ผู้เรียบเรียง
ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์
นักเอกสารสนเทศชำนาญการ ฝ่ายบริการ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปัจจุบันผู้คนหันมาสนใจสุขภาพกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากภายใน คือเรื่องของอาหารการกิน หรือกับภายนอกที่เป็นเรื่องของความงาม ซึ่งในปี 2023 นี้ เทรนด์อาหารสุขภาพกำลังมาแรง ซึ่งทำให้ธุรกิจร้านอาหารที่เกี่ยวข้องเปิดตัวและเติบโตกันไปอย่างมากมาย อาจเนื่องด้วยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา และยังส่งผลถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้คนหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ประกอบกับธุรกิจเกี่ยวกับอาหารที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อตอบรับปัจจัยต่าง ๆ เป็นการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่น่าสนใจว่าเทรนด์อาหารสุขภาพในปีนี้ มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางใด เพื่อได้นำมาประยุกต์ใช้กับตัวเองได้ทันเวลา รวมถึงได้มองเห็นภาพรวมของธุรกิจอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปว่าเป็นอย่างไร เพื่อได้เข้าใจบทบาท มองเห็นสถานการณ์โลก และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์หรือกระแสความนิยมที่อาจจะส่งผลต่ออนาคตข้างหน้าต่อไปได้อีก
ที่มา : parade.com
เทรนด์อาหารสุขภาพ ในปี 2023 มีดังนี้ 1) อาหาร Plant-Based ยังเติบโต กล่าวคือ คนส่วนใหญ่หันมาบริโภคอาหารแนวมังสวิรัติมากขึ้น ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ เนื่องด้วยเทรนด์สุขภาพที่ทำให้ผู้คนต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยอย่างน้อยอาจเป็นการเริ่มต้นจากการมองหาอาหารที่มีส่วนผสมของผักมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งมากขึ้น 2) การปรุงอาหารแบบปราศจากขยะเหลือทิ้ง หรือแนวคิด zero-waste cooking เนื่องด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด สวนทางกับประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้เป็นความพยายามที่จะลดปริมาณเศษอาหาร ตั้งแต่เริ่มกระบวนการปรุงอาหารไปจนสิ้นสุด และเพื่อให้มีการใช้วัตถุดิบได้อย่างคุ้มค่า 3) Future Food อาหารแห่งอนาคต กล่าวคือ เป็นการผลิตอาหารให้ตอบโจทย์กลุ่มคนที่หลากหลาย หรือความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น เช่น นาซ่าฟู้ดส์ อาหารที่นักบินอวกาศใช้รับประทาน เป็นต้น ซึ่งต้องคิดค้นพัฒนาให้เก็บไว้ได้นาน โดยยังคงคุณภาพและสารอาหารที่เหมาะสม 4) TikTok นำเทรนด์ของกิน ปัจจุบันมีอาชีพที่เรียกว่า “Tiktoker”เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะเน้นการนำเสนอทางด้านอาหาร ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เลือกจะปฏิบัติตามในวิถีการดำเนินชีวิต 5) ค็อกเทลไร้แอลกอฮอล์ สืบเนื่องจากการที่ผู้คนหันมาสนใจสุขภาพกันมากขึ้น จึงทำให้เริ่มเปลี่ยนแนวหันมาบริโภคเครื่องดื่มแบบไร้แอลกอฮอล์แทนรูปแบบเดิมแต่ยังให้ความรู้สึกที่ไม่ต่างจากเดิมมากนัก 6) ชาหมักคอมบุชาเพิ่มขึ้น เป็นการหมักด้วยเชื้อยีสต์และแบคทีเรีย ซึ่งร้านอาหารส่วนใหญ่นิยมให้บริการมากขึ้น เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย 7) Sustainability and Laboratory Food เป็นการที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาใส่ใจเรื่องความยั่งยืนกันเพิ่มขึ้น โดยต้องการทราบตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตอาหารเพื่อให้ถูกสุขลักษณะ ดังเช่น วิธีการปฏิบัติต่อสัตว์ก่อนนำมาปรุงอาหาร เป็นต้น
หากสรุปเป็นเทรนด์อาหารแบบสั้น ๆ ก็อาจรวมเทรนด์ที่มีความคล้ายคลึง หรือจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันไว้ได้เป็น 4 รูปแบบ เรียกดังนี้ 1) Health Conscious Food, Plant-Based, Go Green 2) Zero Waste, Sustainability, Upcycle Food 3) Food Tech, AI Automation, Future Food 4) Food Tik Tok is Hot Trend
ทั้งนี้ ในส่วนของอาหารที่นิยมแนะนำในปี 2023 นี้ ได้แก่ 1) พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) และโพรไบโอติกส์ (Probiotics) 2) นมพืชทางเลือก เช่น นมมันฝรั่ง นมข้าวโอ้ต นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง 3) โปรตีนจากพืช (Plant Based Protein) 4) สาหร่ายทะเล พืชทะเล (Sea Plants) ที่แบ่งประเภทตามสี เช่น สาหร่ายสีแดง สีน้ำตาล สีเขียว 5) เครื่องดื่มสมุนไพรที่มีส่วนผสมหลักจากเห็ด (Adaptogens) ผสมสมุนไพรอื่นอีกนานาชนิด 6) กาแฟทางเลือก (Alternative Coffee) และนอกจากนี้ ยังเน้นในเรื่องของ อาหารรักษ์โลก (Upcycling & Sustainable Foods) และ ภูมิคุ้มกันสมดุล (Immunity balance) กล่าวคือ อาหารสำหรับผู้สูงวัย ด้วย
ส่วนเทรนด์อาหารแห่งอนาคตที่น่าสนใจต่อไปนั้น มี 8 รูปแบบ คือ 1) Immunity Boosting คือ การเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย 2) Personalized Nutrition คือ การปรับโภชนาการทางอาหารให้เหมาะกับแต่ละบุคคล 3) Well-Mental Eating คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดความเสียหายของอนุมูลอิสระและการอักเสบของสมอง เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ช่วยลดความวิตกกังวล หรือโพรไบโอติกส์ ช่วยลดภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 4) Gastronomy Tourism เป็นการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวจากประเภทของอาหารที่สนใจ 5) Elderly Food คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบอาหารให้เหมาะกับผู้สูงอายุ เป็นต้นว่า มีลักษณะขนาดไม่ใหญ่มาก เคี้ยวและกลืนได้ง่าย 6) Biodiverse Dining คือ การรับประทานอาหารในหมวดหมู่เดียวกันแต่ต่างสายพันธุ์ เพื่อคุณประโยชน์ที่หลากหลาย 7) Nutrition เป็นการเลือกรับประทานแต่เฉพาะผัก ผลไม้ ธัญพืช 100% ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ 8) Food Waste Rescue เป็นการนำวัตถุดิบอาหารที่ใช้ในแต่ละวันไม่หมด เช่น จากโรงแรม ร้านอาหาร (เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้ต้องเปลี่ยนวัตถุดิบใหม่ทุกวัน) ไปแปรเปลี่ยนหรือปรุงอาหารให้กลุ่มคนที่ขาดแคลน เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน ศูนย์หรือสถานรับเลี้ยงต่าง ๆ แทน โดยกลุ่มคน หน่วยงาน หรือองค์กรที่รวมตัวกันขึ้น ซึ่งถือเป็นวิธีการช่วยกำจัดขยะให้ลดน้อยลง และเปลี่ยนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางช่วยเหลือผู้อดอยากในประเทศได้ด้วย
ประเทศไทยมีตัวอย่างกรณีที่น่าสนใจ เช่น “สมุนไพรออร์แกนิค” เช่น ฟ้าทะลายโจร ที่ได้รับความนิยมในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการได้ ซึ่งยังคงมีสมุนไพรในลักษณะคล้ายๆ แบบนี้ อีกหลายชนิดที่ควรถูกผลักดัน เรียกได้ว่าทำให้สมุนไพรไทยกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ โดยปัจจัยที่เน้นจะยกระดับนั้น ประกอบด้วย 5 ด้านคือ เศรษฐกิจ บริการ การคุ้มครองภูมิปัญญา ศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ และการวิจัย กล่าวคือ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับทุกช่องทาง ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และมีผลิตภัณฑ์เข้าสู่วงการแพทย์เพื่อเตรียมพร้อมรับการบริการให้ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ยังช่วยผลักดันให้เกิดการคุ้มครองภูมิปัญญา และเห็นความสำคัญของอาชีพต่างๆ เช่น แพทย์แผนไทย ทำให้เป็นที่ยอมรับและไม่ถูกหลงลืม หรือลดระดับลงให้ต้อยต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ และสุดท้ายคือ จะส่งผลให้เกิดงานวิจัย หรือระเบียบวิธีวิจัยใหม่ๆ เกี่ยวกับสมุนไพรออร์แกนิคได้เพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากอาหารแล้วนั้น สิ่งที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เช่น ร้านอาหาร หรือธุรกิจต่างๆ ต่างก็ต้องมีการปรับตัวเช่นกัน ซึ่งในปี 2023 ที่ผ่านมากว่าครึ่งปีนี้ จะเห็นได้ว่าธุรกิจฟู้ดทรัค ถือว่ามีการเติบโตขึ้นเช่นกัน กล่าวคือ มีจุดเริ่มต้นจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่รัฐเทกซัส ต่อมาประเทศเกาหลีใต้ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับธุรกิจนี้เข้ามา แต่กลับพัฒนาจำนวนฟู้ดทรัคจนเติบโตขึ้นไปได้มาก เนื่องจากได้รับความนิยมอันเป็นลักษณะเฉพาะของรถเคลื่อนที่ให้บริการขายอาหารที่สามารถเข้าถึงตามแหล่งจัดคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีได้โดยง่าย โดยในประเทศเกาหลีใต้นั้น มีการจัดคอนเสิร์ตจำนวนมาก จึงส่งผลต่อธุรกิจฟู้ดทรัคทำให้มีแหล่งขายและรายได้เพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย ส่วนในประเทศไทยนั้น ก็กำลังเติบโตในลักษณะคล้ายประเทศเกาหลีใต้เช่นกัน และหากกล่าวถึงเทรนด์ของร้านอาหารที่นอกจากธุรกิจฟู้ดทรัคแล้วนั้น ยังคงมีอีก 5 รูปแบบ ที่น่าสนใจ ได้แก่ 1) Food Hall is The Next Stage กล่าวคือ หลังจากช่วงที่ประสบปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีร้านอาหารขนาดเล็กเกิดขึ้นอย่างมากมาย และเน้นการให้บริการในรูปแบบ Delivery นั้น เมื่อมาถึงช่วงที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายเหล่าร้านอาหารทั้งหมดก็อาจรวมตัวกันเกิดเป็นตลาดนัดขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 2) The Restaurant Experience is King กล่าวคือ หากร้านอาหารสามารถพัฒนา โดยเพิ่มประสบการณ์ หรืออรรถรสในการรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นได้ด้วยนั้น ย่อมดึงดูดใจผู้คนให้เข้ามาร้านอาหารได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่ห่างหายจากการรับประทานอาหารนอกบ้านไปนาน จึงทำให้มีความโหยหาประสบการณ์ทางด้านนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งหากร้านอาหารพัฒนาได้ตอบโจทย์ ธุรกิจก็จะยังคงเติบโตไปได้ เพราะคนส่วนใหญ่ได้เริ่มปรับตัวใหม่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว 3) Solo Dining / Pop Up/Small Scale has Soared กล่าวคือ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลาย แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ยังคงคุ้นชินกับการรับประทานอาหารแบบลำพังก็ยังคงมีอยู่ ทำให้ร้านอาหารส่วนใหญ่ต้องปรับตัวเพิ่มที่นั่งในลักษณะนั่งเดี่ยว เป็นมุมเล็ก ๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับรูปแบบนี้ 4) Increased Delivery Options เป็นการเพิ่มความหลากหลายทางการบริการให้กับร้านอาหารในกรณีนี้ เช่น การอำนวยความสะดวกให้สั่งผ่านแอปพลิเคชั่น แล้วมารับได้ทันทีในเวลาอันรวดเร็ว ลักษณะคล้ายโมเดล Drive Thru 5) Chinese Restaurant is on the Rise กล่าวคือ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนยังคงมีเข้ามามาก ฉะนั้น เทรนด์อาหารจีนยังคงเป็นสิ่งที่ตอบสนองอยู่ ซึ่งยังไม่ควรลด ละ เลิกไป
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทรนด์อาหารสุขภาพนั้น ก็ยังคงเกี่ยวข้องกับเทรนด์สุขภาพและความงามได้อีกด้วย ซึ่งในปี 2023 นี้ ก็จะเน้นไปที่การดูแลสุขภาพ การชะลอวัย เพื่อไม่ให้เกิดโรค ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกามองว่า ความชราไม่ใช่เรื่องปกติ แต่เป็นโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งหากฟื้นฟูจากภายในได้ ก็จะเป็นการช่วยรักษาโรคได้ และในส่วนของประเทศซาอุดีอาระเบีย ก็ได้ใช้งบประมาณตรงนี้ไปค่อนข้างมาก เนื่องจากถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เพียงการบริโภคอาหารที่ดี เหมาะสมแก่ร่างกายเท่านั้น ในอนาคตก็อาจจะรวมไปถึงการใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยในการชะลอวัยในรูปแบบต่าง ๆ ที่น่าสนใจก็จะมีรูปแบบ Light Therapy หรือ Low Power Light Therapy ที่เป็นการใช้ศักยภาพของแสงเลเซอร์เข้าช่วย ด้วย Wave Range ที่ต่างกันก็จะส่งผลในการฟื้นฟูร่างกายในรูปแบบเฉพาะที่ต่างกัน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กรุงเทพธุรกิจ. (2566). 8 เทรนด์ “อาหารแห่งอนาคต” สุขภาพดี โลกยั่งยืน. สืบค้นจาก
https://www.bangkokbiznews.com/environment/1049653
กรุงเทพธุรกิจ. (2566). “สมุนไพรออร์แกนิค” มาแรง ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพทั่วโลก. สืบค้นจาก
https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1046941
ไทยโพสต์. (2566). 'Reverse Aging' การชะลอวัยแบบย้อนกลับเทรนด์สุขภาพใหม่มาแรง ปี 2023. สืบค้นจาก
https://www.thaipost.net/news-update/300014/
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (2566). เปิด 7 เทรนด์ อาหารมาแรง ปี 2023 แพลนต์เบส เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์เด่น.
สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/marketing/news-1190050
เศรษฐกิจ. (2566). รู้จักธุรกิจฟู้ดทรัค เทรนด์อาหารมาแรงปี66. สืบค้นจาก
https://www.thansettakij.com/business/economy/553118
BrandBuffet. (2566). เปิด Food Trends ปี 2023 โมเดล “ฟู้ดฮอลล์-นั่งเดี่ยว-เดลิเวอรี่”มาแรง รับพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนหลัง
โควิด. สืบค้นจาก https://www.brandbuffet.in.th/2023/01/food-trends-2023/
MMED. (2565). ตามติดเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพปี 2566. สืบค้นจาก https://mmed.com/food-trend-2566/
แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
Dua, S.; Sahai, Chhavi & Mane, S. (2022). Can Healthy Food Menus be Introduced in the Restaurants?.
ATITHYA: A Journal of Hospitality. 8(2): 74-80. Retrieved from https://rb.gy/d71ox
Hussien, F. M.; Mohamed, M. L. H. & Elziny, M. N. (2023). Factors Affecting Customers' Intentions to Patronize
Healthy Food Restaurants. International Journal for Tourism, Archeology & Hospitality (IJTAH), 3(1):
139-160. Retrieved from https://rb.gy/gywba
Jirukkakul, N. & Nonthapot, S. (2023). The Effects of Economic Factors and Lifestyle on the Healthy Food
Consumption of the Elderly in NONG KHAI Municipality, THAILAND. International Journal of
Professional Business Review (JPBReview), 8(2): 1-16. Retrieved from https://rb.gy/7uio6
María, M. V. & Carmina C.-T. (2022). Identification of Marketing Strategies Influencing Consumers’ Perception of
Healthy Food Products and Triggering Purchasing Decisions. Businesses, 2(26): 410-422. Retrieved from
Pancer, E.; Philp, M. & Noseworthy, T. J. (2022). Boosting engagement with healthy food on social media.
European Journal of Marketing, 56(11): 3007-3031. Retrieved from https://rb.gy/p18nz