KULIB Talk #14
ชีวิตของผู้พิทักษ์ป่าแห่งทุ่งใหญ่นเรศวร
หัวหน้าวิเชียร ชิณวงษ์" ศิษย์เก่า KU59 ฟังแรงบันดาลใจในการปฏิบัติหน้าที่ ความยากลำบาก อุปสรรคต่างๆ
วันนี้สำนักหอสมุดได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่ง ผู้กล้าจากทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นผู้พิทักษ์สัตว์ป่า และเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งจบการศึกษาจากคณะวนศาสตร์ KU59 เป็นรุ่นพี่ของเราเอง โดยท่านผู้นี้ทำงานด้วยความยากลำบาก มีความเข้มแข็งอดทน และมีความกล้าหาญเป็นอย่างมาก วันนี้ได้รับเกียรติเป็นอย่างมาก ที่ได้รับชมประสบการณ์การทำงาน และประสบการณ์การใช้ชีวิต ร่วมในรายการของเราในวันนี้ ขอต้อนรับ คุณวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ตะวันตก จ.กาญจนบุรี
เมื่อเร็วๆ นี้ คุณวิเชียรเพิ่งได้รับรางวัลพิเศษ จากการยกย่องเชิดชูเกียรติความกล้าหาญ การสร้างสรรค์นวัตกรรม และความมีจริยธรรม จากคดีเสือดำ โดยรางวัลนี้ได้รับจาก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ UNEP อยากให้เล่าความรู้สึกกับรางวัลครั้งนี้
รู้สึกไม่คาดฝันว่าทางองค์กรจะมอบรางวัลนี้ให้เรา เราคิดว่าเราทำงานของเราไปเป็นปกติ ขอขอบพระคุณที่ทางสำนักงานได้กรุณามอบรางวัลให้เป็นกำลังใจในการทำงานที่ดีมาก
จากที่ได้รับรางวัลมา อะไรเป็นความหนักหนาที่สุดจากการปฏิบัติคดีที่ผ่านมา
จริงๆ เป็นผู้ที่ทำงานดูแลป่าและสัตว์ป่า ถ้ามีการทำผิดเกิดขึ้น ถ้าเราเห็นว่าเขากระทำความผิดเราก็ต้องการให้เขาได้รับผลในสิ่งที่เขาทำลงไป สิ่งที่หนักหนาสาหัสในช่วงนั้นคือการเก็บข้อมูลหลักฐานต่างๆ เพื่อที่จะนำสืบว่าคนที่ถูกจับกุม เขามีความผิดอย่างไร เพื่อจะนำไปสู่ทางอัยการจะได้ฟ้องได้ ศาลก็สามารถตัดสินได้ ลงโทษตามที่ศาลเห็นสมควร
ในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ มีอะไรที่รู้สึกเป็นปัญหาในเรื่องของการปฏิบัติงานต่างๆ
ปัญหามีเกือบทุกที่ ของทุ่งใหญ่นเรศวรจะเป็นพื้นที่ sensitive ต่อความอ่อนไหวของความรู้สึกของหลายๆ คน เพราะเป็นพื้นที่ป่ามรดกโลก เป็นป่าที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย การทำงานในทุ่งใหญ่ต้องมีความรอบคอบ ยึดตามระเบียบกฎหมายที่มี ซึ่งไม่ง่ายเหมือนพื้นที่อื่น เนื่องจากพื้นที่นี้สังคมจับตามองอยู่ มีกลุ่มนักอนุรักษ์ หรือกลุ่มหลายๆ ภาคส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของเรา ต้องทำงานให้รัดกุม รอบคอบ รวมทั้งให้เกิดผลสำเร็จ
ในการปฏิบัติงานแต่ละครั้ง นอกเหนือจากภารกิจที่ผ่านมา คุณวิเชียรคิดว่าเรื่องไหนทำให้เราลำบากใจมากที่สุดในการปฏิบัติงาน
เป็นเรื่องบุคลากรภายในมากกว่า การที่จะให้คนไปทำงานจะต้องมีการเทรนคน เซ็ทคน มีการวางงาน สิ่งที่เป็นปัญหาหนักของการทำงาน เชื่อว่าหน่วยงานป่าไม้ทุกองค์กรมี ปัญหาที่เกิดจากบุคลากรภายในองค์กรมากกว่า ส่วนปัญหาเรื่องศึกนอก บุคคลภายนอก ถึงจะหนักแต่น่าจะอยู่ในข่ายที่เราสามารถรับมือหรือแก้ปัญหาได้ ถ้าองค์กรภายในของเรามีความเข้มแข็ง ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นปัญหาที่เกิดจากองค์การภายในของเรา
สภาพพื้นที่รอบข้างมีผลต่อการปฏิบัติไหม
มีผล ทุ่งใหญ่นเรศวรโชคดีเป็นพื้นที่ป่า ที่เป็นไข่แดงของป่าตะวันตก ทุ่งใหญ่กับห้วยขาแข้งจะเป็นไข่แดง แล้วก็จะมีป่าอื่นๆ เช่น อุทยานแห่งชาติล้อมรอบอยู่ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้จะรับแรงปะทะจากภายนอกที่จะเข้ามาคุกคามป่า ถ้าภัยคุกคามมากจะถูกหน่วยงานเหล่านี้คอยปะทะก่อน ถึงจะค่อยเล็ดลอดเข้ามาถึงทุ่งใหญ่ได้ ถือเป็นความโชคดีที่ว่าทุ่งใหญ่กับห้วยขาแข้ง ตั้งอยู่ในเกือบจะเป็นไข่แดงของพื้นที่ชั้นในของผืนป่าตะวันตก ทุ่งใหญ่จะมีอุทยาน เขตรักษาพันธุ์ป่าอื่นๆ เป็นเสมือนรั้วให้ต้องขอบคุณหน่วยงานเหล่านี้ที่เขาดูแลพื้นที่ป่า ทำให้เราตัดปัญหาหลายๆ อย่างที่จะเกิดกับพื้นที่ของเราไปได้เยอะพอสมควร
แต่ละเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจำนวนบุคลากรเพียงพอไหมต่อการปฏิบัติงาน
วันนี้ถ้าดูเนื้อที่ป่าที่ต้องดูแลกับเทียบจำนวนคนถือว่าน้อยมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามองอยู่ตลอดเวลา กรมอุทยานก็มองอยู่ตลอดเวลา เชื่อว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นจากปัญหาอัตรากำลัง เชื่อว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น
จากการติดตามข่าวสารที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่าคุณวิเชียรและทีมงานมีผลงานในการปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่าของประเทศเรามาพอสมควร อยากทราบว่ามีคติในการทำงานอย่างไร เพื่อให้ผ่านอุปสรรคต่างๆ เหล่านี้ไปได้
ได้จากตอนเรียนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียวเกษตร เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน สามัคคี ลูกเกษตรก็ผ่านกิจกรรม เช่น รับน้อง หรือกิจกรรมที่เราทำสมัยเรียนได้รับการปลูกฝังหรือคำสอนจากพี่ๆ ลูกเกษตรต้องติดดิน ไม่กลัวความลำบาก สิ่งที่เอาไปใช้ในการทำงานคือจะต้องทำให้ได้ ไม่ว่าจะมีอุปสรรคที่ลำบากแค่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องของความพยายาม เอาสร้อยเกษตรหรือสร้อยวนศาสตร์ไปใช้ได้เลย ในการทำงานเกี่ยวกับเรื่องป่าไม้ วนศาสตร์ เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน สามัคคี (พิธีกร อันนี้เป็นคติในการทำงานนำมาใช้จากชีวิตในวัยเรียนในคณะวนศาสตร์ มาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงาน) อยู่ตึก อยู่หอ ที่เราอยู่มา 4 ปี พอเราไปทำงานเราก็แทบไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก เพราะว่าลูกเกษตรส่วนใหญ่ก็มาจากต่างจังหวัดกัน การใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยพอไปอยู่ข้างนอกแทบไม่ได้ปรับตัวอะไรเลย ในส่วนของการใช้ชีวิต ในส่วนของการไปทำงาน ลูกเกษตรไปอยู่ไหนก็สามารถทำงานได้
ตลอดระยะเวลาในการทำงานที่ผ่านมามีความประทับอะไรบ้าง นอกจากที่ว่าต้องแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ
ประทับใจการได้เจอสัตว์ป่าที่สำคัญๆ ได้เจอทัศนียภาพหรือวิว จุดที่ซ่อนอยู่ในป่า หลายๆ คนไม่ได้เห็น นี่คือความประทับใจและความโชคดีของเราได้มีโอกาสทำงานดูแลป่า
เป็นความชอบส่วนตัวอยู่แล้วรึเปล่า ตั้งแต่สมัยเรียน รู้ตั้งแต่แรกเลยรึเปล่าว่าชอบสัตว์ป่า พื้นที่ป่าของประเทศไทยต่างๆ
มาค้นพบตัวเองตอนเรียนอยู่คณะวนศาสตร์ อยู่ปี 2 ตอนนั้นเรียนสาขาชีวพืช ชีววิทยาป่าไม้ ซึ่งเรียนเกี่ยวกับต้นไม้ พอตอนอยู่ปี 2 อ่านหนังสือสัตว์ป่า ดูสารคดี เลยมีความสนใจเปลี่ยนสายไปเรียนด้านการจัดการสัตว์ป่า แต่ยังไงก็หนีไม่พ้นต้นไม้ หนีไม่พ้นป่าอยู่ดี เป็นความชอบมาตั้งนานตั้งแต่เด็กแล้วก็ว่าได้
ในการปฏิบัติงานที่ผ่านมากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เป็นคดีดัง อยากทราบว่าเปลี่ยนชีวิตของคุณวิเชียรไหม จากที่เคยปฏิบัติงานเป็นหัวหน้าเขต เป็นเจ้าหน้าที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เกิดมีข่าวดังมีคนรู้จักมากขึ้น ตอนนี้มีคนรู้จักคุณวิเชียรค่อนข้างมาก รู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้ ทำให้ชีวิตการปฏิบัติงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
เหมือนกับว่าสังคมมีความคาดหวังมากขึ้นกับตัวเรา เราจะต้องพัฒนา เช่น คุณภาพงาน หรือการปฏิบัติตัว อย่าให้เขาผิดหวัง พยายามไม่ให้มีข่าวเสียหาย แต่ก่อนชีวิตก็ติดดินลูกทุ่ง อยากไปทานข้าวที่ไหนก็ทานได้ อยากทำอะไรก็ไม่มีใครมาสนใจเรา พอมีเหตุการณ์เกิดขึ้น บางอย่างทำเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องใช้ชีวิตด้วยความเรียบร้อย (พิธีกร พอไปทานข้าว จะมีคนติดตามข่าว มาขอถ่ายภาพ มีค่อนข้างเยอะอยู่ใช่ไหม) มีบ้าง (พิธีกร เป็นสิ่งที่ประชาชนที่ติดตามข่าวให้ฟีดแบ็คกับคุณวิเชียร รู้สึกว่าเกิดเป็นความคาดหวังของประชาชน) เขามองว่าต้องเป็นคนดีนะ คนดีต้องถือศีลกี่ข้อ หรือต้องทำตัวแบบไหนถึงเรียกคนดี สังคมไทยคิดว่าถ้าเขาเป็นคนดี เขาจะต้องทำตัวประพฤติปฏิบัติ บางทีเราเป็นเด็กชาวบ้าน เด็กที่เรียนป่าไม้ บางสิ่งบางอย่าง คำพูดคำจาจากเดิมที่เราจะพูดอะไรก็ได้ ตอนนี้ก็ต้องคิดให้มากขึ้น เช่น การใช้คำหยาบคายก็ต้องในส่วนที่จะได้ต้องอยู่กับคนที่เราสนิทรู้จักมักคุ้น จะไปด่าคนอื่นเสียๆ หายๆ เหมือนตามอารมณ์ของแต่ก่อน บางทีก็ต้องดูให้ดี ต้องคิดให้มากขึ้น ไปทานข้าวริมทางแล้วดื่มสุรา บางทีก็อาจจะมีคนจำเราได้ มองภาพเรา ภาพจำของเขาคือคนดี แต่มาทำตัวอิเหละเขะขะแบบนี้เขาก็จะมอง ก็มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมาก
อยากให้เล่าถึงการปฏิบัติงานของแต่ละวันในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในแต่ละวันตื่นเช้ามาต้องทำอะไรบ้าง เพื่อที่อยากให้น้องๆ รุ่นใหม่ฟัง ที่ยังไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง อยากให้เล่ารายละเอียดให้ฟังได้ไหม
ขอผสมผสานไปกับเจ้าหน้าที่ด้วยว่าทำอะไรบ้าง ในองค์กรองค์กรหนึ่งมีการแบ่งงานเป็นหลายแผนก หลายฝ่าย หัวหน้าต้องดูทุกฝ่าย ถ้ามีรองหัวหน้า หัวหน้ามอบหมายให้ดูฝ่ายก็ดูแลในฝ่ายนั้นๆ เป็นหลัก หัวหน้าก็ดูเรื่องการวางแผนในการปฏิบัติงาน อย่างเช่น กรมอุทยานเขามีแผนงานอะไรมา หัวหน้าก็เอามาแจงกับเจ้าหน้าที่ เช่น หลังจากเข้าแถวเคารพธงชาติเสร็จแล้ว ก่อนคุณไปทำงานคุณต้องไปเก็บข้อมูลอะไร คุณจะไปออกป่า คุณจะต้องไปเส้นไหน อะไร อย่างไร ถ้าเป็นฝ่ายวิจัย เขาค่อนข้างจะเก่ง เราก็ไม่ได้กำชับอะไรเขามาก น้องที่มาทำงานด้วยกัน ก็เรียนจบวนศาสตร์ เรียนมาทางนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าให้คำแนะนำกับเขาในบางสิ่งบางอย่าง เขาก็เก็ตไปทำงานได้เลย (พิธีกร งานวิจัยส่วนมากจะวิจัยเกี่ยวกับสายพันธุ์สัตว์ป่าด้วยรึเปล่า) จริงๆ ทุ่งใหญ่ปีนี้จะมีงานวิจัยเรื่องค้างคาว อย่างนี้เป็นต้น รวมทั้งการสรุปข้อมูลด้านพันธุ์พืช ด้านสัตว์ป่าบางชนิด ฝ่ายวิจัยเราไม่ต้องบอกอะไรเขามาก มีความรู้อยู่แล้ว เขาก็เก็ตไป ส่วนฝ่ายอื่นๆ เช่น ฝ่ายบริหารเหมือนอย่างที่เราทราบว่าจะมีเรื่องงานบุคคล งานการเงิน งานงบประมาณ งานอาคารสถานที่
เจ้าหน้าที่ที่ต้องออกไปพื้นที่ป่า เขาต้องออกไปสำรวจป่าทุกวันไหม หรือบางวันที่จะต้องออกตามพื้นที่
จริงๆ ไม่ใช่การสำรวจป่า มันเป็นงานหลักของเราคืองานคุ้มครองทรัพยากรป่าและสัตว์ป่า คือเป็นงานลาดตระเวน เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายป่าไม้ ซึ่งเราจะมีชุดลาดตระเวนอยู่ 20 ชุดลาดตระเวน ตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ในทุ่งใหญ่นเรศวร ในแต่ละเดือนต้องลาดตระเวนป่าไม่น้อยกว่า 15 วันต่อชุด เอาผลการลาดตระเวนป่าเอามาประมวลผลในการประชุมใหญ่ นำเสนอมาว่าแต่ละชุดไปเจออะไรมาบ้าง เช่น เจอปลอกกระสุนปืนที่หล่นในป่าที่ยิงแล้ว ไปเจอแคมป์ที่คนเข้ามาตั้งแคมป์ในป่า เอาข้อมูลเหล่านี้มา หรือแม้กระทั่งเข้าไปเจอสัตว์ป่า ร่องรอยของสัตว์ป่าเก็บข้อมูลเหล่านี้มาด้วย นอกจากถือปืนแบกเป้จะต้องเอาปากกากับสมุดจดบันทึกไปด้วย
สัญญาณมือถือเวลาเข้าป่ามีสัญญาณไหม
แทบไม่มีเลย มีเฉพาะบางจุดที่อยู่ใกล้ๆ ไม่ไกลนักจากสัญญาณโทรศัพท์ที่ส่งสัญญาณมาถึง เช่น อยู่บนยอดเขา ซึ่งเสาโทรศัพท์อยู่ไม่ไกลก็ยิงหากันได้
เวลาลาดตระเวนแต่ละครั้ง ระยะทางไกลแค่ไหน
ไม่มีกำหนดระยะทางตายตัวเพียงแต่เราจะกำหนดจำนวนวัน 15 วันอาจจะหลายครั้งในการเข้าตระเวนป่า แต่ในหนึ่งชุดการจะออกไปลาดตระเวนป่าต่อ 1 เที่ยว อยู่ที่การกำหนดแผนระหว่างเจ้าหน้าที่ที่อยู่ด้วยกันในแต่ละชุด ไป 5 วัน ไป 7 วันบ้าง บางชุดไป 10 วัน เที่ยวเดียว 10 วันทั้งไปและกลับ ถ้าไม่เจอภัยคุกคามที่จะต้องไปจับกุมตัวคนก็จะใช้เวลานานมากอยู่ในป่า แต่ถ้าเจอร่องรอยต้องมีการแกะรอย ซึ่งบางทีถ้าไปจับผู้ต้องหาได้ก็ต้องพาผู้ต้องหามาส่ง สอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเฉลี่ยระยะทางที่เดินประมาณ 50-70 กิโลเมตร ต่อชุดต่อเดือน
ระยะทางที่เดินไกลที่สุดก่อนพัก คุณวิเชียรเคยตรวจสอบไหม ระยะทางกี่กิโลเมตรแต่ละครั้ง
มีประมาณ 110 กว่ากิโลเมตร ใน 15 วันรวมกันต่อหนึ่งชุด แต่ชุดอื่นอาจไม่ได้ 100 กิโลเมตร อาจจะได้ 80 ก็ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นที่
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมไปเยอะพอสมควรไหม
ไม่เยอะ เรื่องเสื้อผ้า เรื่องเครื่องกันหนาวเราคงรู้กันดีอยู่แล้ว แต่จะมีเพิ่มพวกแก๊สกระป๋อง เตาที่ใช้แก๊สกระป๋อง เวลาหน้าฝนสามารถก่อไฟได้เร็ว เวลาฝนตกไม่ต้องเสียเวลามาก่อไฟ หน้าฝนฟืนมันเปียก ส่วนพวกอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น เปลสนาม เสื้อกันฝน ถุงนอน เสื้อกันหนาว มีด ไฟฉาย เป็นพื้นฐานที่เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนป่าหมดทุกที่มีอยู่แล้ว ที่เพิ่มเติมขึ้นมา อุปกรณ์หุงต้ม แก็สกระป๋องบางที่ก็ไม่ได้มีใช้ อันที่เป็นไฮไลท์ของเรา ที่จำเป็นต้องใช้ในการลาดตระเวนเพื่อจะนำมาสู่การได้ข้อมูลสำคัญก็คือ ตัว GPS แผนที่ data sheet ที่จะต้องไปเก็บข้อมูลว่าถ้าเราเดินไปเจอแคมป์ของพราน เราต้องลงข้อมูล ไปเจอปลอกกระสุน เราก็ลงข้อมูล ไปเจอกิ่งไม้ถูกหักอยู่ในป่าลึกต้องมีคนเข้ามา เราก็ลงข้อมูลมา ไปเจอร่องรอยสัตว์ป่า ร่องรอยเสือ ร่องรอยช้าง ก็บันทึกมา ในเดือนนี้ 20 ชุด ที่กระจายลาดตระเวนมา เราก็จะรู้ว่ามีอะไรอยู่ในบ้านเราบ้างที่เราเป็นยามดูแลให้
เวลาเจอสัตว์ป่าเรามีวิธีอย่างไรบ้างในการจัดการ
จริงๆ ถ่ายรูป (พิธีกร เขาก็จะรู้ว่าเรามา) สัตว์ป่าหลายชนิดมีสัญชาติญาณในการหลบหลีกลี้ภัย ถ้าเป็นสัตว์ใหญ่จะไม่ปรากฏตัวให้เราเห็นเท่าไร เช่น กระทิง สัตว์ผู้ล่า เช่น เสือดำ เสือดาว เสือโคร่งจะหลบคน ถ้าเป็นสัตว์เล็ก เช่น นกจะบินมาให้เห็นง่ายๆ มีอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว เจอสัตว์ป่าทำอะไร เจ้าหน้าที่หยุดยืนดู เรียกเพื่อนมาดูและถ่ายรูป จริงอยู่ในป่าเราจะรู้สัญชาติญาณพฤติกรรมของสัตว์ป่า ไม่มีใครต้องวิ่งหนี เว้นเสียแต่ว่า สัตว์จะวิ่งเข้ามาชาร์ตคน มักจะเป็นในเวลาที่มันจวนตัว หรือเผชิญหน้ากับคนในระยะกระชั้นชิด อันนี้อาจมีการมาทำร้ายคนได้ ถ้าเป็นสัตว์โดยทั่วไปที่เข้าไปในป่าระยะทางเป็นหลาย 100 เมตร เขาก็จะได้กลิ่น เขาได้ยินฝีเท้าเรามา เขาก็หลบไป
จากที่ผ่านมา สำรวจลาดตระเวนป่า คุณวิเชียรเห็นปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย จากการลาดตระเวนเจอปัญหาอะไรมากที่สุดเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
การใช้ทรัพยากรเพื่อการดำรงชีวิตในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม เช่น การจุดไฟเผาป่า ฤดูหนาวเข้าฤดูแล้ง ก็จุดไฟเผาป่า เพื่อหาของป่า ซึ่งเรารู้ไหมว่าเราจุดไฟเผาป่า ต้นไม้บางชนิดก็ถูกไฟทำอันตราย สัตว์ป่าบางชนิดที่หนีไม่ทัน ก็ถูกไฟครอกตาย หรือว่าทำให้ต้นไม้ชะงักการเจริญเติบโต ถ้าวิเคราะห์ให้ดี ไฟป่าก็มีประโยชน์อีกด้านหนึ่งเช่นกัน ถ้าเป็นป่าเต็งรัง ก็จะช่วยรักษาป่าให้คงเป็นป่าเต็งรัง ซึ่งป่าชนิดนี้ก็มีสัตว์ป่าเข้ามาใช้ประโยชน์ มีทั้งคุณและโทษ ถ้าคนเอาไปใช้โดยมีเจตนาที่ไม่ดี จะเป็นช่องทางให้ป่าเสียหาย จุดไฟเพื่อให้สัตว์มันอออกมาแล้วยิง อย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือการเข้ามาล่าสัตว์ป่า อย่างนี้เป็นต้น โดยเฉพาะบางคนก็ไม่ใช่เป็นคนที่ยากจน มีพออยู่พอกิน แต่เขาก็มาล่าสัตว์เพื่อความสนุกสนาน ความบันเทิง หรือความชอบส่วนตัว หรือเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน ป่าดีๆ แต่เราไปปลูกพืชที่มันไม่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น พืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่สูง มีความลาดชัน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องหน้าดินพังทลาย เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม อันนี้คือสิ่งที่พบ ประเทศเจอปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เหมาะสม
ส่วนใหญ่หากเกิดไฟป่าขึ้นมา เราจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นไฟป่าที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ หรือไฟป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ตั้งแต่ทำงานมา ไฟ 100% ในเมืองไทยเกิดจากคนจุดทั้งนั้น โอกาสที่ต้นไม้ไปเสียดสีกันแล้วเกิดไฟ หรือฟ้าผ่าแล้วเกิดไฟ ไม่เคยเห็น เจ้าหน้าที่ที่เคยทำงานมา เขาก็บอกไม่เคยเห็น เกิดจากน้ำมือมนุษย์ทั้งสิ้น
ย้อนตั้งแต่เป็นนิสิตคณะวนศาสตร์ ตอนแรกเรียนชีววิทยาป่าไม้ เปลี่ยนมาเป็นทางด้านการจัดการสัตว์ป่า อยากทราบว่าถ้าอยากมาทำงานทางด้านการรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำเป็นไหมต้องเรียนทางด้านการจัดการสัตว์ป่า หรือเรียนทางด้านเกี่ยวกับพืชก็สามารถมาปฏิบัติงานทางด้านนี้ได้
ชีวิตจริงพอมาทำงาน มันเลือกไม่ได้ คนที่มาทำงานด้านสัตว์ป่าก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่จบด้านการจัดการสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว เพียงแต่ว่าความรู้ด้านนี้สามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้ บางครั้งก็ได้จากประสบการณ์จริงที่พบจากการทำงาน การเรียนในคณะนี้ สาขานี้ มีความสำคัญระดับหนึ่ง จำเป็นระดับหนึ่ง ท้ายที่สุดการมาทำงานในพื้นที่จริง เป็นตัวที่คอยสอนเรามากกว่า ใครที่ไม่ได้เรียนมาทางด้านสัตว์ป่า ก็สามารถมาทำงานศึกษาเพิ่มเติมได้ (พิธีกร ในที่ทำงานไม่ได้มีเฉพาะเด็กที่จบจากวนศาสตร์ใช่ไหม มีหลากหลายสาขามาทำงานด้านนี้ก็ได้) ก็ได้ ถ้ามีความสนใจจริง ตั้งใจจริง สามารถอยู่กับป่าได้ อยู่กับความยากลำบาก อยู่กับป่าที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือนในเมือง
ทำไมถึงสนใจป่าไม้เป็นพิเศษ
ตอนเด็กๆ บ้านก็ทำไร่ทำนา โตมาก็เห็นต้นไม้ก็ชอบ เวลาพ่อพาไปไร่ไปนาจะเข้าไปในป่าที่อยู่ติดนาเราด้วย รู้สึกว่ามันท้าทาย ตอนที่ยังเรียนอยู่มัธยมถ้ามีโอกาสก็จะชวนเพื่อนไปเที่ยวตามอุทยาน ตามป่า แต่เราก็ไม่ได้ไปลึก ไปในส่วนเส้นทางท่องเที่ยวหรือจุดชมวิว ได้ยินคำว่าวนศาสตร์ ตอนแรกก็คิดว่า มันเป็นคณะอะไร วนต้นไม้รึเปล่า เคยได้ยินชื่อวนอุทยาน น่าจะเป็นป่า ก็เลยไปถามอาจารย์ จึงทราบว่าเรียนเรื่องของป่า ของต้นไม้ ของการอนุรักษ์
ตอนนั้นก็เลยต้องเรียนคณะวนศาสตร์ ตั้งเป้าหมายตั้งแต่เรียนมัธยมเลยไหม
ก็อยากเรียน พอเอ็นทรานส์เข้ามาได้ก็ถือเป็นความโชคดี ที่เข้ามาเรียนสมใจ
ที่ต้องเข้ามาเรียนคณะวนศาสตร์รู้ไหมว่า พอจบไปทำงานต้องเสี่ยงอันตรายหลายอย่าง ทั้งจากสัตว์ป่าเองจากผู้ที่ลักลอบทำผิดกฎหมาย
ไม่ทราบ คือรู้ว่าจบไปต้องทำงานเกี่ยวกับต้นไม้หรือป่าแน่ เราก็คิดว่าต้องได้ไปท่องในป่า ไปผจญภัย ได้เจอสิงสาราสัตว์ บางทีอ่านจากนิยายบ้าง ดูการ์ตูน ในหนังบางเรื่องบ้าง คิดว่าเป็นอย่างนั้น คิดว่าสวยหรู สวยงาม จะสนุกมากกว่า น่าจะสนุก ภาพก่อนที่จะเอ็นทรานส์ พอเข้ามาปี 1 มาเดือนแรกๆ คิดว่ามันน่าจะอย่างนี้ ยังไม่รู้ ทางคณะมีกิจกรรมรับน้องของคณะ ของมหาวิทยาลัย จบไปต้องไปเจอรายละเอียดในการทำงานยังไง ต้องมีความยากลำบากแค่ไหน อันนี้ไม่รู้ คิดว่าต้องสนุกแน่
พอเข้ามาเรียนสิ่งที่คาดหวังตอนก่อนเข้ามา วนศาสตร์ แล้วตอนเข้ามาเหมือนอย่างที่เราคาดหวังไหม
เหมือนเป็นบางอย่างได้บางอย่าง ได้ไปผจญภัยได้แน่นอน ได้เจอความสวยงาม ความงดงามของธรรมชาติ ได้เจอสัตว์ป่าที่สำคัญๆ อันนี้เหมือนที่เราวาดหวังไว้ เรื่องที่มันสนุก ก็จะมีทั้งสุขและลำบาก ซึ่งชีวิตจริงป่าไม้ต้องเป็นหน่วยงานที่เรียกว่า จากที่ทำอยู่เป็นหน่วยงานที่ไม่ได้ไปเป็นผู้ให้โดยตรงเหมือนหน่วยงานอื่นๆ เช่น เวลาเจอแพทย์พยาบาลเป็นการรักษาคนที่ป่วยที่จะตายให้รอด ให้หาย เจอเกษตร เจอประมง มีพันธุ์พืชมาแจก พันธุ์สัตว์มาแจก ผู้ได้รับเขาก็มีความสุข ความพอใจ แต่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป็นงานที่ไม่ได้ให้อะไรเขาตรงๆ แต่เป็นผู้รักษาทรัพยากรไว้ ซึ่งทรัพยากรนี้จะมีคนอยากเอาไปใช้ มีความขัดแย้งกัน นี่คือการทำงานที่อยู่บนพื้นฐานของความต้องการของคน แล้วเราไปสวนกระแสความต้องการ ทุกหน่วยงานของป่าไม้ก็จะเจอรูปแบบนี้แทบทั้งสิ้น
ในส่วนของสัตว์ป่าเอง ผู้ที่ลักลอบทำผิดตามกฎหมาย มีวิธีป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ไม่ให้เกิดอันตรายกับเรา(อย่างเช่นสัตว์ป่าเรามีวิธีป้องกันตัวอย่างไรบ้าง)
การป้องกันมีหลายลักษณะ อยากเรียนก่อนว่าสัตว์ป่า ถ้าเราไม่ทำอะไรเขาก่อน น้อยนักที่เขาจะมาทำร้ายเรา หรือบางทีถ้าไม่จวนตัว เขาไม่มาทำร้ายมนุษย์ โดยส่วนใหญ่สัตว์ป่าเหล่านี้ คนเข้ามาในป่า จมูกเขาดี หูเขาดี ตาเขาดี เขาก็จะหลบเลี่ยงไปก่อน เว้นแต่ว่ามันจวนตัว หรือเจอกันในระยะกระชั้นชิด ด้วยความตกใจต่างคนต่างทำอะไรไม่ถูก สัตว์ป่า เช่น หมีอาจจะทำร้ายคน ถ้าสัตว์มีลูกอ่อน ถ้าสัตว์ตัวนั้นเป็นสัตว์ใหญ่ มีเขี้ยว มีคม มีเล็บแต่เขาก็ไล่อาละวาดเพื่อป้องกันตัว ป้องกันลูกของเขา ถ้าเจอสัตว์ป่าทำอย่างไร อย่างเช่น ถ้าเจอเสือจากประสบการณ์ที่เคยได้ยิน คนที่เขาเจอเขาเล่าให้ฟัง ไม่เคยเจอเสือ อย่าวิ่ง ถ้าวิ่งมันจะคิดว่าเราตกใจกลัวมัน หรือว่าเป็นเหยื่อที่จะต้องตามตะครุบ ล่าสุดมีเจ้าหน้าที่เจอ เขาใจแข็ง ยืนประจันหน้า สุดท้ายเสือก็ต่างคนต่างไป หรือมีบางกรณี เช่น ช้าง ถ้าเจอช้าง ถ้ามันหูกาง ยกหางเมื่อไหร่ คุณต้องมีระยะห่างกับมันที่เหมาะสม อันนั้นมันโมโหแล้ว อารมณ์ไม่ดี กระพือหู ยกหาง ดูแล้วว่ามันรู้สึกไม่ค่อยโอเคกับเราก็อยู่ให้ห่าง ถ้าเจอช้างไล่ต้องวิ่ง ถ้าอยู่ในป่า ช้างไม่เหมือนตามท้องถนน ถ้าไปเจอมันในระยะไม่ใช่กระชั้นชิด รู้ว่ามีช้างอยู่ต้องอยู่ให้ห่าง (พิธีกร ช้างป่าไม่ได้เชื่องใช่ไหม) ช้างป่าขึ้นอยู่กับพื้นที่ แต่ว่าถ้าช้างเราอยู่ในป่าไม่มีถนนลาดยาง ไม่มีถนนให้เราหนี อยู่ในป่าลึกๆ รกๆ อยู่ห่างๆ ดีกว่า แต่ว่าถ้าคุณจะไปสำรวจพฤติกรรมมัน ไปสำรวจช้าง อันนี้เป็นอีกเคสหนึ่ง
ในกรณีผู้ลักลอบทำผิดกฎหมาย เราจะมีวิธีป้องกันตัวอย่างไรบ้าง แน่นอนว่าจะเกิดการปะทะอะไรกันบ้าง
ป้องกันตัวอย่างไร ต้องใช้ความรัดกุม เจ้าหน้าที่เมื่อเจอผู้กระทำความผิดซึ่งมีอาวุธ ขอเรียนว่าถ้าจะจับกุมคนเหล่านี้ เราต้องมีจำนวนที่มากกว่า มีคู่บัดดี้เวลาเข้าไปควบคุมตัว ไม่มีสูตรตายตัวต้องทำอย่างไร ที่เคยเห็นก็อาศัยจังหวะที่เขาเผลอ หรือจะใช้ลักษณะของการซุ่ม หมอบ คลานเข้าไปให้ใกล้ตัวบุคคลเขามากที่สุด ก่อนเข้าไปเราต้องดูก่อนว่า เขามีปืนไหม อะไรอย่างไร บางครั้งปืนเขาอาจจะเหน็บอยู่ที่เอวก็ได้ บางครั้งปืนอาจเป็นปืนยาวซึ่งเขาสะพายอยู่ก็ได้ ก่อนที่เราจะเข้าไปจับกุม ควบคุมตัวก็ต้องดูให้มั่นใจ ไม่ใช่ว่าเห็นคนอยู่ในป่าก็วิ่งทะเล่อทะล่าเข้าไปบางทีก็เสี่ยง ก็ต้องมีทีม มีการวางแผน ผ่านการฝึกมา ถึงเข้าไปทำงาน ถ้าไม่มั่นใจ คิดว่าอย่าเพิ่งเข้าไปจับทันที วันนี้จับไม่ได้ พรุ่งนี้ยังมีเวลา จับพรุ่งนี้ไม่ได้ วันต่อไปถ้าเขาเข้ามากระทำผิดอีก มีโอกาสที่เราจะจับได้ใหม่ ถ้าเราทะเล่อทะล่าเข้าไปโดยที่ไม่มีประสบการณ์ หรือไม่รัดกุม แล้วเราบาดเจ็บ หรือเราตายก็จะไม่คุ้ม
ย้อนมาในเรื่องสมัยเรียนบ้าง วนศาสตร์กับห้องสมุดของมหาวิทยาลัยก็อยู่ไม่ห่างกันมาก ตอนเรียนคุณวิเชียรเข้าห้องสมุดของหอกลางบ้างไหม
ก็ไม่บ่อย แต่ตอนอยู่ปี 1 ปี 2 ตอนนั้นจะเข้าค่อนข้างมาก เพราะว่าในห้องสมุดมีหนังสืออยู่เยอะ คล้ายๆ ว่าเป็นจุด เป็นสถานที่ที่เราไปนั่งคุยกับเพื่อนได้ ทำรายงายได้ แอร์ก็เย็น เย็นจัดมาก บางคนก็แอบมาหลับในห้องสมุดก็มี ตอนนั้นเข้าบ่อยไหม ใช้คำว่าไม่ค่อยบ่อย เพราะว่าโดยลักษณะแล้วเราไม่ใช่เด็กหนอนหนังสือ จะเข้าก็คืออาจารย์ให้ทำรายงาน แล้วก็ตอนนั้นอินเตอร์เน็ตยังไม่แบบทุกวันนี้ ยังไม่มี google ที่ให้ search หา เราต้องเข้ามาห้องสมุด ยืมหนังสือไปทำรายงานมาคืนก็ว่าไป ถ้าเทียบกับตอนนี้ ตอนนั้นเข้าห้องสมุดมากกว่าตอนนี้ ถ้ายังเรียนอยู่นะ (พิธีกร สมัยนี้หาข้อมูลจากที่ไหนก็ได้) มีทั้งผลดีและผลที่ต้องพึงระวัง
มีหนังสือที่ชอบอ่านไหม นอกจากตำราเรียน เป็นหนังสือแนวไหน
ชอบอ่านประวัติศาสตร์การเมือง ทุกวันนี้ก็ชอบซื้อหนังสือแนวนี้มาอ่าน
ในการปฏิบัติงานอาจจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม คุณวิเชียรหาข้อมูลจากแหล่งไหนบ้างในการปฏิบัติงาน หรือข้อมูลทางด้านป่าไม้
ชอบโทรหาเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง อยากได้เรื่องนี้ไปหาจากที่ไหน พี่มีข้อมูลไหม ถ้าทำงานอยู่ในป่า ทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นพื้นที่สัญญาณอินเตอร์เน็ตแย่มาก โทรหาเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง คนที่รู้จักที่พอจะให้คำแนะนำเราได้ ถ้ากลับออกมาในเมืองที่มีสัญญาณโทรศัพท์ใช้อินเตอร์เน็ตในการค้นหา ส่วนถ้าจะหาหนังสือเป็นเล่ม ที่ทำงานก็มีหนังสือเป็นห้องสมุดของหน่วยงานข้อมูลเฉพาะในการปฏิบัติงาน
เทคโนโลยีเปลี่ยนไปค่อนข้างรวดเร็ว คุณวิเชียรอยากเห็นอะไรในเด็กรุ่นใหม่สมัยนี้ อยากให้เขามองอะไรเป็นเรื่องสำคัญในอันดับแรก ในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการเรียน
ถ้าเป็นส่วนในการทำงานด้านป่าไม้ก็ต้องมองว่า คนที่จะไปอยู่ป่าก็ไม่ควรสร้างเงื่อนไขว่าที่ทำงานนั้นๆ จะต้องมีสัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณอินเตอร์เน็ตที่มันรวดเร็วเสมอไป น้องๆ บางคนโตมาในยุคดิจิตอล ขาดไม่ได้ ยอมรับ ในป่าแม้กระทั่งบ้านพักซึ่งอยู่ในหน่วยงานแต่อยู่ในป่า สิ่งเหล่านี้ก็มีไม่ครอบคลุม ไม่เพียงพอ อย่าไปคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญจนเกินไป จนเราละเลยในเรื่องการมาทำงานดูแลทรัพยากรที่เราเรียนมา แต่มีเทคโนโลยีก็ดี ทำให้การทำงานก้าวกระโดด รวดเร็ว ชับไว
ช่วงท้ายของรายการแล้ว มีการวางแผนหรือมองภาพอนาคตตัวเอง ไว้อย่างไรบ้าง นับจากนี้
เป็นคำถามที่ตอบยากมาก ก็ไม่ได้วางแผนอะไรไว้ คิดว่าทำงานให้งานกับเรื่องครอบครัวไปด้วยกันได้ ไม่หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง ให้ชีวิตบะลานซ์ ทั้งเรื่องงานและครอบครัวเป็นสิ่งที่จะต้องทำให้ดีควบคู่กันไป เพราะถ้าเราเริ่มต้นจากตัวเราเองพร้อมแล้ว การทำงานเราก็จะไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ทำงานได้อย่างเต็มสปีดของเรา
ทรัพยากรสารสนเทศของสำนักหอสมุดที่เกี่ยวข้อง
ทรัพยากรสารสนเทศของสำนักหอสมุดที่เกี่ยวข้อง
ชื่อเรื่อง
- ป่าไม้ไทย / หมื่นวลี
- อุทยานแห่งชาติ [electronic resource]
- อุทยานแห่งชาติและการอนุรักษ์ [electronic resource] / กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
- ทุ่งใหญ่นเรศวร [videorecording]
- ห้วยขาแข้ง : มรดกสัตว์ป่าและพืชพันธุ์ของโลก
- สัตว์ป่าเมืองไทย / สุรินทร์ มัจฉาชีพ
- สัตว์ป่า / บำรุง วัฒนารมย์
- สัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร / นริศ ภูมิภาคพันธ์ และอุทิศ กุฏอินทร์
- สัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง / นริศ ภูมิภาคพันธ์, อุทิศ กุฎอินทร์,นพรัตน์ นาคสถิตย์
- สัตว์ป่า : คู่มือเพื่อการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่า / ธัญญา จั่นอาจ...[และคนอื่นๆ]
- วนศาสตร์ชุมชนสำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมป่าไม้ / ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้/ สุนทร คำยอง
- การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า / ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมป่าไม้
- ไฟป่า [electronic resource] = Wildfires
- sustainable forest management
- wildlife
- กฎหมายป่าไม้และสัตว์ป่า / รวบรวมโดย จรรยา แวววุฒินันท์
- กฎหมายป่าไม้พิมพ์ พ.ศ.2530 / รวบรวมและเรียงโดย นิตยสารโลกตำรวจ