อาจารย์นักทำหุ่นยนต์

KULib Talk No.16 “อาจารย์นักทำหุ่นยนต์”

แขกรับเชิญในวันนี้ได้รับเกียรติจากอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าท่านมีบทบาทสำคัญในเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ รวมถึงยังเป็นผู้ผลักดันนิสิตให้ได้รับโอกาสในการแข่งขันและประสบความสำเร็จในระดับโลกมาแล้วหลายสมัย ถ้าพูดถึง skuba - jr ที่เคยสัมภาษณ์ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็ได้พูดถึงอาจารย์ท่านนี้เหมือนกัน เป็นบุคคลสำคัญที่ได้พาไปประสบความสำเร็จ ขอต้อนรับ ดร.กาญจนพันธ์ สุขวิชชัย จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ 

อยากทราบว่าอาจารย์ก้าวเข้ามาสู่วงการนักทำหุ่นยนต์ได้อย่างไร

ต้องเล่าเท้าความไปไกลสักนิดหนึ่ง เริ่มต้นตั้งแต่อยู่ ปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ของ ม.เกษตร ได้รู้จักอาจารย์ท่านหนึ่ง เชื่อว่าหลายท่านคงรู้จักอาจารย์ท่านนี้ อ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา อาจารย์ปัญญาเป็นคนชวนเข้าไป เมื่อก่อนเรียกชุมนุม Robot พอเข้าไปก็จะมีรุ่นพี่หลายๆ คน เริ่มเอาหุ่นยนต์มาให้ดูว่าหุ่นยนต์คืออะไร มีโอกาสได้ไปทดลองเขียนโปรแกรมทำหุ่นยนต์เพื่อไปแข่งขันเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่สมัย ปี 2 ป.ตรี พอไปเรียนต่อ ป.โท ป.เอก เลยไป focus เรื่องหุ่นยนต์ หลังจากนั้นเมื่อกลับมามีจังหวะได้รับการสนับสนุนจากสมาคมหุ่นยนต์ไทย  เพื่อจะนำหุ่นยนต์ของเกษตรไปแข่งขันระดับโลกในครั้งแรก ปรากฏว่าเราได้ที่ 3 มา มีการแข่งต่อเนื่องมาเรื่อยๆ (พิธีกร สนุกไหมคะที่อยู่ใน project) สนุกมาก ก่อนไปเราสนุกมาก แต่พอไปถึงวันที่แข่ง เครียด เราแบกชื่อประเทศ เราแบกชื่อมหาวิทยาลัย และคณะไปด้วย แต่ก็ดีได้ประสบการณ์ และเด็กได้ฝึกความอดทนว่าเราต้องผ่านมันไปให้ได้ ตอนแข่งขันในปีแรก ตอนเด็กเขียนโปรแกรมมือสั่น คือเครียดมาก ประมาณนั้น แต่เราก็ผ่านมาได้

น้องๆ ที่สนใจเข้า lab ของอาจารย์ มีขั้นตอนการเข้ามาทำงานอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร

ห้อง lab ของเราโดยพื้นฐานแล้วไม่ได้มีการสอบ หรือทดสอบอะไรก่อนเข้า เริ่มต้นเรามานั่งคุยกันก่อนว่ามีทัศนคติต่อการทำหุ่นยนต์เป็นอย่างไร โดยเน้นที่ว่าอยากให้เริ่มจากการที่เขามีแรงบันดาลใจจากภายในว่าอยากจะทำอะไร ความรู้มาหาได้จากภายในห้อง lab หาได้จากการที่รุ่นพี่สอนรุ่นน้อง เพราะฉะนั้นเดินมาแต่ตัวกับหัวใจ เดินเข้าห้อง lab และมาบอกว่าอยากทำอะไร (พิธีกร แค่มีความตั้งใจก็สามารถเข้ามาสมัครได้เลย) ได้เลย

ความสามารถพื้นฐานของหุ่นยนต์ ควรจะมีอะไรบ้าง

ตัวนี้เป็นหุ่นยนต์คุณลำไย เป็นหุ่นยนต์ที่ใช้งานในบ้าน โดยพื้นฐานแล้วอะไรก็ตามที่เป็นหุ่นยนต์ใช้งานร่วมกับมนุษย์ เราจะมีความคาดหวังว่าหุ่นยนต์จะต้องคิดเหมือนมนุษย์ได้ เดินเหมือนมนุษย์ ขยับแขนขยับขาได้เหมือนมนุษย์ ฟังเสียงได้ เข้าใจเสียง จดจำภาพได้ ค้นหาภาพได้ และเข้าใจภาพ อันนั้นคือพื้นฐานของมนุษย์ คิดง่ายๆ เราพยายามจำลองมนุษย์คนหนึ่งลงไปบนหุ่นยนต์ ถ้าหุ่นยนต์สามารถทำงานได้ดี หุ่นยนต์ต้องทำความสามารถได้อย่างน้อยเหมือนพื้นฐานของมนุษย์คนหนึ่ง (พิธีกร ยากไหมกว่าที่คุณลำไยจะออกมา) คุณลำไย ถ้าถึงวันนี้ใช้เวลาพัฒนาประมาณ 12 ปีแล้ว แต่ช่วงแรกๆ ยังเป็น prototype เป็นหุ่นยนต์ทดสอบอยู่ ยังไม่มีความสามารถอะไร อาจจะได้แค่เดินตามบุคคล จดจำใบหน้าได้แค่คนสองคนเท่านั้นเอง แต่ปัจจุบันได้รับการพัฒนาโดยการเอา AI หลายๆ ส่วนเข้าไป จะสามารถเข้าใจได้ว่ามนุษย์พูดอะไรอยู่ ตอบโต้เป็นภาษามนุษย์ได้ สามารถบอกได้ว่าคนที่เข้ามาในบ้านเป็นผู้ชาย ผู้หญิง อายุเท่าไร และเป็นคนที่คุณลำไยรู้จักรึเปล่า สามารถหาของในบ้านได้ เช่น ปีที่ผ่านมาเอา AI ในการหาของ จำลองสถานการณ์ว่าคุณยายตื่นมาแล้วไม่รู้แว่นอยู่ไหน สั่งให้คุณลำไยไปเดินหา คุณลำไยจะเดินไปทั่วบ้าน และบอกว่าเจอแว่นแล้วนะ แว่นอยู่ตรงโต๊ะกินข้าว (พิธีกร เราต้องป้อนข้อมูลเข้าไปก่อน) ต้องการทำให้หุ่นยนต์เรียนรู้ AI สมัยใหม่มันไม่ใช่ coding แบบ Algorithm เหมือนกับ fix ค่าอีกแล้ว เป็นลักษณะ dinamic ให้หุ่นยนต์สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา โดยที่เราเป็นผู้สอน เหมือนคุณลำไยเป็นเด็กไปโรงเรียน เราเป็นครูเป็นอาจารย์ เราก็บอกว่าสิ่งนี้เรียกว่า กรรไกร สิ่งนี้เรียกว่าแว่นตา สิ่งนี้เรียกว่าจานข้าว ค่อยๆ สอนไปเรื่อยๆ หุ่นยนต์จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ (พิธีกร ไม่จำเป็นว่าจะเป็นกรรไกรอันเดิม อันไหนก็ได้ในกลุ่มนี้) เหมือนมนุษย์การที่จะเข้าใจกรรไกรได้ อย่างแรกต้องมีที่จับ ที่จับอาจมีหลายสี หลาย size ได้ไม่เป็นไร มีที่ตัดสองอัน อันเดียวไม่ได้อันเดียวจะเป็นมีดต้องมี 2 อัน หุ่นยนต์เรียนรู้สิ่งนั้นมากกว่าจะบอกว่าหน้าตาอย่างนี้เปรียบเทียบภาพนี้กับภาพที่แล้วว่ามันคือกรรไกร หุ่นยนต์จะเห็นการที่จะเป็นองค์ประกอบของกรรไกรคืออะไรบ้าง (พิธีกร ตอนนี้คุณลำไยพัฒนาเต็มประสิทธิภาพแล้ว หรือยังพัฒนาต่อ) ยังไปได้อีกค่อนข้างเยอะ ตอนนี้ยังมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องพัฒนาต่อ เช่น จะทำอย่างไรให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น ปัญหาของหุ่นยนต์ตอนนี้ที่เราไม่เห็นในท้องตลาดมากมายนัก เพราะว่าเราเป็นคนใช้ คิดถึงในมุมมองคนใช้ เปิดกล่องมา เสียบปลั๊ก เราควรจะใช้งานได้เลย แต่หุ่นยนต์ต้อง set up ค่อนข้างเยอะเพื่อจำ เพื่อให้สามารถใช้งานได้ ตอนนี้มีหลายๆ บริษัทมีความสนใจว่าจะให้พัฒนาระบบ lady of the box คือแกะหุ่นยนต์ออกจากกล่องวาง เสียบปลั๊ก เปิดไฟ ใช้งานได้เลย จะต้องมีหลายเรื่องๆ เช่น อัตโนมัติ สามารถค้นหาสถานที่ได้ว่าเขาอยู่ตรงไหนของบ้าน เพื่อจะบอกได้ว่าตอนนี้อยู่ห้องนอน อยู่ห้องรับแขก ห้องอาหาร หลังจากนั้นจดจำใบหน้าของคนใช้งาน อาจจะต้องคุณยายคะเดินมาหน้ากล้องหน่อยขอจำหน้านิดหนึ่ง คุณผู้ชายคะขอจำหน้านิดหนึ่ง ต้องเป็นอัตโนมัติระดับนั้น ที่สามารถทำให้หุ่นยนต์สามารถ interact กับคน สามารถปรับตัวเองได้กับบ้านที่เขาไปอยู่

หุ่นยนต์เริ่มมีบทบาท ถ้าในอนาคตหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่มนุษย์ มีความคิดเห็นอย่างไร

เรากลับมาดูจุดมุ่งหมายพื้นฐานของการสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาหนึ่งตัว เราสร้างหุ่นยนต์เพราะอะไร เราต้องการสร้างบางสิ่งบางอย่างมาช่วยเหลือมนุษย์ ในเรื่องกิจกรรมที่มนุษย์ไม่ค่อยอยากทำ เพราะฉะนั้นถ้าเรายึดหลักการสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ ในกิจกรรมที่มนุษย์ไม่พึงจะทำ เช่น กิจกรรมซ้ำๆ กิจกรรมที่ทำงานต่อเนื่องยาวนาน กิจกรรมที่มีความล้า หรือกิจกรรมที่อันตราย เพราะฉะนั้นถ้าหุ่นยนต์ยังตอบโจทย์นั้นอยู่ แปลว่าจริงๆ หุ่นยนต์เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่มาช่วยเรา เพื่อไม่ไห้มนุษย์ต้องเสียเวลาในชีวิตไปทำกับเรื่องที่น่าเบื่อ อันตราย ใช้เวลายาวนาน เพื่อให้มนุษย์มีเวลาเหลือเพื่อไปใช้ทำอย่างอื่นที่มีคุณค่ามากกว่า เช่น เป็นการพัฒนาตนเอง สร้างสิ่งใหม่ๆ อย่างหนึ่งหุ่นยนต์ไม่สามารถสร้างศิลปะได้ เพราะฉะนั้นในอนาคต เราจะเห็นหุ่นยนต์ในลักษณะเป็นผู้ช่วยเหลือ มนุษย์ไปสร้างสรรค์อย่างอื่นให้เกิดประโยชน์ต่อโลกมากขึ้น (พิธีกร มาเพิ่มความสะดวกสบายให้เรา ลดความเสี่ยงในบางงานที่เราต้องเสี่ยง) เพราะบางเรื่องไม่จำเป็นต้องเสี่ยง อาจเคยได้ยินเหมือนกับเรื่องหุ่นยนต์กู้ภัย กว่าจะพัฒนาบุคลากรขึ้นมาสามารถเข้าไปเก็บกู้ระเบิดได้ใช้เวลานาน แต่หุ่นยนต์เรามองว่าเป็นสิ่งของ การที่เขาเข้าไปเขาจัดการได้ มันปลอดภัยต่อมนุษย์มากกว่า ยังเชื่อว่าทรัพยากรมนุษย์อย่างเราใช้เวลายาวนานและสร้างยากยังมีประโยชน์ สามารถสอนคนรุ่นต่อรุ่น เป็นการพัฒนาต่อยอด

ในการแข่งขันแต่ละครั้ง มีการเตรียมการอย่างไร ทราบข่าวในเรื่องการแข่งขันจากที่ไหนบ้าง

โดยพื้นฐานแล้ว เรามีความสนุกกับการทำหุ่นยนต์เพื่อแข่งขัน ส่วนใหญ่ search google ง่ายๆ ว่า ตอนนี้มีการแข่งขันอะไรบ้าง ในหัวข้อที่เราสนใจ ช่วงแรกๆ ก็จะเป็นอย่างนี้ ในโลกนี้มีอะไรแข่งกันบ้าง เช่น เราไปค้นพบว่าที่สิงคโปร์มีการแข่งขันหุ่นยนต์ใช้งานใต้น้ำ ที่อเมริกามีการแข่งขันหุ่นยนต์ใช้งานใต้น้ำ ที่ญี่ปุ่นหุ่นยนต์ใช้งานในบ้าน หุ่นยนต์ใช้งานในห้องสมุด หุ่นยนต์ใช้งานในร้านสะดวกซื้อ หรือที่ต่างประเทศจะเป็นทุกปี เช่น RoboCup เราก็เริ่มเข้าไปดู detail เริ่มสมัครไป ไปอ่าน qualified ว่าการที่จะเข้าไปได้ ไม่ใช่สมัครอย่างเดียวจำเป็นต้อง prove ให้เขาดูด้วยว่าหุ่นยนต์เรามีความสามารถ โดยการที่เราส่งที่เรียกว่า คล้ายๆ เปเปอร์เหมือนทำงานวิจัย อธิบายไปว่าหุ่นยนต์เราเป็นอย่างไร มีความสามารถอะไรบ้าง เทคโนโลยีที่ใช้จริงๆ ในทางวิศวกรรมเป็นอย่างไร AI เราใช้เทคนิคไหน ส่งไปเพื่อ qualified รวมทั้ง vdo ตอนที่หุ่นยนต์ทำงานจริง เพราะบางคนเป็นลักษณะที่ตอนส่งเปเปอร์มันดูดี แต่พอหุ่นยนต์ต้องแสดงความสามารถจริงๆ ทำไม่ได้ตามนั้น เขาก็มีการตรวจสอบอีกครั้งโดยการส่ง vdo ไปด้วยที่ห้ามตัดต่อ ไม่สวยไม่เป็นไร ในระยะเวลา 5 นาที ว่าหุ่นยนต์ต้องทำความสามารถอะไร 1 2 3 4 5 พอหลังจากเราส่งไปเรียบร้อยแล้ว เราก็นั่งรอ คณะกรรมการจะติดต่อกลับมาว่าตอนนี้ทีมคุณ qualified รึเปล่า หรือ qualified แบบมี condition  condition เช่น เราเห็นศักยภาพหุ่นยนต์คุณนะแต่ว่ายังดีไม่พอ คุณไปทำนี่หน่อยไหม พอทำเสร็จแล้วส่งมาใหม่ คณะกรรมการจะตรวจสอบว่าโอเคดีรึยัง ถ้าโอเคแล้วจะได้สิทธิ์ ได้ invitation letter เพื่อจะขอวีซ่าไปแข่งขัน รายการใหญ่ๆ เกี่ยวกับหุ่นยนต์ใช้งานในบ้านหรือหุ่นยนต์ทั่วๆ ไป จะเป็น RoboCup concept ก็คือจะเป็นหุ่นยนต์หลายๆ ประเภทมาแข่งขัน โดยมุ่งหวังว่าจะพัฒนาหุ่นยนต์พร้อมๆ กันทั่วโลกขึ้นไป ที่ใช้ว่า RoboCup จำลองเหมือนเตะบอลโลก หุ่นยนต์แรกๆ ที่อยู่ในการแข่งขันนี้ เป็นหุ่นยนต์เตะบอลจะมีหลายรูปแบบ แล้วเขามีความคาดหวังว่า 2050 หุ่นยนต์แชมป์โลกจะไปเตะบอลกับมนุษย์แชมป์โลกได้เลย (พิธีกร คล้ายๆ เราต้องไป defense เหมือนหัวข้องานวิจัยเลย) แล้วไปถึงที่นั่นไม่ใช่แข่งอย่างเดียว จะมีหนึ่ง section ทุกคนต้องเอางานวิจัยตัวเอง present ให้คนอื่นฟัง ลักษณะเป็น open ในปีต่างๆ ที่เราไปถึงแม้คิดว่าเราโอเคแล้ว เราไป present เรื่องใหม่ๆ เราอาจจะได้เรียนรู้สิ่งอื่นที่มาจากทีมอื่นด้วย เช่น เขาทำกันอย่างนี้ได้ด้วยหรือ จะทำให้เราพัฒนาได้เร็วขึ้น ทีมที่ไปบ่อยๆ จะมีอัตราการพัฒนาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนเปิดเผย 100 เปอร์เซ็นต์ เหมือนเป็นเพื่อนกัน เหมือนไปเตะฟุตบอลกัน หลังจากแข่งเสร็จก็สนุกกัน อารมณ์นั้น

อาจารย์เป็นแชมป์มาหลายสมัย รู้สึกกดดันไหม

เป็นแชมป์ว่ายากแล้ว รักษาแชมป์ยากกว่าเยอะ มันยากกว่าลักษณะที่ว่า ที่เรายังไม่ได้แชมป์ เราจะมองเหมือนกับว่า จุดมุ่งหมายเราจะเป็นแชมป์ให้ได้ เราจะเตรียมทุกอย่างเพื่อไปล้มเขา แต่วันที่เราอยู่จุดที่สูงที่สุดแล้ว โจทย์มันจะพลิกว่าเราจะทำอย่างไรพัฒนาต่อไปเพื่อไม่ให้คนอื่นมาล้มเราได้ ยาก เหมือนกับว่าเราไม่รู้เราจะไปทางไหน เราต้องคิดแล้ว เราบอกว่าเส้นทางที่เราจะสร้างเองหลังจากนี้เพื่ออะไร เช่น เราอาจมีหลายๆ เส้นทางที่เกิดขึ้นเราเป็น head แล้ว เราอาจจะไปทางนี้จะพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราไปมันถูกทางไหม  ถ้าไม่ถูกทางคนอื่นก็จะมาล้มเรา เป็นคลื่นลูกใหม่ที่แรงกว่าเสมอ ยาก ยากจริง คู่ต่อสู้แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง ตอนที่ทีม skuba เป็นแชมป์โลกเตะฟุตบอล ปีแรกเราเป็นม้ามืดไม่คิดว่าเราจะได้แชมป์โลก พอได้แชมป์โลกปีแรกเราชนะทีมญี่ปุ่นในรอบชิง 11-1 พอปีถัดไปเราไปเจอทีมอิหร่านในรอบชิง เราชนะไป 6-1 ปีถัดมาเหลือ 4-1 ปีถัดว่าเหลือ 2-1 เพราะว่าทุกคนเริ่มเข้ามาทันกันเรื่อยๆ ความยากอยู่ตรงนี้ว่าจะมีแรงผลักดันตัวเองไปได้ไกลแค่ไหน อันที่สองเราต้องก้าวข้ามความสำเร็จ คือบางทีเรายึดติดกับความสำเร็จ เราเป็นแชมป์แล้ว เราไม่ต้องพัฒนามันไม่ได้ เพราะว่าเมื่อไรเราหยุดพัฒนา คนอื่นแซงทันที ที่ยากที่สุดต้องสร้าง momentum ในห้อง labไปเรื่อยๆ ว่าปีนี้เราทำอะไรใหม่ ปีนี้เราทำอะไรใหม่ ปีนี้เราทำอะไรใหม่

ล่าสุดทีม SKUBA – Jr คว้ารางวัลแชมป์โลกมา อาจารย์มีการคัดน้องๆ ที่เข้ามาร่วมทีมอย่างไร

น้องๆ แต่ละคนที่อยู่ในทีมจะมีความแตกต่างกัน แต่ละคนมาจากหลายภาควิชา มีความถนัดที่แตกต่างกัน เช่น น้องทรายที่เคยออกรายการจะมีความสามารถทางด้าน AI ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ จะมีน้องๆ อีกหลายคนๆ ที่ไม่ได้มา จะมีความสามารถด้าน AI เกี่ยวกับเรื่อง programing ค่อนข้างสูง อีกสองคนก็มีความสามารถ presentation เพราะว่าการไปไม่ได้มีคะแนนเฉพาะความสามารถหุ่นยนต์ทางด้าน tachnical ต้องมีการนำเสนอที่ดี ต้องมีความสามารถในการพูดให้เห็นว่าหุ่นยนต์ของเราสามารถใช้งานจริงได้ในโลก ให้คณะกรรมการที่มาจากภาคเอกชน มีอาจารย์ส่วนหนึ่งที่มาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในโลก และมีส่วนหนึ่งมาจากภาคเอกชนที่ทำหุ่นยนต์หรือของที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์มานั่งฟังและให้คะแนน เพราะฉะนั้นไม่ได้ง่ายที่เราต้องไป convince คนที่มีความรู้ขนาดนั้นให้เชื่อว่าหุ่นยนต์เรามีความสามารถและให้คะแนนเรา เพราะฉะนั้นแล้วมันต้องเป็นองค์ประกอบที่ลงตัว อันที่สองเชื่ออย่างหนึ่งว่าเด็กทุกคนที่เข้ามหาวิทยาลัยได้มีความสามารถ เพียงแต่เราจะต้องมีขบวนการดึงความสามารถเขาออกมาใช้ให้เต็มความสามารถที่สุดมากกว่า ทุกคนมีความสามารถ อย่าคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่ดี มาลองก่อน บางทีคุณอาจจะค้นพบว่าบางอย่างในตัวคุณมันมี เพียงแต่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง อย่าคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ อย่ามองข้ามความสามารถตัวเอง มีทุกคน

จากการที่อาจารย์ส่งเสริมนิสิตให้ทำหุ่นยนต์ ทำให้อาจารย์มองเห็นอะไรในตัวน้องๆ บ้าง

เห็นว่าเด็กไทยมีศักยภาพ เพียงแต่เราต้องมีขบวนการที่ถูกต้องในการเพาะบ่มให้เด็กเติบโตขึ้นไป ให้แสดงความสามารถได้ เขาพร้อมจะไปสู่ระดับโลก สามารถไปชนะประเทศอื่นๆ ได้ เช่น ตัวอย่างที่ไปแข่งขันมหาวิทยาลัยที่แข่งกับเราเป็น มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน เอ็มไอที คอร์เนล เบริกเล หลายๆ ที่ ซึ่งเด็กไทยพิสูจน์แล้วว่าเขาก็ชนะได้ ถามว่าเด็กไทย ป.ตรี จบแล้วยังไงต่อ เขาไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำ บางคนไปอยู่เยอรมัน ไปอาเคิน ไปหลายๆ ที่ ญี่ปุ่นส่วนใหญ่เด็กเราที่แข่งขันเสร็จจะได้รับโอกาสไปทำงานที่ญี่ปุ่นเลย ทางทีมบริษัทญี่ปุ่นจะติดต่อไปทำงาน บางคนไปทำหุ่นยนต์ที่ญี่ปุ่น บริษัท โตชิบา หรือ พานาโซนิค เด็กไทยอยู่เบื้องหลังเป็นคนไปทำ นอกจากนั้นแล้วเด็กที่มุ่งไปทางด้านวิชาการ ไปพวกอิมพิเรียลคอลเลจ ไปเอ็มไอที หลายคน ห้อง lab เหมือนเราสร้างเด็กแล้ว สุดท้ายเรากระจายเด็กไปต่างประเทศแต่ก็โชคดีมีเด็กที่กลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์

ผลงานของอาจารย์ไม่ได้มีแค่หุ่นยนต์คุณลำไย มีการพัฒนาระบบเตะฟุตบอลเพื่อการศึกษา มีหุ่นยนต์อัตโนมัติใต้น้ำ มีคุณลำไยหุ่นยนต์ที่ใช้งานในบ้าน หุ่นยนต์น้องต้นหอม ผลงานต่างๆ มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมอาจารย์ถึงสร้างหุ่นยนต์ที่มีการทำงานที่แตกต่างกัน

ต้องเล่าให้ฟัง การที่จะมีหุ่นยนต์หนึ่งตัวที่ทำทุกอย่างแทนมนุษย์เป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดในการพัฒนา คือการที่แบ่งแต่ละส่วนของความสามารถมนุษย์เป็นหุ่นยนต์แต่ละตัว เช่น หุ่นยนต์คุณลำไยตอนนี้ยังไม่สามารถว่ายน้ำได้ ก็เลยสร้างหุ่นยนต์ใต้น้ำ หุ่นยนต์ใต้น้ำไว้ทำอะไร ใช้ในการสำรวจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปะการัง สำรวจเรือจม เอาไปใช้แท่นขุดเจาะน้ำมัน ซึ่ง project นี้เริ่มจาก ปตท.สผ. ได้เดินเข้ามาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ และอยากจะได้หุ่นยนต์สักอย่างหนึ่งเพื่อใช้ในการสำรวจน้ำมัน การขุดน้ำมันยากขึ้น ยากขึ้นตรงที่ว่าจุดที่ต้องลงไปสำรวจจะไม่ได้อยู่ตรงไหล่ทวีปแล้ว ลงไปทะเลน้ำลึกมากๆ ดังนั้นมนุษย์นักประดาน้ำลงไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องมีหุ่นยนต์ลงไปแทน นอกจากนั้นหุ่นยนต์อื่นๆ เช่น หุ่นยนต์ที่ใช้ในกระทรวงของทหารก็เคยทำ เป็นหุ่นยนต์ที่ใช้ในการสำรวจอาคาร ความเสียหายของอาคาร โจทย์จะยากนิดหนึ่ง หุ่นยนต์ต้องน้ำหนักเบา วิ่งบนฝ้าได้ เพื่อจะไปตรวจสอบว่าโครงสร้างข้างบน พังไหม และมีปลวกกินไหม เพราะว่าอาคารของทหารส่วนใหญ่เป็นไม้อยู่ โจทย์ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง น้องต้นหอมเป็นหุ่นยนต์ทรงตัวบนฟุตบอล ทำขึ้นมาเพื่อจำลองพฤติกรรม ถ้าเราจะทำคณะละครสัตว์ที่เป็นหุ่นยนต์แสดง เราจะทำได้อย่างไร เหมือนตัวตลกที่จะพยายามเดินบนลูกบอล concept เดียวกันเลย หุ่นยนต์เตะฟุตบอลก็ชัดเจนแล้ว หุ่นยนต์แม่บ้านก็ชัดเจนแล้ว อื่นๆ อีก ก็จะมีหุ่นยนต์ไต่ผนัง ไม่ได้ทาสี ใช้สำรวจปล่องต่างๆ เช่น กรมมลพิษอยากจะสำรวจปล่อง ปล่องนี้ขึ้นไปข้างบนแล้วเอาตัว sensor ไปติดข้างบนว่าตอนนี้มลพิษเยอะไหม ก็สามารถใช้หุ่นยนต์พวกนี้ไต่ขึ้นไปได้ โดยที่คนไม่ต้องปีน เพราะว่าปล่องบางปล่องจะเรียบๆ ปีนอันตราย ตั้งนั่งร้านก็ไม่คุ้มค่า เอาหุ่นยนต์หนึ่งตัววิ่งขึ้นไปเลย ขึ้นไปวัด sensor ส่งข้อมูลกลับและวิ่งลง (พิธีกร การสร้างจะมีวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกัน) เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ เราไม่สามารถทำหุ่นยนต์ตัวเดียวทำได้ทุกอย่างเพราะฉะนั้นก็แยกเป็นส่วนๆ จะง่ายกว่า

โครงการ Robot citizen หรือประชากรหุ่นยนต์ มันคืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร

เป็น concept ของห้อง lab อย่างที่อธิบายไปว่า หุ่นยนต์มีได้หลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องมีแบบเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นคือห้อง lab นี้จำลองลักษณะที่ว่าถ้ามีหุ่นยนต์หลายๆ ประเภทมาอยู่รวมกัน คนหลายๆ คน หลายๆ ประเภทมาอยู่รวมกัน จะเกิดอะไรขึ้น จะเกิดความหลากหลายทางชนชาติ เพราะฉะนั้นเราอาจจะสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้ หุ่นยนต์รูปแบบใหม่ใช้งานลักษณะใหม่ เกิดขึ้นมาในห้อง lab เราจะไม่ปิดกั้น ลักษณะที่ว่าเราเป็นหุ่นยนต์ใช้งานในบ้านคุณลำไย เราต้องคุณลำไยนะไม่จำเป็น ทำอะไรก็ได้ที่หุ่นยนต์ตัวนั้นสามารถช่วยเหลือมนุษย์ เรา happy ที่จะทำ

ผลลัพธ์ของการแข่งขันในแต่ละครั้งอาจารย์มองว่าอนาคตวงการหุ่นยนต์ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

เมืองไทยเก่งในเรื่องหุ่นยนต์ เรามีแชมป์โลกในหลายๆ สาขาตลอดเวลาทุกปี เราจะได้ยินข่าวเสมอว่าเป็นแชมป์โลกหุ่นยนต์อีกแล้ว ตั้งแต่สมัยเด็กจนถึงมหาวิทยาลัย น่าเสียดายเหลือเกินเมื่อก่อน เด็กเหล่านี้ไปไหน เด็กเหล่านี้ไม่ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยชั้นนำ ก็ไปทำงานบริษัทชั้นนำต่างประเทศ  เช่น อย่างห้อง lab ไปญี่ปุ่นบ่อยมาก ทางญี่ปุ่นเห็นว่ามีศักยภาพ แต่ตอนนี้โชคดีเหลือเกิน ที่ทางรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนทางด้านหุ่นยนต์เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อจะสร้างเทคโนโลยีของเราเอง สร้างบริษัทของเราเอง ตอนนี้มีบริษัทของคนไทยที่ทำเรื่องหุ่นยนต์เกิดขึ้นเยอะขึ้นเรื่อยๆ เป็นความโชคดีที่ทำให้เด็กที่ทำหุ่นยนต์ใหม่ๆ สามารถทำงานในเมืองไทยได้ เชื่อว่าเด็กส่วนใหญ่ที่ไปทำงานต่างประเทศทางด้านหุ่นยนต์ ไม่จำเป็นไม่อยากไป เขาอยากทำงานในเมืองไทย แค่หางานไม่ได้ ปัจจุบันการที่มีงานแล้วมีการสนับสนุนจากภาครัฐที่ดีแล้ว เชื่อว่าเป็นอนาคตที่สดใสของประเทศไทย เรามีเด็ก เรามีจุดให้เด็กไปแสดงความสามารถแล้ว เชื่อว่ามันครบ loop ขึ้นเรื่อยๆ (พิธีกร ในอนาคตอันใกล้นี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสิ่งอำนวยของคนเราอาจจะมีหุ่นยนต์เข้ามาทำหน้าที่ให้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการช่วยเหลือหรือว่าการทำหน้าที่แทน ทำให้ชีวิตของเราอาจจะดีขึ้น สะดวกขึ้น)

แนะนำทรัพยากรสารสนเทศที่น่าสนใจ

Neural networks for robotics : an engineering perspective

Robot : meet the machines of the future

Industrial robotics & mechatronics applications

Springer Handbook of Robotics

Introduction to mobile robot control

Make : รวมโปรเจกต์สร้างหุ่นยนต์และสิ่งประดิษฐ์ด้วย Arduino

สร้างหุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วย Raspberry Pi

การสร้างและพัฒนาหุ่นยนต์

Artificial intelligence with machine learning, AI สร้างได้ด้วยแมชชีนเลิร์นนิ่ง

ปัญญาประดิษฐ์ คิดเปลี่ยนโลก

คน กับ AI : โอกาสและความเสี่ยง

ติดจรวดทางความคิด แบบ อีลอน มัสก์

 


 
 
 
1xbet casino siteleri bedava bahis kaçak bahis superbetin yeni giriş casino siteleri