บริการทางธุรกิจเกษตร ยุค Post-COVID
นางชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์
นักเอกสารสนเทศปฏิบัติการ ฝ่ายบริการ
หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ระลอกแรกนั้น ก็ส่งผลให้หลายคนจำเป็นต้องกลับไปประกอบอาชีพที่บ้านเกิดเมืองนอนเหมือนเดิม ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ด้วยความที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้การประกอบอาชีพในรูปแบบเดิมไม่ง่ายอีกต่อไป เนื่องจากมีการแข่งขันสูง ผู้ที่ก้าวทันเทคโนโลยีและปรับตัวได้ก่อนจึงได้เปรียบ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีเกษตรกรเกิดขึ้นอย่างมากมาย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะไปรอดในเส้นทางนี้ได้ ที่ผ่านมาจากสถานการณ์นี้มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นคือ ส่วนใหญ่เริ่มมีการปรับตัวโดยการทำให้เป็นธุรกิจมากขึ้น มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วย และช่วยเหลือแลกเปลี่ยนกันแบบองค์รวม ที่สำคัญคือ เน้นในเชิงการบริการมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ในยุค Post-COVID แบบนี้
ที่มาภาพ: thairath.co.th
ในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ตลาดอีคอมเมิร์ซและระบบขนส่งอัตโนมัติได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มไปมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมสั่งสินค้าผ่านระบบออนไลน์ เพื่อช่วยในการส่งสินค้าอาหาร – เกษตรแบบเร่งด่วน และไม่ใช่เพียงการพัฒนาแพลตฟอร์มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาบริการที่ตอบสนองกับความต้องการของเกษตรกรและผู้ค้าควบคู่กันไปด้วย เพราะแม้จะรู้ว่านวัตกรรม AgTech เป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ แต่ด้วยโครงสร้างอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ส่วนมากเป็นการทำการเกษตรขนาดปานกลางถึงเล็ก ทำให้ตัวเกษตรกรไม่สามารถลงทุนซื้อตัวนวัตกรรมมาเป็นของตัวเองได้ จึงเกิดเป็นเทรนด์บริการทางธุรกิจเกษตร ที่ให้เกษตรกรสามารถเช่ายืมนวัตกรรมด้านการเกษตรได้ในที่จับต้องได้ เช่น ระบบจองโดรนพ่นปุ๋ย พ่นยาฆ่าแมลง ระบบจองเครื่องจักรด้านการเกษตร ฯลฯ รวมถึงบริการแพลตฟอร์มขายผลผลิตการเกษตรออนไลน์ ช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงผู้บริโภคโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง แก้ปัญหาการกดราคาผลผลิต และช่วยเชื่อมโยงเกษตรกร กับผู้บริโภค โรงงานอุตสาหกรรม หรือร้านอาหาร และให้พวกเขาสามารถค้าขายได้อย่างต่อเนื่อง
สอดคล้องกับที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานและมอบแนวทางการขับเคลื่อนงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2564 ในการสัมมนา เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 “เดินหน้าเกษตรวิถีใหม่ ขับเคลื่อนไทยอย่างยั่งยืน” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ว่า ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิด วิธีการทำงาน รวมทั้งนโยบายด้านการเกษตรให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศและทันต่อบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในการดำเนินการในปี 2564 โดยเน้นการขับเคลื่อนภาคเกษตรภายใต้หลักตลาดนำการผลิต ซึ่งจะให้ความสำคัญตั้งแต่การวิเคราะห์ความต้องการของตลาด ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงกับการวางแผนการผลิต และนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร การตรวจสอบย้อนกลับ ตลอดจนส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนาในทุกด้านจะยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง และคำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรมืออาชีพสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยได้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ มากมาย ซึ่ง 1 ในการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการบริการทางธุรกิจเกษตร คือ ข้อ 5) ส่งเสริมสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start up เป็นหน่วยธุรกิจให้บริการทางการเกษตร (Agricultural Service Providers: ASP) เพื่อยกระดับสู่การให้บริการทางการเกษตรแบบครบวงจร
ด้านนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจการเกษตร (Agribusiness) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย มองว่า ปัญหาของการทำเกษตรกรรมรูปแบบเดิมคือ การที่เกษตรกรหลายคนไม่ได้ใช้ยุทธศาสตร์ในการหาตลาดก่อนจะผลิตสินค้า แต่เลือกที่จะผลิตออกมาก่อนแล้วค่อยหาช่องทางการตลาด ซึ่งวิถีใหม่มองว่าควรปรับมาใช้ “ข้อมูล” อันเป็นสิ่งสำคัญในยุค 4.0 เพื่อพิจารณาว่าสินค้าใดที่เป็นความต้องการของตลาดที่แท้จริง และจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ที่ช่วยผลักดันให้เกษตรกรไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน โดยวิธีการต่าง ๆ อาทิ
- การทำข้อมูลให้สมบูรณ์ (Data cleansing) เช่น การที่กระทรวงพาณิชย์นำระบบบล็อกเชน (Blockchain) TraceThai.com มาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร (Traceability) ซึ่งควรนำมาประยุกต์ใช้กับส่วนกลาง
- เทคนิคการทำตลาดยุคใหม่ ที่มีทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ (Omni Channels) การโฟกัสไปที่นิช มาร์เก็ต (Niche Market) เช่น การจัดสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การสร้างมาตรฐานใหม่ให้ “สหกรณ์” เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรในระยะยาว การสนับสนุนให้ Young Smart Farmer เป็นกำลังหลักในการกระจายองค์ความรู้ใหม่ ๆ ไปยังกลุ่มคนในชุมชนที่ยังเป็นเกษตรกรตามวิถีดั้งเดิม โดยมีภาครัฐทำหน้าที่เป็นเพียงโค้ชให้คำแนะนำ
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หลังจากนี้จะเป็นสังคม “data economy” และได้ยกตัวอย่างว่าที่ผ่านมา หอการค้าไทยได้นำร่องโครงการ 1 ไร่ 1 ล้านบาท เป็นต้นแบบ แต่ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ เนื่องจากขาดการบูรณาการ หากเราทำงานแล้วธุรกิจรวย แต่เกษตรกรจน หนี้ครัวเรือนสูง “ก็ยังถือว่าล้มเหลว”
นายยงยุทธ เลารุจิราลัย ผู้แทนกลุ่ม Young Smart Farmer ได้สนับสนุนในเรื่องความสำคัญของข้อมูล และได้สะท้อนให้เห็นปัญหาในด้านของปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อภาคการเกษตร และกล่าวว่า “ใครสามารถคุมสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คนนั้นจะมีโอกาสทางธุรกิจเกษตรมากที่สุดเช่นกัน”
นอกจากนี้ ในปี 2563 ที่ผ่านมา ยังถือเป็นปีมรสุมของการเกษตรไทย หลายอย่างชะลอตัวลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่มีการใช้มาตรการปิดเมือง ปิดด่านการค้าทำให้ไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ รวมถึงขาดแคลนแรงงานกลับมาผลิต GDP ภาคการเกษตรหดตัว ไม่ว่าจะเป็นสินค้าข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน แต่ในปี 2564 นี้ คาดกันว่าน่าจะดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับปศุสัตว์ ที่แม้ว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะ COVID-19 ไปบ้าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับการประมง แต่ผลตอบรับจากประเทศอื่นที่เป็นคู่ค้าสำคัญก็ยังคงมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในด้านนี้ ที่ยังคงน่าเชื่อถืออยู่
- “สามพรานโมเดล” พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง
คุณโอ - อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการสวนสามพราน ในฐานะผู้ริเริ่มและขับเคลื่อนแนวคิดการทำธุรกิจเกื้อกูลสังคมอย่าง “สามพรานโมเดล” นี้ ทำให้ทุกคนได้เห็นความเชื่อมโยงของเส้นทางวัตถุดิบและอาหาร ตั้งแต่ต้นทางการผลิต การแปรรูป กระทั่งมาถึงมือผู้บริโภค
“สามพรานโมเดล” มองว่าการทำหน้าที่เป็น “กระบวนกร (facilitator)” ให้กับเกษตรกรเป็นหัวใจสำคัญ ไม่ใช่เพียงการหาปัจจัยต่าง ๆ ให้เขา แต่ต้องเป็นการสอนให้เขาทำทุกอย่างเองเป็นได้ เพื่อความอยู่รอดและการเติบโตต่อไป อีกทั้งยังมองว่า หากจะเป็นเกษตรกรอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องมีการนำธุรกิจเข้ามาร่วมด้วย โดยมองให้เป็นธุรกิจแบบองค์รวม และไม่ใช่เพียงเพื่อการค้าหรือได้เงิน มีกำไรเท่านั้น แต่ต้องสนใจมิติอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสังคม หรือแม้แต่การมองว่าเราสามารถเชิญคู่แข่งมาเป็นพันธมิตรด้วยได้ และต้องอาศัยเครื่องมือ เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้าช่วย จึงจะเกิดประสิทธิผลมากขึ้น
การดำเนินงานของสามพรานโมเดล ถือเป็นการบริการทางธุรกิจเกษตรที่มีมาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ จนจะเห็นได้ว่ามีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเผชิญอยู่ตลอดมา ดังนี้
- เริ่มจาก “ตลาดสุขใจ” ที่เปิดมากว่า 10 ปี โดยเป็นสถานที่ให้ผู้บริโภคได้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกับเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรง
- การสร้าง “ปฐม” แบรนด์สินค้าอินทรีย์เพื่อมอบประสบการณ์วิถีอินทรีย์และการเรียนรู้เส้นทางอาหารผ่าน “ปฐมออร์แกนิกฟาร์ม” “ปฐมออร์แกนิกวิลเลจ” และ “ปฐมออร์แกนิกคาเฟ่” โดยผลิตสินค้าจากวัตถุดิบอินทรีย์ของเกษตรกรในเครือข่ายสามพรานโมเดลเพื่อตอบสนองความต้องการตลาดที่เพิ่มมากขึ้น
- โครงการความร่วมมือกับพันธมิตรจากภาคส่วนอื่น ๆ เช่น โครงการที่ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสร้างสังคมอินทรีย์อย่าง “Organic Tourism” โดยร่วมกับบริษัทแล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย
- ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และการก่อตั้งสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย ก่อให้เกิดแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง “TOCA” (Thai Organic Consumer Association) เพื่อแสดงข้อมูลของเกษตรกรอินทรีย์ตั้งแต่ต้น เรื่อยไปจนถึงการกดพรีออเดอร์สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ตนเองสนใจได้อย่างสะดวกสบาย TOCA จะเป็นตัวที่ตอบโจทย์ได้เหมือน Pantip หรือ TripAdvisor โดยคุณอรุษมองว่า หากจะผลักดันเรื่องสังคมอินทรีย์ เครื่องมือแบบนี้เป็นสิ่งจำเป็น
ความตั้งใจสู่อนาคตที่ยั่งยืน คือ เรื่องการขยายวงของสังคมอินทรีย์ ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือกลางในการวัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (impact assessment) เพื่อช่วยประเมินผลในด้านต่าง ๆ ซึ่งคุณอรุษคาดว่า น่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานในช่วงสิ้นปี 2564 เพราะเชื่อว่าถ้ามีเครื่องมือที่สามารถวัดผลได้อย่างโปร่งใส จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ช่วยกระตุ้นให้ทุกคนตื่นตัว แต่ไม่ได้มุ่งเน้นประกาศว่าใครดีหรือไม่ดี แต่มีเพื่อส่งเสริมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มองว่าน่าจะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้นไปอีก
- บริการทางธุรกิจเกษตรในต่างประเทศ
ในประเทศจีน มีผลการวิจัยที่พบหลักฐานจากชาวนาจีน ในเรื่องของข้อมูลเกี่ยวกับการบริการทางการเกษตรว่าช่วยประหยัดต้นทุนหรือไม่ ? โดยได้แบ่งบริการทางการเกษตรออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1) บริการจัดหาวัสดุทางการเกษตร 2) บริการทางการเงิน 3) บริการด้านเทคนิค 4) บริการเครื่องจักรและการแปรรูป และ 5) บริการการขาย โดยมุ่งตรวจสอบผลของการบริการทางการเกษตรต่อการประหยัดต้นทุนการผลิตข้าวในประเทศจีน จากชุดข้อมูล 3 ปีครอบคลุมเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 3,421 รายใน 12 มณฑลของจีนที่เก็บรวบรวมจากจุดเฝ้าระวังของสถานีทดลองอุตสาหกรรมข้าวของรัฐของจีน โดยผลการวิจัยพบว่า บริการทางการเกษตรทางเทคนิค สามารถช่วยปรับปรุงและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายต้นทุนได้สูงที่สุด รองลงมาคือ บริการเครื่องจักรและการแปรรูป บริการการขาย บริการทางการเงิน และบริการจัดหาวัสดุทางการเกษตร ตามลำดับ
กรณีตัวอย่างในประเทศนิวซีแลนด์ มีความเข้าใจเบื้องต้นและมุมมองการตอบสนองในระบบความรู้และนวัตกรรมทางการเกษตรต่อการเกษตรแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นสิ่งที่เน้นในการบริการทางธุรกิจเกษตร มองว่าในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาระบบในองค์กรควรสนับสนุนผู้ให้ความรู้ด้านการเกษตรในการเข้าใจดิจิทัลและพัฒนาระบบดิจิทัล ซึ่งหมายถึงในแง่ของการเปลี่ยนแปลงความสามารถและแนวทางปฏิบัติและบริการที่เกี่ยวข้องในลักษณะเฉพาะกิจเท่านั้น ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์และค่านิยม ดังนั้น อัตลักษณ์องค์กรของการเกษตร ผู้ให้ความรู้ดูเหมือนจะยังคงเดิม แต่มีความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนเชิงกลยุทธ์ เนื่องจากส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับแบ็คออฟฟิศ แต่ยังเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่แผนกต้อนรับส่วนหน้าไปสู่บริการที่ปรับแต่งได้โดยการมีส่วนร่วมของลูกค้าและคู่ค้า ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่ดูถูกดูแคลน ในฐานะองค์กร เพราะสิ่งนี้อาจบ่งบอกถึงตัวตนขององค์กรในระยะยาวทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับพนักงาน (เอกลักษณ์ทางวิชาชีพ) และวิธีที่ลูกค้าและคู่ค้ามององค์กรด้วย
นอกจากนี้ ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น รัสเซีย กานา ฯลฯ มองว่าฟาร์มถือเป็นรูปแบบของธุรกิจเกษตรขนาดเล็กที่เน้นในเชิงบริการเป็นหลัก เป็นการบริการทางธุรกิจเกษตรที่มีการเข้าถึงจากคนได้ค่อนข้างมาก ถือเป็นการส่งเสริมการเกษตรที่ดี และจริง ๆ แล้วจะเห็นว่าในประเทศไทยเราเอง ยิ่งหลังสถานการณ์ COVID-19 แล้วนั้น ก็ได้มีเกษตรกรรุ่นใหม่ผันตัวไปทำฟาร์มมากขึ้น จนเกิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในรูปแบบเชิงนิเวศผสมผสานกับการเป็นร้านอาหารแนวคาเฟ่ที่วัยรุ่นสมัยนี้นิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย
อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ บริการทางธุรกิจเกษตร ยุค Post-COVID เพิ่มเติมได้ที่ :
กรุงเทพธุรกิจ. 2563. 'ปริญญ์' ชูเกษตรวิถีใหม่ทางรอด หนุนใช้ Data ยกระดับการผลิต.
สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/914494 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564.
ธนาคารแห่งประเทศไทย. 2564. อรุษ นวราช จาก “สามพรานโมเดล” สู่การขับเคลื่อน “สังคมอินทรีย์” ในไทย.
สืบค้นจาก https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256306Inspiration_Arut.aspx
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. 2564. “ฉลู” ปีทองสินค้าเกษตรไทย มีลุ้น GDP 6.6 แสนล้าน.
สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/economy/news-584843 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564.
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล. 2563. รัฐมนตรีเกษตรฯ เปิดงานและมอบแนวทางการขับเคลื่อนงาน
สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2564 ในการสัมมนา เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 และ
แนวโน้มปี 2564. สืบค้นจาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/37851
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564.
Praornpit Katchwattana. 2563. 7 วิถี ‘เกษตรนวัตกรรม’ รับคนไทยกลับถิ่นฐานสร้างอาชีพใหม่ ยุค Post-covid.
สืบค้นจาก https://www.salika.co/2020/12/26/7-smart-agricultural-for-new-gen-post-covid/
เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564.
Anang, B. T. and Asante, B. O. 2020. Farm household access to agricultural services in northern Ghana.
Heliyon, 6 (11), 1-9 doi: 10.1016/j.heliyon.2020.e05517
https://www-sciencedirect-com.portal.lib.ku.ac.th/science/article/pii/S2405844020323604
Evteeva, T., Rovný, P. and Petriľák, M. 2019. Farm as a Form of Small Agriculture Business in RUSSIA:
Advantages and Disadvantages. International Journal of Entrepreneurial Knowledge,
7 (2), 53-62. doi: 10.2478/IJEK-2019-0010
http://eds.a.ebscohost.com.portal.lib.ku.ac.th/eds/pdfviewer/pdfviewer?vid=0&sid=808d9bd2-6d09-48d9-9441-2e44110c1f64%40sdc-v-sessmgr01
Liqun T., Qiang L., Wanjiang Y. and Jianying W. 2018. Do agricultural services contribute to cost
saving? Evidence from Chinese rice farmers. China Agricultural Economic Review, 10 (2), 323-337.
doi: 10.1108/CAER-06-2016-0082
https://www-emerald-com.portal.lib.ku.ac.th/insight/content/doi/10.1108/CAER-06-2016-0082/full/html
Rijswijk, K., Klerkx, L. and Turner, J. A. 2019. Digitalisation in the New Zealand Agricultural Knowledge
and Innovation System: Initial understandings and emerging organisational responses to
digital agriculture. NJAS - Wageningen Journal of Life Sciences, 90–91 (December), 1-14.
doi: 10.1016/j.njas.2019.100313
https://www-sciencedirect-com.portal.lib.ku.ac.th/science/article/pii/S1573521419300120