KULIB TALK | Special | สร้างสื่อการสอนอย่างไร ไม่ผิดลิขสิทธิ์
ในสถานการณ์ที่ไวรัสโคโรน่าระบาดเช่นนี้ มหาวิทยาลัยของไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพ มีนโยบายให้อาจารย์จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์เพื่อลดความเสี่ยงจากการออกนอกบ้าน แต่จะทราบได้อย่างไรว่าจะไม่มีความเสี่ยงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ในการนำข้อมูลบางอย่างมาใช้ประกอบการเรียนการสอนออนไลน์ วันนี้จะพาทุกท่านมาฟังคุณ บุญเลิศ อรุณพิบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ในตอน สร้างสื่อและสอนออนไลน์อย่างไร ไม่ผิดลิขสิทธิ์
คำถาม : อะไรบ้างที่ต้องระวังเรื่องลิขสิทธิ์ในการสอนออนไลน์
คุณบุญเลิศ อรุณพิบูลย์ : แยกเป็นสองส่วนนะครับ คือสสไลด์สอน กับการนำสไลด์สอนขึ้นออนไลน์ ในมาตรา32 ค่อนข้างที่มีความชัดเจนใน พรบ.ลิขสิทธิ์ที่เขียนไว้ว่า ผู้สอนสามารถนำสื่อที่มีลิขสิทธิ์มาใช้การเรียนการสอนได้ ภายใต้บทบัญญัติ วรรค1 นะครับ เพราะฉะนั้นโดยหลักการแล้ว ครูอาจารย์สามารถนำสื่อที่มีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาใช้เพื่อการเรียนการสอนได้ ไม่มีความเสี่ยงใดมากนัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของวรรค 1 นั่นก็คือ ไม่ใช้เกินสมควร และไม่หาผลประโยชน์จากสื่อที่นำมาดำเนินการนั้นๆนะครับ ทีนี้กลับมาประเด็นสำคัญคือนำสื่อการเรียนการสอนขึ้นออนไลน์ อันนี้น่าจะมีประเด็นความเสี่ยงจากเอกสารของกรมทรัพย์สินเล่ม1 ที่ชื่อว่า คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมในการเรียนการสอน ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการเขียนแนวการปฏิบัติของการใช้สื่อเพื่อการเรียนการสอนบนพื้นฐานคำว่าไม่เกินสมควรไว้ เช่น รูปภาพจะต้องไม่เกิน5รูป หรือร้อยละ10 แล้วแต่จำนวนใดน้อยกว่ากัน ทั้งนี้จะต้องไม่นำเผยแพร่ออนไลน์หรือเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ต ดังนั้น การเอาสื่อการเรียนการสอนที่มีสื่อที่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาเผยแพร่ออนไลน์ถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ระดับหนึ่ง ผู้สอนควรขออนุญาติอย่างเป็นทางการและได้รับอนุญาตนั้นๆ
คำถาม : ประเด็นที่น่าสนใจคือคำว่าเกินสมควร ทำไมการเรียนการสอนออนไลน์จึงน่าจะมีความเสี่ยงในคำนี้?
คุณบุญเลิศ อรุณพิบูลย์ : เราต้องกลับไปดูบริบทเดิมก่อนว่าการเรียนการสอนในภาคปกติหรือที่ผ่านมา เราจะทำการเรียนการสอนในห้องเรียนที่มีจำนวนนักศึกษาจำกัด และเป็นการเรียนการสอนภายใต้กรอบของชั้นปีนั้นๆ เช่นอาจารย์ท่านหนึ่งสอนปีหนึ่ง วิชาวิทยาศาสตร์ ในห้องหนึ่งก็จะมีนักศึกษาเฉพาะปีนั้นๆในห้องนั้นๆ แต่การเรียนการสอนออนไลน์เราจะมีความเสี่ยงตรงที่ไม่สามารถควบคุมจำนวนของผู้เรียนได้ หรือผู้รับรู้สื่อได้ ดังนั้นการเรียนการสอนออนไลน์จึงเกินสมควรในระดับที่มันควรจะเป็น จึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากกว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนปกติ
คำถาม : กรณีที่อนุญาตให้ใช้สามารถใช้ได้ปริมาณเท่าไร มีจำกัดหรือไม่ ? เช่นหนังสือ1เล่ม ใช้รูปได้1รูปโดยต้องอ้างอิงหรือไม่ ?
คุณบุญเลิศ อรุณพิบูลย์ : กลับมาที่คำในพรบ.ไม่เกินสมควร ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดทำคู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมในการเรียนการสอน และได้มีการร่างแนวปปฏิบัติเป็นตัวอย่างเอาไว้ เช่นข้อ 4.4 ในหนังสือคู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมในการเรียนการสอน ได้ระบุว่า การใช้รูปภาพและรูปถ่ายใช้ได้อย่างน้อย 1 ภาพ แต่ไม่เกิน 5 ภาพต่อผู้สร้างสรรค์ 1ราย หรือร้อยละ 10 ของจำนวนภาพ ของผู้สร้างสรรค์ 1 ราย แล้วแต่จำนวนใดน้อยกว่ากัน อันนี้คือไม่เกินสมควรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรูปภาพและรูปถ่าย และข้อ 4.4.2 ผู้สอนและผู้เรียนดาวน์โหลดภาพจากอินเตอร์เน็ตเพื่อใช้ในการศึกษาสามารถทำได้โดยจะต้องยึดปริมาณเท่ากับในข้อ 4.4.1 คืออย่างน้อย 1 ภาพ แต่ไม่เกิน 5ภาพ หรือร้อยละ 10 ของจำนวนภาพของผู้สร้างสรรค์ 1ราย มีข้อความปิดท้ายค่อนข้างน่าสนใจ ซึ่งนำไปใช้ในการอ้างอิงการตอบคำถามประเด็นที่ 1 ด้วยเช่นกัน คือ ผู้สอนและผู้เรียนจะอัพโหลดงานชิ้นนั้นกลับขึ้นบนอินเตอร์เน็ตไม่ได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ทั้งนี้คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมในการเรียนการสอนยังมีระเบียบเพิ่มเติมในส่วนอื่นๆ เช่นการใช้งานในวรรณกรรมสิ่งพิมพ์ การใช้งานภาพยนต์และโสตทัศนวัสดุ ซึ่งผู้เรียนผู้สอนหรืออาจารย์ควรให้ความสำคัญและศึกษาเอกสารเล่มนี้ประกอบไปด้วย
คำถาม : การนำข้อมูลต่างๆมาใช้แต่บอก แหล่งที่มา ทำได้หรือไม่ อย่างไร ?
คุณบุญเลิศ อรุณพิบูลย์ : สามารถทำได้ และเป็นสิ่งที่ควรทำ ทั้งนี้ในมาตรา33 ของ พรบ.ลิขสิทธิ์กล่าวไว้ว่า “การกล่าว คัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานบางตอนตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง” ดังนั้นประเด็นนี้ก็จะมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่คือต่อให้มีการให้เครดิต ก็ต้องปฏิบัติตามมาตร 32 วรรค 1 เช่นเดียวกัน ซึ่งก็คือไม่นำไปหาประโยชน์ให้ตนเองและใช้ไม่เกินสมคสร
คำถาม : Creative Commons / OER คืออะไร นำไปปรับใช้อย่างไรได้บ้าง ?
คุณบุญเลิศ อรุณพิบูลย์ : Creative Commons คือสัญญาอนุญาตที่มีการพัฒนาขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงเงื่อนไขของผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ต่อสื่อนั้นๆ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ สื่อหลายๆชิ้นที่ผ่านมา เมื่อผู้สร้างสรรค์ สร้างสรรค์และเผยแพร่อาจจะไม่ได้ระบุสัญญาอนุญาตที่ชัดเจน เช่น ไม่ได้ใส่คำว่า สงวนลิขสิทธิ์ ไม่ได้ใส่คำว่า ก๊อปปี้ไรท์ ไม่ได้ใส่ข้อความห้าม ไม่ได้ใส่ชื่อผู้สร้างสรรค์ ซึ่งผู้ต้องการใช้งานจำนวนมากมักจะเชื่อว่าสื่อที่ไม่มีการประกาศข้อความห้ามใดๆในลักษณะนี้คือเจ้าของสามารถอนุญาตให้ใช้ได้ ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนจากกฎหมายลิขสิทธิ์พอสมควร เนื่องจากว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้สร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องประกาศเงื่อนไขใดๆ สิ่งที่สร้างสรรค์จะถูกคุ้มครองโดยอัตโนมัติ ดังนั้นก็จะเกิดข้อเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการนำสื่อมาใช้งาน สัญญาอนุญาต Creative Commons จึงเกิดขึ้นมาเพื่อให้ผู้สร้างสรรค์ที่มีเจตนาจะเผยแพร่สื่อของตนเองและอนุญาตบางอย่างสำหรับผู้ใช้ได้แสดงความชัดเจนขึ้นมาว่าสื่อนั้นๆอนุญาตแล้วอย่างไรบ้าง เช่น สื่อที่ผู้สร้างสรรค์อนุญาตให้นำไปใช้ได้และติดสัญญาอนุญาต Creative Commons จะมีสัญลักษณ์เป็นตัว c 2ตัว อยู่ในวงเล็บหรือวงกลมกำกับ และจะมีเงื่อนไขย่อยรายประเด็นที่ผู้สร้างสรรค์อยากกำหนดเช่น ผู้ใช้ต้องอ้างอิงทุกครั้งก็จะมีรูปตัวคนกำกับด้วย ห้ามนำไปหารายได้ก็จะเป็นรูปดอลลาร์ทับ หรือห้ามแก้ไขก็จะมีเครื่องหมายเท่ากับกำกับ ดังนั้น สัญญาอนุญาต Creative Commons จึงเป็นสัญญาที่ลดระดับของก๊อปปี้ไรท์ให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานสื่อที่มีลิขสิทธิ์ได้สะดวกและชัดเจนมากขึ้น เว็ปไซต์และก็สื่อใหม่ๆรวมถึงสิ่งพิมพ์ใหม่ๆ มักจะมีการประกาศสัญญาอนุญาตที่ชัดเจนมากกว่าที่ผ่านมา ดังนั้นถ้าท่านเจอสื่อใดๆที่มีตัว C ตัวเดียวอยู่ในวงเล็บหรือในวงกลมแปลว่าสื่อนั้นเป็นก๊อปปี้ไรท์ แต่ถ้ามี C 2ตัวก็จะแสดงว่าเจ้าของหรือผู้สร้างสรรค์อนุญาตแล้ว และการนำไปใช้ต้องดูเงื่อนไขย่อยที่เป็นสัญลักษณ์กำกับย่อยลงไป ดังนั้นการนำสื่อใดๆมาใช้สิ่งที่ผู้ใช้ต้องพิจารณาและให้ความระมัดระวังก็คือคำว่าสัญญานุญาติ โดยสื่อชิ้นใดก็ตามไม่มีข้อความกำกับ ไม่มีข้อความห้าม ไม่มีสัญลักษณ์ สัญญาอนุญาตกำกับ ให้ตีความว่ามีลิขสิทธิ์ หากจะใช้ให้ต้องยึดตามสิทธิ์ที่เป็นธรรมที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ เช่นไม่เกิน5รูปและเจ้าของต้องอนุญาต ส่วนสื่อที่ผู้สร้างสรรค์มีการติดสัญญานุญาติเอาไว้ ให้ยึดตามเงื่อนไขของสัญญานุญาตินั้นๆเช่น C ในวงกลม ก็คือก๊อปปี้ไรท์ หรือ CC ก็คือ Creative Commons ซึ่งแปลว่าผู้สร้างสรรค์อนุญาตตามเงื่อนไขที่เขาระบุ
สำหรับสัญญาอนุญาตที่เป็น Creative Commons จะมีทั้งหมด 6รูปแบบ
รูปแบบที่1 จะเป็นสัญลักษณ์รูปคนอย่างเดียวแปลว่า ผู้สร้างสรรค์อนุญาตให้นำสื่อชิ้นนี้ไปใช้ได้โดยไม่มีข้อห้ามใดๆทั้งนี้ผู้ใช้ต้องอ้างอิง
รูปแบบที่2 รูปคนและมีลูกศรโค้ง แปลว่า อนุญาตให้นำไปใช้ได้ทั้งนี้ผู้ใช้ต้องอ้างอิงและต้องเผยแพร่สื่อนั้นด้วยสัญญานุญาติที่เป็น Creative Commons เช่นเดียวกัน
รูปแบบที่3 รูปคนและเครื่องหมายเท่ากับ แปลว่า การใช้งานนั้นๆต้องอ้างอิงและต้องห้ามแก้ไข
รูปแบบที่4 รูปคนและดอลลาร์ขีดทับ แปลว่า สื่อนั้นๆเจ้าของอนุญาตให้ใช้ได้โดยต้องอ้างอิงและห้ามนำไปหารายได้
รูปแบบที่5 รูปคน ดอลลาร์ขีดทับ และลูกศรวงกลม แปลว่า การใช้งานสื่อต้องอ้างอิงห้ามหารายได้ และต้องใช้สัญญานุญาติแบบ Creative Commons เช่นเดียวกัน
รูปแบบที่6 รูปคน ดอลลาร์ขีดทับ เครื่องหมายเท่ากับ แปลว่า สื่อชิ้นนั้นต้องอ้างอิง ห้ามหารายได้และห้ามแก้ไข
ในประเด็นข้อ4 ยังมีการกล่าวถึง OER ….. OER คือ แนวคิดของการสร้างคลังสื่อแบบเปิด ย่อมาจากคำว่า Open Edutional resources หรือคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดอันสืบเนื่องมาจากประเด็นที่ผู้สร้างสรรค์อยากจะเผยแพร่ข้อมูลของตนเองภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons และให้ผู้ใช้เข้ามาสืบค้น เรียกใช้ได้อย่างสะดวกจึงมีแนวคิดที่จะสร้างคลังดิจิตอลขึ้นมา และนำสื่อภายใต้สัญญา Creative Commons มาดำเนินการรวบรวมจัดเก็บเพื่อเป็นช่องทางเข้าถึงที่สะดวกมากขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยได้ดำเนินการพัฒนาคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิดหรือ OER ขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว ภายใต้ชื่อโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อเรียนรู้ทางไกล เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 โดยสามารถเข้าได้ผ่านเว็ปไซต์ OER.learn.in.th
คำถาม: เราสามารถหารูปหรือสื่อใดๆ โดยไม่ผิดกฏหมายได้อย่างไร ?
คุณบุญเลิศ อรุณพิบูลย์ : สิ่งที่น่าสนใจคือ พรบ.ลิขสิทธิ์นั่นเองในมาตรา 7 ได้มีการเขียนเอาไว้ว่า “สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้” แปลว่า ทุกสิ่งที่อยู่ในมาตรา7 ใครๆก็สามารถนำไปใช้ได้และไม่มีใครเป็นเจ้าของ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับสัญญานุญาติที่เรียกว่า plubic domain ได้แก่ 1 ข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงต่างๆที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันไม่ใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ แผนกศิลปะ ดังนั้นข่าวที่เกิดขึ้นรายวันและปรากฏอยู่ในสื่อสารมวลชนต่างๆก็จะเข้าข่ายของ
ข้อ 1 คือทุกคนสามารถนำข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงดังกล่าวไปใช้ได้เลย ทั้งนี้จะต้องระมัดระวังว่าข่าวนั้นจะต้องไม่ใช่ข่าวเชิงวิเคราะห์ ไม่ใช่ข่าวสารคดี
ข้อ2 รัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดังนั้นข้อกฎหมายที่ประกาศกฎหมายที่ประเทษไทยออกทั้งหมดก็จะเข้าอยู่ในกลุ่มของมาตรา7 คือไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตามต้องระวังการนำกฏหมายที่เกิดจากการรวบรวมโดยบุคคลหรือหน่วยงานและจำหน่ายเผยแพร่จะถือเป็นงานลิขสิทธิ์ที่เกิดจากการรวบรวมใหม่
เว็บไซต์ที่น่าสนใจของข้อ2 หนีไม่พ้น เว็บไซต์ของสำนักนายก เว็บไซต์ของราชกิจจานุเบกษา หรือเว็ปไซต์ของสำนักกฤษฎีกา รวมถึงศาลต่างๆ
ข้อ3 ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น กรณีอย่างนี้เช่น ระเบียบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกาศมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็จะเข้าข่ายมาตรา7 ไม่ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์
ข้อ4 คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
ข้อ5 คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่างๆ ตาม ข้อ (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น
ทั้ง5ข้อในมาตรา7 น่าจะเป็นฐานสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานได้ระดับหนึ่งนอกเหนือจากมาตรา7 ในพรบ.ลิขสิทธิ์ ก็คงจะต้องนึกถึงคลัง OER หรือคลังอื่นใดที่ใช้สัญญานุญาติ Creative Commons เช่น Wikicommons.org ซึ่งสื่อต่างๆในเว็บดังกล่าว ก็ใช้สัญญาอนุญาตที่เป็น Creative Commons เช่นเดียวกัน ผู้ใช้สามารถเข้ามาสืบค้นและโหลดไปใช้งานได้ รวมไปถึงฟอนต์ของหลายสำนักพิมพ์ หลายหน่วยงานที่เผยแพร่ด้วยสัญญาอนุญาตที่เป็น Creative Commons นอกเหนือจากนี้ก็จะเป็นคลังสื่อใดๆหรือคลังทรัพยากรใดๆที่ใช้สัญญาอนุญาติ Public domain เช่น openclipart.org ซึ่งมีลายเส้นที่ค่อนข้างชัดเจน และระบุไว้ว่า 100% Public domain
นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีกลุ่มที่เรียกว่า open access ryzenzing ซึ่งถือว่าเป็นสัญญานุญาติในกลุ่มผลงานวิชาการที่น่าสนใจโดยเฉพาะฐานข้อมูลวิชาการชั้นนำเช่น plosone.org บทความวิชาการต่างๆในเว็บไซต์นี้ใช้สัญญานุญาติที่เป็น OA แปลว่า นักวิจัย นักวิชาการสามารถเข้ามาใช้สื่อใน plosone.org ภายใต้สัญญานุญาติ open access ได้ทันทีและไม่ต้องสมัครสมาชิก เว็บไซต์นี้ยังบริการการเข้าถึงข้อมูลแบบ full paper ซึ่งสามารถที่จะดูเอกสารบทความวิชาการฉบับเต็มได้ทั้งหมด รูปภาพที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์และในบทความนั้นๆบริการให้โหลดถึงระดับ original image ความละเอียดสูง และมีบริการ power point slide พร้อมอ้างอิงสำหรับการนำไปใช้ได้ทันที
คำถาม : โจทย์คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือภาษาอังกฤษ ถือว่ามี ลิขสิทธิ์หรือไม่ ?
คุณบุญเลิศ อรุณพิบูลย์ : หลักๆก็คงต้องกลับไปที่ว่า ตำรานั้นผู้สร้างสรรค์สร้างขึ้นมาเพื่อหารายได้ หรือผู้สร้างสรรค์ใช้สัญญานุญาติก๊อปปี้ไรท์หรือไม่ หากผู้สร้างสรรค์มีการหารายได้และใช้สัญญานุญาติก๊อปปี้ไรท์ อาจารย์ ครู หรือผู้ใช้งานต้องขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนสื่ออื่นๆ อย่างไรก็ตามในมาตรา7 ในพรบ.ลิขสิทธิ์ในวงเล็บ 1 ได้ระบุไว้แล้วว่า สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งก็คือข้อเท็จจริง ดังนั้นโจทย์คณิตศาสตร์โจทย์ฟิสิกส์บางประเด็นถือเป็นข้อเท็จจริงซึ่งไม่มีใครเป็นลิขสิทธิ์จึงต้องพิจารณาเป็นกรณีรายกรณีไป
คำถาม : ผลงานใดบ้างที่ถือเป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คุณบุญเลิศ อรุณพิบูลย์ : มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่2มาตรา คือ1)มาตรา14ในพรบ.ลิขสิทธิ์ว่าด้วยว่า “กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาโดนการจ้างหรือตามคำสั่งหรือในความควบคุมของตน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร” ดังนั้นผลงานที่เกิดจากการควบคุมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐผลงานที่เกิดจากการจ้างของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐหรือตามคำสั่งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ย่อมถือเป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จะมีส่วนที่โยงมาหามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เช่นเดียวกันก็คือ ข้อย่อยต่างๆที่ปรากฏในมาตราที่7แล้วเกิดจากบุคลากรหรือคณะหรือหน่วยงานในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ย่อมถือว่าเป็นผลงานของมหาวิทยาลัยแต่เป็นผลงานในกลุ่มที่ไม่มีลิขสิทธิ์เช่นรายงานของมหาวิทยาลัย ประกาศ คำสั่ง กฎหมายชองมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยต้องมีความชัดเจนในการสร้างสรรค์ผลงานของบุคลากรหรือหน่วยงานในสังกัดของมอ เมื่อเกิดจากการรับทุน การวิจัยร่วม หรือการสร้างสรรค์งานนอกภาระหน้าที่ว่าสิ่งต่างๆนั้นจะเป็นลิขสิทธิ์ของมอมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้จะต้องพิจารณารายกรณี เช่น มหาวิทยาลัยตั้งสำนักพิมพ์และอาจารย์เขียนหนังสือส่งมาที่สำนักพิมพ์ลิขสิทธิ์ของหนังสือดังกล่าวควรจะเป็นของอาจารย์หรือของมหาวิทยาลัย เนื่องจากว่าหนังสือทั้งหมดที่ผ่านสำนักพิมพ์เป็นหนังสือที่ต้องการหารายได้ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่มอจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมรวมถึงจะต้องประกาศให้ชัดเจน รวมถึงกรณีของการรับทุนวิจัยจากหน่วยงานภายนอกซึ่งแบ่งเป็นเคสย่อยได้เช่น อาจารย์ท่านดังกล่าวไปรับทุนด้วยตนเองโดยไม่ผ่านมหาวิทยาลัยแต่ใช้เวลา ใช้กำลัง และความรู้ที่เกิดจากการเป็นบุคลากรของสถาบัน หรือ มหาวิทยาลัยเป็นช่องทางในการรับทุนแล้วนำมาส่งมอบให้ โดยมีสัญญาย่อยกับหน่วยงานให้ทุน ซึ่งจะต้องไปดูในสัญญาย่อยของหน่วยงานให้ทุนดังกล่าว เกี่ยวกับประเด็นลิขสิทธิ์ ว่าเป็นลิขสิทธิ์ร่วมระหว่างหน่วยงานให้ทุนกับมหาวิทยาลัย หรือเป็นลิขสิทธิ์ของหน่วยงานให้ทุนแต่เพียงผู้เดียว
แนะนำทรัพยากรสารสนเทศที่น่าสนใจ
การสร้างสื่อนำเสนอคุณภาพด้วย OpenOffice.org Impress 3.0
คู่มือการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมสำหรับบรรณารักษ์และห้องสมุด
เขียนผลงานทางวิชาการอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ลักลอกผลงาน
คัมภีร์ลิขสิทธิ์ : 180 คำถามที่จำเป็นต้องไขคำตอบ