Social Media Trends and Technology 2021 – ทิศทางและการรับมือ
นางชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์
นักเอกสารสนเทศปฏิบัติการ ฝ่ายบริการ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จากสถานการณ์ COVID-19 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จวบจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ที่ปลายปีก็ยังคงมีกระแสข่าวพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 หรือความเสี่ยงในพื้นที่ต่าง ๆ กลับมาอีกครั้ง ซึ่งผลจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้การตลาดแบบเดิม ๆ ที่หลายคนหลายบริษัทได้วางแผนจะทำ ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปกันยกใหญ่ เพื่อให้อยู่รอดและสอดรับกับรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยสิ่งที่น่าศึกษาและมีความจำเป็นในการรับรู้คือเทรนด์ของ Social Media และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วอย่างก้าวกระโดด ซึ่งสิ่งสำคัญเลยคือ ทิศทางและการรับมือ ในปี 2021 ที่จะถึงนี้ และจากข้อมูลแนวโน้มเทรนด์ของผู้บริโภคในปี 2021 ด้วยที่น่าจะเป็นแนวทางให้แบรนด์ธุรกิจต่าง ๆ ได้พัฒนาสินค้าและบริการออกมาตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ซึ่งผู้ที่ปรับตัวได้เร็วและสร้างคุณค่าให้กับผู้บริโภคได้ ก็จะเป็นผู้ชนะในปีหน้า โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ที่มาภาพ: https://www.forbes.com/sites/bernardmarr/2020/09/14
ทิศทางเทรนด์ 10 อันดับ ในปี 2021
จากการสัมภาษณ์เพื่อถามทัศนะ และความคิดเห็นถึงเทรนด์บน Social Media ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้านั้น ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 70 คนด้วยกันให้สัมภาษณ์ พบว่า เทรนด์ที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะดังนี้
เทรนด์ที่ 1: พลังของผู้บริโภคที่สนใจประเด็นสังคมมากขึ้น
สิ่งที่ชัดเจนมากของผู้ใช้ Social Media ในยุคนี้คือ ความตื่นตัวต่อเรื่องราวทางการเมือง สังคม สิ่งเเวดล้อม และสุขภาพ เป็นอย่างมาก จึงทำให้ผู้บริโภคเริ่มพิจารณาแบรนด์มากกว่าเพียงราคาและคุณภาพของสินค้า แต่รวมถึงจุดยืนทางสังคมและการเมืองของแบรนด์ด้วย โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ตั้งแต่ Gen Z ลงไปถึงรุ่น Alpha ล้วนแต่รับรู้และเข้าใจประเด็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นมาก ๆ ทำให้แบรนด์และบริษัททั้งหลายคงจะหนีและหลบหลีกการพูดถึงประเด็นร้อนเหล่านี้ไม่ได้ และเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 นั้นเป็นสิ่งที่กระทบพวกเขาโดยตรง กล่าวคือ 50% ของเด็กรุ่นนี้ จบมาด้วยไฟแรงกล้า แต่สุดท้ายต้องออกมาลอย ๆ ตกงาน ไม่มีงานทำ นั่งอยู่บ้าน สุดท้ายเลยทำให้เรื่องประเด็นสังคมเหล่านื้ เป็นหนึ่งในเรื่องหลัก ๆ ที่พวกเขาจะสนใจ และต้องการที่จะฟังจากแบรนด์ทั้งหลาย
เทรนด์ที่ 2: Misinformation หรือการที่ข่าวปลอมจะมีค่อนข้างมาก
หนึ่งในวิธีการรับมือเทรนด์บนโซเชียลมีเดีย คือการสร้าง “ความโปร่งใส” ที่ธุรกิจของเราต้องตรวจสอบได้ วิจารณ์ได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า และเปิดโอกาสในการตรวจสอบให้รู้ว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ นอกจากนี้ ในแง่ของผู้ใช้สิ่งที่ควรมีไว้คือ “วิจารณญาณ” ก่อนที่จะแชร์ หรือก่อนที่เชื่อ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของ Misinformation หรือ Fake News ซึ่งผลจากการเปิดกว้างของโซเชียลมีเดียเป็นเหตุทำให้ผู้ประสงค์ร้ายสามารถสร้างข่าวปลอมหรือ Fake News ลงโซเชียลมีเดียได้อย่างง่ายดาย
เทรนด์ที่ 3: โซเชียลแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ จะยังคงใหญ่อยู่
ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดกว่า 70 คนทั่วโลกที่ให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ยังคงเชื่อมั่นว่า โซเชียลมีเดียเจ้าใหญ่อย่าง Facebook, Twitter, Instagram จะยังคงยิ่งใหญ่ในปีหน้าและปีต่อ ๆ ไปเพราะทุนของพวกเขาที่มากพอส่งผลให้ปรับตัวต่อโลกยุคใหม่ได้เร็วกว่าใคร โดยจะเห็นจากตัวอย่างเช่น Twitter เองที่ดูเหมือนจะโตช้า ตัวเขาเองก็ยังมีการปรับเข้าหา Voice Tweets ที่คนเริ่มใช้งานมากขึ้น การเกิดขึ้นของ Reels ใน Instagram ที่ Facebook ได้ปล่อยออกมาแข่งกับ TIKTOK ในบางประเทศ หรือ Facebook ที่มักจะมีลูกเล่นใหม่ ๆ ให้เรา Surprise ได้อยู่เสมอ ดังนั้น ถึงแม้แพลตฟอร์มยังหน้าเดิม แต่ลูกเล่นต่าง ๆ ก็ไม่ได้เหมือนเดิมตลอด อย่าลืมอัพเดท Algorithm ต่าง ๆ อยู่เสมอ และปรับตัวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงจากช่องทางเหล่านี้ด้วย
เทรนด์ที่ 4: Old-School Marketing หรือ “การทำการตลาดสไตล์เก่า” การเชื่อมต่อกับแนวเก่า ๆ เริ่มกลับมา
ผลกระทบจาก COVID-19 คือการที่คนไม่สามารถติดต่อกันได้เหมือนเคย ทำให้การเชื่อมต่อแบบเก่า ๆ อย่างการโทรศัพท์ อ่าน Newsletters หรือฟัง Podcasts ถูกดึงกลับมาใช้ แทนที่การสื่อสารใหม่ ๆ อย่างการพิมพ์แชท อ่านข่าวจาก Social Media เป็นต้น สาเหตุหลัก ๆ เพราะคนต้องการที่จะรู้สึกใกล้ชิดกับคนที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งมากขึ้น มากกว่าแค่ตัวหนังสือ โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 พบว่า คนใช้แชทมากกว่าการโทรถึง 68% แต่พอมี COVID-19 เกิดขึ้น ผลปรากฏว่า คนหันมาโทรหากันมากกว่า เพราะไม่อยากรอแชทด้วย และอยากรู้สึกใกล้ชิด ได้ยินเสียงเพิ่มขึ้นแทน ซึ่งในฐานะของแบรนด์จึงจำเป็นจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ จากการที่พยายามจะหาอะไรใหม่ ๆ มาเติมเต็ม อาจมองย้อนกลับไปยัง “ของเก่า ที่อาจจะใหม่กว่า” ที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม เช่น การทำ Email Marketing การทำ Podcast การโทรหา ซึ่งประเด็นที่เราควรใส่ใจจริง ๆ คือ “คอนเทนต์ของเราจะตอบโจทย์ลูกค้าหรือไม่” โดยในปี 2021 นี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าแบรนด์จะทำการตลาดที่เรียบง่ายมากขึ้น เพื่อสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงไปตรงมาและเข้าถึงง่าย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของปีนี้และน่าจะส่งผลถึงปีหน้าคือการกลับมาของ Podcast
เทรนด์ที่ 5: Social Gaming และ Gaming Social การจัดกิจกรรมหรือ Gaming เข้าสู้
จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้มีหลายคนหันไปเล่นเกมแบบเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็น Animal Crossing / Just Dance / หรือ Free Fire เรียกได้ว่าเป็นที่นิยมจนแบรนด์ใหญ่หลายแบรนด์ต้องร่วมมือกันไปหลายแบรนด์เลย โดยผลจากงานวิจัยพบว่า คนเปลี่ยนมาเรียกตัวเองว่า Gamer กันมากขึ้น จากเดือนสิงหาคมปี 2019 จำนวน 31.1 ล้านคน พุ่งมาเป็น 41.2 ล้านคนในเดือนกรกฏาคม 2020 หรือเท่ากับ 32% โดย Keywords ในตัว Social Listening ที่จับจากบริบทการเล่นเกม พบว่า ค่อนไปในทางบวก เหมือนเป็นการเชื่อมต่อกัน แม้ตัวจะห่างแต่ก็ยังเชื่อมต่อกันได้ทางออนไลน์ผ่านเกมเหล่านี้แทน ซึ่งการเล่นเกมในวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่การเอามือจิ้มหน้าจอโทรศัพท์ ขยับเมาส์ หรือกดจอยเกมเท่านั้น เเต่เป็นการเข้าร่วมในสังคมเกม พูดคุย ถกเถียงถึงประเด็นต่าง ๆ ในเกม และอาจจะรวมถึงการสนทนาเรื่องราวของสังคมโดยใช้เกมเป็นแพลตฟอร์มอีกด้วย โดยแพลตฟอร์มที่พุ่งมากเกี่ยวกับเรื่องเกมก็คือ YouTube และ Twitter
นอกจากนี้ หลายแบรนด์ได้เริ่มหันมาใช้คอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับเกมมากขึ้น อย่างที่ล่าสุดเป็นที่พูดถึงคือ การสตรีมเกม Among Us โดย Alexandria Ocasio-Cortez (Congress Women หรือ สมาชิกรัฐสภาอเมริกา) เพื่อรณรงค์การเลือกตั้ง ซึ่งในฐานะแบรนด์เราสามารถใช้ประโยชน์จากเทรนด์บนโซเชียลมีเดีย (Social Media Trend) ประจำปี 2021 ได้ ด้วยการนำกิมมิคของเกมเหล่านั้นมาใส่ในคอนเทนต์ให้เป็นกระแส หรือ การเข้าถึงลูกค้าที่อยู่ใน Community เกมต่าง ๆ หรือแม้แต่การสร้างช่องทางสตรีมเกมให้ลูกค้าดูเลยก็ได้
เทรนด์ที่ 6: Conversational Marketing หรือ การหมั่นสร้างบทสนทนาเพิ่มขึ้นอีก
การตลาดที่ดีคือการสื่อสาร 2 ฝ่าย แบรนด์ไม่สามารถลงโฆษณาป่าวประกาศไปทั่วกรุงและหวังว่าจะได้ยอดขายที่ดี (Hope for the best) ได้ เพราะปัจจุบันการ “พูดคุย” จะกลับมาเป็นหนึ่งในเทรนด์บนโซเชียลมีเดีย (Social Media Trend) ประจำปี 2021 อีกครั้ง ตัวอย่างการทำงานของ Chatbot จาก Many Chat “Conversational Marketing” คือหลักการตลาดที่เน้นให้เกิดการโต้ตอบกันระหว่างผู้ใช้งานหรือลูกค้า กับผู้ให้บริการหรือแบรนด์ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิด เชื่อใจ และ ทำให้ภาพลักษณ์ดูมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น โดยการทำ Conversational Marketing ก็ไม่ได้จำเป็นแค่การพูดคุยผ่านเสียงเพียงอย่างเดียว แต่สามารถทำได้ทั้งการส่งข้อความ การตอบคอนเมนต์ นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยี AI ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้หลาย ๆ แบรนด์เริ่มหันมาใช้ Chatbot ในการตอบรับลูกค้ามากขึ้น ซึ่งนี่เป็นอีกเหตุผลที่ทำไม “การพูดคุย” ถึงกลายเป็นเทรนด์บนโซเชียลมีเดีย (Social Media Trend) อันน่าสนใจนี้ โดยหลักของการทำ Conversational Marketing มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่หนึ่งสิ่งนั่นคือ “ความเป็นธรรมชาติ” ซึ่ง Facebook ก็ได้มีการให้ข้อมูลเอาไว้ว่าความเป็นธรรมชาติมีองค์ประกอบทั้งหมด 3 องค์ประกอบดังนี้
Empathy สร้างความรู้สึกที่ดี ว่าแบรนด์ของเรามีความใส่ใจ เข้าใจคุณ
Knowledge มีความรู้แท้จริง ซึ่งจะช่วยให้ยิ่งมีความน่าเชื่อถือ
Personality มีบุคลิกภาพที่น่าจดจำ เป็นไปในทางเดียวกันกับตัวตนของแบรนด์
เทรนด์ที่ 7: Nostalgia Marketing หรือ การดึง Memories เก่า ๆ ของคนกลับมา
เป็นการทำการตลาดที่เล่นกับความรู้สึกของลูกค้าที่มีความโหยหาถึงอดีตอันแสนสุข โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งโรคระบาดที่เปลี่ยนชีวิตของเราไปในพริบตา ซึ่งทุกคนคงไม่ต้องจินตนาการแล้วว่าความรู้สึก “เมื่อตอนนั้น มันก็ดีนะ” จะเกิดขึ้นมากขนาดไหน โดยจากสถิติบน Social Media ผู้ใช้งานมีการกล่าวถึงคีย์เวิร์ดที่ไปในทิศทางตรงกับความรู้สึกโหยหา เพิ่มขึ้นมากกว่า 88% แล้วในฐานะแบรนด์เราสามารถใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างกับเทรนด์บนโซเชียลมีเดีย (Social Media Trend) ประจำปี 2021 โดยเริ่มแรกเลยเราต้องรู้ก่อนว่ากลุ่มลูกค้าที่เราต้องการจะมีความโหยหาอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเก่า ๆ เพลงเก่า ๆ ภาพยนตร์เก่า ๆ ซึ่งเราต้องทำการ “Research” โดยตัวอย่างเช่น การใช้เครื่องมืออย่าง Google Trend เพื่อดูเทรนด์การค้นหาย้อนหลัง เพื่อดูว่าในช่วงเวลาในอดีตนั้น ลูกค้าของเรากำลังค้นหาเรื่องอะไร ซึ่ง Google Trend ก็มักจะมีสรุปของปีนั้น ๆ ให้เราสามารถอ่านย้อนหลังได้เช่นกัน เช่น ซีรีส์ Stranger Things จาก Netflix ที่มีเนื้อหาย้อนยุคไปในช่วง 80s
ความวุ่นวายที่มีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของโควิดในปีนี้ ทำให้ผู้คนเริ่มมองย้อนกลับไปคิดถึงวันเก่า ๆ เช่น การแชร์รูปท่องเที่ยวของปีก่อน (Good old days) แบรนด์สามารถนำความรู้สึกเหล่านี้ของผู้คน มาปรับใช้กับรูปแบบการตลาดของแบรนด์ บางครั้งอาจจะไม่จำเป็นต้องย้อนหวนไปนำเสนอเรื่องราวเก่า ๆ ที่ดีอย่างเดียว แต่อาจจะกล่าวถึงสิ่งในปัจจุบันที่ทำให้คนรู้สึกดีเพื่อหลบหลีกความเป็นจริงที่โหดร้ายของสังคมและเศรษฐกิจ
เทรนด์ที่ 8: Memetic Media หรือ การทำ Meme บ้าง
เมื่อก่อนอาจเป็น Emoji หรือพวก GIFs แต่ปัจจุบันต้องเป็น Memes ตลก ๆ กระแทกใจทั้งหลายที่แพร่เร็วมากทั่วอินเทอร์เน็ต จนกลายเป็นอีกหนึ่งวิธีที่คนเริ่มคุยกันแล้ว ซึ่งอนาคตเหล่า Social Listening อาจจะต้องเริ่มจับ Memes พวกนี้ให้ได้ด้วยว่ามาจาก Keywords อะไร คนถึงเลือกใช้ Meme ตัวนี้ เหตุผลหลัก ๆ ก็คือ การใช้ Memes นั้นเป็นไปในด้านที่สนุก แต่ก็มีความเสียดสีอยู่ข้างใน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็น หรือการแสดงออกทางอารมณ์แบบ ‘แล้วแต่เถอะ..’ หรือการมองบนทั้งหลาย ที่แบรนด์ต้องเข้าใจบริบทการใช้งานของ Memes เหล่านี้ก่อนลงไปเล่นกับมัน โดยจากสถิติ กลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 12 จนถึง 35 ปี มีการส่ง Memes เป็นประจำอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งนี่แสดงให้เห็นว่า Memes เข้ามามีอิทธิพลค่อนข้างมาก และในฐานะแบรนด์ก็สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ด้วยการมีคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่ออกมาในรูปแบบเดียวกันนี้ได้ สามารถสร้าง Memes เพื่อให้ผู้คนนำไปแชร์ต่อ เป็นการสร้าง Brand Awareness ได้อีกด้วย ซึ่งความน่าขำขันของภาพมีมจะทำให้ผู้คนเข้าถึงง่ายและแทบจะไม่ต้องคิดตอนกดปุ่มแชร์เลย โดยคนจะใช้ Emoji / GIFs / Sticker น้อยลง เเละหันมาใช้ Meme (มีม) หรือภาพตัดต่อล้อเลียนมากขึ้น แต่ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้โลโก้ของแบรนด์หรือสินค้าไปโผล่ใน Memes ที่สร้างภาพลักษณ์ในแง่ลบได้
เทรนด์ที่ 9: การทำคอนเท้นต์แบบ 4Cs
แบรนด์ต้องปรับตัวสร้างเนื้อหาโดยยึดหลัก 4C ดังต่อไปนี้
- Community: การสร้างเนื้อหาและสนับสนุนสังคมและความเป็นอยู่
Community หรือ ชุมชน เพราะทุก ๆ คน เริ่มให้ความสนใจกับชุมชนออนไลน์กันมากขึ้น โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่มีการ Lock down ซึ่งเราสามารถเข้าหาลูกค้าผ่าน Community เหล่านี้ได้
- Contactless: นำเสนอเนื้อหาการปรับตัวของแบรนด์ในยุคใหม่ที่คำนึงถึง Social Distancing
การเลี่ยงการสัมผัส ที่เรามักจะเห็นกันในปัจจุบันว่าร้านค้าหลาย ๆ ร้านไม่จำเป็นต้องชำระสินค้าผ่านธนบัตรแล้ว โดยสิ่งนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศมานาน และ COVID-19 ก็ทำให้การใช้ Contactless ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
- Cleanliness: ความสะอาดคือสิ่งสำคัญที่แบรนด์ไม่ควรมองข้ามที่จะนำเสนอ
สุขอนามัย ความสะอาด ที่เราต้องสร้างความมั่นใจในความสะอาดของสินค้าและบริการ
- Compassion: แบรนด์ควรแสดงท่าทีเห็นอกเห็นใจต่อสังคมที่เปลี่ยนไปเพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19
ทุกคนล้วนผ่านช่วงเวลาที่แย่มาด้วยกัน การแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจหรือความใส่ใจจึงช่วยให้แบรนด์มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น
เทรนด์ที่ 10: Remixing User Generated Content หรือ “Remixing UGC”
ทางผู้สำรวจได้ให้คำนิยามเจ้าสิ่งนี้ว่า “การสร้างสรรค์คอนเทนต์ของลูกค้า ผ่านการนำไอเดีย หรือ Template บนแพลตฟอร์มที่มี มาสร้างสรรค์ใหม่ในสไตล์ของตัวเอง” โดยสรุปแล้ว UGC วันนี้คือการ Remix โดยนำ Template หรือ ฟิลเตอร์ต่าง ๆ มาสร้างสรรค์คอนเทนต์ อย่างที่เรามักจะเห็นตาม TIKTOK หรือ ถ้าในบางประเทศอาจจะเห็นผ่าน Reels ของ Instagram ที่ผู้ใช้มันจะนำ Background Music หรือ ฟิลเตอร์ มาใช้ในรูปแบบที่หลากหลายตามสไตล์ของตัวเอง เช่น การเต้นในรูปแบบต่าง ๆ หรือ สถานที่ที่แปลก ๆ แล้วส่งต่อไปจนเป็นไวรัล เป็นต้น ซึ่งหลาย ๆ คนถึงขั้นบอกว่าในปีที่จะถึงนี้ เราจะได้เห็นฟิลเตอร์และเครื่องมือต่าง ๆ สำหรับการทำ Remixing UGC จากแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่มากขึ้นอย่างแน่นอน และในฐานะนักธุรกิจหรือนักการตลาด ก็ควรที่จะต้องคิดแผนการรับมือกับเทรนด์บนโซเชียลมีเดีย (Social Media Trend) อันนี้เผื่อไว้ เพื่อที่เราจะได้สามารถใช้ได้ทันท่วงที โดยอาจลองจัด Content ปัง ๆ ที่ให้คนสามารถนำไป Remix โชว์ความเป็นตัวเองในการ Cover เผยความคิดสร้างสรรค์กัน อาจเริ่มจากการใช้ TikTok ก่อน แล้วค่อยขยายจากแพลตฟอร์มนั้นไปสู่แพลตฟอร์มอื่น ๆ ก็ได้ และไม่ว่าจะเป็น การตัดต่อภาพสินค้าที่เพิ่งออกใหม่ในสไตล์ตัวเอง การล้อเลียนการกระทำของบุคคลที่มีชื่อเสียง รวมถึง การ Remix เพลงในรูปแบบใหม่ คอนเทนต์ที่น่าสนใจเหล่านี้ แบรนด์ไม่ควรมองข้าม แบรนด์จะยึดติดกับแค่เนื้อหารีวิวสินค้าคงจะไม่ได้เเล้ว เเต่ต้องลองใช้เนื้อหาที่หลากหลายเพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ด้วย
10 เทรนด์เทคโนโลยี ในปี 2021
จากข้อมูลด้านล่างที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะทำให้เห็นได้ว่า แม้หลายเทรนด์เทคโนโลยีอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วให้ดีกว่าเดิม ฉลาดกว่าเดิม และใช้งานได้จริงยิ่งกว่าเดิม
- AI และ Machine Learning
AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เป็นเหมือนสมองที่แทรกอยู่ในเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อให้สิ่งเหล่านั้นสามารถทำงาน วิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีคนควบคุม และ Machine Learning คือ มันสมองของ AI ซึ่งเป็นส่วนของการเรียนรู้ให้ AI สามารถประมวลผล และวิเคราะห์ข้อมูลออกมาได้ฉลาดกว่าเดิม ตัวอย่างผลผลิตจากเทคโนโลยีนี้เช่น หุ่นยนต์ที่ชนะการแข่งเล่นโกะกับแชมป์โกะโลกที่เป็นคนจริง
- Internet of Things (IoT)
Internet of Things คือ สิ่งของทุกอย่างบนโลกใบนี้ที่สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่าย (Internet) เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูล โดยมีมนุษย์เกี่ยวข้องน้อยที่สุด เช่น พวก Smart Device ต่าง ๆ อย่าง AppleWatch หรือ นาฬิกา Smartband ที่เก็บข้อมูลของเราผ่าน sensor และส่งผลไปที่โทรศัพท์มือถือ เพื่อแสดงผล รวมไปถึงประมวลผลออกมาเป็นคำแนะนำการดูแลสุขภาพ ซึ่ง IoT ยังมีประโยชน์ในแง่ที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลดิจิตัลได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว แบบ Real-Time และยังแม่นยำ ตรวจสอบได้ ทำให้สามารถช่วยลดจำนวนแรงงานคนที่จะต้องใช้ในการทำงานได้มาก
- 5G
ความเร็วอินเทอร์เน็ตระดับ 5G ได้รับการพัฒนาและใช้งานในหลายประเทศตั้งแต่ปี 2020 แล้ว ซึ่ง 5G คือการเชื่อมต่อแห่งอนาคตที่อุปกรณ์ทุกชนิดสามารถเชื่อมกันโดยผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เป็นส่วนที่มาคู่กันกับ Internet of Things (IoT) นอกจากจะเชื่อมทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ยังมีความสามารถในการเชื่อมต่อที่รวดเร็วกว่าเดิมอีกด้วย เช่น ถ้าเราดาวน์โหลดหนังคุณภาพสูงผ่าน 4G ต้องใช้เวลา 6 นาที แต่ 5G จะทำให้เราดาวน์โหลดหนังคุณภาพเดียวกันได้ภายใน 6 วินาทีเท่านั้น ซึ่งตอนนี้บริษัทชั้นนำของโลกหลายบริษัทได้ผลิตอุปกรณ์รองรับ 5G ออกมาแล้ว และในปี 2021 เทคโนโลยี 5G จะต้องถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงาน
- Automation
คือระบบอัตโนมัติที่ไม่จำเป็นต้องตอบโต้หรือได้รับคำสั่งจากมนุษย์ในทุกครั้งที่มีการทำงาน จะช่วยทำงานซ้ำ ๆ ที่เป็นแพทเทิร์น หรืองานที่มีการกำหนดขั้นตอนและตัวแปรต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจนได้ นอกจากจะมีบทบาทสำคัญในสายงานการผลิต โรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ในสาย Marketing ก็มีการใช้ Automation มาช่วยทำงาน เช่น การส่งข้อความอวยพรวันเกิดให้กับลูกค้า โดยสามารถตั้งค่าให้ส่งข้อความหรือโปรโมชั่นพิเศษเฉพาะลูกค้าที่เกิดในวันนั้น ๆ ซึ่งเป็นการตั้งค่าคัดกรองวันเกิดครั้งเดียว แล้วให้ระบบทำการส่งข้อความเอง โดยที่ไม่ต้องมีคนมาคอยเช็ควันเกิดลูกค้าทุกวัน ซึ่งยังสามารถใช้งาน Automation ในลักษณะนี้กับกับงานด้านอื่น ๆ ได้อีกด้วย เพื่อความรวดเร็ว และประหยัดทรัพยากรมนุษย์
- Blockchain
เป็นรูปแบบการเก็บข้อมูล (Data structure) แบบหนึ่ง ที่ทำให้ข้อมูล Digital transaction ของแต่ละคนสามารถแชร์ไปยังทุกคนได้ เป็นเหมือนห่วงโซ่ (Chain) ที่ทำให้ block ของข้อมูลลิงก์ต่อไปยังทุก ๆ คน โดยที่ทราบว่าใครที่เป็นเจ้าของและมีสิทธิในข้อมูลนั้นจริง ๆ ข้อมูลที่ถูกบันทึกแล้ว จะอยู่ในระบบของคนที่อยู่ในเครือข่ายทุกคน ซึ่งสามารถรัน Algorithm เพื่อตรวจสอบ Transaction ทำให้เกิดความปลอดภัยของข้อมูลโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง เช่น ในกรณี Bitcoin คือ สามารถโอนเงินถึงกันได้ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคาร เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งเป็นการ Disrupt ธุรกิจการเงินอย่างยิ่งใหญ่ ทำให้ใครก็ตามที่มี สามารถพัฒนาและนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ได้ จะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมาก
- Cyber Security
ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ควรเรียนรู้เอาไว้เป็นอย่างมาก เนื่องด้วยความเกี่ยวเนื่องของเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตที่แทบจะเป็นส่วนเดียวกับกับชีวิตของมนุษย์ทำให้หลายคนให้ความใส่ใจกับ Cyber Security ทั้งในแง่ของคนทั่วไปที่มีความกังวลถึงการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวผ่านโลกออนไลน์ ทำให้บริษัทต้องปรับนโยบายในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า เพื่อเอาชนะใจลูกค้า ในขณะเดียวกัน การมี Cyber Security ที่ดีในบริษัท ยังช่วยรักษาข้อมูลที่เป็นความลับไม่ให้รั่วไหลไปอีกด้วย
- Voice Technology
ส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับเทคโนโลยี Voice Technology ผ่านทาง Siri, Alexa หรือจะเป็น Bixby ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้มีการตอบโต้ที่ลื่นไหลเป็นธรรมชาติเหมือนคนมากขึ้นเป็นอย่างมาก พร้อมกับทั้งความฉลาดในการรับคำสั่งงานด้วยเสียงจากมนุษย์ ที่สามารถทำให้ดีขึ้นอย่างสังเกตเห็นได้ชัด ตอนนี้เราจะเห็นสมาร์ททีวีที่สามารถค้นหารายการโปรดทาง YouTube หรืออินเทอร์เน็ตได้ผ่านทางเสียงกันแล้ว และมีแนวโน้มว่า Voice Technology จะถูกนำไปใช้งานในด้านอื่น ๆ อีกมากมายด้วย แนวโน้มเทรนด์ Ecommerce ในปีหน้าจึงเป็นการใช้เสียงเพื่อสั่งซื้อสินค้าหรือสืบหาข้อมูลบนโลกออนไลน์ ดังนั้น การตั้งชื่อสินค้าหรือแคปชั่นขายของจึงต้องคิดเผื่อให้ง่ายต่อการใช้เสียงค้นหา รวมไปถึงอาจต้องมีตัวเลือกด้านภาษาเพื่อรองรับลูกค้าที่หลากหลายเชื้อชาติมากยิ่งขึ้น
- Edge Computing
คือ การประมวลผลข้อมูลในคลาวด์ (Cloud) ให้แสดงผลเร็วใกล้เคียงกับความเร็วของเครือข่ายมากที่สุด และยังเป็นการประมวลการจัดเก็บข้อมูลสู่คลาวด์ (Cloud) อีกด้วย เทคโนโลยี Edge Computing มีประโยชน์มากกับการรับ-ส่งและแสดงข้อมูลแบบ Real-Time ทำให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น และมีความจำเป็นอย่างสูงในภาคธุรกิจ เพราะเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูล ไม่ให้ถูกจู่โจมทางด้านไซเบอร์ได้ง่าย เรียกได้ว่าเป็นอีกขั้นของระบบ Cloud Computing
- Data Analytics
คือ การนำข้อมูลที่เก็บได้จากที่ต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน มาวิเคราะห์รวมกันเพื่อสร้างหรือปรับปรุงธุรกิจ หรือการตลาดให้ตรงใจลูกค้ามากขึ้นกว่าเดิม ช่วยประหยัดทั้งเงินและเวลา ช่วยให้รู้จักความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น พัฒนาสินค้าที่ใช่สำหรับตลาด และสามารถวางกลยุทธ์การขายให้ประสบความสำเร็จได้
- Virtual Reality (VR)
แม้ว่าจะมีการนำมาใช้ในหลายปีแล้วโดยเริ่มต้นจากเกมอย่างที่เรารู้กันดี แต่ตอนนี้ก็ได้มีการนำเทคโนโลยี VR มาใช้ในด้านอื่นมากยิ่งขึ้น ทั้งในการสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมกับแบรนด์ และในด้านการขาย เช่น ร้านขายเครื่องสำอาง ก็นำเทคโนโลยี VR มาใช้ให้ลูกค้าได้สามารถลองสีลิปสติกได้โดยที่ไม่ต้องทา หรือการลองเสื้อผ้า และการท่องเที่ยวผ่าน VR ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมและได้รับการพัฒนาแบบก้าวกระโดดในยุค COVID-19 นี้อย่างแน่นอน
และด้วยปัจจุบันสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้คนออกจากบ้านลดลงและมีแนวโน้มซื้อสินค้าบนโลกออนไลน์มากกว่า ในปีหน้าเราอาจได้เห็นการนำเทคโนโลยี Augmented (AR) และ Virtual Reality (VR) มาประยุกต์ใช้กับการขายสินค้าเพื่อสร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้กับลูกค้าอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างแบรนด์ที่มีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้กันบ้างแล้วก็คือ IKEA และ Amazon
การรับมือกับผลที่เกิดขึ้นจากเทรนด์และเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนไป ในปี 2021
มีข้อมูลที่น่าสนใจ จากงาน PRE-EVENT CTC2021 ใน Session “What’s Next for Ecommerce and Logistic” ที่ได้มีการสรุปไว้น่าสนใจดังนี้
- พฤติกรรมที่อาจเปลี่ยนไปบน Social Media ในปี 2021
1.1 Social Media จะกลายเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารของแบรนด์
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมสูงมาก โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์ COVID-19 ยิ่งทำให้แบรนด์หรือธุรกิจต่าง ๆ หันมาสื่อสารในช่องทางนี้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงกับกลายเป็นช่องทางหลักแบบ 100% แต่จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องคาดว่าในปี 2021 ที่จะถึงนี้ ช่องทางออนไลน์จะกลายเป็นช่องทางหลักอย่างแท้จริง
1.2 การเล่น Social Media จะไม่ใช่แค่เทรนด์
ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่เล่นโซเชียลกันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เล่น Social Media เพียงช่วงเวลาที่มีเทรนด์ข่าวสารที่น่าสนใจ แต่ในอนาคตปี 2021 นี้คาดว่าจะมีคนที่เล่น Social Media เป็นเรื่องปกติมากขึ้น
1.3 การกระจายของแพลตฟอร์ม
แพลตฟอร์ม Social Media แต่ละชนิดก็มีกลุ่มผู้เสพคอนเทนต์ที่แตกต่างกัน และยิ่งในปัจจุบันที่มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น คาดว่าในปี 2021 ผู้คนจะกระจายไปอยู่ในแพลตฟอร์มที่หลากหลายมากขึ้น เช่น TikTok หรือคนเล่น Facebook ก็อาจจะย้ายมาเล่น IG แทน การโยกย้ายของผู้ใช้งานก็จะสูงขึ้นด้วย
1.4 ใครก็สามารถเป็น Creator ได้
ด้วยการกระจายตัวของผู้ใช้งานและความสะดวกในการผลิตคอนเทนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลังจากนี้ไม่ว่าใครก็สามารถเป็น Content Creator ได้ไม่ยาก เช่น เต้นลง TikTok ถ่ายรูปลง IG รีวิวลง Facebook เป็นต้น
- สิ่งที่ “Creator” และ “นักการตลาด” ต้องปรับตัว
2.1 นักการตลาดและ Creator จะต้อง ‘ฟัง’ มากขึ้น
การ ‘ฟัง’ เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เพราะเราไม่อาจทำคอนเทนต์ที่เป็นตัวเองได้ 100% หากเราต้องการเข้าถึงผู้เสพคอนเทนต์ เราจะต้องฟังความต้องการที่ผู้เสพร้องขอต่อช่องทางของเรา หรือความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากกระแสต่าง ๆ
2.2 เน้นการสร้าง Community ที่มากขึ้น
การสร้างกลุ่มสังคมที่ติดตามเพจหรือครีเอเตอร์ ข้อดีคือไม่ว่าเราทำอะไรเขาก็จะสนับสนุนเรา อีกส่วนคือเป็นการสร้างพื้นที่ให้ได้ทำการสื่อสาร 2 ทาง เพื่อให้สามารถพูดคุยกันได้โดยตรง
- สิ่งที่ “Creator” และ “นักการตลาด” ควรระวัง
3.1 ความคิดที่มากมาย สิ่งที่หายไปคือ ‘ความจริง’
การหาแหล่งอ้างอิงหลาย ๆ แห่ง แล้วมามองหาความจริงที่เหมาะสมที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญมากของคนทำคอนเทนต์ แม้แต่บางเรื่องที่ถูกต้องก็อาจโดนบิดเบือนได้จากผู้ที่เห็นต่าง จนก่อให้เกิดการเข้าใจผิดในเนื้อหาแบบ ขาว เป็น ดำ อย่างที่พบเห็นกันบ่อย ๆ เพราะฉะนั้นส่วนนี้จึงเป็นอีกส่วนที่ Creator ต้องระวังมากขึ้น
3.2 แบรนด์ต้องยึดมั่นในตัวตน ไม่ตามกระแสมากเกินไป
‘การตามกระแส’ ไม่ใช่เรื่องแย่เพราะมันคือสิ่งที่การันตีว่าคอนเทนต์เหล่านั้นจะได้รับความสนใจในช่วงเวลานั้นแน่ ๆ แต่การที่แบรนด์ตามกระแสมากจนเกินไปอาจทำให้สูญเสียความเป็นตัวเอง จนอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกับกลุ่มผู้ติดตามได้ว่าเข้ามาเสพคอนเทนต์หรือใช้บริการของแบรนด์เราเพราะอะไรกันแน่
3.3 เตรียมวิธีการรับมือผลเสียที่จะเกิดขึ้น
ไม่ว่าจะทำคอนเทนต์ หรือ การขายของ สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการหรือ Creator ต่อจากนี้ต้องคิดเผื่อเอาไว้เลยก็คือ ‘วิธีการรับมือ’ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคอนเทนต์หรือสินค้าที่เราหาข้อมูลหรือพยายามปิดข้อผิดพลาดอย่างละเอียดนั้นจะเกิดข้อผิดพลาดอีกเมื่อไร ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ 100% เช่น หากเกิดดราม่ากับคอนเทนต์ที่เราทำ ให้รีบไปขอโทษในกลุ่ม Community ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะมันเป็นพื้นที่ที่คนพร้อมจะฟังเรามากที่สุดและมันจะนำพาไปสู่การบอกต่อถึงความจริงใจในการขอโทษของเราด้วย จากนั้นเราจึงค่อยมาขอโทษแบบออนไลน์เป็นต้น
7 คำทำนายเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่พัฒนาถึงขีดสุดและผลกระทบที่จะมีต่อมวลมนุษยชาติ
World Economic Forum ได้ออกรายงานผลสำรวจความคิดเห็นและการคาดการณ์จากผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีซอฟแวร์และดิจิทัลมากกว่า 800 คน พบว่า เทคโนโลยีซอฟต์แวร์และดิจิทัลที่กำเนิดและพัฒนาในปัจจุบันนี้จะพัฒนาถึงขีดสุด (tipping points) ในอีกราว 10-15 ปีข้างหน้า โดยจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
- อินเทอร์เน็ต (Internet)
คำทำนาย 90% ของประชากรโลกจะสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ภายในปี 2024
คำอธิบาย เทคโนโลยีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สาย อาทิ 3G,4G, 5G รวมทั้งอุปกรณ์เชื่อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต มือถือ ซึ่งเป็นเครื่องมือและช่องทางในการติดต่อสื่อสารกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ และความเร็ว ปัจจุบันมีผู้ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้คิดเป็น 43% ของประชากรโลกทั้งหมด ในขณะที่อุปกรณ์ประเภทสมาร์ทโฟนมียอดจำหน่ายทั่วโลกมากกว่า 1.2 พันล้านเครื่องต่อปี ทำให้คาดว่าอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นหนึ่งในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับไฟฟ้า น้ำประปาและถนน ที่ผู้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งอาจจะครอบคลุมได้กว้างและเร็วกว่าสาธารณูปโภคอย่างไฟฟ้า น้ำประปาและถนนด้วย เนื่องจากโครงข่ายอินเทอร์เน็ตติดตั้งง่ายและมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ามาก
- หุ่นยนต์ (Robots)
คำทำนาย จะมีเภสัชกรหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและจ่ายยาภายในปี 2021
คำอธิบาย ปัจจุบัน หุ่นยนต์เริ่มเข้ามามีบทบาททำหน้าที่ช่วยเหลือรวมถึงทดแทนมนุษย์ในหลายกิจกรรมทั้งในภาคการผลิต การเกษตร และการให้บริการสาขาต่าง ๆ จากข้อมูลสถิติขณะนี้มีจำนวนหุ่นยนต์ในโลกทั้งหมดประมาณ 1.1 พันล้านตัว เฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตรถยนต์นั้นใช้หุ่นยนต์มากกว่า 80% ของกระบวนการผลิตทั้งหมดแล้ว โดยเทคโนโลยีหุ่นยนต์กำลังถูกพัฒนาเพื่อตอบสนองการทำงานด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจเพิ่มขึ้น
- เซนเซอร์ (Sensors)
คำทำนาย เซนเซอร์ที่ถูกเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตจะมีปริมาณมากกว่า 1 ล้านล้านตัวภายในปี 2022
คำอธิบาย เทคโนโลยี IoT ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในวงการด้านต่าง ๆ ในขณะนี้ได้ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สวมใส่หรือติดตั้งบนร่างกาย (Wearable) เมืองอัจฉริยะ (Smart City), บ้านอัจฉริยะ (Smart Home), IoT สำหรับอุตสาหกรรมและโรงงานผลิต (Industrial internet), โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart grid), รถยนต์อัจฉริยะ (Connected car), เครือข่ายเชื่อมโยงระบบสุขภาพครบวงจร (Connected health), ฟาร์มอัจฉริยะ (Smart farming), เทคโนโลยีในธุรกิจห้างร้าน (Smart retail) รวมถึงภายในระบบห่วงโซ่อุปทานระหว่างผู้ผลิตและผู้ขาย (Smart Supply Chain) สืบเนื่องจากเครือข่ายให้บริการอินเทอร์เน็ตรวมถึงอุปกรณ์เชื่อมต่อและฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ที่มีราคาถูกลงอย่างมาก ทำให้อุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ถูกเชื่อมต่อเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตได้ง่ายมากขึ้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ มนุษย์สามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น การเปิด-ปิด อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสาร เครื่องมือทางการเกษตร อาคาร บ้านเรือน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยทุกอย่างกำลังเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปแบบที่เราแทบไม่รู้ตัว
- การแพทย์ (Medical)
คำทำนาย เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติจะช่วยผลิต “อวัยวะตับ” ที่สามารถนำไปเปลี่ยนหรือปลูกถ่ายในผู้ป่วยได้ภายในปี 2024
คำอธิบาย เทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ (3D printing) ถือเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลกที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และกำลังขยายการใช้งานสู่ผู้ใช้ทั่วไปในราคาที่ต่ำลงเรื่อย ๆ จนมีผู้นำไปพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ใช้ในแวดวงต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ของเล่น ตุ๊กตาคนจริงย่อส่วน เครื่องประดับ รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงชิ้นส่วนรถยนต์ ในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนาถึงขีดสุด ไม่เพียงระบบพิมพ์ 3 มิติจะถูกใช้เพื่อผลิตสิ่งของต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้นวัตกรรมนี้ในการผลิต “เนื้อเยื่อที่มีชีวิตและอวัยมนุษย์” ด้วยเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ชีวภาพสามมิติ (3D Bio printing) ซึ่งเป็นการนำวัสดุหรือเซลล์ที่มีชีวิตมาเรียงซ้อนกันเพื่อสร้างชิ้นส่วนตามต้องการ นับเป็นก้าวสำคัญทางการแพทย์ในด้านการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ รวมถึงการสร้างอวัยวะใหม่เพื่อใช้ในการปลูกถ่ายในอนาคต
- โทรศัพท์ (Phone)
คำทำนาย มือถือชนิดฝังเข้าไปในร่างกายจะมีวางจำหน่ายในปี 2023
คำอธิบาย แนวโน้มของเทคโนโลยีผลิตอุปกรณ์สื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงและขนาดเล็กมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คาดการณ์ว่ามนุษย์จะสามารถผลิตมือถือชนิดที่สามารถฝังไปบนร่างกายเพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ แทนที่จะติดต่อสื่อสารกันด้วยคำพูด ในอนาคตเราอาจจะสามารถสื่อสารทางความคิดผ่านคลื่นสมอง (brain waves) เหมือนอย่างในหนังไฮไฟได้ นอกจากนี้ การฝั่งหรือปลูกถ่ายอุปกรณ์สื่อสารลงบนร่างกายของมนุษย์ยังก่อให้เกิดประโยชน์ด้านอื่น ๆ ซึ่งรวมไปถึงการตรวจติดตามพฤติกรรม ตำแหน่งที่อยู่ และกิจกรรมด้านต่างๆ รวมทั้งการตรวจติดตามและวินิจฉัยสุขภาพและโรคต่างๆ ผ่านเซนเซอร์ที่ฝังอยู่ในร่างกาย จนไปถึงอุปกรณ์ที่สามารถปลดปล่อยตัวยาภายในร่ายกายได้โดยอัติโนมัติเมื่อวินิจฉัยพบว่ามีอาการของโรคชนิดนั้นเกิดขึ้น เป็นต้น
- รถยนต์ (Cars)
คำทำนาย รถยนต์แบบไร้คนขับมากกว่า 10% จะวิ่งอยู่บนท้องถนนในประเทศสหรัฐฯ ในปี 2026
คำอธิบาย ปัจจุบันค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกูเกิ้ล เบนซ์ นิสสัน ออดี้ วอลโว่ เทสล่า ฯลฯ ต่างเร่งกันพัฒนาและทดสอบรถยนต์ไร้คนขับอย่างจริงจังจนกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกไปแล้ว ผลวิจัยขี้ว่ารถยนต์ไร้คนขับนั้นจะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ปริมาณรถ และลดการใช้พลังงานลงได้มากถึง 90% ผลของเทคโนโลยีไร้คนขับจะทำให้มนุษย์มีความปลอดภัยและสะดวกในการเดินทางยิ่งขึ้น ช่วยลดปัญหาจราจรติดขัด ลดการใช้พลังงานและปล่อยมลพิษสู่อากาศ รวมทั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนโฉมของระบบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ในอนาคตไปอย่างสิ้นเชิง อาทิ รถยนต์ไร้คนขับไม่มีการขับหลงทางและไม่ต้องวนหาที่จอดรถ ถนนอาจจะแคบลง เพราะไม่ต้องเว้นช่องไฟระหว่างรถมาก ความจำเป็นของไฟถนน ทางด่วน และป้ายจราจรจะลดลง ตลอดจนรถยนต์เองก็จะมีจำนวนลดลง เนื่องจากผู้คนเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีรถยนต์ส่วนตัวน้อยลง เนื่องจากระบบขนส่งใหม่อำนวยความสะดวกได้ดีกว่า เป็นต้น
- ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent - AI)
คำทำนาย AI ตัวแรกจะเข้ามาร่วมโต๊ะในการตัดสินใจทางธุรกิจของบอร์ดบริหารในปี 2026
คำอธิบาย AI กำลังถูกพัฒนาและมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน ด้วยความสามารถและศักยภาพอันเหลือเชื่อของ AI ในการเรียนรู้และประมวลผลจากสถานการณ์หรือประสบการณ์ในอดีต รวมทั้งการคำนวณ วิเคราะห์ และตัดสินใจเรื่องยาก ๆ บนฐานข้อมูลจำนวนมากได้ ทำให้ AI ไม่เพียงเข้ามามีบทบาทในงานที่ต้องใช้แรงงานในโรงงาน (blue-collar jobs) เท่านั้น แต่ยังมีโอกาสเข้ามาทดแทนตำแหน่งงานบริหารที่สำคัญ (white-collar jobs) ที่ต้องการการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำด้วย อาทิ ผู้จัดการด้านการเงิน บุคลากรทางการแพทย์ ผู้บริหารระดับสูง หรือแม้กระทั่ง CEO ในขณะที่ AI กำลังถูกพัฒนาขีดความสามารถเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือหรือทดแทนการทำหน้าที่ของมนุษย์ ผู้คนอาชีพสาขาต่าง ๆ ก็ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะตกงานเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
แนวโน้มเทรนด์ผู้บริโภค ในปี 2021
ผู้บริโภคในปี 2021 จะให้ความสำคัญกับ “คุณค่า” เหนือ “มูลค่า” ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือทัศนคติที่เปลี่ยนจาก “ความต้องการที่มากกว่า” สู่ “ความต้องการสิ่งที่ดีกว่า” หมายถึง คุณภาพที่ดีกว่า มีฟังก์ชั่นการใช้งานดีกว่า ออกแบบได้ดีกว่า และสร้างประสบการณ์ที่ดีกว่าได้ การออกแบบดิจิทัลจะเข้ามาแทนที่สินค้าราคาแพง หรือสินค้าใด ๆ ที่ใช้เวลาในการบริโภค ผู้บริโภคจะเลือกสิ่งที่ให้ความรู้สึกคุ้มค่าต่อราคา และมีความยั่งยืน ซึ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด โดย www.ThaiSMEsCenter.com ได้สรุปข้อมูลจากการศึกษาเกี่ยวกับเทรนด์ผู้บริโภคในปี 2021 ไว้ดังนี้
- The Compresstionalist เป็นลักษณะอาการหมดไฟแต่จะชุบใจด้วยสิ่งที่ดีที่สุด โดยเป็นกลุ่มผู้ที่มีความต้องการสำคัญเดียวกันคือ “อะไรก็ได้ ขอให้ชีวิตง่ายขึ้น” ทั้งความกดดัน การไม่มีเวลา และการมีตัวเลือกจำนวนมหาศาล ได้สร้างความรู้สึกเหนื่อยหน่ายต่อการตัดสินใจ ซึ่งจากสถิติของ Microsoft พบว่าเราต้องตัดสินใจมากถึง 35,000 ครั้งต่อวัน และจากมหาวิทยาลัยในโคลัมเบียได้ระบุด้วยว่า ชาวอเมริกันตัดสินใจโดยจิตสำนึกมากถึง 70 ครั้งต่อวัน
- The Market Maker เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ง้อบริษัทยักษ์ว่าจะสนใจธุรกิจไหนหรือไม่อย่างไร แต่เลือกจะสร้างตลาดความต้องการขึ้นมาเอง ผ่านการสนับสนุนกันและกันในกลุ่ม เสนอสิ่งที่ผู้คนมีความต้องการแต่ยังไม่มีสินค้านั้นในตลาด ซึ่งแบรนด์ที่มองเห็นตลาดตรงนี้ ควรเลือกทำการตลาดแบบ Peer-to-Peer เช่น รถนั่งสำหรับคนพิการ หรือผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ที่ดูแลคนป่วย เป็นต้น
- Kindness Keeper เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่จะเลือกซื้อแบรนด์สินค้าที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในสังคม ไม่ว่าจะเรื่องของสีผิว เชื้อชาติ เพศ การเมือง และพร้อมจะไม่ใช้บริการแบรนด์ที่ไม่แสดงออกถึงความโปร่งใส ดังนั้น แบรนด์สินค้าที่ต้องการจับกลุ่มผู้บริโภคที่มีจุดยืนกลุ่มนี้ ต้องให้ความสำคัญและใส่ใจกับประเด็นทางจริยธรรม และการลงทุนเข้าไว้ด้วยกัน โดยการทำให้เห็นมากกว่าการพูด
- Cyber Cynics ในยุคที่อินเทอร์เน็ตมาแรง ส่งผลให้ผู้บริโภคบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มี footprint บนโลกออนไลน์มากมาย เลือกที่จะเชื่อใจในแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัวของลูกค้า โดย IBM ได้วิจัยไว้ว่า 75% จากทั่วโลกเห็นด้วยว่า หากผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นว่าบริษัทเหล่านั้นจะสามารถรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูลของได้ ก็จะไม่เลือกตัดสินใจซื้อสินค้าจากบริษัทดังกล่าว ไม่ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะดีเพียงใดก็ตาม
อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ Social Media Trends and Technology 2021 เพิ่มเติมได้ที่ :
บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน). 2563. 4 เทรนด์ Ecommerce ที่น่าสนใจในปี 2021. สืบค้นจาก
https://www.ananda.co.th/blog/thegenc/4-ecommerce-trends/ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563.
มนตรี ศรีวงษ์. 2563. ส่องเทรนด์ผู้บริโภค 2021. สืบค้นจาก http://www.thaismescenter.com/
ส่องเทรนด์ผู้บริโภค-2021/ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563.
Guntitat Horthong. 2563. Social Media จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในปี 2021 ข้อควรระวังที่ Creator และ
นักการตลาดต้องรู้! จากงาน PRE-EVENT CYC2021. สืบค้นจาก https://adaddictth.com/knowledge/
PRE-EVENT-CTC2021 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563.
JobsDB. 2563. รู้ลึกก่อนใคร 10 เทรนด์ด้านเทคโนโลยีสำหรับ 2021 ที่ใคร ๆ ก็เรียนได้. สืบค้นจาก
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/เจาะ10เทรนด์เทคโนโลยี2021/ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563.
NOPAVUT YOUNG. 2563. 10 เทรนด์น่าสนใจของ การตลาดโซเชียลมีเดีย ที่อาจเกิดขึ้นในปี 2021. สืบค้นจาก
https://mktru.com/bizperspective/2020/10/26/socialmedia-marketing/ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563.
Praparat Wisetwongchai. 2563. Social Media Trends 2021 – 10 เทรนด์โซเชียลปี 2021. สืบค้นจาก
https://www.everydaymarketing.co/trend-insight/social-media-trends-2021-from-hubspot/
article/800208 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563.
STEPS Academy. 2563. 10 Social Media Trend ในปี 2021 โดย Hubspot และ Talkwalker. สืบค้นจาก
https://stepstraining.co/social/10-social-media-trend-2021-by-hubspot/article/800208
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563.
Tech2Biz. 2563. 7 คำทำนาย เมื่อเทคโนโลยีดิจิตอลพัฒนาถึงขีดสุดในอีก 10 ปีข้างหน้า. สืบค้นจาก
https://www.tech2biz.net/content/7-คำทำนาย-เมื่อเทคโนโลยีดิจิตอลพัฒนาถึงขีดสุดในอีก-10-ปีข้างหน้า
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563.