ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicle or Autonomous Car)

หรือ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Self-Driving Car) และรถยนต์บินได้ (Flying Car)

 

ผู้เรียบเรียง

ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์

นักเอกสารสนเทศปฏิบัติการ ฝ่ายบริการ

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

             ในปัจจุบัน นอกจากเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไปได้เรื่อย ๆ แล้วนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ก็ได้มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กันไปเช่นกัน ดังเช่น รถยนต์ไฟฟ้า ที่ได้มีการพัฒนาและนำออกมาจำหน่าย มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นแล้ว ขณะนี้ก็ได้มียานยนต์ประเภท “ยานยนต์ไร้คนขับ” (Autonomous Vehicle or Autonomous Car) หรือ “รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ” (Self-Driving Car) และ “รถยนต์บินได้” (Flying Car) ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างน่าสนใจ โดยมีการพัฒนามาก่อนหน้านี้แล้ว และหลายรุ่นกำลังจะเปิดตัววางจำหน่ายในเร็ว ๆ นี้ อีกทั้งยังมีการดำเนินการวางแผนพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องอีกหลายปีในอนาคต ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยียานยนต์ที่มีประโยชน์ต่อไปเป็นอย่างมาก หากเทียบกับสภาวการณ์การจราจรที่หลาย ๆ สังคมต้องประสบอยู่ในขณะนี้ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นไปอีก คาดการณ์ว่ารถยนต์ในลักษณะต่าง ๆ ต่อไปนี้จะตอบโจทย์ได้ในอนาคต

 

ppp3

 

ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicle or Autonomous Car) หรือ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Self-Driving Car) คือ ยานพาหนะหรือรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องมีผู้ควบคุม ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับยานยนต์ไร้คนขับนี้มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1925 ที่ได้มีการทดลองในนิวยอร์ค โดยใช้คลื่นวิทยุในการควบคุมการขับเคลื่อนของรถยนต์ และพัฒนาต่อมาจนถึงปี 1940 และในปี 1960 นั้น ก็ได้มีการแสดงแนวคิดแนวนี้ไว้ในหนังสือ “Magic Motorways”

            ในปี ค.ศ. 2014 สมาคมวิศวกรรมยานยนต์นานาชาติ หรือ SAE International ได้จัดทำ “มาตรฐาน SAE J3016” ไว้ โดยแบ่งเป็น 6 Level ในการจัดแบ่งลักษณะของการผลิตและพัฒนายานยนต์ไร้คนขับไปตามแต่ละขั้น ว่าอยู่ในมาตรฐานใด ดังนี้ (MReport, 2565)

            Level 0: ระบบของยานยนต์สามารถแจ้งเตือนไปจนถึงแทรกแซงผู้ขับได้ แต่ไม่สามารถขับเคลื่อนตัวเองได้

            Level 1: ผู้ขับต้องวางมือบนพวงมาลัยตลอดเวลา แต่ระบบสามารถควบคุมเครื่องยนต์ให้ทำงานในความเร็วที่กำหนด เช่น ระบบช่วยจอดอัตโนมัติ

            Level 2: ระบบควบคุมยานยนต์ทั้งหมด ทั้งการเร่งเครื่อง การเบรก และการเลี้ยว แต่ผู้ขับขี่ต้องพร้อมควบคุมแทนตลอดเวลา ซึ่งรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในท้องตลาดปัจจุบันจะอยู่ในระดับนี้

            Level 3: ผู้ขับสามารถละจากการขับรถไปทำอย่างอื่นได้ เช่น ดูภาพยนตร์บนรถยนต์ แต่ต้องพร้อมกลับมาขับต่อในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งแม้จะมีรถยนต์หลายรุ่นที่ถูกเรียกว่าระดับ 3 และจะนับเป็นคันแรกของโลก แต่บริษัทแรกที่ได้รับใบรับรองตามกฎของสหประชาชาติ คือ Mercedes-Benz ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 2021

            Level 4: โดยหลักการจะเหมือนกับระดับ 3 แต่ต่างกันตรงที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องนั่งอยู่ตลอด สามารถลุกไปทำอย่างอื่นหรือนอนหลับบนรถยนต์ได้ และเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินรถยนต์ต้องชะลอจอดข้างทางได้ด้วยตัวเอง โดยปัจจุบันยังไม่มีรถในระดับนี้ทั้งคัน มีเพียงฟังก์ชั่นบางส่วนเท่านั้น เช่น ระบบจอดรถอัตโนมัติ ซึ่งบริษัทแรกที่ส่งเข้าสู่ตลาดได้ก็เป็น Mercedes-Benz อีกเช่นกัน หรืออย่าง e-Palette ของโตโยต้าที่วิ่งให้บริการในหมู่บ้านนักกีฬาของโอลิมปิกโตเกียวเอง ก็นับว่ามีความเป็นไปได้ที่จะอยู่ในระดับนี้ด้วย

            Level 5: เป็นระบบอัตโนมัติโดยสมบูรณ์ โดยที่คนขับไม่ต้องทำอะไรเลย ซึ่งก็ยังไม่เกิดขึ้นจริงเช่นกัน

 

            ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ความต้องการของตลาดในการผลิตรถยนต์ชนิดนี้ไปในแนวทางว่า จะมีการเพิ่มขึ้นจากปี 2022 นี้ ไปจนถึงปี 2030 แต่อาจมียอดตกลงมาเล็กน้อยในปี 2045 ซึ่งเป็นการคาดการณ์ในส่วนของตั้งแต่ Level 2-5 เท่านั้น โดยมองว่า ในการพัฒนานั้น จะต้องพิจารณาตามบริบท ปัจจัยต่าง ๆ โดยรอบประกอบด้วย ทั้งวินัยของผู้ขับขี่และสภาพการจราจรบนท้องถนนในแต่ละแห่ง ทั้งนี้พบว่า ส่วนใหญ่รถยนต์ที่ผลิตได้ก่อนนั้นจะเป็นแบรนด์หรู โดยเฉพาะยี่ห้อ Mercedes-Benz

            อีกหนึ่งกระแสเทคโนโลยีที่จะมีขึ้นในอนาคตนั้น นอกเหนือไปจากรถยนต์ไร้คนขับแล้ว ยังมีรถยนต์บินได้ด้วยอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีการกล่าวถึงกันพอสมควร เนื่องจากได้มีการพัฒนาและเริ่มเปิดตัวแนวคิด แนวทางไปในหลากหลายแห่ง ดังเช่น บริการแท็กซี่บินได้แห่งแรกจะเปิดตัวในปี 2024 นี้แล้ว ซึ่งถือว่าน่าสนใจ เพราะเป็นรถยนต์ที่ไม่มีคนขับ และเข้าถึงในที่แออัดได้ มีประโยชน์ต่อระบบการขนส่งเป็นอย่างมาก โดยมีกรณีตัวอย่างของรถยนต์บินได้จากประเทศต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ สโลวาเกีย จีน เวียดนาม และสวีเดน ดังนี้

            Klein Vision ได้พัฒนารถยนต์บินได้คันแรกของโลกขึ้น เป็นเครื่องยนต์ BMW 1.6 ลิตร ผ่านการทดสอบว่าสามารถบินได้ถึง 18,000 ฟุต กว่า 70 ชั่วโมง ขึ้น-ลงไม่ต่ำกว่า 200 รอบ และผ่านมาตรฐานของขนส่งสโลวาเกียเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในอนาคตคาดการณ์กันว่าจะมีออกมาจำหน่ายอย่างแน่นอน ซึ่งผู้ที่จะหาซื้อมาขับขี่ได้นั้น ไม่เพียงแต่ต้องมีกำลังทรัพย์ แต่ต้องมีใบอนุญาตประกอบการบินด้วยเช่นกันในกรณีนี้

            บริษัท Xpeng ในประเทศจีน ได้เปิดตัวรถยนต์บินได้ Prototype รุ่น X3 ที่ใช้หลักการเพียงง่าย ๆ คือการนำโดรนขนาดใหญ่ไปติดตั้ง และได้ทดสอบการบินขึ้นประมาณ 10 เมตร ค้างไว้ได้นาน 30 วินาที ซึ่งบริษัทผู้ผลิตมองว่าถือเป็นแนวโน้มเทคโนโลยีขนส่งที่ดีที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไปได้

            บริษัท Airlios กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ได้เริ่มคิดค้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าบินได้มาเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน โดยคาดว่าจะสามารถวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2024 ซึ่งในส่วนของอะไหล่หรือชิ้นส่วนต่าง ๆ ส่วนใหญ่ผลิตจากอะลูมิเนียมผสมและคาร์บอนไฟเบอร์ โดยได้ทดลองบินในความสูงระยะ 10 เมตร บินได้ภายในเวลา 10 วินาที โดยประสบความสำเร็จที่ระยะทาง 33 กิโลเมตร ภายในเวลา 20 นาที ทั้งนี้ สามารถใช้บังคับได้ทั้งรูปแบบอัตโนมัติและด้วยมือ

            รถยนต์ไฟฟ้าบินได้ ที่ชื่อว่า “Jetson One” ของประเทศสวีเดน ก็ได้มีการคิดค้นและวางแผนวางจำหน่ายในปี 2023 นี้ โดยราคาอยู่ที่ประมาณ 3,000,000 บาท ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตขับขี่ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสามารถบินได้ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นรูปแบบการขับเคลื่อนโดยใช้คันโยก 2 ตัว มอเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 8 ตัว ซึ่งปัจจุบันมียอดคำสั่งซื้อล่วงหน้า (Pre-Order) เป็นจำนวนมากแล้ว

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

ผู้จัดการออนไลน์. (2565). ‘Airlios’ รถบินเมดอินเวียดนามเตรียมเปิดจำหน่ายปี 67 คาดเป็นรายแรกในอาเซียน. สืบค้นจาก

            https://mgronline.com/indochina/detail/9650000104372

Chamomile (นามแฝง). (2565). เทคโนโลยี aircar สุดยอดรถแห่งอนาคต ที่จะเข้ามาแก้ปัญหารถติด ที่สามารถสร้างได้จริง.

            สืบค้นจาก https://www.estebanracing.com/เทคโนโลยี-aircar/

Jirapat R. (นามแฝง). (2565). Xpeng เปิดตัว ‘X3’ รถยนต์บินได้แนวคิดเรียบง่ายจนคาดไม่ถึง !. สืบค้นจาก

            https://www.mmthailand.com/xpeng-x3-flying-car/

MARKETTHINK. (2565). Jetson สตาร์ตอัปจากสวีเดน วางขายรถไฟฟ้าบินได้ ที่ไม่ต้องขอใบอนุญาตนักบิน ก็ใช้งานได้ในสหรัฐฯ.

            สืบค้นจาก https://www.marketthink.co/22274

MReport. (2565). “ยานยนต์ไร้คนขับ” กับทิศทางการเติบโตในปี 2022-2045. สืบค้นจาก    

            https://www.mreport.co.th/experts/technology/217-Autonomous-Vehicles-Market-2022-2045

THAIRATH. (2565). ส่อง 7 เทรนด์เทคโนโลยี 2023 ที่ห้ามพลาด. สืบค้นจาก

            https://www.the1.co.th/en/the1today/articles/8724

 

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

Atwell, G. J. & Lăzăroiu, G. (2019). Are Autonomous Vehicles Only a Technological Step? The Sustainable

            Deployment of Self-Driving Cars on Public Roads. Contemporary Readings in Law & Social Justice,

            11(2): 22-28. Retrieved from https://bit.ly/3YjlL0b

Bathla, G.; Bhadane, K.; Singh, R. K.; Kumar, R.; Aluvalu, R.; Krishnamurthi, R.; Kumar, A.; Thakur, R. N. &

            Basheer, S. (2022). Autonomous Vehicles and Intelligent Automation: Applications, Challenges, and   

            Opportunities. Mobile Information Systems, 6/6/2022: 1-36. Retrieved from https://bit.ly/3YfEzxn

Brown, NE.; Rojas, JF.; Goberville, NA.; Alzubi, H.; AlRousan, Q.; Wang, CR.; Huff, S.; Rios-Torres, J.; Ekti, AR.;

            LaClair, TJ.; Meyer, R. & Asher, ZD. (2022). Development of an Energy Efficient and Cost Effective

            Autonomous Vehicle Research Platform. Sensors (Basel, Switzerland), 11(22): 16. Retrieved from

            https://bit.ly/3hixRWQ

Eggers, F. & Eggers, F. (2022). Drivers of autonomous vehicles—analyzing consumer preferences for self-driving

            car brand extensions. Marketing Letters. 33(1): 89-112. Retrieved from https://bit.ly/3PrNJ5D

Tian, J.; Jia, H.; Wang, G.; Lin, Y.; Wu, R. & Lv, A. (2022). A Long-Term Shared Autonomous Vehicle System

            Design Problem considering Relocation and Pricing. Journal of Advanced Transportation, 6/15/2022:

            1-19. Retrieved from https://bit.ly/3VVxLDt

Woodward, B. & Kliestik, T. (2021). Intelligent Transportation Applications, Autonomous Vehicle Perception

            Sensor Data, and Decision-Making Self-Driving Car Control Algorithms in Smart Sustainable Urban

            Mobility Systems. Contemporary Readings in Law & Social Justice. 13(2): 51-64. Retrieved from

            https://bit.ly/3FoVlBn

 

 


 
 
 
1xbet casino siteleri bedava bahis kaçak bahis superbetin yeni giriş casino siteleri