วิกฤตอาหารโลก (Global Food Crisis)

 

ผู้เรียบเรียง

ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์

นักเอกสารสนเทศปฏิบัติการ ฝ่ายบริการ

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

            ขณะนี้โลกกำลังประสบปัญหาราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่อย่างยูเครนไม่สามารถส่งออกได้ และจำเป็นต้องกักเก็บข้าวสาลีไว้ในประเทศ จากปกติเพียง 1 ล้านตัน กลายเป็น 6 ล้านตัน ส่งผลให้หลายประเทศที่ต้องนำเข้าข้าวสาลีจากประเทศยูเครนนั้น ต้องประสบกับปัญหาภาวะขาดแคลนเป็นอย่างมาก รวมถึงปัญหาอื่น ๆ อย่างเช่นน้ำมันด้วย จากสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ หากกล่าวโดยรายละเอียดจะเห็นว่าทำให้เกิดวิกฤตอาหารโลก (Global Food Crisis) กล่าวคือ ส่งผลให้พื้นที่ทางการเกษตรที่ต้องเพาะปลูกในยูเครนหายไปกว่า 20-30% เหตุเพราะต้องใช้เป็นพื้นที่สงคราม ผลผลิตที่ได้จึงน้อยลง และกรณีที่ต้องส่งออกผ่านทางท่าเรือที่ทะเลดำ ก็ถูกรัสเซียนำเรือมาปิดขวางทางไว้ จึงทำให้ไม่มีช่องทางส่งออกได้ ซึ่งจริง ๆ ทั้ง 2 ประเทศนี้ถือเป็นประเทศที่ส่งออก ไม่ว่าจะเป็น ข้าวสาลี น้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน หรือข้าวโพด ที่ถือว่าใหญ่มาก จึงทำให้หลายประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าจาก 2 ประเทศนี้ไม่มีวัตถุดิบในการปรุงอาหารและเกิดความขาดแคลนตามมา ทำให้ต้องไปกู้เงินจำนวนมาก เพื่อซื้อหาอาหารมาทดแทน และเมื่อวัตถุดิบต่าง ๆ เหล่านี้ขาดแคลน จึงส่งผลให้ราคาสูงขึ้นตามไปด้วย

 

h

 

           นอกจากข้าวสาลีแล้ว ก็ยังมีปัญหาที่เกิดมาจากการที่ปุ๋ยแพง กล่าวคือ นอกเหนือจากการที่รัสเซีย ผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่มีสงคราม ปัญหาปุ๋ยนี้ก็ยังได้รับผลกระทบมาจากก๊าซที่ราคาสูงขึ้นด้วย เนื่องจากก๊าซเป็นวัตถุดิบหนึ่งในการผลิตปุ๋ย ซึ่งก็คือ แอมโมเนียที่จะได้ออกมาเพื่อใช้ผลิตปุ๋ย ทำให้มีผลต่อการเพาะปลูก จึงส่งผลต่อการผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ความร้อนของโลกที่ทำให้เกิดสภาวะแห้งแล้งจนทำให้ข้าวสาลีในประเทศอินเดียไหม้ หรือภาวะน้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูกของประเทศจีน เป็นต้น  วิกฤตอาหารโลกที่เกิดขึ้นนั้น จะส่งผลต่อความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร (Food Insecurity) เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่จะต้องใช้รายได้กว่าครึ่งหนึ่งในการบริโภค ในขณะที่ได้รับรายได้เท่าเดิม จึงส่งผลให้ต้องมีการปรับตัว โดยบางครอบครัวลดปริมาณการบริโภค หรือลดคุณภาพของวัตถุดิบลง ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนสารอาหารอันส่งผลต่อสุขภาพที่จะเป็นปัญหาต่อไปอีกตามมา

            ความเห็นจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่า รัฐบาลควรมีการให้ความช่วยเหลือใน 2 ประเด็น คือ 1) ช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย ที่ต้องต่อสู้กับค่าครองชีพที่สูงและปัญหาอาหารกับพลังงาน 2) ช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลจากสภาวการณ์นี้ ซึ่งธนาคารโลกได้เตรียมแผนรับมือกับวิกฤตอาหารโลกที่เกิดขึ้น โดยจะนำเงินกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ไปใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งมองว่าวิกฤตนี้อาจจะยาวนานไปจนถึงปี 2566

            ในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้รับผลกระทบจากการที่ราคาสิ่งที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ สูงขึ้น ได้แก่ ค่าอาหาร เช่น หมู น้ำมันพืช เป็นต้น ค่าแก๊ส ค่าขนส่งสาธารณะ ที่ขึ้นกว่าเกือบเท่าตัว ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายจำเป็นต้องขึ้นราคาสูงตาม เนื่องจากวัตถุดิบที่ได้รับมามีราคาสูง และแบกรับต้นทุนไม่ไหว ภาคการเกษตรของประเทศไทยมีปัญหาการมีผลผลิตที่ต่ำ และปรับตัวช้า แม้ว่าจะเป็นสาขาการผลิตที่ใหญ่ก็ตาม แต่ก็ยังสุ่มเสี่ยงต่อการผลิตอาหารไม่ทัน ทำให้อาจเกิดปัญหาขาดแคลนอาหารในประเทศได้เช่นกัน เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องมีการวางแผนเตรียมการรับมือให้ดี

            จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายประเทศเริ่มมองระยะยาวถึงปัญหาการขาดแคลนอาหารนี้ ที่อาจไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบต่าง ๆ จากประเทศเดิมได้ หรือราคาอาจสูงขึ้นไปอีก จึงทำให้เริ่มใช้นโยบายปกป้องตัวเองเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารเฉพาะตัว (Food Protectionism) กล่าวคือ เป็นการออกนโยบายไม่ส่งออกวัตถุดิบต่าง ๆ และกักเก็บไว้เพียงในประเทศเพื่อประชากรของตัวเองเท่านั้น

            ในขณะที่สิ่งที่ต้องระวังคือ ความพยายามในการช่วยเหลือระดับโลกกลับเป็นปัญหาต่อประเทศผู้ช่วยเหลือเสียเอง เช่นกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีข้อกำหนดในการให้ความช่วยเหลือโดยการไม่ให้เงินสด แต่ให้เพาะปลูกในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง หรือแม้กระทั่งครึ่งหนึ่งของผลผลิตที่จะต้องส่งออกให้ใช้เป็นรถบรรทุกของสหรัฐอเมริกาเองเช่นกัน ซึ่งผลที่ตามมาจากร่างกฎหมายการขอความช่วยเหลือทางด้านอาหารของแอฟริกาที่ผ่านมาต่อสหรัฐอเมริกานี้ จะเห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกาต้องสูญเสียงบประมาณในส่วนนี้ไปกว่า 282 ล้านดอลลาร์ จากทั้งหมด 388 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่คุ้มค่า (ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 2565)

            นอกจากนี้ เมื่อกล่าวถึงวิกฤตอาหารโลกแล้ว มี 10 ประเด็นที่ควรตระหนักถึง ดังนี้ 1) มองว่าเป็นการซ้ำเติมจากวิกฤตเดิมที่เคยพบมาก่อน กล่าวคือ จากการที่สถานการณ์โควิด-19 ก็ยังไม่คลี่คลายเท่าใดนัก แต่ผู้คนก็ยังต้องมาประสบกับปัญหาการขาดแคลนอาหารที่ราคาสูงขึ้นไปอีก 2) อาหารจะหายไปหลายล้านตัน เนื่องด้วยประเทศที่เป็นเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำ หรือที่เรียกว่าตะกร้าขนมปัง (Breadbasket) จำนวน 6 ประเทศ ผลิตได้น้อยลง 3) บางประเทศกระทบหนักกว่าประเทศอื่น เช่น อียิปต์ ที่เป็นทั้งประเทศนำเข้าอาหารโดยตรง และนำเข้าในส่วนของวัตถุดิบเพื่อแปรรูปส่งออกอีกต่อหนึ่ง จึงทำให้ขาดแคลนทั้งการนำเข้าและส่งออก ซึ่งรายได้ลดลงไปจำนวนมาก 4) ผลกระทบต่อการเพาะปลูกในประเทศสงคราม กล่าวคือ เนื่องจากประเทศผู้ผลิตอาหารหรือวัตถุดิบรายใหญ่ของโลกเป็นพื้นที่สงคราม ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกได้เท่าเดิม รวมถึงการส่งออกที่ทำได้น้อยลงเหตุเพราะช่องทางถูกปิดกั้น 5) ผลกระทบต่อการเพาะปลูกทั่วโลก กล่าวคือ เป็นผลกระทบมาจากการขาดแคลนปุ๋ย จึงทำให้ไม่สามารถผลิตวัตถุดิบได้ตามจำนวนความต้องการของประชากรทั่วโลก เนื่องจากต้องอาศัยเพียงปัจจัยทางธรรมชาติเท่านั้น และหลายครั้งที่สภาพอากาศก็มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ฝนตกหนักในพื้นที่ที่เคยแห้งแล้ง ทำให้การเพาะปลูกเป็นไปอย่างยากลำบาก ผลผลิตเสียหายมาก 6) สะเทือนระบบโลจิสติกส์ (Logistics Disruption) จากการที่ขนส่งผ่านทางเรือที่ทะเลดำถูกปิดกั้น จึงต้องเปลี่ยนเป็นการขนส่งทางบกด้วยรถหรือรถไฟแทน ซึ่งก็ไม่สามารถทำได้เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา 7) มองว่าเป็นการซ้ำเติมปัญหาข้าวสาลีที่มีมาก่อนสงคราม โดยปกติราคาข้าวสาลีก็สูงขึ้นอยู่แล้ว ยิ่งมาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศอีก ก็ยิ่งส่งผลมากขึ้นไปด้วย เช่น ในประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น 8) ราคาอาหารที่สูงและก่อความไม่สงบ ดังเช่นข้าวสาลีถือเป็นวัตถุดิบที่สำคัญและเกิดผลกระทบอย่างมาก เนื่องด้วยเป็นวัตถุดิบในการผลิตขนมปัง และหลายประเทศทานขนมปังเป็นหลัก จึงทำให้เกิดปัญหาขาดแคลน และอาจส่งผลต่อการก่อความไม่สงบเพื่อแย่งชิงอาหารได้ในอนาคต ในลักษณะเดียวกับเหตุการณ์อาหรับสปริงส์ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 9) เปรียบเทียบกับวิกฤตการณ์อาหารโลกครั้งก่อนกับปัจจุบัน พบว่า เราประสบปัญหาทั้งการขาดแคลนอาหาร และการขาดแคลนวัตถุดิบในการนำไปแปรรูป 10) บทเรียนจากสงครามต่ออุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร ที่แม้ว่าจะมีการนำไปปรับใช้บ้างแล้วก็ตาม เช่น ด้านเทคโนโลยีการเกษตร (Agrotechnology) และเทคโนโลยีอาหาร (Food Tech) การทำฟาร์มแนวตั้ง (Vertical Farming) ของธุรกิจต่าง ๆ แต่นอกเหนือจากนี้บทเรียนที่ควรเน้นย้ำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้อย่างต่อเนื่อง คือ การหลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ขาดแคลนจริง ๆ ให้ได้

            ประเทศบราซิล ถือเป็นประเทศที่น่าสนใจ เพราะมองว่าจะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาวิกฤตการขาดแคลนอาหารของโลกได้ ซึ่งเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมทางด้านการเกษตรอย่างแท้จริง ทั้งนี้ บราซิลรั้งตำแหน่งผู้นำอันดับ 1 ของโลกในการส่งออกถั่วเหลืองซึ่งเป็นต้นสายการผลิตสินค้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพืช ซอสถั่วเหลือง เต้าเจี้ยว เต้าหู้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ที่ถือได้ว่า บราซิลนั้นมีส่วนสำคัญในการผลิตและส่งออก ได้แก่ น้ำตาล เนื้อวัวแช่แข็ง รวมไปถึงเนื้อไก่และเนื้อเป็ดแช่แข็ง และเมื่อปี 2017 บราซิลกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่สามารถติดฉลาก “Carbon-neutral” หรือ “Zero-net-emission” ในผลิตภัณฑ์เนื้อวัว ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนเกษตรกรรมให้เป็นแบบยั่งยืน และยังช่วยโลกได้ เพราะบราซิลมองว่าจากพื้นที่เกษตรกรรมเพาะปลูกส่วนใหญ่ที่มีแต่เดิม น่าจะประสบปัญหาอีกไม่นานนัก จึงเปลี่ยนจากการเพาะปลูกมาเป็นการทำฟาร์มปศุสัตว์ เลี้ยงวัวแทน ซึ่งมองว่า เป็นอาหารที่รับประทานได้ทุกวัน มีประโยชน์ และดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในอนาคตที่หลายประเทศอาจประสบกับปัญหาการขาดแคลนข้าวสาลี อย่างน้อยก็ยังมีอาหารทดแทนที่ช่วยบรรเทาได้ (Marketeer Team, 2565)

            ประเทศอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาอากาศร้อนเพิ่มขึ้นเกือบ 50 องศาเซลเซียส สูงสุดในประวัติการณ์กว่า 122 ปีที่เคยมีมา เป็นผลให้ข้าวสาลีไหม้ และผลผลิตเสียหายไปกว่า 10-50% ซึ่งส่งผลต่อทั้งรายได้ของประเทศอินเดีย และประเทศอื่นที่นำเข้าข้าวสาลีจากประเทศอินเดียเช่นกัน ดังเช่นประเทศไทยก็ยังไม่สามารถผลิตข้าวสาลีได้ตามความต้องการ จึงยังต้องนำเข้าจากประเทศอินเดียอยู่ เนื่องจากมีอาหารหลายชนิดที่มีข้าวสาลีเป็นส่วนผสมเช่นกัน เช่น ขนมปัง พาสต้า สปาเก็ตตี บะหมี่ เป็นต้น

            จากวิกฤตอาหารโลกนี้ สิ่งที่ประเทศไทยดำเนินการอยู่คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมมือกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลักดันนโยบายด้านการเกษตรของพรรคชาติไทยพัฒนา โดยหนึ่งในโครงการที่เร่งผลักดันอยู่ เพื่อรับมือวิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร คือ แนวคิดการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จากโครงการ Thai Rice NAMA (ไทย ไรซ์ นามา) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ที่ได้เข้ามาช่วยพี่น้องเกษตรกรไทย ให้ผลิตข้าวได้มากขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตและลดโลกร้อน ตามมาตรการ “3 เพิ่ม 3 ลด” คือ “เพิ่มผลผลิตข้าว เพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย (บ้านเมือง, 2565)

            ท้ายสุดนี้ สิ่งที่ต้องตระหนักถึงคือ ภาวะวิกฤตอาหารนี้ถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก อาจทำให้หลายประเทศก้าวเข้าสู่ภาวะใกล้ล่มสลายได้เช่นกัน อาทิ ศรีลังกา อัฟกานิสถาน เลบานอน เป็นต้น ที่ประสบกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจนี้มายาวนาน และจากรายงานของสหประชาชาติ ยังพบว่า มีผู้ขาดแคลนอาหารที่หิวโหยและเสียชีวิตลง 1 คน ในทุก 48 วินาทีด้วย

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

จส.100. (2565). สหประชาชาติ เตือนวิกฤตอาหารทั่วโลก 'บางประเทศใกล้ล่มสลาย'. สืบค้นจาก

            https://www.js100.com/en/site/news/view/118243

ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล. (2565). วิกฤตอาหารโลก รุนแรงแค่ไหน คนทั่วโลกจะอดอยาก-ยากจนยังไง ต้องฟัง. สืบค้นจาก

            https://www.thansettakij.com/economy/526226

บัณฑิต นิจถาวร. (2565). อย่าประมาทวิกฤติอาหารโลก และควรเตรียมรับมือ. สืบค้นจาก

            https://www.bangkokbiznews.com/columnist/1005694

บ้านเมือง. (2565). “วราวุธ-ประภัตร” ห่วงไทยกระทบ “ภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลกครั้งใหญ่”. สืบค้นจาก

            https://www.banmuang.co.th/news/politic/282045

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (2565). วิกฤตอาหารร้ายแรงกว่าวิกฤตพลังงาน. สืบค้นจาก

            https://www.prachachat.net/economy/news-933096

Marketeer Team. (2565). บราซิล ประเทศที่อาจช่วยกู้วิกฤตขาดแคลนอาหารของโลก. สืบค้นจาก

            https://marketeeronline.co/archives/262595

PPTV Online. (2565). โลกกำลังเผชิญ “ความหิวโหย” ครั้งประวัติศาสตร์ กับ วิกฤตขาดแคลนอาหาร. สืบค้นจาก

            https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/172667

Spring. (2565). อากาศอินเดียร้อนหนัก ข้าวสาลีไหม้ กระทบวิกฤตอาหารโลก. สืบค้นจาก

            https://www.springnews.co.th/news/824399

Tanyaporn Thasak (นามแฝง). (2565). สรุป 10 เรื่องที่ต้องรู้จาก “วิกฤตการณ์อาหารโลก” ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-

            ยูเครน. สืบค้นจาก https://missiontothemoon.co/society-global-food-crisis/

 

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

Al-Ababneh, H. A., Osmonova, A., Dumanska, I., Matkovskyi, P. & Kalynovskyy, A. (2021). Analysis of export of

            agricultural products in the context of the global food crisis. Agricultural and Resource Economics,

            7(4): 5-26. Retrieved from https://cutt.ly/lJUnEda

Al-Ababneh, H. A., Osmonova, A., Dumanska, I., Matkovskyi, P. & Kalynovskyy, A. (2021). Fulfilling the Export

            Potential of Agricultural Production in the Context of Aggravating Global Food Crisis. Financial &

            Credit Activity: Problems of Theory & Practice, 6(41): 469-485. Retrieved from https://cutt.ly/IJUnreE

Drew, J., Cleghorn, C., Macmillan, A. & Mizdrak, A. (2020). Healthy and Climate-Friendly Eating Patterns in the

            New Zealand Context. Environmental Health Perspectives. 128(1): 1-13. Retrieved from

            https://cutt.ly/mJUE9uD

Fedotova, G. V., Mosolova, N. I., Sigidov, Yu. I. & Kulikova, N. N. (2020). COVID-19 as a factor in the global food

            crisis. IOP Conference Series: Earth and Environmental Science, 548(8): 1-6. Retrieved from

            https://cutt.ly/IJUWmpF

Jahn, M. (2021). How “Multiple Breadbasket Failure” Became a Policy Issue In which an agricultural scientist

            goes from making new squash varieties to trying to improve global food security. Issues in Science &

            Technology, 37(2): 80-86. Retrieved from https://cutt.ly/5JUW2Bi

Kanter, R. & Boza, S. (2020). Strengthening Local Food Systems in Times of Concomitant Global Crises:

            Reflections From Chile. American Journal of Public Health, 110(7): 971-973. Retrieved from

            https://cutt.ly/lJURUx2


 
 
 
1xbet casino siteleri bedava bahis kaçak bahis superbetin yeni giriş casino siteleri