“เสม็ดขาว” เพิ่มมูลค่าจากยาสู่เครื่องสำอาง
ผู้เรียบเรียง
ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์
นักเอกสารสนเทศปฏิบัติการ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ในฐานะที่สำนักหอสมุด เป็นแหล่งศูนย์กลางของข้อมูลสารสนเทศและถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเผยแพร่ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์นั้น ในบทความสกัดสารสนเทศฉบับนี้ จึงเป็นการคัดเลือกผลงานการวิจัยหรือค้นพบของบุคลากรในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีการอัพเดทไว้ ผ่านการติดตามจากทางหน้าเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เท่านั้น โดยนำประเด็นนี้มาเป็นแนวทางในการสืบค้นแหล่งข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในสำนักหอสมุดและจากแหล่งอื่นที่น่าสนใจ ซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์ เพื่อนำมาชี้แนะแหล่งสืบค้นเพิ่มเติมในส่วนท้ายสุดรวมไว้เป็นที่เดียวให้เข้าถึงง่ายขึ้น โดยเรื่อง “เสม็ดขาว” สรุปได้ดังนี้
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยนางสาวพัลลภา วุฒิภาพรกุล นักวิจัยชำนาญการ ได้ทำการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าเสม็ดขาว จากยาสู่เครื่องสำอาง เป็นโครงการวิจัย ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ป่าพรุกำลังถูกบุกรุกอย่างหนัก และต้นเสม็ดขาวถูกทำลาย จึงได้พยายามคิดค้นให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากเสม็ดขาว จากทุกส่วน ทั้งเนื้อไม้ เปลือก ต้น และใบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ 2. ทำให้เกษตรกรเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปลูก การดูแลรักษา ต้นพันธุ์เสม็ดขาว และการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนได้ และ 3. เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งพันธุ์ของเสม็ดขาว
ทั้งนี้ จากผลการวิจัยล่าสุดนั้น ได้พัฒนาน้ำมันหอมระเหยเสม็ดขาวไปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางภายใต้แบรนด์ “KAPIOKU” จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่
- Cleansing Water ผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดเครื่องสำอางสูตรอ่อนโยน ปราศจากน้ำหอม และสารพาราเบน เหมาะกับทุกสภาพผิว
- Cleansing Gel เจลทำความสะอาดผิวหน้าสูตรอ่อนโยนที่เหมาะกับทุกสภาพผิว (ตอบโจทย์คนเป็นสิวง่าย เนื่องจากมีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยเสม็ดขาว และสารสกัดจากชาเขียวออร์แกนิค ผสานกับคุณสมบัติของสารสกัดรากชะเอมเทศ) และไม่มีส่วนผสมของ SLS, SLES, Paraben และ น้ำหอม อีกด้วย
- ANTI-ACNE Serum เซรั่มที่ช่วยดูแลปัญหาผิวที่มีสิวโดยเฉพาะ ช่วยควบคุมความมัน อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิว มาพร้อมกลิ่นหอมผ่อนคลายจากน้ำมันหอมระเหยเสม็ดขาว ผลิตภัณฑ์ไม่มีส่วนผสมของ paraben และ น้ำหอม
***ข้อมูลผู้วิจัย/ค้นพบ :
นางสาวพัลลภา วุฒิภาพรกุล นักวิจัยชำนาญการ
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
>> ข้อมูลแหล่งอื่นเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “เสม็ดขาว” ที่น่าสนใจ ได้แก่
- เมดไทย (Medthai). 2017. เสม็ด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นเสม็ดขาว 20 ข้อ !
https://medthai.com/เสม็ด/
>> ข้อมูลจากแหล่งทรัพยากรสารสนเทศในสำนักหอสมุดที่น่าสนใจ (โดยผลลัพธ์การสืบค้นงานวิจัยเกี่ยวกับ “เสม็ดขาว”
ผ่าน KU Library Catalog มีจำนวน 10 รายการ และผ่าน One Search มีจำนวน 7 รายการ) มีเรื่องที่น่าสนใจ เช่น
- บทความเรื่อง “ท่องป่าพรุ--รู้จักไม้เสม็ดขาว” / 2552 วารสารพัฒนาที่ดิน 46, 414 (ก.ค.-ก.ย. 2552) 34-36
- นวัตกรรมหลังการเก็บเกี่ยวบรรจุภัณฑ์แอคทีฟจากน้ำมันหอมระเหยยูคาลิปตัสเสม็ดขาวและอบเชย ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้ / พิชชาอรฐ์ สิริชีวเกสร / 2559 เคหการเกษตร 40, 5 (พ.ค. 2559) 211-214
- การพัฒนากระดาษชานอ้อยทากันยุงผสมน้ำมันเสม็ดขาว สำหรับอุตสาหกรรมครัวเรือน / สุธิชา ไชยศิริ / 2548 / วิทยานิพนธ์. วท.ม. (พัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร)
https://www-lib-ku-ac-th.portal.lib.ku.ac.th/KUthesis/2548/SuthichaCha/index.html