศ. 2001 จัดเก็บและให้บริการที่ชั้น 3
พ.ศ. 2554
ดำเนินการปรับปรุงอาคารช่วงเกษตรศิลปการในโครงการ BEAT 2010 แล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 4 มกราคม 2554
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชนรางวัลมาตรฐานศูนย์บริการร่วม / เคาน์เตอร์บริการประชาชนและรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2554 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยได้รับรางวัลชมเชยประเภทรายกระบวนงาน ในผลงานเรื่อง “การเรียนรู้ด้านเกษตรผ่าน e-Book” ณหอประชุมกองทัพเรือ
พ.ศ. 2555
พิธีเปิดห้อง Eco-Library ห้องสมุดรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งแรกของประเทศไทยเป็นห้องสมุดต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงานผ่านสื่อความรู้และการสัมผัสจริงจากงานออกแบบสร้างสรรค์บนเส้นทางสีเขียว
พิธีเปิดบริการคลังหนังสือพระราชนิพนธ์และคลังหนังสือ มก. ณ ชั้น 3 อาคารช่วงเกษตรศิลปการและพิธีเปิดบริการ KU Alumni Service ณ ห้อง Eco-Library ชั้น 1 อาคารช่วงเกษตรศิลปการ
สำนักหอสมุดเข้ารับโล่เชิดชูเกียรติในฐานะหน่วยงานผู้นำชื่อเสียงมาสู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จากการได้รับรางวัลคุณภาพการให้บริการประชาชนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ประจำปี 2554 ณ โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว
ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดเข้ารับรางวัล BEAT 2010 รางวัลด้านการมีส่วนร่วมกลุ่มอาคารประเภทมหาวิทยาลัย กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอารักษ์ชลธาร์นนท์ ประธานมอบรางวัลการแข่งขันอาคารอนุรักษ์พลังงาน BEAT AWARDS (Building Energy Awards of Thailand) ในพิธีประกาศผลรางวัลการแข่งขันอาคารอนุรักษ์พลังงานครั้งแรกของประเทศไทย BEAT AWARDS ณ โรงภาพยนตร์สกาล่า สยามสแควร์
สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อนุมัติให้โอนย้ายหอจดหมายเหตุ ซึ่งเดิมสังกัด สำนักงานอธิการบดีมาเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักหอสมุด โดยมีสถานะเทียบเท่าฝ่าย ดังนั้นโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในสำนักหอสมุดจึงประกอบด้วย 7 ฝ่าย ได้แก่สำนักงานเลขานุการ ฝ่ายจัดการทรัพยากรสารสนเทศ ฝ่ายสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีการศึกษา ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายบริการ และฝ่ายหอจดหมายเหตุ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับโล่รางวัล และใบประกาศเกียรติคุณรางวัลดีเยี่ยมประเภทการพัฒนาปรับปรุงกระบวนงานในโครงการรางวัลคุณภาพมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2554 ในผลงานเรื่อง “เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ด้วย e-Book ด้านการเกษตร” จัดโดยสำนักประกันคุณภาพ ณ ห้องประชุม กำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พิธีเปิดห้องสมุดในสวน ณ โถงนิทรรศการชั้น 1 อาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ สำนักหอสมุด มก.
สำนักหอสมุดได้รับรางวัลคุณภาพจากโครงการรางวัลคุณภาพมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครั้งที่ 6 ซึ่งได้รับโล่พร้อมใบประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัล
พ.ศ. 2556
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้สนับสนุนเงินจำนวน 1,000,000 บาท จากเงินรายได้ส่วนกลาง มก.ให้กับสำนักหอสมุด โดยพิจารณาจากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพสร้างผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม และนำชื่อเสียงมาสู่มหาวิทยาลัยโดยสำนักหอสมุดจะมุ่งมั่นพัฒนาบริการต่อไปดังคำขวัญที่ว่า “บริการดีมีน้ำใจ ก้าวไกลด้วยวิชาการ” และนำเงินสนับสนุนดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาโครงการคลังความรู้ดิจิทัลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโครงการอ่านทุกที่ใน มก. ต่อไป
พิธีเปิดโครงการอ่านทุกที่ใน มก. (Read@ku) เพื่อสนับสนุนให้นิสิต บุคลากรและประชาชนทั่วไป มีนิสัยรักการอ่านโดยเป็นหนึ่งในโครงการบริการเชิงรุกที่สำนักหอสมุดใช้เงินสนับสนุน 1 ล้านบาท ที่ได้รับมอบจากมหาวิทยาลัยโดยมีหนังสือที่หลากหลายไว้บริการตามจุดต่างๆ ในระยะที่ 1 ดังนี้
- ใต้อาคารสารนิเทศ 50 ปี มีจุดบริการ 2 จุด
- โรงอาหารกลาง 1 (บาร์ใหม่) มีจุดบริการ 1 จุด
- โรงอาหารกลาง 2 (สม.ก.) มีจุดบริการ 1 จุด
- ป้ายจอดรถวิทยาเขต บริเวณหน้ากองยานพาหนะอาคารและสถานที่ (ประตูวิภาวดี) มีจุดบริการ 1 จุด
- ป้ายจอดรถวิทยาเขต บริเวณหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ มีจุดบริการ 1 จุด
- ป้ายจอดรถวิทยาเขต บริเวณศาลาหกเหลี่ยม มีจุดบริการ 1 จุด
- ด้านข้างอาคารสำนักหอสมุด ใกล้จุดรอรถวิทยาเขต หน้าอาคารเทพรัตน์วิทยาโชติมีจุดบริการ 1 จุด
สำนักหอสมุดได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณผู้นำชื่อเสียงมาสู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับรางวัลดีประเภทการพัฒนาการบริการที่เป็นเลิศผลงาน "บริการความรู้บนเส้นทางสีเขียว : ห้องสมุดเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม (Eco-Library)”
พ.ศ. 2557
สำนักหอสมุดได้เริ่มดำเนินงานในเรื่อง เครือข่ายห้องสมุดสีเขียว ขึ้น เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาการให้บริการสารสนเทศ การแลกเปลี่ยน ดำเนินกิจกรรม ความรู้ต่างๆในด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจัดทำมาตรฐานห้องสมุดสีเขียวขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป ซึ่งในปัจจุบันห้องสมุดมีเครือข่ายห้องสมุดสีเขียวจากหน่วยงานต่างๆรวมทั้งสิ้น 30 หน่วยงาน
สำนักหอสมุดได้จัดอบรม Green Library : การบริหารจัดการห้องสมุดสีเขียว ขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมกับมีการลงนามความร่วมมือเครือข่ายห้องสมุดสีเขียว จากหน่วยงานต่างๆ และได้มีการเปิด ศาลาอนุรักษ์พลังงาน ณ บริเวณ ชั้น 2 ของอาคารเทพรัตน์วิทยาโชติ
สำนักหอสมุดเป็นหน่วยงานนำร่องของมหาวิทยาลัยในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon footprint of organisation) ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเป็นศูนย์ ซึ่งส่งผลให้สำนักหอสมุด มก. เป็นห้องสมุดคาร์บอนนิวทรัลแห่งแรกของประเทศเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557 สำนักหอสมุดได้รับมอบประกาศนียบัตรชดเชยคาร์บอนและการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ในงาน “ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน” จัดโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรม โกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน ถนนพระราม 9 กรุงเทพฯ โดยมีพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานและรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ เป็นผู้แทนอธิการบดีและผู้อำนวยการสำนักหอสมุดรับมอบประกาศนียบัตรการชดเชยคาร์บอนในนามของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สำนักหอสมุด ได้รับรางวัลคุณภาพจากโครงการรางวัลคุณภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2557จำนวน 2 รางวัลจากหัวข้อการพัฒนาปรับปรุงกระบวนงาน จำนวน 2 ผลงาน คือ “การดำเนินงานจากข้อเสนอแนะ/แสดงความคิดเห็น และข้อร้องเรียนจากผู้รับบริการ” และ จากผลงาน “ระบบห้องสมุดจินดามณี”
พ.ศ 2558
พิธีเปิดโครงการคลังความรู้ดิจิทัลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พิธีเปิดห้องนิทรรศการเกษตรศาสตร์ ฐานข้อมูลจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนิทรรศการหอพักนิสิต ( หอ 2) ณ หอประวัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์