KULIB TALK | Special | สัตว์เลี้ยงแสนรักกับไวรัสโคโรน่า
“อย่างของคนเนี้ย ทำให้มีการติดต่อไปยังคนใกล้ๆเราเนี้ย 1คน ติดเชื้อไปยัง 3 คน แต่การทดลองที่เกิดขึ้นในแมวจำนวน5ตัว แมว3ตัวที่มีเชื้อติดไปยัง 1 ตัว เพราะฉะนั้น 3 ตัวติดไปยัง 1 ตัว แล้วหนึ่งตัวเนี่ยจะติดไปเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะแพร่ต่อเนี่ยยากเลย โอกาสน้อย “
คำถาม : ความเป็นไปได้ว่าเชื้อไวรัสโคโรน่าจะแพร่เชื้อ จากคนสู่สัตว์ และ สัตว์สู่คน ?
ศาสตราจารย์.สพ.ญ.ดร.พรทิพภา เล็กเจริญสุข : อันนี้ต้องแยกเป็น 2 คำถามนะคะ ไวรัสที่ก่อโรคโควิดนี่นะคะจัดว่าเป็นโรคที่ติดต่อมาจากสัตว์ แต่ว่าสัตว์ที่เป็นสาเหตุของการติดต่อมานี้นะคะ ในหลักฐานพบว่าไวรัสที่มีความคล้ายคลึงมากที่สุดคือไวรัสที่ปรากฏอยู่ในค้างคาวผลไม้ซึ่งอยู่ในป่า แต่ว่ายังไม่สามารถที่จะระบุสัตว์ตัวกลางได้ว่าหลังจากค้างคาวแล้วมีการผ่านสัตว์ตัวกลางแล้วติดต่อมายังคนหรือไม่ อันนี้เป็นการติดต่อจากสัตว์สู่คนแล้วก็ทำให้เกิดโรคโควิดที่ระบาดไปทั่วในขณะนี้ แต่ว่าในขณะเดียวกัน การติดต่อจากคนสู่สัตว์ก็มีรายงาน มีการติดต่อจากคนสู่สุนัขและก็จากคนไปสู่แมว แต่ว่าสุนัขและแมวโดยส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ที่มีรายงานมีการพบสุนัขในฮ่องกงสองตัวที่ได้รับเชื้อจากเจ้าของซึ่งป่วยด้วยโรคโควิด-19 นะคะ แล้วก็มีแมวจากเบลเยี่ยมหนึ่งตัวที่มีรายงาน และในขณะนี้ก็มีรายงานการทดลองในสัตว์นะคะก็พบว่าโคโรน่าไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของโควิด-19 ก็สามารถติดเชื้อในแมวได้ และแมวสามารถแพร่เชื้อไปยังแมวด้วยกันได้ แต่ว่าอัตราการแพร่เชื้อต่ำมากนะคะ ในขณะที่ในสุนัขเนี่ยจะไม่ค่อยไวต่อการติดเชื้อเท่าไหร่ แล้วก็เชื้อที่พบในสุนัขจากการทดลองพบว่าเชื้อที่ปลดปล่อยออกมาเนี่ยไม่มีชีวิตนะคะและเค้ามีการทดลองว่าเชื้อนี้สามารถติดต่อไปยังสัตว์ปีกที่เรากินเป็นอาหารหรือไม่ พบว่าไม่ติดต่อและก็ไม่ติดต่อไปยังสุกรซึ่งเป็นอาหารเหมือนกันอันนี้ก็เป็นแค่รายงานเบื้องต้น ส่วนรายงานการแพร่เชื้อกลับจากสัตว์ที่ติดต่อไปยังสัตว์แล้วแพร่เชื้อมายังคนยังไม่มีหลักฐานนะคะแล้วก็นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกรวมทั้งสัตวแพทย์ด้วยเชื่อว่าสัตว์เลี้ยงของเราไม่ได้เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคโควิด-19 นะคะ อันนี้ก็จะเป็นข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากเป็นโรคที่ใหม่มากเลยข้อมูลความรู้ต่างๆจึงเกิดขึ้นทุกวัน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องติดตามข้อมูลกันต่อไป ซึ่งก็จะเป็นสิ่งที่สามารถนำมาเล่าต่อกันฟังหรือว่าแจ้งในภายหลังเมื่อมีข้อมูลที่เพิ่มขึ้นๆทุกวัน
คำถาม: มีแนวโน้ที่ เชื้อไวรัสโคโรน่า แพร่ ระบาดในสัตว์ หรือไม่อย่างไร ?
ศาสตราจารย์.สพ.ญ.ดร.พรทิพภา เล็กเจริญสุข : จากข้อมูลเบื้องต้นนะคะที่มีรายงาน และก็ข้อมูลที่มีการทดลองเนี่ย ขนาดในส่วนของแมวซึ่งสามารถที่จะติดเชื้อได้ ตอนนี้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันแค่แมว สัตว์เลี้ยงที่สามารถติดเชื้อได้ก็คือแมวแต่ว่าอัตราการแพร่เชื้อของแมวจากการทดลองเนี่ย จากแมวที่ทำการทดลอง 3 ตัวที่มีการติดเชื้อ ทดลองให้ติดเชื้อโดยการใส่เชื้อเข้าไปในช่องจมูกและเอาแมวที่ปกติมาอยู่ด้วยกัน 3 ตัว พบเชื้อก็คือเพียงแค่ตัวเดียวจากหนึ่งในสาม ถ้าเป็นแบบนี้คืออัตราแพร่เชื้อค่อนข้างต่ำมาก จากประสบการณ์ที่ทำงานเกี่ยวกับไวรัสและโรคติดเชื้อมานะคะก็เชื่อว่าไม่เกิดการแพร่ระบาดในหมู่สัตว์ เชื่อว่าเป็นแบบนั้น อันนี้เฉพาะงานการทดลองที่เกิดขึ้นนะคะ ในส่วนของสัตว์ที่ค่อนข้างจะติดเชื้อและแสดงอาการเด่นชัดก็คือเฟอเรส เฟอเรสก็คือกลุ่มนางอายนะคะ ซึ่งจริงๆแล้วเนี่ยกลุ่มนี้ก็สามารถติดโควิดได้และก็แสดงอาการชัดเจน เพราะฉะนั้นเนี่ยคนที่เลี้ยงสัตว์ที่เป็นแบบพวกนางอายหรือในกลุ่มของ non-human primates พวกลิงแบบนี้นะคะก็ต้องระวัง
คำถาม : อาการของสัตว์เช่น ไอ อ่อนเพลีย หายใจติดขัด อาจเป็นโรคอื่น อะไรบ้าง ?
ศาสตราจารย์.สพ.ญ.ดร.พรทิพภา เล็กเจริญสุข : สำหรับสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมวนะคะ ซึ่งจริงๆแล้วก็ต้องบอกว่า ถ้าไอ อ่อนเพลียแล้วก็เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก อันนี้เนี่ยก็ต้องแบ่งออกเป็น 2กลุ่มใหญ่ๆ เลยก็คือกลุ่มโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ กับโรคที่ไม่ติดเชื้อ ซึ่งโรคที่ไม่ติดเชื้อก็มีหลายโรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบหายใจ ระบบหัวใจและก็ระบบหมุนเวียนโลหิตนะคะ อย่างเช่นในระบบหมุนเวียนโลหิตเนี่ย ถ้าสมมุติว่ามีอาการซีดมากๆเม็ดเลือดแดงต่ำอย่างเช่นโรหิตจางหรืออาการป่วยเรื้อรังเป็นเวลานานนะคะ ก็จะทำให้ปริมาณเม็ดเลือดแดงเนี่ยต่ำ เพราะฉะนั้นเนี่ยพอปริมาณเม็ดเลือดแดงต่ำการส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆของร่างกายก็จะต่ำลงเพราะฉะนั้นสัตว์ก็จะต้องทดโดยการที่หายใจถี่ขึ้นเร็วขึ้น แล้วก็สัตว์พวกนี้ก็จะมีอาการเหนื่อย อ่อนนะคะ พวกโรคหัวใจซึ่งก็จะทำให้หัวใจทำงานผิดปกติเพราะฉะนั้นกลุ่มนี้ก็จะเหนื่อยอ่อนอยู่แล้วแล้วก็มีอาจจะมีการกระตุ้นการไอทำให้เค้าไอได้ในเวลากลางคืน แล้วก็โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจทั้งหมดที่ไม่ติดเชื้อก็อย่างเช่น มีสิ่งอุดตันในระบบทางเดินหายใจก็อาจจะทำให้เกิดการไอ หอบเหนื่อย หายใจผิดปกติได้ หรือว่าในกลุ่มของโรคที่เกิดจาก…เอ่อมีการฉีดขาดของกระบังลมยังเงี้ย ก็จะทำให้มีคอนเทนต์หรือสิ่งที่อยู่ในช่องท้องหรือลำไส้เคลื่อนเข้าไปบดบังการทำงานของปอดก็จะทำให้หายใจผิดปกติได้หรืออะไรก็ตามที่มีการอุดตันหรือทำให้สูญเสียสมดุลของระบบหายใจก็จะมีอาการเหล่านี้ได้ อันนี้เป็นกลุ่มของโรคที่ไม่ติดเชื้อ
ส่วนในโรคติดเชื้อก็จะมีเชื้อเนี่ยมันก็จะมีเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสเองก็ตามที่จะทำให้เกิดอาการปอดอักเสบก็จะมีอาการเหนื่อยหอบได้ อย่างในสุนัขเองเนี่ยมันก็จะมีโรคที่เรียกว่าโรค Kennel cough หรือว่าการไอของสุนัขเด็กซึ่งเกิดจากแบคทีเรียที่เรียกว่า Bordetella bronchiseptica ซึ่งจะทำให้สุนัขมีอาการไอแห้งๆหรือไอถี่ๆ อันนี้ก็จะเป็นในส่วนของแบคทีเรีย ในส่วนของไวรัสเองโรคติดเชื้ออย่างเช่น ……….. ไวรัสเนี่ยก็จะมีอาการของระบบทางเดินหายใจร่วมด้วยแต่ส่วนใหญ่ก็จะมีอาการอื่นๆซึ่งทำให้เราสามารถแยกได้ว่าเป็นโรคอะไร ส่วนในแมวเองก็จะมีไวรัสที่ก่อโรคระบบทางเดินหายใจหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น herpesvirus หรือว่า calicivirus พวกนี้นะคะ แต่ว่ากลุ่มนี้จะทำให้เกิดหวัดแมวซึ่งมันก็จะมีสิ่งกระตุ้นสารคัดหลั่งออกมาค่อนข้างเยอะนอกจากอาจจะไม่ได้ไอชัดเจนแต่ว่ามีน้ำมูกน้ำลายอะไรอย่างนี้นะคะ อย่างเช่นหวัดแมวที่เกิดจาก calicivirus นอกจากจะทำให้เกิดน้ำมูกน้ำลายแล้วก็จะมีตุ่มใสในช่องปาก เหงือกและก็บริเวณอุ้งเท้าแล้วก็ตุ่มแตกออกเราก็จะแยกโรคออกได้ ส่วนherpesvirus ก็จะทำให้เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังก็จะมีน้ำมูกน้ำตาเกรอะกรังก็จะสามารถแยกโรคออกไปได้ อีกโรคหนึ่งซึ่งเกิดจาก Feline coronavirus อันนี้จะเป็นโคโรน่าไวรัสในแมว โรคก็จะออกมา2รูปแบบ ถ้าเป็นรูปแบบปกติที่เป็น feline coronavirusเนี่ย เชื้อก็จะอยู่บริเวณลำไส้เป็นส่วนใหญ่และก็จะทำให้เกิดอาการท้องเสียเรื้อรังและก็ในกรณีที่มีการกลายพันธุ์และสามารถเข้าไปในเม็ดเลือดขาวได้เนี่ยก็อาจจะสามารถก่อให้เกิดอาการที่เรียกว่าเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อนะคะ ซึ่งเชื้อตัวนี้ก็คือ feline infectious peritonitis virus ซึ่งก็จะทำให้มีอาการกับทุกระบบและหนึ่งในนั้นก็จะเป็นระบบทางเดินหายใจด้วยก็เป็นไปได้ที่แมวจะมีอาการหายใจลำบากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นลักษณะของที่เรียกว่าฟอร์มเปียกหรือ wet-form ก็จะมีการกระตุ้นให้เกิดการสะสมของน้ำในช่องอกและช่องท้องซึ่งอันนี้ก็จะไปบดบังการหายใจของสัตว์ อันนี้คือโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นกับโรคไม่ติดเชื้อค่ะ
คำถาม : ในประเทศไทยมีอุปกรณ์ตรวจเชื้อไวรัสโคโรน่าสำหรับสัตว์หรือไม่ ?
ศาสตราจารย์.สพ.ญ.ดร.พรทิพภา เล็กเจริญสุข : คิดว่าหลายๆที่เนี่ย มีความพร้อมที่จะสามารถตรวจได้ เนื่องจากว่าอย่างกรมปศุสัตว์ก็จะทำงานร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เค้าก็จะมี…มีชุดตรวจมาอยู่แล้ว แต่ว่าจะเป็นชุดตรวจที่เป็น Rt-pcr หรือว่า realtime rt-pcr จะไม่ได้ชุดตรวจที่ตรวจภูมิคุ้มกันในกระแสเลือดนะคะก็อันนี้ก็สามารถส่งตรวจได้ แต่จริงแล้วถ้าสมุติว่าดูจากข้อมูลทั้งหมดเนี่ยนะคะที่มีอยู่เนี่ย สัตว์ที่ไม่เคยสัมผัสเชื้อไม่ได้อยู่กับผู้ป่วยเลยเนี่ยไม่คิดว่าสัตว์จะติดเชื้อนะคะ เพราะว่ารายงานที่มีอยู่ตามการติดเชื้อตามธรรมชาติเนี่ยทุกเคสเลย เนื่องจากเจ้าของป่วยและก็อยู่กับเจ้าของ ซึ่งในสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงอยู่กับเจ้าของเนี่ยก็มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อปริมาณมากอยู่แล้วเพราะว่าเจ้าของทั้งมีอาการไอ อาการจามแล้วก็มีสิ่งปนเปื้อนที่อยู่บริเวณบ้านจำนวนค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นอันนี้เนี่ยก็บอกได้ว่า..จริงๆสิ่งที่ต้องระวังก็คือว่าคนที่ป่วยเนี่ยต้องแยกตัวเองออกจากทุกคนในบ้านรวมทั้งสัตว์เลี้ยงด้วย แต่ถ้าสมมุติสัตว์เลี้ยงปกติซึ่งอยู่ในบ้านที่ไม่มีคนป่วย ตอนนี้ยังไม่มีรายงานเลยนะคะว่าสัตว์ได้รับการพบเชื้อ..ในสัตวเหล่านั้น แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากว่ามันเป็นโรคที่ใหม่มากฉะนั้นเนี่ยข้อมูลมันเกิดขึ้นทุกวันนะคะ
คำถาม: ในช่วงโควิด-19 ระบาดนี้ ควรป้องกันและดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างไร
ศาสตราจารย์.สพ.ญ.ดร.พรทิพภา เล็กเจริญสุข : จริงๆแล้วเนี่ย เราก็ต้อง…ดูแลเค้าเหมือนลูกคนนึงในบ้านนะคะ..ลูกเล็กๆ… เนื่องจากว่าเค้าไม่ทราบว่าที่ไหนสะอาดหรือที่ไหนสกปรกเวลาออกไปนอกบ้าน เพราะฉะนั้นดีที่สุดก็คือในช่วงที่มีการระบาดของโรคเนี่ย ควรจะให้สัตว์เลี้ยงอยู่เฉพาะแต่ในบ้าน ไม่ควรนำออกไปข้างนอกเพราะเราไม่ทราบว่าพื้นที่ไหนที่ปลอดภัย และก็ยังไม่มีข้อมูลใดๆระบุทั้งสิ้นฉะนั้นป้องกันเอาไว้จะดีที่สุด ที่กล่าวมาคือข้อแรกนะคะ ข้อต่อมาอันที่สองก็คือไม่ควรพาไปในที่ที่มีการพบปะหรือมีโอกาสที่สัตว์เลี้ยงจะไปปนเปื้อนปะปนกับสัตว์เลี้ยงอื่นๆอย่างเช่น ในร้านหรืออะไรที่เค้ารับอาบน้ำสัตว์ อันนี้ก็งดไปก่อนนะคะให้เราอาบเอง และให้หมั่นดูแลทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงของเรานะคะเป็นประจำนะคะ ถ้าสมุติว่าอาบน้ำอาทิตย์ละครั้งและรู้สึกว่าไปเปื้อนหรือสกปรกอะไรนะคะเราก็สามารถที่จะเช็ดตัวให้เค้าได้ และก็การไม่เอาเค้าออกไปเที่ยวข้างนอกเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แล้วก็ให้เค้าอยู่ในบ้าน ในส่วนอื่นๆถ้าสมมุติว่าเราเป็นผู้ป่วยหรือว่าเป็นผู้ที่แพทย์ระบุให้กักตัวหรือมาจากประเทศอื่นๆ ซึ่งในปัจจุบันก็หลายประเทศแล้วค่ะทุกคนก็กลัวไปหมด ฉะนั้นเนี่ยคนที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคอย่างรุนแรง…คนที่เป็นผู้ป่วยนะคะ หรือว่าตรวจพบว่ามีเชื้อเนี่ยก็ควรจะอยู่ห่างๆจากสัตว์เลี้ยงด้วยเหมือนกัน ไม่ควรจะไปคลุกคลี เช่นเดียวกับการไม่ไปคลุกคลีกับสมาชิกในครอบครัวนะคะ แล้วคนกลุ่มนี้เองก็ตามนะคะถ้าสามารถหาคนเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของตนได้ก็ควรจะให้คนอื่นเลี้ยงแทน แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ก็จะต้องใส่หน้ากากนะคะในขณะที่ดูแลสัตว์เลี้ยงและก็ล้างมือตัวเองให้สะอาดก่อนที่จะสัมผัสสัตว์เลี้ยงและก็ล้างมือตัวเองให้สะอาดหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกันนะคะ และก็ไม่คลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงและไม่แบ่งปันอาหารที่ตัวเองกินให้แก่สัตว์เลี้ยงก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดข้อควรระวังมากที่สุดคืออย่าให้สัตว์สัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องกักตัวนะคะ
คำถาม : ในปัจจุบัน รพ.สัตว์เกษตร มีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคโควิด-19 นี้อย่างไร
ศาสตราจารย์.สพ.ญ.ดร.พรทิพภา เล็กเจริญสุข : เราก็คงต้องป้องกันทั้งเจ้าของที่จะเข้ามารับการรักษาภายในโรงพยาบาลด้วย ซึ่งตอนนี้เชื่อว่าโรงพยาบาล โรงพยาบาลสัตว์ส่วนใหญ่ก็จะมีการกำหนดประตูที่เข้า ประตูที่ออก และก็จะมีการวัดอุณหภูมิของเจ้าของสัตว์ก่อนที่จะเข้ามารับการรักษา และถ้าเกิดว่าเจ้าของสัตว์มีไข้ส่วนใหญ่เราก็จะขออนุญาตให้เป็นคนอื่นมาพามานะคะ แล้วถ้าสัตว์ป่วยหรือสัตว์ที่มีนัดกับโรงพยาบาลทั้งหมด หากไม่เร่งด่วนอะไร สามารถที่จะรออยู่ก่อนได้นะคะ อันนี้ก็เป็นมาตรการเบื้องต้น และในส่วนของในสัวต์เลี้ยงเองก็ตามถ้าเจ้าของซึ่งป่วยด้วยโรค covid-19 เนี่ยนะคะ และพบว่าสุนัขตนเองมีอาการป่วยหรือยังไงเนี่ยค่ะ
ซึ่งคำแนะนำที่ดีที่สุดก็คือเจ้าของก็ควรจะโทรศัพท์มาถามสัตวแพทย์ที่โรงพยาบาลก่อนว่าควรจะทำอย่างไร ซึ่งเราไม่อนุญาตให้พามา แต่ว่าทางโรงพยาบาลเองจริงๆแล้วทางโรงพยาบาลก็จะต้องมีทีมที่จะต้องออกไปตรวจข้างนอกนะคะพร้อมกับชุดป้องกันอย่างดีนะคะ ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่โรงพยาบาลก็ควรจะมีมาตรการรองรับเอาไว้เนื่องจาก…เราเองเราเป็นสัตวแพทย์เราก็ต้องดูแลสัตว์ป่วยด้วยเพื่อให้เจ้าของคลายความกังวลและในขณะเดียวกันในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีมาตราการอะไรเกี่ยวข้องกับสัตว์ที่อาจจะ…ที่อยู่ร่วมกับเจ้าของซึ่งป่วยด้วยโรคโควิด-19 แต่อย่างในฮ่องกงเค้าก็จะมีหน่วยงานราชการคล้ายกรมปศุสัตว์ของเรา เค้าก็จะนำสัตว์เลี้ยงเนี่ยไปกักกันเอาไว้เพื่อที่จะตรวจดูว่าสัตว์ได้มีการติดเชื้อใดๆหรือไม่ มีการปล่อยเชื้อไหม จนกระทั่งไม่พบเชื้อจึงจะปล่อยกลับอันนี้ก็จะเป็นในฮ่องกงนะคะ แต่ในประเทศไทยเรายังไม่มีมาตรการตรงนี้ออกมานะคะ
คำถาม : อยากให้อาจารย์พูดถึงประโยชน์สัตว์เลี้ยงในช่วงกักตัวหรือ Work From Home
ศาสตราจารย์.สพ.ญ.ดร.พรทิพภา เล็กเจริญสุข : จริงๆแล้วเนี่ยต้องบอกว่าสัตว์เลี้ยงเนี่ย…ตั้งแต่สมัยไหนมาเลยก็ตาม…จริงๆเนี่ยสัตว์เลี้ยงมีคุณค่าทางจิตใจนะคะ….แล้วก็ยิ่งในปัจจุบันนี้สัตว์เลี้ยงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการดูแลคนแก่ ดูแลคนป่วยที่เป็นคนป่วยเรื้อรังนะคะ ดูแลเด็กที่มีปัญหาที่ต้องนอนหรือว่าต้องนอนอยู่กับบ้านหรืออยู่โรงพยาบาลนานๆหรือว่าผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิต เนื่องจากว่าสัตว์กับคนเนี่ย..มันจะมีบอร์นติดต่อซึ่งกันและกัน..แล้วสัตว์โดยเฉพาะสุนัขเนี่ยเป็นสัตว์ที่มีความซื่อสัตย์นะคะ…ถ้าสมมุติว่าเราดูแลเค้า เค้าก็จะภักดีกับเรา แล้วสิ่งที่สุนัขหรือแมวหรือสัตว์เลี้ยงเนี่ยตอบสนองต่ออารมณ์ของเรา..ซึ่งเค้าก็ไม่บ่นไม่เคยว่าเรากลับ…มันก็ทำให้เค้าเป็นเพื่อนที่ดีสำหรับคนที่เค้าอาจจะ…เอ่อ…ในสภาวะปกติอาจจะต้องการการดูแลเป็นพิเศษ…เพราะฉะนั้นเนี่ยสัตว์เลี้ยงเหล่านี้จะช่วยได้มากเลย…ซึ่งทุกคนอยู่บ้านเนี่ยปกติเคยออกไปนู่นไปนี่เราก็ต้องมาอยู่บ้านเป็นเวลาเป็นเดือน…สัตว์เลี้ยงก็จะเป็นเพื่อนที่ดีสำหรับเรา…เนื่องจากว่าเค้ามี interactive กับเราเมื่อเราเล่นกับเค้า เค้าก็ตอบสนองนะคะ และเค้าก็แสดงท่าทีของการภักดีและก็….เป็นท่าทีที่ทำให้เรารู้สึกว่ามีใครที่เป็นที่สนใจเราและเป็นเพื่อนเราได้ก็จะดีกว่าการอยู่กับคอมพิวเตอร์นะคะเพราะมี interaction ซึ่งกันและกัน…..น่าจะเป็นประโยชน์ที่ดีที่สุดในตอนนี้ และประโยชน์ด้านอื่นๆ ถ้าเราเลี้ยงสุนัขเนี่ยเค้าก็ช่วยดูแลบ้านให้เราด้วย..อันนี้สำคัญมากเลย…เนื่องจากว่าเวลาที่เราอาจจะเพลินๆกับงานที่บ้านหรือเพลินๆกับอะไรก็ตามเนี่ย…สุนัขก็จะหูไว..เพราะฉะนั้นเค้าก็จะได้ยินเสียงอะไรที่ผิดปกติแล้วก็ได้ยินมาแต่ไกล เค้าก็จะเห่าเตือนเรา เค้าก็จะช่วยเราดูแลบ้านได้ ช่วยเราดูแลอะไรหลายๆอย่างได้ จริงๆในปัจจุบันแม้กระทั่งใน…เอ่ออ… มันมีการศึกษาว่าเด็กที่อยู่กับสัตว์เลี้ยงเค้าก็จะพบว่าเป็นเด็กที่ฉลาดในอนาคต…ค่ะ…ก็มีประโยชน์เยอะค่ะ…..
“ในช่วงสถานการณ์แบบนี้เราควรดูแลสัตว์เลี้ยงของเราให้มากกว่าเดิมเพราะการมีสัตว์เลี้ยงอยู่เป็นเพื่อนภายในบ้านจะช่วยลดความตึงเครียดของเราได้เป็นอย่างดีแล้วเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน…”
แนะนำทรัพยากรสารสนเทศที่น่าสนใจ
รวมผลงานของ ศาสตราจารย์.สพ.ญ.ดร.พรทิพภา เล็กเจริญสุข ในคลังความรู้ดิจิตัล มก.
โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน / จัดทำโดย อนุชา ศิริมาลัยสุวรรณ
การพัฒนาแบบจำลองเพื่อการพยากรณ์การระบาดของโรคระบาดสัตว์ในประเทศไทย
โรคติดต่อจากสุนัขและแมวสู่คน : ตอน โรคติดเชื้อโปรโตซัว
COVID-19: Transmission, prevention, and potential therapeutic opportunities
What we know about COVID-19 and its treatment.
Bats and Viruses : A New Frontier of Emerging Infectious Diseases