พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) กับโพรไบโอติกส์ (Probiotics)

ผู้เรียบเรียง

ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์

นักเอกสารสนเทศชำนาญการ ฝ่ายบริการ

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

            หากกล่าวถึงพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) กับโพรไบโอติกส์ (Probiotics) มีน้อยคนที่จะไม่เคยได้ยินมาก่อน เนื่องจากช่วงปีหลัง ๆ มานี้มีการกล่าวถึงค่อนข้างมาก พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมกันมากมาย จากตอนแรกที่อาจกล่าวเน้นถึงแต่ละตัว จนนำมากล่าวคู่กัน ไปพร้อม ๆ กัน แต่ก็ยังมีส่วนที่ไม่เข้าใจอยู่มาก ไม่รู้ว่าแตกต่างกันอย่างไร คืออะไร จำเป็นต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในการเลือกรับประทานอาหารให้เกิดผลดีต่อสุขภาพร่างกาย เนื่องด้วยกำลังได้รับความนิยม จึงได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจนำมาไว้ดังนี้

 

ที่มา : trimdownclub.com

ก่อนอื่นขอกล่าวถึงโพรไบโอติกส์เป็นลำดับแรก โพรไบโอติกส์ (Probiotics) คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิต ส่วนใหญ่อยู่ในอาหาร มีประโยชน์หลัก ๆ คือ ช่วยรักษาสมดุลในลำไส้ให้ไม่แปรปรวน เช่น ไม่เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง ท้องผูก เป็นต้น ถือเป็นจุลินทรีย์ชนิดดี อีกทั้งช่วยกระตุ้นเอนไซม์ที่มีผลต่อการย่อยอาหาร และช่วยลดอาการอักเสบหรือติดเชื้อทั้งในทางเดินปัสสาวะและช่องคลอดได้ อีกทั้ง ยังช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้อากาศ ผื่นแพ้ผิวหนัง เป็นต้น แต่หากมีโพรไบโอติกส์ในลำไส้มากเกินไป ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน อาจทำให้ท้องอืด จุก แน่นได้ ซึ่งจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ชนิดนี้ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ในร่างกายของแต่ละคนจะแตกต่างกัน ฉะนั้น ในการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับตัวเองจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ

            นอกจากนี้ โพรไบโอติกส์ ถือเป็นจุลินทรีย์ประจำถิ่น หรือเรียกกันว่า normal flora ซึ่งหากมีการรับประทานยาปฏิชีวนะเข้าไปมาก ๆ อาจส่งผลต่อการรบกวนภาวะสมดุลของโพรไบโอติกส์ตามธรรมชาติเดิมที่มีอยู่ได้ แต่หากน้อยเกินไป จะส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ ร่างกายขาดสมดุล จึงจำเป็นต้องรับประทานโพรไบโอติกส์เสริมเข้าไปเพื่อรักษาสมดุลให้กับร่างกาย โดยจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ มีหลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบผงแป้ง (Powders) แคปซูล (Capsules) ยาเม็ดเคี้ยว (Chewable tablets) สารละลาย (Solution drops) หรือรูปแบบยาเหน็บช่องคลอด (Vaginal Tablets) (โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, 2562) ซึ่งมีทั้งเชื้อแบคทีเรียชนิดที่เกาะติดลำไส้ และชนิดที่ทนต่อความเป็นกรด-ด่างในกระเพาะอาหาร ทำให้อยู่ได้นาน

            ประเภทของโพรไบโอติกส์ มีดังนี้ (ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 2566)

  1. แลกโตบาซิลลัส (Lactobacillus) พบมากที่สุดในกลุ่มโพรไบโอติกส์ กล่าวคือ แบคทีเรียแลกโตบาซิลลัสเป็นกลุ่มเชื้อแบคทีเรียที่เกาะติดลำไส้ มีประโยชน์ต่อระบบขับถ่าย เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถย่อยแลกโตสในนมได้ อาหารที่พบแลกโตบาซิลลัส เช่น อาหารหมักดอง โยเกิร์ต นมเปรี้ยว
  2. แซกคาโรไมซิส (Saccharomyces Boulardii) เป็นยีสต์ที่พบได้ในกลุ่มโพรไบโอติกส์ ไม่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์ตามธรรมชาติ ซึ่งช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร
  3. บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) เป็นหนึ่งในจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ที่เรียกได้ว่าดีที่สุด เพราะช่วยบรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน จากงานวิจัยพบว่าโพรไบโอติกส์ชนิดนี้ช่วยผลิตสารตั้งต้นของภูมิต้านทานในร่างกายได้ พบในอาหารประเภทนม
  4. จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ประเภทอื่น ทั้งนี้ยังมีโพรไบโอติกส์ชนิดอื่น ๆ ที่ใช้ทางด้านการแพทย์อีกด้วย เช่น Enterogermina–Bacillus clausii, Bacillus subtilis, Longum, B. Breve, B.infantis, Streptococcus thermophilus เป็นต้น

            ทั้งนี้ อาหารเสริมโพรไบโอติกส์ต่าง ๆ ตามท้องตลาดมีสายพันธุ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์เป็นส่วนผสม ทั้งในรูปแบบผงแป้ง แคปซูล หรือยาเม็ดเคี้ยว โดยตัวอย่างสายพันธุ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ เช่น (K@POOK, 2566)

          แล็กโทบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส (Lactobacillus Acidophilus) จุลินทรีย์ที่มีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร แก้ปัญหาท้องอืด จุกเสียด ลดอาการลำไส้แปรปรวน ดีต่อระบบขับถ่ายและระบบทางเดินปัสสาวะ

           แล็กโทบาซิลลัส เคซิไอ (Lactobacillus Casei) จุลินทรีย์ที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย รวมทั้งมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร รักษาสมดุลลำไส้ รักษาอาการท้องร่วง และลดอาการท้องผูก

          บิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) จุลินทรีย์ที่มีสรรพคุณช่วยควบคุมน้ำตาลและไขมันในเลือด กระตุ้นการดูดซึมอาหารและระบบขับถ่าย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก อีกทั้งช่วยเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดขาว รักษาอาการผิดปกติของทางเดินอาหาร และช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้

          บาซิลลัส (Bacillus) จุลินทรีย์ที่มีสรรพคุณช่วยเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย ลดการติดเชื้อทางเดินอาหาร ช่วยให้การย่อยอาหารมีประสิทธิภาพ และลดอาการลำไส้แปรปรวน

            จากข้อมูลอาหารสุขภาพ (health foods) หรืออาหารฟังก์ชัน (functional food) ที่เป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งโพรไบโอติกส์ ถือได้ว่า เป็นอาหารฟังก์ชันอย่างหนึ่งที่กำลังอยู่ในกระแสปัจจุบัน แต่หลายคนมักเข้าใจผิดว่า อาหารหมักทุกชนิดจะถือเป็นโพรไบโอติกส์ ซึ่งในความเป็นจริงนั้น แม้อาหารหมักจะเกิดจากจุลินทรีย์ที่ใช้ในกระบวนการหมัก แต่ยังคงมีการกำหนดค่าของการนับเป็นผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ไว้ที่ต้องมีจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ที่มีชีวิต ไม่น้อยกว่า 106 CFU ต่อ 1 กรัมอาหาร ฉะนั้น หากมีไม่ถึงตามค่าที่กำหนดนั้น ย่อมไม่ถือเป็นผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์

            การรับประทานอาหารเสริมโพรไบโอติกส์ ควรรับประทานก่อนมื้ออาหาร หรือระหว่างมื้ออาหาร เนื่องจากกระเพาะอาหารยังมีความเป็นกรดต่ำอยู่ และควรรับประทานคู่กับน้ำอุณหภูมิห้องหรือน้ำเย็น เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และสามารดูจากฉลากสินค้าได้ว่า รับประทานโพรไบโอติกส์ได้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งปริมาณที่ได้รับต่อวัน ควรอยู่ที่ 10-20 พันล้านตัวต่อวัน หรืออย่างต่ำควรได้รับ 10,000 ล้าน CFU ต่อวัน (K@POOK, 2566)

            วิธีการเลือกรับประทานอาหารเสริมโพรไบโอติกส์ มีข้อควรพิจารณาดังนี้ 1) รูปแบบ เช่น แบบผงแป้ง แบบผงแป้งชนิดกรอกปาก แบบเจลลี่ หรือแบบเม็ดหรือแคปซูล 2) ชนิดของจุลินทรีย์ที่ต้องการ โดยดูจากคุณสมบัติของจุลินทรีย์ชนิดนั้น ๆ 3) ปริมาณที่เหมาะสม 4) ดูว่ามีส่วนที่เป็นซินไบโอติกส์ (Synbiotics) หรือไม่ เพื่อช่วยให้การทำงานดีขึ้น 5) ตรวจสอบความน่าเชื่อถือบนกล่องผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ซินไบโอติกส์ คือ การรวมพรีไบโอติกส์กับโพรไบโอติกส์เข้าไว้ด้วยกัน โดยถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ การนำวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมาพัฒนา แปรรูปเพื่อให้กลับมามีมูลค่า และเกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อหลักแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Model) ทั้งนี้ ตัวอย่างผลไม้ที่แนะนำให้รับประทาน ได้แก่ กล้วย ซึ่งมีโพรไบโอติกส์ และน้อยหน่า แตงโม เกรปฟรุ๊ต มีพรีไบโอติกส์ อันจะขอกล่าวถึงพรีไบโอติกส์ในลำดับถัดไป

            พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คือ ไฟเบอร์ชนิดหนึ่งที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้เอง ถือเป็นอาหารของโพรไบโอติกส์ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในผักผลไม้ต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ กล่าวคือ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ โดยเมื่อพรีไบโอติกส์เข้าสู่ร่างกาย จะเกิดการย่อยสลายโดยแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ ทำให้กลายเป็นกรดไขมันสายสั้น ซึ่งมีประโยชน์ต่อลำไส้ใหญ่ ถือได้ว่าพรีไบโอติกส์เป็นตัวช่วยยับยั้งการเกิดโรค และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย สรุปสั้น ๆ คือ พรีไบโอติกส์ ไม่สามารถย่อยสลายได้ในลำไส้เล็ก จึงต้องมีโพรไบโอติกส์ช่วยย่อยสลายที่ลำไส้ใหญ่ และเนื่องจากมีสภาวะทนต่อความเป็นกรดในกระเพาะอาหารได้มาก จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูป

            ประโยชน์ของพรีไบโอติกส์เพิ่มเติมนั้น นอกจากช่วยให้ทางเดินอาหารมีสุขภาพดีแล้ว ยังช่วยในการดูดซึมแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แคลเซียม เหล็ก หรือแมกนีเซียม อีกทั้งยังช่วยควบคุมน้ำหนักได้ เนื่องจากการที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ จึงทำให้พรีไบโอติกส์อยู่ในร่างกายได้นานกว่า ช่วยให้อิ่มท้องนานกว่าพวกคาร์โบไฮเดรต และมีงานวิจัยที่พบว่า หากสมดุลในร่างกายดี ก็จะส่งผลต่อการทำงานของสมองที่ดีขึ้นด้วย

            โมเลกุลของพรีไบโอติกส์จะประกอบด้วยโครงสร้างคาร์โบไฮเดรตที่ซับซ้อน ได้แก่ Inulin, Fructooligosaccharides (FOS), Galactooligosaccharides (GOS) และแป้งทนการย่อย (Resistant starch) เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วพรีไบโอติกส์จะผ่านไปถึงลำไส้ใหญ่โดยไม่ถูกย่อยด้วยเอนไซม์ในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก แต่จะถูกแบคทีเรียบางชนิด เช่น Bifidobacteria และ Lactobacilli ย่อยสลาย ส่วนหนึ่งจะถูกใช้เป็นแหล่งพลังงานของแบคทีเรีย และแบคทีเรียจะผลิตกรดไขมันสายสั้น (Short-chain fatty acid) ออกมา เช่น Butyrate, Propionate และ Acetate ซึ่งกรดไขมันเหล่านี้มีมีประโยชน์ต่อร่างกายโดยรวม (Athiwat Tiprasaharn, 2566) ซึ่งอาหารแต่ละชนิดก็จะมีโมเลกุลของพรีไบโอติกส์ที่แตกต่างกัน อาหารบางชนิดอาจมีเพียง 1 ชนิด หรือบางประเภทอาจประกอบด้วยหลายชนิดได้ เช่น กล้วยดิบ ก็จะมีทั้ง Inulin และแป้งทนการย่อย (Resistant starch) ยกตัวอย่างเช่น กล้วย ซึ่งหากกลายเป็นกล้วยสุกไปแล้วนั้น จะไม่มีพรีไบโอติกส์ เนื่องจากได้แปรรูปไปเป็นสารอาหารประเภทที่ร่างกายสามารถย่อยได้ตามปกติแล้ว เป็นต้น

            ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคที่มีภาวะการไม่ย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม โดยมองว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ยังมีช่องว่างอีกมาก เนื่องจากในการจะพัฒนาอาหารประเภทอื่นเพิ่มเติม ต้องมีงานวิจัยมารองรับก่อน และในการรับประทาน ต้องมีการควบคุม ดูแลยาก อีกทั้งในการเก็บรักษาจุลินทรีย์ที่มีชีวิตเหล่านี้ ต้องใช้ต้นทุนสูงในการแช่แข็ง ซึ่งเป็นความท้าทายของตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ที่ยังคงสามารถพัฒนาไปได้อีกมากเช่นกัน

            นอกจากนี้ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) คณะการแพทย์บูรณาการ ได้รวมตัวกันคิดค้น พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุดิบจากขนุนส่วนที่เหลือทิ้ง นำมาทำเป็นเจลลี่สตริป (Jelly Strip) ที่มีส่วนของพรีไบโอติกส์สำคัญเทียบเท่าจุลินทรีย์ในท้องตลาดที่นิยมนำมาใช้กัน โดยพบว่า มีส่วนช่วยเร่งอัตราการเจริญเติบโตของโพรไบโอติกส์ และช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ทั้งนี้ ผลพลอยได้คือ เป็นการช่วยสร้างมูลค่าให้กับผลไม้ไทยด้วย แม้จะเป็นวัสดุเหลือทิ้งก็ตาม

            ประเด็นที่สำคัญคือ นอกจากพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) และโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ที่ทราบข้อมูลเบื้องต้นแล้วนั้น ยังมีอีกคำหนึ่งทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องคือ ไซโคไบโอติกส์ (Psychobiotics) คือ โพรไบโอติกส์ที่มีประโยชน์จำเพาะในการรักษาอาการทางจิตเวช มีงานวิจัยที่ค้นพบว่า การเลือกชนิดของจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ไม่ว่าจะเป็นสกุลหรือสปีชีส์ที่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลต่อสภาวะทางจิตใจได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาวะพื้นฐานของร่างกายนั้น ๆ ด้วย ซึ่งในบางกรณี หากมีการบริโภคโพรไบโอติกส์อย่างเพียงพอ จะส่งผลต่อการลดความเครียด ความวิตกกังวลได้

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

ฉัตรภา หัตถโกศล. (2566). อาหารโปรไบโอติก (Probiotic) เทรนด์สุขภาพที่มาแรงกับบทบาทในการจัดการความเครียด.

            สืบค้นจาก https://www.gourmetandcuisine.com/stories/detail/2046

แทมรีน ใจกล้า. (2566). พรีไบโอติกส์จากเมล็ดขนุน เพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งทางการเกษตร. สืบค้นจาก    

            https://www.thairath.co.th/news/local/2631746

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (2566). มัดรวม ! โปรไบโอติก มาแรงปี 2023 รับเทรนด์สุขภาพ. สืบค้นจาก

            https://www.prachachat.net/marketing/news-1208225

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์. (2562). โพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ ต่างกันอย่างไร?. สืบค้นจาก

            https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/july-2019/probiotics-and-prebiotics

สุดาทิพย์ จันทร. (2566). พรีไบโอติก โพรไบโอติก และ บีซีจี เกี่ยวกันอย่างไร?. สืบค้นจาก

            https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1055757

สำนักข่าวอินโฟเควสท์. (2566). SCGP x มศว.วิจัยโพรไบโอติกสายพันธุ์พิเศษต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร HOLIS.

            สืบค้นจาก https://www.infoquest.co.th/2023/328917

Athiwat Tiprasaharn. (2566). Prebiotics (พรีไบโอติกส์) คืออะไร มีประโยชน์อะไรบ้าง?. สืบค้นจาก

            https://biocian.com/nutrient/prebiotics/

K@POOK. (2566). โพรไบโอติกยี่ห้อไหนดี ปี 2023 เสริมความปังสุขภาพด้วยจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย. สืบค้นจาก

            https://health.kapook.com/view264644.html

Plook Creator. (2566). โพรไบโอติกส์ กับ พรีไบโอติกส์ คืออะไร? ดีต่อสุขภาพจริงหรือ?. สืบค้นจาก  

            https://www.trueplookpanya.com/dhamma/content/93267-heabod-hea-

Pommypom. (2566). 4 ผลไม้ที่มีโพรไบโอติกส์ เพิ่มแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ ช่วยป้องกันท้องผูก. สืบค้นจาก

            https://women.trueid.net/detail/AKDXwR1EYX5K

RYT9. (2564). ม.มหิดล ชี้แนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เน้นประโยชน์สุขภาพ. สืบค้นจาก

            https://www.ryt9.com/s/prg/3226522

 

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

อรวรรณ ละอองคํา. (2562). โพรไบโอติก : จุลินทรีย์คัดสรรเพื่อสุขภาพ. สืบค้นจาก

            https://kukr.lib.ku.ac.th/kukr_es/kukr/search_detail/dowload_digital_file/20008455/139390

 Agnieszka C.-W. & Katarzyna Ś. (2021). Probiotics, Prebiotics, and Synbiotics in the Irritable Bowel Syndrome

            Treatment: A Review. Biomolecules, 11(1154): 1154. Retrieved from https://kasets.art/s7hQC3

 Ioannidis, O.; Chatzakis, C.; Tirta, M.; Anestiadou, E.; Zapsalis, K.; Symeonidis, S.; Bitsianis, S.; Kotidis, E.;

            Pramateftakis, M. G.; Mantzoros, I. & Angelopoulos, S. (2023). The Efficacy of Probiotics, Prebiotics, and

            Synbiotics in Patients Who Have Undergone Abdominal Operation, in Terms of Bowel Function Post-

            Operatively: A Network Meta-Analysis. Journal of Clinical Medicine, 12(12): 4150. Retrieved from

            https://kasets.art/0gtEVp

 Nagashimada, M. & Honda, M. (2021). Effect of Microbiome on Non-Alcoholic Fatty Liver Disease and the Role

            of Probiotics, Prebiotics, and Biogenics. International journal of molecular sciences [Int J Mol Sci],

            22(15). Retrieved from https://kasets.art/GGUPxY

 Olas, B. (2020). Probiotics, prebiotics and synbiotics-a promising strategy in prevention and treatment of

            cardiovascular diseases?. International Journal of Molecular Sciences, 21(24): 1-15. Retrieved from

            https://kasets.art/enbSRy

 Yadav, M. K.; Kumari, I.; Singh, B.; Sharma, K. K. & Tiwari, S. K. (2022). Probiotics, prebiotics and synbiotics:

            Safe options for next-generation therapeutics. Applied Microbiology & Biotechnology, 106(2): 505-521.

            Retrieved from https://kasets.art/PLScJh


 
 
 
1xbet casino siteleri bedava bahis kaçak bahis superbetin yeni giriş casino siteleri