Climatarian (กลุ่มบริโภครักษ์โลก)

 

ผู้เรียบเรียง

ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์

นักเอกสารสนเทศปฏิบัติการ ฝ่ายบริการ

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

    Climatarian (กลุ่มบริโภครักษ์โลก) คือ กลุ่มคนที่ต้องการบริโภค โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่เราอาจคุ้นหูกันมาก่อนหน้านี้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งหลายคนอาจหลงลืมกันไปบ้างแล้ว แต่ในความเป็นจริงกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังคงคำนึงถึงและตระหนักอยู่เรื่อยมา ทำให้เกิดเป็นความต้องการหรือค่านิยมในการเลือกหรือเน้นบริโภคเฉพาะจากสิ่งที่จะเป็นการลดปัจจัยอันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยไม่ได้งดเว้นการทานเนื้อสัตว์ เพียงแต่จะเลือกบริโภคโดยพิจารณาตั้งแต่ต้นกระบวนการผลิตวัตถุดิบนั้น ๆ จนถึงปลายทางที่เป็นการปล่อยของเสีย แม้กระทั่งกระบวนการระหว่างผู้ส่งถึงผู้รับ เช่น การขนส่ง การ บรรจุหีบห่อ/บรรจุภัณฑ์ ที่ต้องเป็นการช่วยรักษ์โลก เป็นต้น

    กล่าวโดยหลัก ๆ คือ ต้องการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมองว่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากกระบวนการรับประทานอาหาร การใช้ชีวิตความเป็นอยู่ ที่สามารถทำให้เกิดของเสียปล่อยออกมาจากในกระบวนการย่อยสลายได้ เป็นต้นว่า ก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งอันก่อให้เกิดปัญหาก๊าซเรือนกระจกปกลคลุมชั้นบรรยากาศโลก หรือแม้กระทั่งการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ที่การขับถ่ายก่อให้เกิดก๊าซจำนวนมาก การปลูกพืชที่ใช้น้ำมากก่อให้เกิดน้ำท่วมขังภายหลัง หรือใช้พื้นที่มากซึ่งจำเป็นต้องถางป่าก็ตาม หลายสิ่งเหล่านี้ถือว่าทำให้เกิดก๊าซต่าง ๆ ได้มากเช่นกัน

 

สิ่งที่กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้คำนึงถึง มีหลัก ๆ 6 ประการ คือ 1. การไม่รับประทานอาหารที่มาจากสัตว์ใหญ่ ปศุสัตว์ หรือที่เลี้ยงในเชิงอุตสาหกรรม เนื่องจากมีการปล่อยของเสียจากการขับถ่ายมาก จะนิยมทานจำพวกปลา อาหารทะเลมากกว่า  2. เน้นทานจำพวกพืชผักที่ปลูกจากดิน มากกว่าใช้น้ำ และมักเป็นต้นเล็ก ๆ ใช้ระยะเวลาในการปลูก เติบโตไม่นาน ไม่สิ้นเปลือง ไม่เกิดของเสียมาก และให้คุณประโยชน์สูง คุ้มค่า เช่น พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น  3. เน้นทานพืชประเภททนแล้ง ที่ใช้น้ำน้อย ไม่ก่อให้เกิดการท่วมขังที่จะทำให้เกิดก๊าซมีเทนได้  4. คัดเลือกหาวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น ในเขตพื้นที่ ไม่ต้องผ่านการขนส่งทางไกลมากนัก ซึ่งจะก่อให้เกิดก๊าซระหว่างช่วงเวลาที่เน่าเสียได้ และใช้เวลานาน เกิดความไม่คุ้มค่า  5. เลือกรับประทานอาหาร/พืชผักออร์แกนิค ที่ไม่ผ่านการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงใด ๆ  6. นิยมเลือกบริโภคแต่พอดี ไม่ให้เหลือเป็นขยะ ของทิ้ง เน่าเสีย ไม่นิยมแนวคิดที่ว่า “เหลือดีกว่าขาด”  นอกจากนี้ กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็ยังคงใส่ใจกับผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่รักษ์โลก เน้นให้เกิดการนำไป Upcycling ต่อได้ ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อโลกตามมา

    ตัวอย่างร้านค้าในต่างประเทศ (ประเทศสหรัฐอเมริกา) ที่เริ่มใช้เครื่องมือ เรียกว่า Just Salad LCA เพื่อช่วยคำนวณและแสดงค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์เสมือนเป็นฉลาก แทนการคำนวณค่าแคลอรี่ทั่ว ๆ ไป คือ ร้านอาหาร Just Salad ซึ่งเป็นร้านอาหารจานด่วนสไตล์อเมริกัน ที่ได้ลองเปิดตัวอาหารจานแรกเป็นแนว Climatarian ขึ้น และมีการทำฉลากเป็นข้อมูลคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของวัตถุดิบหรือส่วนผสมแต่ละชนิดเอาไว้ แทนที่แคลอรี่แบบดั้งเดิม ซึ่งผลตอบรับดี ถูกใจกลุ่มผู้บริโภคสายนี้เป็นอย่างมาก ทำให้ได้มีทางเลือกเพิ่มเติมมากขึ้น (Alter, L., 2020)

    จากผลการวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการบริโภคอาหาร ที่ซึ่งแต่เดิมเข้าใจว่ามีกลุ่ม อาหารมังสวิรัติ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า Vegan แบบนี้เท่านั้นในอดีต และแม้ว่าโลกจะก้าวไกลไปมากเพียงใดก็ตาม ก็พบว่า กลุ่มนี้ไม่ได้มีเพิ่มขึ้นมากนัก แต่แท้ที่จริงแล้วจะพบว่า ในปัจจุบันจริง ๆ มีกลุ่มผู้บริโภคที่มีเป้าหมายแบบเดียวกัน คือ เน้นใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง แต่เรียกกลุ่มตัวเองแตกต่างกันออกไปในหลายรูปแบบ เป็นต้นว่า Flexitarian, Reductarian หรือแม้แต่ Climatarian นี้เอง ซึ่งจะแตกต่างกันเพียงข้อจำกัดเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น โดยในความเป็นจริงจากผลการวิจัยยังพบอีกว่า เมื่อมีสื่อเพิ่มขึ้น กลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นด้วย แต่จะมีปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดการเลือกบริโภคเหล่านี้ คือ ช่วงอายุและรายได้ ซึ่งในกลุ่มแบบ Climatarian นี้ จะเป็นกลุ่มคนอายุน้อยมากกว่าผู้สูงอายุ และรายได้ไม่สูงมาก รวมถึงในกลุ่มเสรีนิยมจะนิยมบริโภคมากกว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยม (The Washington Post และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นครนิวยอร์ก, 2561)

    โดยสรุป Climatarian ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ช่วยรักษ์โลกได้อย่างดีเลยทีเดียว ซึ่งสำหรับประเทศไทยเรานั้น ก็ถือเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่มีพืชผักอยู่เป็นจำนวนมาก หากใครอยู่ในกลุ่มนี้ก็สามารถหาทานได้ไม่ยากเลย ทั้งจากเป็นวัตถุดิบในพื้นที่ ท้องถิ่น ออร์แกนิคที่นิยมกันในช่วงนี้ก็มีให้เห็นเป็นกระแสค่อนข้างมากด้วยอยู่แล้ว หรือหากจะผลักดันส่งเสริมให้เกิดเป็นอาชีพที่นำวัตถุดิบเหล่านี้ส่งออกขายต่างประเทศ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นวัตถุดิบที่กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้กว่าทั่วโลกต้องการ และนอกจากข้อปฏิบัติที่กลุ่มผู้บริโภคนี้พึงปฏิบัติหลัก ๆ 6 ประการแล้ว ก็อาจมีข้อจำกัดเล็ก ๆ อีกอยู่บ้างที่ควรคำนึงถึง เป็นต้นว่า แม้จะพยายามบริโภคอาหารทะเล แต่ก็ยังคงเลือกเฉพาะเนื้อสัตว์ที่ได้สารอาหารคุ้มค่าเมื่อเทียบกับกระบวนการเลี้ยงแล้ว หรือหากเป็นฟาร์มเลี้ยงที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะออกสู่ชั้นบรรยากาศ กล่าวคือ เน้นลดก๊าซมีเทนได้มากก็จะดี 




แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

 

De Visser, R. O., Barnard, S., Benham, D. & Morse, R. (2021). Beyond “Meat Free Monday”: A mixed method study of giving up eating meat. Appetite, 166. Retrieved from https://doi.org/10.1016/j.appet.2021.105463

Healthy climate. (2021). Food & Drink Technology, 20(11), 12-15. Retrieved from https://rb.gy/mxlbbe

Just Salad launching Climatarian menu. (2020). FastCasual.com. Retrieved from https://rb.gy/gzvrsc

Kilian, D., & Hamm, U. (2021). Perceptions of Vegan Food among Organic Food Consumers Following Different Diets. Sustainability, 13(17), 9794. Retrieved from https://doi.org/10.3390/su13179794

Sloan, A. E., & Hutt, C. A. (2021). Sustaining Plant-Based Momentum: A Cautionary Tale: Nearly half of adults look for products labeled 'plant-based.' Market opportunities abound. Nutraceuticals World, 24(6),   16-19. Retrieved from https://rb.gy/2wnb27

Wilson, C., Pettifor, H., Cassar, E., Kerr., L. & Wilson., M. (2019). The potential contribution of disruptive low-carbon innovations to 1.5 °C climate mitigation. Energy Efficiency, 12(2), 423-440. Retrieved from

    https://doi.org/10.1007/s12053-018-9679-8

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

เครือเจริญโภคภัณฑ์. (2559). Eco-dieting ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม. สืบค้นจาก http://www.cp-enews.com/news/details/cpworld/1209 

ศิริวรรณ สิทธิกา. (2563). กินยังไงให้ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ วิถีการกินเพื่อเซฟโลกแบบชาว Climatarian. สืบค้นจาก  https://www.greenery.org/articles/trend-climatarian/ 

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) (2561). Climatarian. สืบค้นจาก https://www.nsm.or.th/other-service/670-online-science/knowledge-inventory/sci-vocabulary/sci-vocabulary-natural-history-museum/5164-climatarian.html 

Alter, L. (2020). Just Salad Introduces a Climatarian Menu. Retrieved from https://www.treehugger.com/just-salad-introduces-climatarian-menu-5081536 

ANNDIMZ (นามแฝง). (2563). “Green Eating” กับ 8 วิถีการกินที่ดีต่อสุขภาพและ (รักษ์) โลก. สืบค้นจาก https://www.gourmetandcuisine.com/stories/detail/732 

The Washington Post, และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นครนิวยอร์ก. (2561). กลุ่มผู้บริโภคอาหาร มังสวิรัติและ/หรือผู้งดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในสหรัฐฯไม่ขยายตัวตามกระแส. WEEKLY NEWS FROM NEW    YORK, (283) 20-24 สิงหาคม 2561. สืบค้นจาก https://www.ditp.go.th/contents_attach/259812/259812.pdf

We Are Greeners. (2564). Climatarian “กิน” เพื่อสิ่งแวดล้อม. สืบค้นจาก https://m.facebook.com/wearegreeners/photos/a.4089946994416399/3831529376924830/?type=3&source=48 


 
 
 
1xbet casino siteleri bedava bahis kaçak bahis superbetin yeni giriş casino siteleri