รัสเซีย-ยูเครน: ผลกระทบที่ไทยได้รับและต้องปรับตัว
(ด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรรม พลังงาน)
ผู้เรียบเรียง
ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์
นักเอกสารสนเทศปฏิบัติการ ฝ่ายบริการ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จากประเด็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้น ส่งผลกระทบต่อด้านต่าง ๆ ของหลายประเทศทั่วโลก ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ด้านเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของค่าน้ำมัน การนำเข้า-ส่งออกสินค้าต่าง ๆ ดังเช่น ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ก็จะเป็นในด้านของเกษตรกรรมที่ได้รับผลต่อเนื่องจากความขัดแย้งในครั้งนี้ แม้ว่านักวิชาการส่วนใหญ่จะมองว่า ความขัดแย้งครั้งนี้มีวงที่จำกัด ไม่น่าส่งผลกระทบได้มากนักหรือแม้กระทั่งในระยะยาวก็ตาม เพราะคู่ขัดแย้งโดยตรงของรัสเซียไม่ใช่ยูเครนแต่เป็นสหรัฐอเมริกา ซึ่งสาเหตุเพียงเพราะยูเครนต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) แต่จากผลกระทบที่เกิดขึ้น เป็นต้นว่า น้ำมันที่ราคาแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ประเทศผู้ผลิตได้รับผลประโยชน์ แต่ประเทศผู้ซื้อเสียผลประโยชน์ หรือแม้แต่ในส่วนของการทำธุรกิจ ซึ่งนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองว่า อาจต้องมองมุมใหม่ให้กลายเป็นผลดีหรือข้อได้เปรียบทางผลประโยชน์ให้มากขึ้น โดยเห็นว่า หากรัสเซียมาทำการค้ากับจีนอาจเชื่อมต่อมายังญี่ปุ่นหรือไทยเองที่อาจกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าในแถบทวีปเอเชียก็เป็นได้ ซึ่งนักธุรกิจหรือนักลงทุนอาจต้องพิจารณาให้ดีว่า ควรจะลงทุนข้างใด รัสเซีย-จีน หรือ สหรัฐอเมริกา-ยุโรป โดยอาจเริ่มจากการมองสินค้าของตนให้ได้ก่อนว่าเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายประเทศฝั่งใด เป็นต้น
จากผลกระทบดังกล่าวในภาพรวมข้างต้นนั้น อาจทำให้เห็นแต่ด้านลบ การเสียผลประโยชน์ หรืออยู่ระหว่างการต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่งให้ดีหรือถูกต้องมากขึ้น หากมองมายังประเทศไทยเราเอง ทางด้านเกษตรกรรมอันส่งผลต่อเศรษฐกิจได้ด้วยนั้น จะเห็นว่า มีด้านที่ดีอยู่เช่นกันจากผลกระทบนี้ กล่าวคือ ทำให้ราคายางพาราสูงขึ้น เนื่องจากผลของราคาน้ำมันดิบในตลาดพุ่งขึ้นสูง ทำให้ราคาของยางพาราหรือปาล์มน้ำมัน อันเป็นพืชน้ำมันทางด้านพลังงานได้รับผลที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย และจากความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้นทำให้กลายเป็นสินค้าทดแทนน้ำมันดิบ จะเห็นว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เกษตรกรอาจต้องปรับตัว และอาจเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกด้วยเช่นกัน เช่น ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปของแหล่งผลิตวัตถุดิบ ทำให้ผลิตและส่งออกได้น้อยลง หรือเข้าสู่ฤดูปิดกรีดยาง เป็นต้น นอกจากนี้เกษตรกรยังต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์หลังจากนี้ หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนคลี่คลาย ราคาก็อาจปรับตัวลงได้ จึงต้องหามาตรการมารักษาเสถียรภาพนี้ไว้ด้วยเช่นกัน
นอกจากเรื่องยางพาราแล้ว ก็ยังมีผลกระทบที่เกี่ยวข้องด้านเกษตรกรรมจากสถานการณ์ดังกล่าวคือ ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมีนาคม 2565 ปรับตัวสูงขึ้น (เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง) อันได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 และสุกร ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลดีกับเกษตรกรที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรดังกล่าว แต่ก็ยังคงมีสินค้าเกษตรบางส่วน ที่อาจมีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ข้าวเปลือกเหนียว กุ้งขาวแวนนาไม และโคเนื้อ
เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้มองประเด็นเพิ่มเติมว่า สินค้านำเข้าหลักของไทยจากรัสเซียคือน้ำมัน ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญนั้น ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋อง และเครื่องปรับอากาศ สำหรับในปี 2565 นี้ ซึ่งจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนในปี 2565 นี้ คาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้การส่งออกของไทยลดลงจากปี 2564 ส่วนการนำเข้านั้น ราคาน้ำมันจากที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจทำให้ไทยมียอดขาดดุลการค้ากับรัสเซียเพิ่มมากขึ้นกว่าในปี 2564 ประกอบกับการที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ได้กล่าวถึงผลกระทบของประเทศไทยที่คิดว่าจะได้รับจากสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ว่า นอกจากเรื่องของน้ำมัน ซึ่งรัสเซียถือเป็นประเทศส่งออกน้ำมันเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกแล้วนั้น ก็ยังมีสินค้าทางภาคการเกษตร เช่น ปุ๋ย ข้าวสาลี หรือแม้กระทั่งพาลาเดียม ที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตรถยนต์ ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน (PPTV Online, 2565)
จากประเด็นผลกระทบดังกล่าวข้างต้นที่กล่าวมานั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรมที่ส่งผลต่อด้านเศรษฐกิจ หรือผลกระทบต่อด้านพลังงานแล้วนั้น ก็ยังมีด้านอื่น ๆ อีก เป็นต้นว่า ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งในภาวะปกติประเทศไทยเรานั้นมีนักท่องเที่ยวจากรัสเซียเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมากนับเป็นอันดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้ ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังที่ทราบแล้ว ก็ยังมาสอดรับกับปัญหาวิกฤติในครั้งนี้ รวมถึงอาจมีปัจจัยภายในประเทศเรื่องของค่าเงิน ที่ทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้เท่าเดิม จึงนับว่าด้านการท่องเที่ยวก็ส่งผลต่อด้านเศรษฐกิจ ไม่น้อยไปกว่าด้านเกษตรกรรมเช่นกัน
จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังยืดเยื้อ หาข้อสรุปไม่ได้อยู่นั้น แม้ว่าจะมีหลายแนวคิดหลากมุมมอง ดังเช่น การมองเป็น 5 ภาพทัศน์ที่น่าสนใจ อาทิ การสิ้นสุดในรูปแบบสงครามระยะสั้น สงครามระยะยาว สงครามในยุโรป การเปิดเจรจาทางการทูต รวมไปถึงการที่ปูตินสิ้นอำนาจ หรือแม้กระทั่งอาจเป็นไปได้ที่ผลลัพธ์สุดท้ายอาจเป็นการผสมผสานจากหลาย ๆ ภาพทัศน์ที่เกิดขึ้น (เจมส์ แลนเดล, 2565) แต่ไม่ว่าสุดท้ายจะสิ้นสุดด้วยฉากทัศน์ใดก็ตาม ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ในแต่ละประเทศจะต้องปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นให้ได้ แม้ว่าอาจจะไม่ได้รับผลโดยตรง แต่โดยทางอ้อมก็ยังคงเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบได้มากอยู่เช่นกัน ซึ่งควรคำนึงถึงอยู่อย่างต่อเนื่อง และติดตามอยู่อย่างตลอดเวลา ดังที่นักวิชาการก็ยังคงมองว่า อาจส่งผลทำให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้นได้อีก อย่างต่ำจากระดับปัจจุบันไปจนถึง 7-15 บาทต่อลิตรในอนาคต
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กรุงเทพธุรกิจ. (2565). เฉลิมชัย สั่งจับตายูเครน-รัสเซีย รับมือราคายางพุ่ง ตามราคาน้ำมัน. สืบค้นจาก
https://www.bangkokbiznews.com/business/990779
เจมส์ แลนเดล. (2565). รัสเซีย ยูเครน : คาดการณ์ 5 ฉากทัศน์ว่าสงครามจะจบอย่างไร. สืบค้นจาก
https://www.bbc.com/thai/international-60614058
ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล. (2565). สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาสินค้าเกษตร มีอะไรที่เพิ่มขึ้น เช็คที่นี่. สืบค้นจาก
https://www.thansettakij.com/money_market/516296
ไทยรัฐออนไลน์. (2565). 6 ฉากทัศน์ สงครามรัสเซีย-ยูเครน เตือนไทย รับมือน้ำมันแพงขึ้น 7-15 บาท. สืบค้นจาก
https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2336121
ไทยรัฐฉบับพิมพ์ (ทีมเศรษฐกิจ). (2565). สงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย. สืบค้นจาก
https://www.thairath.co.th/business/feature/2326960
นครินทร์ ศรีเลิศ. (2565). มองมุมใหม่“ขั้วการค้าโลก” ผลปมขัดเเย้ง“ยูเครน”. สืบค้นจาก
https://www.bangkokbiznews.com/business/990082
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (2565). รัสเซีย-ยูเครน อานิสงส์ดันราคายาง-ปาล์ม ปรับตัวเพิ่มขึ้น. สืบค้นจาก
https://www.prachachat.net/economy/news-875406
PPTV Online. (2565). คำต่อคำกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ "สงครามรัสเซีย-ยูเครน" มีผลกับไทยอย่างไร. สืบค้นจาก
https://www.pptvhd36.com/news/เศรษฐกิจ/167767
แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
Božić, F., Sedlar, D. K., Smajla, I. & Ivančić, I. (2021). Analysis of Changes in Natural Gas Physical Flows for
Europe via Ukraine in 2020. Energies, 14(5175): 5175. Retrieved from https://cutt.ly/3AAT5pv
Fox, A. (2021). Russo-Ukrainian Patterns of Genocide in the Twentieth Century. Journal of Strategic Security,
14 (4): 56-71. Retrieved from https://cutt.ly/jAAYX2P
Just-drinks.com. (2022). The impact of the Russia-Ukraine conflict on trade. Aroq - Just-Drinks.com (Global
News), pN.PAG-N.PAG. 1p. Retrieved from https://cutt.ly/NAATyst
Kolbe, P. R., Morrow, M, R, Zabierek, L. (2022). The Cybersecurity Risks of an Escalating Russia-Ukraine Conflict.
Harvard Business Review Digital Articles: 1-6. Retrieved from https://cutt.ly/4AAYm4I
Ostapchuk, I., Gagalyuk, T., Epshtein, D., & Dibirov, A. (2021). What drives the acquisition behavior of
agroholdings? Performance analysis of agricultural acquisition targets in Northwest Russia and Ukraine.
International Food & Agribusiness Management Review, 24(4): 593-613. Retrieved from
Radomyski, A. & Michalski, D. (2021). A Diagnosis of Russia's Military Capability in a Situation of an Escalation of
Hostility in Ukraine and Possible Implications for the Safety of the Eastern NATO Flank.
Historia i Polityka, 38(45): 71-87. Retrieved from https://cutt.ly/TAAUijt
Thiesse, K. (2022). How is the Russia-Ukraine conflict impacting U.S. agriculture?. Corn & Soybean Digest
Exclusive Insight, pN.PAG-N.PAG. 1p. Retrieved from https://cutt.ly/HAARhgP
Vel Grajewski, P. Ż. (2021). Twelve EU Countries on the Eastern Flank of NATO: What about Ukraine?.
East/West: Journal of Ukrainian Studies, 8(2): 49-83. Retrieved from https://cutt.ly/fAAxzQj