ความน่าสนใจของผึ้ง และ “ผึ้งน้ำหวาน” (Honey Bee) กับการปรุงยารักษาโรค
ผู้เรียบเรียง
ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์
นักเอกสารสนเทศปฏิบัติการ ฝ่ายบริการ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หากกล่าวถึง “ผึ้ง” มุมมองของผู้คนส่วนใหญ่นั้น มักจะคิดว่าผึ้งเป็นสัตว์มีพิษขนาดเล็กที่น่ากลัว ยิ่งหากรวมตัวกันเป็นฝูงแล้วนั้น ยิ่งดูมีอานุภาพมากขึ้นไปอีก น้อยคนนักที่จะมองว่าผึ้งเป็นสัตว์ที่ทำงานเป็นทีมได้อย่างขยันขันแข็งไม่ต่างไปจากมดเลย เพียงแต่อาจดูเป็นสัตว์ปีกที่ว่องไว และมีเหล็กในที่เป็นพิษทำร้ายคู่ต่อสู้ได้ ซึ่งในความเป็นจริงผึ้งถือเป็นสัตว์ที่มีความน่าสนใจอย่างมาก ยิ่งต่อทางด้านการเกษตรด้วยแล้วนั้น ถือว่ามีส่วนช่วยในการเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์พืชหรือดอกไม้นานาพันธุ์ได้อย่างมากเลยทีเดียว ประกอบกับผลทางอ้อมที่ยังผลิตน้ำผึ้งอันถือเป็นอาหารให้ได้บริโภค โดยยังมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยในด้านต่าง ๆ ได้ ซึ่งหากเจาะจงไปมากกว่านั้น “ผึ้งน้ำหวาน” (Honey Bee) ถือเป็นผึ้งชนิดหนึ่งที่มีความน่าสนใจในกลุ่มนี้เช่นกัน เนื่องจากมีความสามารถในการปรุงยารักษาโรคได้ไม่น้อยไปกว่าการหาหรือเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งเลยทีเดียว
เบื้องต้นหากทำความรู้จักเกี่ยวกับผึ้งนั้น จะพบว่า ผึ้งมีมากกว่า 20,000 สายพันธุ์ แต่มีจำนวนเพียง 2 สายพันธุ์ที่มีเหล็กในแต่ไม่สามารถต่อยได้ คือ “ผึ้งไร้เหล็ก” (Meliponini) กับ “ผึ้งนักขุด” (Andrenidae) และผึ้งอีกกว่า 500 สายพันธุ์ที่เมื่อต่อยแล้ว จะตายหลังจากนั้น มีเพียง 10 สายพันธุ์เท่านั้น ที่ไม่ตายหลังจากต่อย โดยจากการทดลองของนักวิจัย ค้นพบว่า ผึ้งมีความสามารถพิเศษ สรุปได้เป็น 3 ประการที่น่าสนใจ คือ 1) จดจำเส้นทางได้อย่างแม่นยำ และสื่อสารบอกต่อได้ 2) มีความจำเกี่ยวกับตัวเลขที่ดี (แยกหรือเชื่อมโยงระหว่างเลขศูนย์กับความว่างเปล่าได้) และ 3) เรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมได้
ในส่วนของน้ำผึ้งนั้น ถือเป็นส่วนสำคัญที่ได้จากผึ้งก็ว่าได้ เป็นการได้จากผึ้งงานที่ไปทำหน้าที่ดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ชนิดต่าง ๆ และเมื่อน้ำหวานเข้าสู่กระเพาะอาหารของผึ้ง ซึ่งเป็นส่วนกระเพาะพิเศษ จะช่วยย่อยและแยกโมเลกุลน้ำตาลออกเป็นกลูโคสกับฟรุกโตส พร้อมผสมกับเอนไซม์ของผึ้งแต่ละตัวที่มีความพิเศษเฉพาะแตกต่างกันออกไป โดยระหว่างที่ผึ้งงานกระพือปีกบินกลับรังนั้น ก็จะเกิดความร้อนขึ้น ช่วยเพิ่มการเผาผลาญ ทำให้ความชื้นจากน้ำหวานเริ่มระเหยออกไป และเกิดความข้นเหนียวขึ้น เมื่อผึ้งงานกลับถึงรังก็จะคายน้ำหวานออกมาให้ผึ้งงานที่ทำหน้าที่นำน้ำหวานบรรจุใส่หลอดต่อไป โดยยังจะต้องทิ้งไว้อีกสักพักให้เกิดความข้นเหนียวมากกว่านี้ กล่าวคือ น้ำผึ้งที่ดีจะต้องมีความชื้นไม่เกิน 21% และต้องมีองค์ประกอบของโมเลกุลน้ำตาลกลูโคสกับฟรุกโตสรวมกันไม่เกิน 65% ซึ่งน้ำผึ้งที่ได้ออกมานั้น จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของสี กลิ่น รส ตามแต่ชนิดของดอกไม้ที่ผึ้งนั้น ๆ ไปนำมา โดยหากนำมาจากดอกลำไยก็จะมีสีที่เข้ม รสชาติหอมหวานกว่าดอกไม้หรือพืชชนิดอื่น ๆ จนทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงผึ้งในสวนที่ปลูกต้นลำไย เพื่อให้กลายเป็นผึ้งเลี้ยงที่ผลิตน้ำผึ้งดอกลำไยออกจำหน่าย และเนื่องจากดอกลำไยจัดอยู่ในประเภทที่มีน้ำหวานและเกสรปริมาณสมดุลกัน ซึ่งจากประเภทของดอกไม้หรือพืชที่ผึ้งไปดูดน้ำหวานมานั้น จะแยกออกเป็น 3 ประเภทคือ น้ำหวานมากกว่าเกสร เช่น ดอกสาบเสื้อ ลิ้นจี่ เงาะ เป็นต้น เกสรมากกว่าน้ำหวาน เช่น ข้าวโพด หางนกยูง นนทรี ดอกโสน เป็นต้น และน้ำหวานกับเกสรมีปริมาณสมดุลกัน เช่น ดอกลำไย ตีนตุ๊กแก ดอกงิ้ว ทานตะวัน เป็นต้น
ทั้งนี้ ในส่วนของคุณประโยชน์ที่ได้จากผลิตผลจากผึ้งนั้นมีมากมาย สรุปได้คือ 1) นิยมนำน้ำผึ้งไปผสมใส่ในอาหารหรือเครื่องดื่ม และใช้เป็นเครื่องสำอางบำรุงผิวพรรณ รวมถึงมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคได้ จึงได้นำไปทำเป็นยาบ้าง 2) เกสรผึ้ง ในขณะที่ผึ้งงานไปดูดน้ำหวานนั้น ก็จะมีเกสรหลุดร่วงใส่ตะกร้าที่ติดตัวผึ้งมาด้วย ซึ่งส่วนนี้ถือว่ามีโปรตีนสูง ช่วยในการพัฒนาเซลล์ต่าง ๆ ผึ้งจึงนำกลับมาที่รังเพื่อเลี้ยงตัวอ่อนต่อ โดยในส่วนนี้บางผลิตภัณฑ์ก็นำไปเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางเช่นกัน 3) ไขผึ้ง เป็นส่วนที่ได้จากต่อมผลิตไขผึ้งที่อยู่ส่วนท้องด้านล่างของผึ้ง ส่วนใหญ่นำไปผลิตเป็นเทียน เพราะควันน้อย และมีกลิ่นหอม อีกทั้งผลิตเป็นกาว หมากฝรั่ง และดินสอสี 4) นมผึ้งสด หรือรอยัลเยลลี เป็นส่วนที่มีวิตามินต่าง ๆ มาก ซึ่งผึ้งงานที่มีอายุประมาณ 5-15 วันจะผลิตออกมาเพื่อเลี้ยงตัวอ่อนที่มีอายุประมาณ 3 วัน ที่จะเติบโตไปเป็นผึ้งนางพญา โดยมีลักษณะสีขาวคล้ายครีม หรือนมข้นหวาน ส่วนนี้คนนิยมนำไปเป็นส่วนประกอบผลิตเครื่องสำอาง และ 5) รวงผึ้ง หรือรังผึ้ง จะมีสารพรอพโพลิส ที่ประกอบด้วยยางไม้และขี้ผึ้ง มีคุณสมบัติเป็นสารปฏิชีวนะที่ดีที่สุดตามธรรมชาติ นิยมนำไปผลิตเป็นสบู่ ยาสีฟัน เนื่องจากปกป้องและยับยั้งแบคทีเรียได้
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับผึ้งก็คือ แต่เดิมมันจะดูดน้ำหวานจากดอกไม้และปล่อยเข้าไปผสมกับเกสรของดอกไม้นั้น ๆ และใช้ขี้ผึ้งที่ผลิตได้เอง ปล่อยลงไปทำให้น้ำหวานจับตัวเป็นก้อน ๆ และแยกระหว่างของเหลวคือน้ำหวานกับของแข็งคือเกสรออกจากกันได้ง่าย เมื่อไปถึงรัง ก็จะมีการใช้ขี้ผึ้งสร้างที่กักเก็บให้เป็นรูปหกเหลี่ยมเป็นช่อง ๆ ติดกัน ถือว่าเป็นสัตว์ที่มีความคิดมาก เพราะช่วยให้มีพื้นที่กักเก็บที่ปริมาณมาก คุ้มค่า อีกทั้งระบายความชื้นได้เร็ว ไม่เป็นของเหลวที่ไหลออกได้ง่าย ซึ่งน้ำผึ้งต่าง ๆ ที่ได้มานั้น จะเห็นได้ว่ามีสรรพคุณที่ดี เพราะเสมือนผึ้งน้ำหวานเหล่านี้ ได้เลือกปรุงยาไว้ให้เรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของผึ้งน้ำหวานนั้น จะใช้วิธีการคัดเลือกดูดน้ำหวานจากเกสรของดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ที่มันคิดว่าเป็นชนิดที่สามารถนำมาปรุงเป็นยารักษาโรคให้ตัวมันได้ โดยจะนำมาเก็บเป็นน้ำผึ้งและปล่อยเอนไซม์ต่าง ๆ ลงไป เสมือนเป็นการปรุงยา เพื่อควบคุม ดัดแปลง ให้น้ำผึ้งออกฤทธิ์ที่กลายเป็นยารักษาโรคได้ ซึ่งเคยมีการทดลองให้ผึ้งน้ำหวานติดเชื้อจากแบคทีเรียและรา โดยวางน้ำผึ้งไว้ 4 ชนิด 4 ขวด และให้ผึ้งเลือกเอง ปรากฏว่า มันเลือกน้ำผึ้งขวดที่สกัดมาจากดอกทานตะวัน ซึ่งนับว่าเป็นน้ำหวานจากดอกไม้ที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดก็ว่าได้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันผึ้งน้ำหวานชนิดนี้เริ่มลดน้อยลงไปมาก เนื่องมาจากการที่มีป่าไม้น้อยลง ผู้คนเลือกปลูกพืชชนิดเดียวมากกว่าหลากหลายพันธุ์ ทำให้ผึ้งไม่มีแหล่งดูดน้ำหวานจากดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์ ไปผสมหรือดัดแปลงได้เหมือนเมื่อก่อน ประกอบกับเมื่อพบว่าผึ้งเป็นโรค แต่น้ำผึ้งในรังมีไม่เพียงพอที่จะทำเป็นยาได้ ก็ทำให้ผึ้งต้องล้มหายตายจากไป ประกอบกับสิ่งที่เป็นศัตรูตัวฉกาจสำหรับผึ้งน้ำหวาน คือ แตนยักษ์เอเชีย (Vespa mandarinia) เนื่องจากมีขนาดใหญ่มาก ความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร มีขากรรไกรที่ใหญ่และคม และเป็นสัตว์กินเนื้อ โดยเฉพาะชอบกินผึ้งน้ำหวาน ด้วยวิธีการกัดเข้าที่หัวของผึ้ง ซึ่งแตนประมาณ 30 ตัว สามารถฆ่าผึ้งได้ถึง 30,000 ตัว ในเวลาที่รวดเร็ว และเมื่อฆ่าผึ้งตายหมด ก็จะบุกไปกินตัวอ่อนในรังผึ้ง และหอบกลับไปเป็นอาหารต่อที่รังของตัวเอง จากกรณีนี้ พบว่า ส่งผลต่อการเลี้ยงผึ้งในพื้นที่ที่ต้องผลิตน้ำผึ้งเป็นอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก อย่างเช่นกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกาที่พบว่า ส่งผลต่อทั้งการผลิตน้ำผึ้งส่งออกที่เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรม และผลข้างเคียงต่อพื้นที่เกษตรกรรมที่ไม่มีผึ้งน้ำหวานช่วยผสมเกสร ทำให้ลดการขยายพันธุ์ของดอกไม้ไปมาก และกรณีของประเทศญี่ปุ่นก็เคยประสบปัญหาแบบนี้เช่นกัน เพียงแต่อาจเนื่องด้วยผึ้งในประเทศญี่ปุ่น มีสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกันกับแตนยักษ์เอเชีย เหตุเพราะเป็นเอเชีย จึงทำให้มีการปรับตัวรับมือได้มากกว่า กล่าวคือ จะมีผึ้งงานคอยบินล้อมรอบแตนยักษ์เอเชียอยู่เป็นจำนวนมาก และกระพือปีกถี่ ๆ ให้มีความร้อนเกิดขึ้นเกินกว่าอุณหภูมิของแตนยักษ์ที่จะทนได้ คือ 46 องศาเซลเซียส ซึ่งผึ้งสามารถทนได้มากกว่าถึง 50 องศาเซลเซียส จึงทำให้แตนยักษ์ตายไปก่อน แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาอากาศเย็นกว่า และสายพันธุ์ผึ้งที่แตกต่าง จึงยังไม่สามารถปรับตัวได้ ซึ่งกรณีในประเทศไทย ด้วยอุณหภูมิที่ร้อนกว่านั้นมาก จึงทำให้ไม่เกิดปัญหาเหล่านี้ และแม้ว่าผึ้งจะมีเหล็กในก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการรุกรานจากแตนยักษ์เอเชียได้ด้วยเหล็กใน เนื่องจากผิวหนังของมันหนากว่านั้น จึงต้องอาศัยการรวมกันเป็นทีมด้วยวิธีการอื่นดังที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นข้างต้น และจากที่ทราบกันมาว่า เหตุที่เมื่อผึ้งต่อยมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแล้วตายนั้น เนื่องจากเหล็กในเปรียบเสมือนอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายผึ้ง เป็นเหมือนลำไส้ ที่เมื่อหลุดไปฝังอยู่ในผิวหนังผู้ที่ถูกต่อยแล้วจะคล้ายเหมือนกับลำไส้ถูกดึงหายไป ร่างกายส่วนอื่น ๆ จึงไม่สามารถทำงานต่อได้ ทั้งนี้ ในความเป็นจริงผึ้งไม่ใช่สัตว์ที่ชอบทำร้าย หากแต่เป็นจำพวกต่อมากกว่า ผึ้งเพียงแต่ปกป้องตัวเองเท่านั้น หากไม่มีสิ่งใดเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเขตรังของมัน มันก็คงจะดำรงชีวิตตามปกติ ซึ่งจริง ๆ แล้วผึ้งมีประโยชน์กว่านั้นมาก เนื่องจากช่วยผสมเกสรและแพร่พันธุ์ดอกไม้ไปได้ ซึ่งในประเทศไทยจะมีผึ้งอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ ผึ้งหลวง ผึ้งมิ้ม ผึ้งม้าม ผึ้งโพรง และผึ้งพันธุ์
นอกจากนี้ นักวิจัยได้ค้นพบว่า พิษของผึ้งน้ำหวาน มีความน่าสนใจมาก เนื่องจากได้ทดลองแล้วพบว่า สารเมลิตติน (melittin) ที่อยู่ในพิษของผึ้งน้ำหวาน มีฤทธิ์รุนแรงมาก กล่าวคือ สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งเต้านมได้ ภายใน 60 นาที ซึ่งหากเป็นพิษของผึ้งพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ผึ้งน้ำหวานนั้น จะไม่มีสารเมลิตตินชนิดนี้ ทำให้ไม่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งเต้านมได้ และยังได้ทดลองเพิ่มเติมพบว่า แม้จะเป็นนักวิทยาศาสตร์เป็นผู้ทำการผสม ที่ไม่ใช่กรรมวิธีจากผึ้งเองโดยตรงนั้น ก็ยังคงออกฤทธิ์ได้ผลเท่าเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่หากพัฒนาต่อไปในอนาคตได้จนเป็นผลสำเร็จก็น่าจะเกิดประโยชน์ต่อวงการแพทย์ได้ไม่น้อย
ในประเทศไทยนั้น ล่าสุดทีมนักวิจัยได้ค้นพบผึ้งสายพันธุ์ใหม่ คือ ผึ้ง “หยาดอำพันภูจองนายอย” (Phujong resin bee) หรือ Anthidiellum (Ranthidiellum) phujongensis n. sp. ประกอบด้วย ดร.ประพันธ์ ไตรยสุทธิ์ จากสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี และนายภากร นลินรชตกัณฑ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และพัฒนาแหล่งที่พบนี้ให้เป็น ‘ecotourism’ นั้น ให้ข้อมูลว่า ผึ้งที่พบตั้งตามชื่ออุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นการให้เกียรติ โดยผึ้งชนิดนี้จะใช้ยางไม้มาทำเป็นรัง แบ่งเป็นห้อง ๆ ภายในวางไข่แล้วปิดห้องนั้นไว้ ซึ่งเน้นเลือกแหล่งในลักษณะผาตัด ใกล้แหล่งน้ำ มีความชื้นสูง อาศัยอยู่ในโพรงดินที่รกร้าง โดยป่าในอุทยานแห่งนี้ก็จะมีต้นชาดจำนวนมาก ซึ่งเป็นลักษณะที่ผึ้งพันธุ์นี้ต้องการ นอกจากนี้ ยังพบผึ้งปรสิตอีกชนิดหนึ่ง จึงตั้งชื่อว่า “ผึ้งบุษราคัม” (Topaz cuckoo bee) หรือ Stelis flavofuscinular n. sp. โดยจะอาศัยวางไข่และกินตัวอ่อนของผึ้งชนิดนี้ ซึ่งพบเฉพาะที่แห่งนี้ที่เดียวในโลก
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ฟาร์มผึ้ง (นามแฝง). (2563). ความแตกต่างของน้ำผึ้ง และลักษณะของน้ำผึ้งที่ดี. สืบค้นจาก
https://suwanfarmphueng.com/articles/best-honey-bee/
ลงทุนแมน. (2563). ผึ้งน้ำหวานในสหรัฐฯ กำลังเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรม. สืบค้นจาก
https://www.longtunman.com/26592
วชิรญาณ์ ศรีวัฒนะ. (2563). ผึ้งอัจฉริยะ นักจดจำจากธรรมชาติ. สืบค้นจาก
https://www.scimath.org/article-biology/item/11351-2020-03-12-02-03-12
สุธีมนต์ คำคุ้ม. (2565). ไขข้อสงสัย จริงไหมเมื่อผึ้งต่อยคุณ มันจะตาย. สืบค้นจาก
https://www.springnews.co.th/spring-life/824850
เหมียวศรัทธา (นามแฝง). (2563). วิจัยพบ สารในพิษผึ้งน้ำหวาน สามารถทำลาย “เซลล์มะเร็งเต้านม” ได้ ภายในห้องทดลอง.
สืบค้นจาก https://www.catdumb.tv/honeybee-venom-destroys-breast-cancer-cells-378/
BBC NEWS ไทย. (2565). ผึ้งน้ำหวานรู้จัก “ปรุงยา” เลือกใช้น้ำผึ้งหลายชนิดรักษาโรคให้ตัวเอง. สืบค้นจาก
https://www.bbc.com/thai/articles/cllz5nn5g61o
WorkpointTODAY. (2565). ไทยพบผึ้งชนิดใหม่ของโลกที่ จ.อุบลราชธานี ตั้งชื่อ ‘หยาดอำพันภูจองนายอย’. สืบค้นจาก
https://workpointtoday.com/phujong-resin-bee/
แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
Chmiel, J. A., Pitek, A. P., Burton, J. P., Thompson, G. J. & Reid, G. (2021). Meta-analysis on the effect of
bacterial interventions on honey bee productivity and the treatment of infection.
Apidologie, 52(5): 960-972. Retrieved from https://cutt.ly/VMeISk8
Khan, K. A. & Ghramh, H. A. (2022). Evaluation of queen cell acceptance and royal jelly production between
hygienic and non-hygienic honey bee (Apis mellifera) colonies. PLoS ONE, 17(3): 1-11. Retrieved from
Meikle, WG., Weiss, M. & Beren, E. (2020). Landscape factors influencing honey bee colony behavior in
Southern California commercial apiaries. Scientific reports [Sci Rep], 10(1): 5013. Retrieved from
Shumkova, R., Balkanska, R., Salkova, D. & Hristov, P. (2022). Impact of the Plant-based Natural Supplement
Immunostart Herb on Honey Bee Colony Performance. Acta Veterinaria, 72(3): 348-361.
Retrieved from https://cutt.ly/SMeIjAp
St. Clair, A. L., Beach, N. J. & Dolezal, A. G. (2022). Honey bee hive covers reduce food consumption and
colony mortality during overwintering. PLoS ONE, 17(4): 1-17. Retrieved from https://cutt.ly/SMeInHa
Tummeleht, L., Orro, T. & Viltrop, A. (2022). Risk factors for honey bee (Apis mellifera L.) mortality in Estonian
apiaries during 2012–2013. Agronomy Research, 20(2): 448-456. Retrieved from