ผู้เรียบเรียง
ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์
นักเอกสารสนเทศชำนาญการ ฝ่ายบริการ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ขยะ นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของโลกก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน และเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ค่อนข้างมาก ยิ่งประชากรโลกมีเพิ่มขึ้นมากเท่าใด ขยะก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย หากพื้นที่ใดมีการบริหารจัดการขยะได้ดี พื้นที่นั้นย่อมได้เปรียบ แต่ส่วนใหญ่มักยังคงเป็นเพียงการรณรงค์ขอความร่วมมือเท่านั้น ยังไม่ได้มีมาตรการจริงจังเท่าใดนัก ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีการพยายามบริหารจัดการด้วยวิธีการที่ดีขึ้นต่างๆ มากมาย รวมถึงการนำนวัตกรรมการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ (Zero-waste) มาใช้ และเริ่มมีการหันไปให้ความสนใจกับตัวบรรจุภัณฑ์ด้วยวิธีการปรับเปลี่ยนต่าง ๆ ที่อาจเป็นการช่วยลดขยะได้ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ซึ่ง 2 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่กำลังพัฒนาไปควบคู่กัน
ที่มา thairath.co.th
ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์การลดใช้ขยะพลาสติกไปยัง 4 ภูมิภาคของประเทศไทย โดยที่จัดไปแล้ว ได้แก่ ภาคเหนือที่จังหวัดน่านและลำปาง ในช่วงวันที่ 23 – 26 พฤศจิกายน 2565 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 – 4 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช และกระบี่ ส่วนครั้งที่ 3 จะไปจัดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และครั้งที่ 4 ที่ภาคกลาง ภายในปี 2566 นี้ ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 2 ครั้ง พบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้เป็นไปตามกรอบของแผนการจัดการด้านขยะพลาสติก ในระยะที่ 1 ช่วงปี 2563 – 2565 และระยะที่ 2 คือช่วงปี 2566 - 2570
ทั้งนี้ จากปัญหาขยะพลาสติกที่มีอย่างท่วมท้น และประเทศไทยถือได้ว่าเป็นแหล่งปล่อยมลพิษลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก ทำให้หลายองค์กรเริ่มตระหนักถึงปัญหาต่างๆ เหล่านี้ และพยายามทำให้เกิดเป็นนโยบาย การใช้พลาสติกใหม่ในธุรกิจเป็นศูนย์ (Plastic Neutrality) ให้ได้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาในระดับโลก ซึ่งหลักการของโปรแกรม Second Life ที่เกิดขึ้น คือ รวบรวม รีไซเคิล แล้วนำขยะพลาสติกที่ยังใช้ได้อยู่ กลับมาใช้ใหม่ ไม่ได้ให้ใช้เพียงครั้งเดียว ซึ่งเป็นการเพิ่มงานให้กับผู้คนในละแวกนั้น ให้ได้มีงาน มีเงินเพิ่มขึ้นจากอาชีพเหล่านี้ด้วย นอกจากนี้ ปัญหาที่พบในประเทศไทยก็คือ การที่ยังไม่มีระบบการคัดแยกขยะที่ชัดเจน มีเพียงการขอความร่วมมือไปยังชุมชนเท่านั้น โดยลักษณะการคัดแยกขยะของชุมชนนั้น จะแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ ขยะที่มีประโยชน์สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขยะอันตราย และขยะเปียก ซึ่งวิธีการกำจัดขยะที่น่าสนใจคือ การใช้ “กระบวนการทางวิศวกรรม” เข้ามาช่วย เป็นต้นว่า นำขยะมาปรับเปลี่ยนเป็นพลังงานผ่านกระบวนการทางวิศวกรรม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ต่อไปได้ เช่น การผลิตไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งปัจจุบันขยะต่างๆ ถือเป็นแหล่งพลังงานสะอาดและมีประสิทธิภาพ จึงถือเป็นการนำนวัตกรรมเข้ามาร่วมใช้ในการกำจัดขยะที่เกิดผลดีและมีประสิทธิผล อีกทั้งวิธีการนี้ยังมีส่วนช่วยในการลดปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น ปัญหาเชื้อโรคต่างๆ ที่สะสมอยู่ ปริมาณขยะที่อาจกำจัดไม่ทัน เป็นต้น อีกทั้งขยะบางส่วนยังสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างต่างๆ ได้ เช่น การทำถนน ผนังกั้นต่างๆ หรือวัสดุก่อสร้าง โดยสิ่งที่สภาวิศวกรได้เล็งเห็นและต้องการให้ประชาชนร่วมตระหนักนั้น คือ การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเลือกใช้สิ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด โดยเฉพาะจากการบริหารจัดการขยะที่เกิดจากการก่อสร้าง รวมไปถึงการรณรงค์ให้ใช้เอกสารในรูปแบบสิ่งพิมพ์ให้น้อยลง เพื่อเป็นการลดปริมาณ และส่งเสริมให้หันไปใช้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แทน
นอกจากปัญหาขยะที่ต้องมีการหาวิธีบริหารจัดการแล้วนั้น ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เทรนด์ของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ในปี 2023 นี้ ซึ่งได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจนเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ โดยอาจกลายเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยในการบริหารจัดการขยะในอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าควรทำควบคู่กันไปกับนวัตกรรมการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ (Zero-waste) โดยมีดังนี้
- RISE OF THE CAN การกลับมาของกระป๋อง
รูปแบบใหม่นี้ อาจไม่ใช่การใช้กระป๋องเป็นเพียงบรรจุภัณฑ์ธรรมดาๆ เท่านั้น แต่กลายเป็นมีการพัฒนาให้ใส่สินค้าที่ไม่ใช่แต่เฉพาะอาหารเหมือนเดิมอีกต่อไป แต่อาจเป็นของใช้ที่ต้องการเน้นความแตกต่าง สร้างสรรค์มากขึ้น
- PACKAGING AS THE PRODUCT บรรจุภัณฑ์ คือ ผลิตภัณฑ์
เป็นการปรับเปลี่ยนให้บรรจุภัณฑ์กับผลิตภัณฑ์คือตัวเดียวกัน กล่าวคือ ไม่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์หุ้มห่ออีกชั้นหนึ่ง แต่ทำให้ผลิตภัณฑ์เสมือนเป็นบรรจุภัณฑ์ภายในตัวมันเอง ถือเป็นความสร้างสรรค์ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ช่วยประหยัดทรัพยากรเพิ่มขึ้น และลดปัญหาขยะลงได้
- BOLD IS KING น้อย เรียบ ชัด
กล่าวคือ เป็นการพัฒนาการใช้สี โลโก้ ให้กับแบรนด์ หรือตัวผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ที่ต่างจากเดิม
- DIVERSITY AND INCLUSIVITY / DESIGN FOR GOODS การออกแบบเพื่อสังคม
เป็นการเริ่มออกแบบให้ตรงกับกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งความหลากหลายในด้านต่าง ๆ ทั่วไป เช่น อายุ เพศ ชาติพันธุ์ เป็นต้น รวมถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย ซึ่งถือเป็นการออกแบบเพื่อสังคมอย่างแท้จริง
- CRAFT AND DETAILING โหยหารายละเอียด
เป็นการเน้นสร้างรายละเอียดต่างๆ ให้กับตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค
- NEXT LEVEL SMART PACKAGING อีกขั้นของสมาร์ทแพคเกจจิ้ง
เป็นลักษณะที่เรียกว่า “บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ” กล่าวคือ มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีเรื่องราวที่เชื่อมโยง หรือมีความซับซ้อนดูน่าสนใจมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
- ICONIC & VISUAL IDENTITY อัตลักษณ์ต้องมา
เป็นการสร้างอัตลักษณ์ให้กับแบรนด์หรือสินค้า ทำให้ดูน่าจดจำเพิ่มขึ้น
- BACK OF PACKAGING ด้านหลังฉลากที่สำคัญ
เป็นการทำให้ฉลากมีพื้นที่ในการบอกเล่าเรื่องราวเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างการตระหนักรู้ ความผูกพันกับแบรนด์หรือสินค้าให้มีเพิ่มขึ้น
- SUSTAINABILITY IS NOT A TREND สิ่งแวดล้อมจะไม่ใช่กระแสอีกต่อไป
เป็นการเน้นความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นใน 3 ลักษณะคือ ลด เปลี่ยน บอกต่อ เพื่อรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ดังเช่น การบริหารจัดการขยะ เป็นต้น
- GLORY OF THE BRAND STORY เรื่องราวที่รุ่งเรือง
เป็นการบอกเล่าเรื่องราวให้มีมากกว่าแบรนด์อื่น ๆ ที่เคยมีมา สร้างความแตกต่าง ให้เกิดความสนใจและน่าจดจำ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กรุงเทพธุรกิจ. (2566). ทำอย่างไร เมื่อไทยพบ “ขยะทะเล” ตกค้างชายฝั่งกว่า 444 ตัน. สืบค้นจาก
https://www.bangkokbiznews.com/environment/1047688
กรุงเทพธุรกิจ. (2566). ลดขยะพลาสติกแก้วิกฤตขยะพลาสติกทั่วโลก. สืบค้นจาก
https://www.bangkokbiznews.com/environment/1047799
คมชัดลึก ออนไลน์. (2566). เดินหน้าลุย 4 ภูมิภาค รณรงค์ การจัดการขยะพลาสติก และขยะอาหาร. สืบค้นจาก
https://www.komchadluek.net/news/society/542062
Admink (นามแฝง). (2566). ส่อง 10 เทรนด์ “บรรจุภัณฑ์” มาแรงปี 2023 เพิ่มมูลค่าให้สินค้า เตะตา โดนใจ ใส่ใจสังคม.
สืบค้นจาก https://www.brandbuffet.in.th/2023/01/prompt-design-10-packaging-trend-2023/
MReport. (2566). ปัญหาขยะในไทยต้องเริ่มบูรณาการ “มายด์เซ็ต” ผุดเทคโนโลยีเชิงวิศวกรรมแก้วิกฤต. สืบค้นจาก
https://www.mreport.co.th/news/industry-movement/301-solve-the-waste-problem-in-thailand-must-
begin-at-mindset-with-engineering-technology
แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
Argun, Y. A. & Bilgin, M. (2023). Waste Characterization of Karaman Province and Determination and
Comparison of Individuals' Waste Approaches. Journal of the Institute of Science & Technology,
13(1): 179-191. Retrieved from https://rb.gy/733ph
Blumhardt, H. & Prince, L. (2022). From Lines to Circles reshaping waste policy. Policy Quarterly, 18(2): 71-80.
Retrieved from https://rb.gy/r9nm9
Cherrier, H. & Türe, M. (2023). Tensions in the Enactment of Neoliberal Consumer Responsibilization for Waste.
Journal of Consumer Research, 50(1): 93-115. Retrieved from https://rb.gy/511wq
Dziekański, P.; Pawlik, A.; Wyszkowski, A.; Prus, P.; Maitah, M. & Wrońska, M. (2023). Zero Waste as a
Determinant of Shaping Green Economy Processes on the Example of Communes of Eastern Poland
in 2010–2020. Energies, 16(1): 1-24. Retrieved from https://rb.gy/36gp9
Mallory X. Z. (2022). Waste in Zero-Waste Households: The Power of Materials and Norms in Everyday
Consumption. Worldwide Waste, 5(1): 1-15. Retrieved from https://rb.gy/u9006