ผู้เรียบเรียง
ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์
นักเอกสารสนเทศชำนาญการ ฝ่ายบริการ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หากกล่าวถึงเรื่องของสุขภาพนั้น คงหนีไม่พ้นการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลัง ทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมไปถึงการมีตัวช่วยอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ที่ตอบโจทย์คนไม่มีเวลา แต่อุดมด้วยสารสกัดที่มีคุณค่ามาช่วยบำรุงร่างกายในด้านต่าง ๆ ตามที่แต่ละคนต้องการ ซึ่งในปัจจุบันที่เริ่มเห็นได้ชัดเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้างคือ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมรูปแบบใหม่อย่าง เจลลี่ สตริป (Jelly Strip) ที่มีลักษณะทานง่าย มีสีสันน่าดึงดูด และช่วยประหยัดเวลาไปได้มาก อาจเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันได้ง่ายขึ้น และเหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย
ที่มา : https://fastwork.co/
ก่อนจะกล่าวเจาะจงถึงเฉพาะรูปแบบ Jelly Strip นั้น จะขอกล่าวให้เห็นว่า รูปแบบและประเภทของอาหารเสริม มีแบบใดบ้าง โดยแบ่งเป็นดังนี้ 1) อาหารเสริมรูปแบบอัดเม็ด (tablet) เหมาะกับผู้ที่เคยชินกับการรับประทานยาเม็ด ซึ่งภายหลังได้เริ่มมีนวัตกรรมพัฒนาเป็นรูปแบบเม็ดฟู่ (Effervescent tablet) ซึ่งช่วยให้ทานง่ายขึ้น โดยแบบฟู่จะละลายไปกับน้ำ ชงดื่มได้ทันที 2) อาหารเสริมรูปแบบเจลลี่ เป็นประเภทที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย พกพาสะดวก รับประทานง่าย ไม่ต้องใช้น้ำชงในการรับประทาน มี 2 รูปแบบ คือ Jelly Strip เป็นซองขนาดเล็ก ดูดซึมง่าย และ Energy Gel ซองใหญ่กว่า เน้นพลังงาน เหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย 3) อาหารเสริมรูปแบบผง (Powder) รูปแบบนี้มีผลดีคือ เก็บรักษาได้นาน และรับประทานง่าย เหมาะสำหรับผู้ที่ทานยายาก ไม่ชอบรูปแบบอัดเม็ด ซึ่งการรับประทานง่ายเพียงเทผงกรอกลงไปในปาก (Oral Shot) แล้วอาจดื่มน้ำตามหรือไม่ดื่มก็ได้ ตามแต่ความชอบ โดยอาหารเสริมรูปแบบนี้เหมาะกับเด็กและผู้สูงอายุ โดยรูปแบบผงนี้จะยังคงวิตามิน หรือคุณภาพไว้ได้อย่างครบถ้วน เพียงแต่ต้องหลีกเลี่ยงจากความชื้นไว้ให้มากที่สุด 4) อาหารเสริมรูปแบบเม็ดแคปซูล (Capsule) เป็นการต้องการคงวิตามิน หรือคุณภาพในรูปลักษณ์ของเหลวไว้ให้ได้มากที่สุด และคุมปริมาณ จำนวนได้ง่าย ผู้บริโภคไม่ต้องกะปริมาณเอง โดยมีหลายรูปแบบ อาทิ แคปซูลซอฟท์เจล (Softgel Capsule) มีลักษณะใช้เจลาตินเคลือบของเหลวเอาไว้ภายในสุญญากาศ เพื่อไม่ให้ได้รับความชื้น แคปซูลผัก (Vegetables Capsule) เป็นการใช้เซลลูโลสจากพืชแทน ตอบโจทย์ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ และตอบสนองต่อการให้เกิดการย่อยที่บริเวณลำไส้เล็ก เป็นต้น 5) อาหารเสริมรูปแบบพาวเวอร์ ดริ้ง ช็อต (Power Drink Shot) รูปแบบนี้เหมาะกับทุกวัย เพราะดื่มง่าย มีการบรรจุปริมาณที่พอเหมาะต่อการรับประทาน 1 ครั้ง และสารอาหารดูดซึมได้รวดเร็ว
อาหารเสริมรูปแบบเจลลี่นี้ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกาหลีเป็นผู้คิดค้นขึ้น ยังมีผู้ผลิตในตลาดไม่มาก เนื่องจากเพิ่งมาได้รับความนิยมในช่วง 1-2 ปีนี้เท่านั้น เป็นอาหารเสริมที่รับประทานง่าย เพียงฉีกซองแล้วรับประทานได้ทันที ไม่ต้องชงดื่ม สามารถแต่งกลิ่น สี รสได้อย่างหลากหลาย จุดเด่นคือ สามารถคงสารอาหารไว้ได้อย่างครบถ้วน โดยใส่สารสกัดได้มากกว่าแบบเม็ดหรือแคปซูลถึง 25 เท่า และดูดซึมได้รวดเร็วกว่าถึง 5 เท่า เป็นนวัตกรรมทางอาหารรูปแบบใหม่ที่ช่วยให้รับประทานได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคชื่นชอบได้ไม่ยาก เพราะเคี้ยวง่าย เคี้ยวเพลิน และมีประโยชน์ ทั้งนี้ ความแตกต่างระหว่างรูปแบบเจลลี่ทั่วไปกับ Jelly Strip คือ Jelly Strip ถูกพัฒนาขึ้นให้มีลักษณะที่เหนียวในลักษณะที่หนึบกว่า เพื่อความสนุกในการเคี้ยว จะไม่ได้นุ่มและอ่อนตัวเท่ากับเจลลี่ทั่วไป แต่ยังคงคุณประโยชน์ในการรับประทานที่มีสารอาหารครบถ้วนอยู่ ซึ่งวิธีการรับประทานนั้น ควรทานขณะท้องว่าง อาจเป็นช่วงเวลาหลังตื่นนอนประมาณ 15 นาที หรือก่อนนอนก็ได้ โดยกลุ่มสินค้าที่เหมาะแก่การผลิต ได้แก่ Collagen, Detox, Weight Loss และ Healthy Supplements
ตัวอย่างอาหารเสริมรูปแบบ Jelly Strip นี้ เช่น เจลลี่คอลลาเจน ซึ่งสิ่งที่ควรศึกษาหรือพิจารณาก่อนการซื้อ คือ (Mine Melody (นามแฝง), 2566)
- ปริมาณคอลลาเจน
วิธีเลือกเจลลี่คอลลาเจนก็ไม่ได้ต่างจากการซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคอลลาเจนทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งแรกที่ควรต้องรู้คือปริมาณคอลลาเจนที่จะได้รับในการทานแต่ละครั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของร่างกายแต่ละคน ไม่จำเป็นจะต้องเลือกสูตรที่มีคอลลาเจนจำนวนมากเสมอไป เนื่องจากบางครั้งร่างกายไม่ได้เอาไปใช้หมดในมื้อเดียว ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการเลือกเจลลี่คอลลาเจนแบบที่พอดีเหมาะกับความต้องการของตัวเอง ซึ่งปริมาณคอลลาเจนที่แนะนำอย่างต่ำที่สุดคือ 1,000 มิลลิกรัมต่อซอง ซึ่งถือเป็นปริมาณที่พอเหมาะต่อการทานในแต่ละมื้อ แต่หากต้องการเพิ่มคอลลาเจนแบบเข้มข้น แนะนำปริมาณ 10,000 มิลลิกรัมต่อซอง ซึ่งสูตรนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป เนื่องจากร่างกายผลิตคอลลาเจนได้น้อยลง
- ขนาดโมเลกุลของคอลลาเจน
เนื่องจากคอลลาเจนที่มีโมเลกุลขนาดเล็กมากเท่าใด ก็ยิ่งส่งผลดีต่อร่างกายมากเท่านั้น ซึ่งหลักการคือช่วยลดเวลาในการย่อยคอลลาเจนให้น้อยลง ทำให้ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ทันที มีทั้ง “คอลลาเจน-เปปไทด์” “คอลลาเจน-ไตรเปปไทด์” และ “คอลลาเจน-ไดเปปไทด์” โดยขนาดโมเลกุลของไดเปปไทด์จะเล็กสุด ไตรเปปไทด์ขนาดกลาง และเปปไทด์เป็นคอลลาเจนแบบทั่วไป ซึ่งขนาดโมเลกุลยิ่งเล็ก ยิ่งมีราคาแพงขึ้น เนื่องด้วยหลักการที่ว่าดูดซึมง่าย ร่างกายนำไปใช้ได้ทันที
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงคอลลาเจนไปแล้ว สิ่งที่ใกล้เคียงกันแต่มีความแตกต่างกันคือ เจลาติน เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเจลลี่ที่เห็นทุกวันนี้ก็ทำมาจากเจลาติน ซึ่งทั้งคู่ต่างก็เป็นโปรตีนเหมือนกัน แต่ความแตกต่างคือ คอลลาเจนคือโปรตีนที่มีอยู่ในร่างกายทั้งของคนและสัตว์ ตามผิวหนัง กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ กระดูก และเนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ ทั้งยังเป็นสิ่งที่ร่างกายผลิตได้น้อยลงเมื่ออายุมากขึ้นด้วย โดยประโยชน์ของคอลลาเจนที่น่าสนใจ ได้แก่ 1) ลดอาการปวดข้อ 2) บำรุงผิวให้เปล่งปลั่ง 3) ลดความหิว แต่สำหรับเจลาตินมันคือคอลลาเจนที่ผ่านการไฮโดรไลซ์ มาจากการย่อยสลายคอลลาเจนบางส่วน โดยใช้ความร้อนในการทำให้สุก ทำให้ความแตกต่างของคอลลาเจนและเจลาตินคือโครงสร้างทางเคมีเท่านั้น แต่ในแง่ของประโยชน์สรรพคุณต่าง ๆ กลับคล้ายคลึงกันมากเพราะมีกรดอะมิโนชนิดเดียวกัน ดังนั้น เรื่องคุณค่าทางโภชนาการไม่แตกต่างกัน แต่อาจขึ้นอยู่กับว่าเจลาตินที่ใช้นั้นทำมาจากคอลลาเจนของสัตว์ประเภทใดมากกว่า รวมถึงวิธีในการสกัดคอลลาเจนเป็นเจลาตินก็จะทำให้คุณค่าทางโภชนาการออกมาไม่เท่ากันได้ อาทิ เจลาตินที่มาจากการใช้คอลลาเจนปลามีคุณภาพกว่าคอลลาเจนจากวัวหรือสัตว์ประเภทอื่น เพราะดูดซึมได้ดีกว่าและมีโมเลกุลที่เล็กกว่า เป็นต้น
นอกจากนี้ ในส่วนของ Jelly Strip ที่น่าสนใจ นอกเหนือไปจาก Jelly Strip ทั่ว ๆ ไปแล้วนั้น ยังมีที่ผลิตจากวัตถุดิบคือผลไม้ไทยเพื่อช่วยแก้ปัญหาระดับประเทศอีก ได้แก่ “เจลลี่สับปะรดโพรไบโอติกส์” คือ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่คิดค้นขึ้นจากการเล็งเห็นว่าสับปะรดมีปริมาณล้นตลาด เนื่องด้วยเศรษฐกิจตกต่ำจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ไม่สามารถส่งออกสับปะรดในปริมาณและราคาเดิมได้ จากเหตุผลนี้ ทำให้นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้ทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกันผลิตคิดค้นนำสับปะรดมาแปรรูป โดยมีการวิจัยรองรับ และศึกษาจากกรณีต่างประเทศว่า น้ำสับปะรดที่เกิดจากการหมักตามธรรมชาติกับน้ำสับปะรดที่มีการคัดเลือกจุลินทรีย์ลงไปหมักนั้น แบบที่มีการคัดเลือกจุลินทรีย์ลงไปหมักก่อให้เกิดประโยชน์ที่มากกว่า และจากการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่คัดเลือกจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ลงไปหมักนั้น เป็นการก่อให้เกิดวุ้นตามธรรมชาติ โดยไม่ได้ส่งผงวุ้นลงไป ทำให้มีรูปแบบที่น่าสนใจ และจากแต่เดิมที่เมื่อคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คิดค้นพัฒนา และนำไปมอบให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุ พบว่า มีประสิทธิภาพที่ดี และยังมีสารที่ช่วยลดความเครียดได้ จึงมองว่า เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ซึ่งจากแนวทางนี้ ถือเป็นผลดีต่อเกษตรกรที่จะช่วยแปรรูป และทำให้สินค้าเกิดมูลค่าได้ ทั้งนี้ นักวิจัยมองว่า น่าจะเป็นแนวทางในการนำไปพัฒนาต่อยอดกับผลิตผลทางการเกษตรอื่น ๆ ที่อาจประสบกับปัญหาเดียวกันนี้ได้ในอนาคตต่อไป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
บริษัท เดอร์มา อินโนเวชั่นจำกัด. (2565). อาหารเสริมรูปแบบ Jelly Strip คืออะไร?. สืบค้นจาก
https://www.derma-innovation.com/content/21933/อาหารเสริมรูปแบบ-jelly-strip-คืออะไร
บริษัท เอสวีเอส อินโนเทค จำกัด. (2566). เจลลี่ (Jelly Strip). สืบค้นจาก
https://www.svsinnotech.com/รับผลิตอาหารเสิรมเจลลี
เอฟวายไอ บางกอก. (2565). เจลลี่สับปะรด โพรไบโอติกส์ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพผู้สูงวัย แก้ไขปัญหาเกษตรกร.
สืบค้นจาก https://www.thaipr.net/health/3210508
3C Group. (2564). 5 รูปแบบอาหารเสริม ไอเดียสำหรับคนอยากทำแบรนด์ให้รุ่ง. สืบค้นจาก
https://blog.3cgroup.co.th/supplementdosageform#:~:text=Jelly%20Strip%20นวัตกรรมอาหารเสริม,
ร่างกายได้มากยิ่งขึ้น
Mine Melody (นามแฝง). (2566). รีวิว 13 คอลลาเจนเจลลี่ (Collagen Jelly) ยี่ห้อไหนดี ปี 2023. สืบค้นจาก
https://bestreview.asia/best-collagen-jelly/
SASHII (นามแฝง). (2566). อาหารเสริมเจลลี่ (Jelly Strip) คืออะไร ? แตกต่างจากอาหารเสริมรูปแบบอื่นอย่างไร
มีข้อดีอะไรบ้าง.https://sashiibrand.com/jelly-food-supplement/
ZENBIOTECH. (2566). เจลลี่อาหารเสริมรูปแบบ Jelly Strip คืออะไร เจลลี่เคี้ยวได้ที่ใคร ๆ ก็ชอบ. สืบค้นจาก
https://www.zenbiotech.co.th/4119
แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
Bakar, A. A., Ong, S. C. & Ooi, G. S. (2022). A Survey on Community Pharmacists' Interest in
Providing Online Pharmacy Services. 17(2): 181-197.
Retrieved from https://kasets.art/uDaH53
Ju-Ying, A., Supramaniam, P., Shoen-Chuen, C., Linus-Lojikip, S., Ibrahim, H.-A. & Lee-Lan Low.
(2023). Online Purchase of Health Supplements and Traditional and Complementary Medicine
(T&CM) Products: A Qualitative Study 19: 360-365. Retrieved from https://kasets.art/gpiwUA
Musika, S., Aupari, P., Bunmathon, W., Kupradit, C., Ranok, A., Mangkalanan, S. & Khongla, C.
(2022). Development of Goat Milk Yogurt Gummy Jelly Fortified with Calcium and Collagen.
Journal of Science & Technology, 29(6): 1-9. Retrieved from https://kasets.art/cvR6H6
Ng, J. Y., Kim, M. & Suri, A. (2022). Exploration of facilitators and barriers to the regulatory
frameworks of dietary and herbal supplements: a scoping review. 15(1): 1-30.
Retrieved from https://kasets.art/LnEYxN
Prabha, P. K., Prakash, A. & Medhi, B. (2022). Clinical trials for food - The gray areas:
Developing countries' perspective. 55(3): 145-148. Retrieved from https://kasets.art/tZPbHi
Snow, A. D., Cummings, J. A., Tanzi, R. E. & Lake, T. (2021). In vitro comparison of major
memory-support dietary supplements for their effectiveness in reduction/inhibition of
beta-amyloid protein fibrils and tau protein tangles: key primary targets for memory loss.
11(1): 1-23. Retrieved from https://kasets.art/wKGZTF