หนังทางเลือกจากพืช (Plant-Based Leather) หรือ หนังเทียมแบบวีแกน (Vegan Leather)

 

ผู้เรียบเรียง

ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์

นักเอกสารสนเทศปฏิบัติการ ฝ่ายบริการ

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

             อุตสาหกรรมแฟชั่นในปัจจุบันถือว่าเติบโตไปมาก มีการพยายามพัฒนาให้เข้ากับสถานการณ์ หรือเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ปรับให้เข้ากับสถานการณ์โลกมากขึ้น อย่างที่เห็นว่า กระแสภายหลังให้ความสนใจกับแนวคิดรักษ์โลกมากยิ่งขึ้น โดยจะเห็นการปรับเปลี่ยนไปในทุกวงการ ซึ่งวงการแฟชั่นก็เช่นกัน จากเดิมที่นิยมใช้หนังสัตว์มาผลิตเป็นเครื่องอุปโภค เช่น เสื้อผ้า กระเป๋าต่าง ๆ เพื่อแสดงความหรูหรา หรือสรรพคุณบางอย่างที่เกิดผลดีต่อการสวมใส่หรือใช้สอยนั้น ก็ได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนมาใช้หนังทางเลือกจากพืช หรือหนังเทียมแบบวีแกนกันมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องฆ่าสัตว์โดยไม่จำเป็น หรือเป็นการช่วยลดผลเสียต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งผลผลิตจากพืชย่อมตอบสนองต่อแนวคิดรักษ์โลกมากกว่า

h1

 

แต่เดิมการผลิตเครื่องอุปโภคสายแฟชั่นจากหนังสัตว์มีความนิยมมาก แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นหนังทางเลือกจากพืชแทน ซึ่งพบว่ายั่งยืนกว่า เป็นการลดการก่อเกิดมลพิษ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากกระบวนการผลิตจากหนังสัตว์ อีกทั้งบางกรณีเป็นการนำของเสียกลับมาทำให้มีมูลค่าขึ้นใหม่ ช่วยกำจัดขยะที่อาจจะเกิดขึ้นได้ รวมถึงเส้นใยจากพืชผลไม้ต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่เพาะปลูกง่าย มีอยู่ตามท้องถิ่น ทำให้หาได้ไม่ยาก โดยที่นิยมนำมาใช้แทนหนังสัตว์ อาทิ เห็ด องุ่น สับปะรด กระบองเพชร แอปเปิ้ล และอื่น ๆ ซึ่งหนังที่ทำจากเห็ดเป็นวัตถุดิบนั้นเป็นที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากมีความนุ่มนวลคล้ายกับหนังสัตว์ แต่มีความทนทาน เพาะเลี้ยงง่าย มีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์มาก โดยจะเห็นได้จากแบรนด์แฟชั่นหลายแบรนด์ระดับโลกที่ได้มีการนำไปใช้ และเปิดตัวในปี 2022 นี้ไปอย่างน่าสนใจ อาทิ Hermes ที่ร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพเจ้าของวัตถุดิบเห็ดที่น่าสนใจเช่นนี้ คือ Mycoworks โดยผลิตเส้นใยจากเห็ดและนำมาทำเป็นกระเป๋ารุ่น Victoria Travel Bag และแบรนด์ Stella McCartney ก็ได้เปิดตัวกระเป๋ารุ่น Frayme Mylo

            ต่อมาบริษัทสตาร์ทอัพจากประเทศอิตาลี ก็ได้คิดค้นวัสดุจากเม็ดองุ่นและเปลือกองุ่นที่เหลือจากการนำไปหมักเป็นไวน์มาร่วมกับแบรนด์แฟชั่นชั้นนำ ผลิตเป็นเสื้อผ้าและกระเป๋าอีกมากมาย รวมถึงร่วมผลิตโดยการนำมาบุภายในรถยนต์ เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปีของบริษัทรถยนต์ Bentley ด้วย

            ในส่วนของเส้นใยจากสับปะรดก็ได้มีการนำมาใช้เช่นกัน โดยที่ประเทศฟิลิปปินส์ทำมาก่อนหน้านี้นานแล้ว เนื่องจากต้องการแก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตในประเทศ และได้พัฒนาต่อยอดมาจากชุดประจำชาติของฟิลิปปินส์ที่นำเส้นใยสับปะรดมาตัดเย็บ จึงเกิดเป็นเครื่องหนังต่อ ๆ มา

            ก่อนจะมาเป็นหนังที่ทำจากพืชนั้น ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณศตวรรษที่ 19 ก็ได้เริ่มมีการผลิตหนังเทียมขึ้นมาเพื่อแทนหนังสัตว์บ้างแล้ว แต่หนังเทียมชนิดแรกเป็น PVC ต่อมาก็ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นพลาสติก ซึ่งย่อยสลายได้ง่ายขึ้น ก่อมลพิษได้น้อยกว่า แต่ก็ยังเป็นผลผลิตจากใยสังเคราะห์ และต่อมาจึงได้มีการพยายามพัฒนาเป็นใยธรรมชาติ แต่สุดท้ายก็ยังพบว่า แม้จะใช้เป็นใยธรรมชาติแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีการเคลือบผิวสัมผัสด้วยโพลียูรีเทน (PU) ซึ่งทำให้มีข้อถกเถียงกันว่าอาจยังก่อมลพิษได้ และไม่ใช่จากธรรมชาติ 100%

 

            ทั้งนี้ พืชจำนวน 5 ชนิด ที่นิยมนำมาทำเป็นเส้นใยเพื่อผลิตเครื่องหนัง มีดังนี้

            1) สับปะรด โดยจะเรียกเส้นใยที่เกิดขึ้นว่า Pinatex  เป็นการผลิตจากใบของสับปะรด ที่มีความเหนียว ทนทาน และย่อยสลายได้ ซึ่งพบได้มากในประเทศฟิลิปปินส์

            2) กระบองเพชร เส้นใยที่ได้จะมีลักษณะนุ่มนิ่ม ยืดหยุ่นสูง อายุการใช้งานนานไม่ต่ำกว่า 10 ปี

            3) เห็ด โดยจะเรียกเส้นใย หรือเชื้อราที่เกิดจากเห็ดและนำมาผลิตได้นั้นว่า Mylo  ซึ่งในการผลิต จะเป็นการเพาะให้เชื้อราเกิดขึ้นจากขยะต่าง ๆ จนก่อเกิดเป็นแผงที่สามารถตัดนำไปสู่กระบวนการผลิตต่อไปได้ กล่าวได้ว่า เป็นการเพาะให้เกิดขึ้นได้ง่าย ต้นทุนต่ำ หรือบางครั้งแทบไม่ต้องใช้ต้นทุนเลย

            4) องุ่น จะเรียกว่า หนังไวน์ หรือ Vegea ได้มาจากเปลือกองุ่นหรือกากองุ่น ซึ่งจะมีสีแดงสวยงามตามธรรมชาติ เพียงทำลวดลายเพิ่ม ก็เสมือนหนังสัตว์แล้ว

            5) แอปเปิ้ล ใช้ได้ทั้งเปลือก แกน หรือเมล็ด คุณสมบัติคือมีความแข็งแรงและยืดหยุ่น อีกทั้งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าหนังเทียมแบบเดิม ๆ มาก

            ประเทศเม็กซิโก เป็นประเทศที่มีการปลูกต้นกระบองเพชรเป็นจำนวนมาก จึงมีแนวคิดที่ว่าจะนำใบของต้นกระบองเพชรมาผลิตเป็นวัตถุดิบแทนหนังสัตว์ เพื่อจัดทำเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า โดยข้อดีของต้นกระบองเพชรที่แตกต่างจากวัตถุดิบอื่น ๆ คือ ประหยัดน้ำได้มาก เนื่องจากต้องการน้ำน้อย สามารถเจริญเติบโตได้ไว มีอายุเกือบ 8 ปี ซึ่งในทุก ๆ 6-8 เดือน ก็สามารถเก็บใบที่มีขนาดและคุณภาพกำลังดีไปผลิตได้แล้ว ซึ่งหากเป็นวัตถุดิบจากหนังสัตว์ ในการเลี้ยงสัตว์ตัวหนึ่ง ๆ ต้องใช้ปริมาณน้ำที่มากกว่า และเกิดก๊าซของเสียออกมามาก ซึ่งกระบองเพชรไม่ปล่อยของเสียออกมา ถือเป็นการทดแทนแบบรักษ์โลกได้อย่างทรงประสิทธิภาพมาก

            นอกจากนี้ ยังมีการผลิตหนังแผ่นจากผักผลไม้ที่กลายเป็นเศษอาหาร หรือขยะ แทนหนังสัตว์เพิ่มขึ้นด้วย โดยจะเห็นจากกรณีในร็อตเธอร์ดัม ตามตลาดจะมีเศษผักผลไม้เหลือทิ้งเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ซึ่งในการกำจัดขยะนั้น เหล่าพ่อค้าแม่ค้าจำเป็นต้องใช้เงินมาก ประมาณ 4 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งมองว่าไม่คุ้ม จึงมีการหลบเลี่ยงการกำจัดขยะเหล่านี้ และนำไปทิ้งในแหล่งแบบที่ไม่ถูกต้องเท่าใดนัก ผู้ที่คิดผลิตจากวัตถุดิบเหล่านี้ มองว่าจะเป็นการช่วยกำจัดขยะทางอ้อม แต่เกิดผลดี อีกทั้งยังเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าและยังรักษ์โลกอีกด้วย จึงได้มีการแปรรูปให้กลายเป็นหนังแผ่นที่มีความสวยงามเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสับปะรด มะม่วง แอปเปิ้ล องุ่น อย่างเช่นมะม่วงที่มีเหลือจำนวนมาก ก็ได้นำไปบดและต้ม ผสมกับส่วนผสมธรรมชาติ นำไปแผ่ให้เป็นแผ่น เพื่อเป็นวัตถุดิบนำไปขึ้นรูปต่อไป

            ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยจากการที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ได้จัดงานเสวนา “CIRCULAR ECONOMY: นวัตกรรมวัสดุหมุนเวียน เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน” โดยมีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หัวข้อ “ชุบชีวิตใหม่จากเศษของเสียด้วยแนวคิด Green Economy” เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ไปแล้วนั้น มีผู้ประกอบการจำนวน 5 ราย ร่วมนำเสนอแนวคิด โดยสรุป ประกอบด้วย 1) SC Grand หรือ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด เป็นการนำเศษด้าย เศษผ้า มารีไซเคิลให้กลับมาใช้ใหม่ได้ 2) Tiffany Decor เป็นการผลิตหินสังเคราะห์ขึ้นมา เพื่อช่วยลดปัญหาขยะให้กับโลก 3) GRM (Thailand) เน้นทำไม้เทียมจากป่าปลูก 4) Wasoo เน้นนำเศษจากพืชผลทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว มารีไซเคิลให้เกิดประโยชน์มากขึ้น และ 5) Papa Paper Craft เป็นการต่อยอดกระดาษสาให้กลายเป็นหนังเทียมจากพืช ซึ่งมีความน่าสนใจ กล่าวคือ กระดาษสานั้น ได้มาจากเส้นใยจากพืชกว่า 10 ชนิดจากบ้านต้นเปา หมู่บ้านที่ผลิตกระดาษสาสืบทอดกันมากว่า 100 ปี ซึ่งนอกจากกระดาษสาแล้ว ยังได้มีการต่อยอดไปยังการทำหนังเทียมจากเปลือกผลไม้เพิ่มเติมอีกด้วย ประกอบกับผลิตภัณฑ์ทุกอย่างเป็นงานที่ทำจากมือทั้งหมด ถือได้ว่า เป็นการช่วยรักษ์โลกอย่างแท้จริง

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กองบรรณาธิการ คิด (Creative Thailand) . (2565). ชุบชีวิตใหม่จากเศษของเสียด้วยแนวคิด Green Economy.

            สืบค้นจาก https://www.creativethailand.org/view/article-read?article_id=33691&lang=th

ธนพร สมบูรณ์สิทธิ์. (2565). ทำความรู้จักกับ ‘Plant-Based Leather’ หนังทางเลือกจากพืชที่ถูกหยิบมาใช้ในอุตสาหกรรม

            แฟชั่นมากขึ้น - การพัฒนาแฟชั่นในรูปแบบที่ยั่งยืนไม่เพียงลดการใช้ แต่เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับโลกมากยิ่งขึ้น.

            สืบค้นจาก https://www.vogue.co.th/fashion/article/plant-based-leather

Admink (นามแฝง). (2565). ไอเดียเจ๋ง! “Fruit Leather” จากขยะผักผลไม้เหลือทิ้ง แปรรูปสู่หนังเทียม ใช้ผลิตกระเป๋าแทน

            หนังสัตว์ได้จริง. สืบค้นจาก https://www.brandbuffet.in.th/2022/08/fruit-leather-sustainable-fashion/

Chongheng Leather. (2565). PLANT BASED LEATHER หนังจากพืช ทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรต่อโลกจริงหรือ?.

            สืบค้นจาก https://www.chonghengleather.com/blogs/faux-leather-things/plant-based-leather

IGreen. (2565). หนังเทียมจากกระบองเพชร ช่วยประหยัดน้ำ 164,650% เมื่อเทียบกับหนังจริง.

            สืบค้นจาก https://today.line.me/th/v2/article/1DYgqv2

Warangkana C. (นามแฝง). (2565). 5 หนังเทียมจากพืชผัก ทางเลือกปลอดการทำร้ายสัตว์.

            สืบค้นจาก https://www.the1.co.th/en/the1today/articles/8216

 

 

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

Greenstein, T. (2020). The 'No Ghosting' Vegan Leather, Denim Discoveries. WWD: Women's Wear Daily,

            3/18/2020: 17. Retrieved from https://cutt.ly/vNLSrz0

Kazarian, K. (2022). Top 10 plant-based trends for 2022: From food and beverage to beauty and fashion,

            trends show where the animal-free market is heading. Food Engineering, 94(3). Retrieved from

            https://cutt.ly/ENLA0En

Lavinthal, A. & BALL, S. (2022). 20 Best Fashion Finds of the Year. People, 98(12): 71-75. Retrieved from

            https://cutt.ly/UNLSc3U

OEM. (2021). Vegan leather made from coffee. Motor Equipment News, (November): 18.

            Retrieved from https://cutt.ly/bNLAKeY

Roshitsh, K. (2021). Is 'Vegan' Leather Worse for the Environment Than Real Leather? Cruelty-free leather

            alternatives, commonly dubbed "vegan leather," are rising in appeal in fashion, but the term is

            riddled in nuance. WWD: Women's Wear Daily, 12/8/2021: 9-10. Retrieved from

            https://cutt.ly/hNLAmzO

 

 

 


 
 
 
1xbet casino siteleri bedava bahis kaçak bahis superbetin yeni giriş casino siteleri