“Hybrid Working” รูปแบบการทำงานในอนาคต
ผู้เรียบเรียง
ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์
นักเอกสารสนเทศปฏิบัติการ ฝ่ายบริการ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ที่มีมาหลายระลอกแล้วนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไป หลายแห่งได้มีการ Work from Home ไปพอสมควร โดยจะเห็นได้ว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมานั้น พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มค้นพบตัวเอง และต้องการลาออกจากที่ทำงานเดิม ด้วยเหตุต้องการเลี่ยงภาวะที่ต้องเผชิญกับการทำงานรูปแบบเดิม ๆ อย่างที่เราเรียกกันว่า Work on Site ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดเป็นการทำงานแบบผสมผสาน หรือที่เรียกว่า Hybrid Working โดยในปี 2022 นี้ ประเด็นสำคัญเลยคือ การหาจุดสมดุลในการทำงานรูปแบบนี้ให้ได้
สิ่งที่รูปแบบการทำงานแบบ Hybrid Working ควรคำนึงถึงคือ การทำงานแบบ Remote Working คือ การทำงานจากที่ใดก็ได้ และนโยบายขององค์กรแบบที่เรียกว่า Flexible Working Policy โดยเน้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กล่าวคือ องค์กรที่มุ่งเน้นนโยบายแบบนี้ ส่วนใหญ่จะกำหนดการทำงานของบุคลากรไว้เป็น 3 ลักษณะ คือ กลุ่มคนที่ Work from Home ทั้งหมด กลุ่มคนที่มีการ Work from Home สลับกับ Work on Site และกลุ่มคนที่ต้อง Work on Site เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ หากองค์กรให้ความสำคัญกับบุคลากรในการเลือกสถานที่ทำงาน หรือรูปแบบการทำงานเองได้นั้น ก็จะเห็นได้ว่าการทำงานแบบ Hybrid Working ส่งผลดีต่อองค์กร ซึ่งประโยชน์หลัก 5 ประการของการทำงานรูปแบบนี้คือ 1. Employee Flexibility พนักงานได้มีอิสระในการเลือกพื้นที่ทำงานที่เหมาะสมกับตัวเอง พนักงานก็จะเกิดความพึงพอใจ ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน 2. Attract New Talent ดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำงานได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากตรงกับลักษณะที่วัยนี้พึงปรารถนา 3. Flexible Workplace เป็นการได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของสถานที่ทำงานให้เหมาะสมกับรูปแบบ Hybrid Working 4. Pandemic Prevention ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 และ 5. Maximize ROI Cost Saving เป็นการลดงบประมาณในด้านต่าง ๆ ลงได้ เช่น การต้องนำงบประมาณไปพัฒนาพื้นที่เหมือนเช่นเคย เป็นต้น
หากกล่าวถึงรูปแบบการทำงานในอนาคตนั้น จะพบว่า เมื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น Hybrid Working แล้ว กว่า 57% มองว่า ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น มีเพียง 4% เท่านั้น ที่มองว่าแย่ลง ซึ่งสิ่งสำคัญในการปรับเปลี่ยนเลยคือ Mindset ของผู้บริหาร อันเป็นตัวกำหนดทิศทางในการทำงานของพนักงาน โดยในอนาคตสิ่งที่อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปเลยคือ การประเมินผลงานของพนักงาน รวมถึงการใช้แพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการจัดการ ดังเช่นเทรนด์ Workforce Planning ที่นิยมกันมากในการช่วยการวางแผน
ในกรณีของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างประเทศที่ได้มีการปรับเปลี่ยนไปบ้างแล้วนั้น อันเป็นตัวอย่างในการทำงานรูปแบบนี้ ก็ค้นพบว่า พนักงานมีความพึงพอใจ มีประสิทธิภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานเพิ่มขึ้น ดังเช่น APPLE กำหนดให้พนักงานเข้า Office จำนวน 3 วันต่อสัปดาห์ และทำงานจากที่ใดก็ได้ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ในหนึ่งปี เพื่อมุ่งเน้นให้พนักงานได้ผ่อนคลาย อยู่กับครอบครัว หรือทำกิจกรรมอื่นตามแต่ต้องการ โดยมีเงื่อนไขเพียงการให้ขออนุมัติจากหัวหน้าเสียก่อน หรือในส่วนของ Google ก็ได้จัดแจงในรูปแบบของการให้พนักงานกลับมาทำที่ Office 2-3 วันต่อสัปดาห์ จำนวน 60% อีก 20% เป็นการทำงานที่สาขา และ 20% สุดท้ายสำหรับพนักงานที่สามารถ Work from Home ได้อย่างถาวร จากกรณีตัวอย่างเหล่านี้ที่ได้มีการปรับตัวไปบ้างแล้วนั้น จะเห็นได้ว่า สิ่งที่คำนึงถึงมากที่สุดเลยคือ ตัวพนักงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่เกิดขึ้นได้จากการทำงานรูปแบบ Hybrid Working แต่เมื่อเกิดความเข้าใจผิดในหลาย ๆ ประเด็นอาจทำให้ส่งผลเสียได้มากกว่าผลดี โดยสิ่งที่ควรคำนึงถึงหลัก ๆ 3 ประการคือ ระยะห่างระหว่างผู้บริหารกับพนักงานอาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการสื่อสารทางไกล และเกิดขึ้นเฉพาะเพียงเรื่องจำเป็น ด่วน ๆ สำคัญเท่านั้น ซึ่งผู้บริหารอาจต้องหาวิธีการทำให้พนักงานรับรู้ได้ว่า ได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมอยู่ ไม่ได้ถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยว หรือรู้สึกเหมือนทำงานเพียงลำพัง ประการต่อมาคือ การใส่ใจต่อความต้องการของพนักงาน ที่ต้องไม่ใช่เพียงการสอบถามข้อมูลในเชิงปริมาณที่มากจนเกินไป เสมือนไม่ไว้ใจในการทำงาน เพราะทำให้พนักงานรู้สึกกดดัน และรู้สึกว่าเน้น Productivity มากจนเกินไป จนละเลยความรู้สึกของพนักงานที่อาจสำคัญมากกว่า และประการสุดท้ายคือ ต้องไม่เข้าใจผิดว่า การประชุมออนไลน์จำนวนครั้งมาก ๆ การใช้เวลานานกว่าเดิมเพียงเพราะเห็นว่าเป็นออนไลน์ หรือการสอบถามผ่านทางช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น เกินเวลา เป็นการทำงานในรูปแบบ Hybrid Working ที่ดี มองว่าเกิดผลลัพธ์เพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งที่ยังคงต้องรักษาไว้ให้กับพนักงานคือ Work-Life Balance ด้วย ทั้งนี้ อาจใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีเข้าช่วย โดยที่น่าสนใจเพิ่มเติมจากโปรแกรมพื้นฐานปกติใช้กัน ที่ช่วยให้การทำงานน่าสนใจขึ้นก็เช่น Miro เป็นโปรแกรมไวท์บอร์ดออนไลน์ที่ช่วยให้ทุกคนสามารถแบ่งปันไอเดียร่วมกันได้ หรืออย่าง Digital Work ก็เป็นแอปพลิเคชั่นในการช่วยลงเวลางาน บันทึกงานส่ง เป็นต้น
นอกจากนี้ แนวโน้มหลัก 3 ประการ ที่จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของการทำงาน ได้แก่ 1. แนวคิดสร้าง Productivity ได้ทุกที่จะเปลี่ยนการจ้างงานและโครงสร้างของสถานที่ทำงาน 2. ใช้ AI และการวิเคราะห์ข้อมูลในที่ทำงานให้มากขึ้น และ 3. ออกแบบพื้นที่สำนักงานแนวใหม่เพื่ออนาคต Hybrid อีกทั้งประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับรูปแบบการทำงานในอนาคตนี้นั้น ดังผลสำรวจที่ Gartner, Inc. ได้สรุปไว้ข้อหนึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับ Head ใน 52 ประเทศ สรุปว่า ภายในปี 2567 นั้น พนักงานในองค์กร จะทำงานได้โดยไม่มีหัวหน้า เพราะสามารถเรียนรู้และควบคุมการทำงานได้ด้วยตัวเอง รวมถึงคุ้นเคยกับงานแบบ Hybrid Working ถึง 30% ซึ่งก็เป็นข้อมูลที่หลาย ๆ องค์กรอาจนำไปใช้ในการวางแผนเพื่อเตรียมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตนี้ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
โต๊ะข่าวไอที ดิจิทัล. (2565). Hybrid Working เมกะเทรนด์โลกการทำงานปี 65. สืบค้นจาก
https://www.bangkokbiznews.com/tech/985771
ภัชภิชา ฤกษ์สิรินุกูล. (2565). Gartner เผย 10 เทรนด์ เปลี่ยนธุรกิจและชีวิตทีมงาน นับตั้งแต่ปี 2565. สืบค้นจาก
https://www.springnews.co.th/spring-life/820091
Blockdit. (2565). 2022 Global Trend ใน 6 ข้อ. สืบค้นจาก
https://www.blockdit.com/posts/61d6ee4ef4e94a41eaddb2da
CO Desk. (2565). ไขข้อสงสัย! “Hybrid Working” คืออะไร? สรุปครบ จบในที่เดียว. สืบค้นจาก https://cutt.ly/6Pk75ri
CSL. (2565). 5 เทรนด์เทคโนโลยี ที่จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจทั่วโลกภายในปี 2025. สืบค้นจาก
https://www.csl.co.th/Web/Article_detail.aspx?id=127&cm=2
CSL. (2565). การ์ทเนอร์ เปิดโผ 5 เทคโนโลยีที่ CIO ต้องลงทุนในปี 2565. สืบค้นจาก
https://www.csl.co.th/Web/Article_detail.aspx?id=129&cm=2
Ms.นกยูง (นามแฝง). (2565). วิถี Hybrid working ปี 2565 กับความท้าทายครั้งใหญ่ขององค์กร – พนักงาน ต้องปรับใหม่ตั้งแต่
ทักษะ แนวคิด วิธีประเมิน. สืบค้นจาก https://www.marketingoops.com/digital-transformation/hybrid-
working-by-pwc-thailand/
Piangkwan Wongkosolsuk. (2565). Hybrid Workplace: the future of work เทรนด์ใหม่ของการทำงานในปี 2565.
สืบค้นจาก https://www.nostramap.com/2022/01/24/hybrid-workplace/
TechTalkThai. (2564). Poly ชี้ 3 เทรนด์ยอดนิยมที่จะหล่อหลอมการทำงานแบบ Hybrid ในปี 2022 และอนาคต. สืบค้นจาก
https://www.techtalkthai.com/pr-poly-3-trends-hybrid-work-2022/
แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
Chacón-Cuberos, R., Expósito-López, J., de la Guardia, J. J. R.-D. & Olmedo-Moreno, E. M. (n.d.). Skills for Future
Work (H2030): Multigroup Analysis in Professional and Baccalaureate Training. Research on Social Work
Practice, 31(7): 758-769. Retrieved from
https://journals-sagepub-com.portal.lib.ku.ac.th/doi/pdf/10.1177/10497315211002646
Fang, B. & Wickersham-Fish, L. (2021). Breaking the Last Bottleneck for Online Teaching: Using Screencasting
for Personalized Feedback. Quarterly Review of Distance Education, 21(4): 19-35. Retrieved from
Matisāne, L., Paegle, L., Akūlova, L. & Vanadziņš, I. (2021). Challenges for Workplace Risk Assessment in Home
Offices-Results from a Qualitative Descriptive Study on Working Life during the First Wave of the
COVID-19 Pandemic in Latvia. International journal of environmental research and public health,
18(20): 1-19. Retrieved from https://cutt.ly/iO8NhQ6
Moglia, M., Hopkins, J. & Bardoel, A. (2021). Telework, Hybrid Work and the United Nation's Sustainable
Development Goals: Towards Policy Coherence. Sustainability, 13(16): 1-28. Retrieved from
Nguyen, M. H. (2021). Factors influencing home-based telework in Hanoi (Vietnam) during and after the
COVID-19 era. Transportation, 48(6): 3207-3238. Retrieved from https://cutt.ly/qO8CLVV
Pataki-Bittó, F. & Kapusy, K. (2021). Work environment transformation in the post COVID-19 based on work values
of the future workforce. Journal of Corporate Real Estate, 23(3): 151-169. Retrieved from
https://www-emerald-com.portal.lib.ku.ac.th/insight/content/doi/10.1108/JCRE-08-2020-
0031/full/html
Shahroz, M., Ahmad, F., Younis, M. S., Ahmad, N., Kamel Boulos, M. & et.al. (2021). COVID-19 digital contact
tracing applications and techniques: A review post initial deployments. Transportation Engineering,
5(September): 1-9. Retrieved from
https://www-sciencedirect-com.portal.lib.ku.ac.th/science/article/pii/S2666691X21000282