เทรนด์สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ปี 2024

(Wellness and Well-being)

ผู้เรียบเรียง

ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์

นักเอกสารสนเทศชำนาญการ ฝ่ายบริการ

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

              ปัจจุบันผู้คนหันมาสนใจสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีกันมากขึ้น หลังจากที่ประสบกับปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นโรคภัยใหม่ ๆ ที่ร้ายแรง จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่โรคภัยต่าง ๆ ก็ยังมีเข้ามาใหม่ไม่จบสิ้น ส่งผลให้ผู้คนหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งทำให้กลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง และอาจยาวไปถึงปี 2024 อีกทั้งส่งผลต่อการประกอบธุรกิจและเทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาไปอย่างควบคู่กัน โดยเบื้องต้นหากพิจารณาอาจเห็นเป็นเพียงเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์ แต่เมื่อปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนไป ทำให้การใช้ชีวิตของผู้คนก็เปลี่ยนไปด้วย เรื่องของการแพทย์ที่แทรกผ่านเรื่องของความเป็นอยู่และการดูแลสุขภาพ ย่อมทำให้ผู้คนตระหนักและตื่นตัวที่จะเริ่มต้นด้วยตัวเอง ทั้งนี้ ยังส่งผลไปถึงลักษณะสำคัญที่ต่างประเทศมองประเทศไทยว่าเป็น Medical Tourism ด้วย แสดงว่าประเทศไทยมีความโดดเด่นในเรื่องนี้ จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ

ที่มา : healthsource-solutions.com

หากกล่าวถึงการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีรายได้จากส่วนนี้ค่อนข้างสูง ตั้งแต่ก่อนเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และช่วง 2-3 ปีที่เผชิญมานั้น รายได้ก็ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากอุปสรรคในเรื่องของการเดินทางที่เป็นไปอย่างยากลำบาก แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา รายได้ของประเทศไทยจากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) นี้ก็กลับมาเพิ่มขึ้นเช่นเดิม และคาดการณ์ว่าในปี 2024 นั้นน่าจะเพิ่มขึ้นไปได้อีก ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนประเทศแถบตะวันออกกลางเป็นหลัก และภายหลังได้เริ่มมีประเทศเพื่อนบ้านหันมาสนใจประเทศไทยมากขึ้น ในฐานะของการเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism)

            จากการที่ประเทศไทยถือได้ว่ามีความโดดเด่นในเชิงการแพทย์ ซึ่งภายหลังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพไปมากขึ้น โดยเฉพาะความโดดเด่นในเรื่องของ ‘การตรวจยีน การตรวจพันธุกรรม’ ‘การแพทย์แม่นยำ หรือการแพทย์เฉพาะบุคคล’ และ ‘เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ’ รวมถึงมีการค้นพบเซลล์ต้นกำเนิด เทโลเมียร์ ดีเอ็นเอ อันเป็นกลไกต้นน้ำแห่งความชรา และความเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ มากมาย ทั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า เราให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพและความเป็นอยู่ (Wellness and Well-being) ค่อนข้างมาก หากเทียบกับเทรนด์ของโลกในช่วงปี 2023 ต่อเนื่องถึงปี 2024 ที่กำลังจะมาถึงนั้น ยิ่งสอดคล้องกันและมีแนวโน้มเห็นได้ชัดเจน

            หากกล่าวถึงเทรนด์ธุรกิจในปี 2023 ที่ยังคงจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2024 นั้น กล่าวคือ มี 3 เทรนด์ คือ Health & Wellness นวัตกรรมและประหยัดพลังงาน และ ‘Petriarchy’ เป็นคำเรียกเปรียบเหมือนสัตว์เลี้ยงเป็นใหญ่ เช่นที่เรียกกันว่า ทาสหมา ทาสแมว ซึ่งในปี 2024 นั้น ก็ยังจะเห็นว่า ผู้คนต่างยังคงให้ความสำคัญกับสุขภาพกันอยู่หรืออาจเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโรคภัยต่าง ๆ มากมายยังคงมีเข้ามาเพิ่มทุกวัน รวมถึงการมุ่งเน้นมองหานวัตกรรมรักษ์โลกที่มากกว่าการเกิดประโยชน์กับตัวเองเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการมองถึงประโยชน์ทั้งจากแหล่งผลิตและต่อชุมชน สังคมไปด้วย และในส่วนของสัตว์เลี้ยงที่นิยมอย่าง สุนัขและแมว จนมีกระแสเรียกกันว่า “ทาสหมา ทาสแมว” ดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ก็ได้กระจายไปสู่สัตว์เลี้ยงอื่น ๆ เช่น หนู กระต่าย กระรอก ฯลฯ หรือสัตว์แปลกมากมาย ซึ่งได้กลายเป็นเทรนด์ในยุค 2024 ที่จะเรียกว่า Pet Parents นอกจากนี้ ยังมีเพิ่มขึ้นมาอีก 3 เทรนด์ ได้แก่ (1) เทรนด์ Aging Societies กล่าวคือ ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ทำให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้าน Health Wellness ที่ผู้สูงอายุในยุคสมัยนี้แตกต่างจากเมื่อก่อน ทั้งความสามารถ ศักยภาพที่ยังทำอะไรได้เพิ่มขึ้นแม้จะอายุมากแล้วก็ตาม รวมถึงการดูแลตัวเอง ในขณะที่มีกำลังทรัพย์เพิ่มขึ้นด้วย (2) เทรนด์ความจางลงของช่องว่างระหว่าง Gen กล่าวคือ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาจต้องทำตัวเองให้ชัดเจนว่ามีความโดดเด่นเรื่องใด ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายใด ซึ่งแม้ผู้สูงอายุจะมีอายุเพิ่มขึ้น แต่หลายคนก็เริ่มยอมรับกระแสต่าง ๆ ได้ ไม่แตกต่างจากกลุ่มวัยอื่นเลย บางครั้งกลับมีความต้องการใช้สิ่งเดียวกันกับ Gen อื่น ๆ เพื่อตอบโจทย์ตัวเองบางอย่าง ซึ่งอาจทำให้ช่องว่างระหว่าง Gen ลดลงได้ด้วยการพัฒนานวัตกรรมให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มเป้าหมายไปพร้อม ๆ กัน และ (3) ความปลอดภัยจากการใช้ AI และผลต่อมนุษย์ กล่าวคือ ต่อไปจะเริ่มมีการนำ AI มาใช้กับในหลาย ๆ ส่วน เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระการทำงานของคน แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ ความปลอดภัยที่เกิดขึ้น ต้องไม่ให้เกิดการมาทำหน้าที่แทนคน ที่ส่งผลให้ต้องมีการปลดคนหรือยกเลิกการจ้างออกไป รวมถึงความเข้าใจข้อมูลบางอย่างที่อาจผิดพลาดจนส่งผลต่อคนได้ เป็นต้น

            ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า เทรนด์ที่กล่าวมา ส่วนใหญ่เป็นไปในเรื่องของ Health & Wellness แม้ว่าที่เพิ่มขึ้นมาจะเป็น เทรนด์ Aging Society หรือความจางลงของช่องว่างระหว่าง Gen แต่หากมองดูในส่วนของรายละเอียดแล้ว จะพบว่า เชื่อมโยงถึงเรื่องของสุขภาพและความเป็นอยู่ทั้งสิ้น เนื่องจากผู้สูงอายุก็ต้องการการดูแลตัวเอง สุขภาพที่ดีเพิ่มขึ้น หรือช่องว่างระหว่าง Gen ที่ทำให้ผู้สูงอายุหันไปใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ช่วยลดอายุผิวพรรณ หรือบำรุงสุขภาพ ให้มีชีวิตอยู่ได้ยาวนานขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ย่อมส่งผลถึงการพัฒนาด้านสุขภาพ (Wellness) เพิ่มขึ้นด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ดังเช่น การปรับปรุงหรือพัฒนาทางด้านสุขภาพในองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ Wellness Clinic คือ รูปแบบของคลินิกที่เปลี่ยนไป จากแต่เดิมรักษาโรค ปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มเป็นไปตามความต้องการทางด้านการตรวจเกี่ยวกับสุขภาพต่าง ๆ แทน Wellness Retreat & Retreat Resort คือ สถานที่ท่องเที่ยวที่เพิ่มการฟื้นฟูเยียวยาทั้งสภาพร่างกายและจิตใจในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมา Wellness Tourism กล่าวคือ ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา พบว่า ชาวจีนต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยและญี่ปุ่นมากที่สุด โดยเฉพาะประเทศไทย จึงจำเป็นต้องเตรียมแผนการรับมือนักท่องเที่ยวจีนที่จะเพิ่มขึ้น Wellness Product คือ จำพวกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมสร้างบำรุงสิ่งต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแพทย์ และ Wellness Hotel & Wellness Real Estate คือ การที่ที่พักต่าง ๆ ยกระดับจากการเป็นเพียงที่อยู่อาศัยทั่วไปให้มีการสนับสนุนด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้นด้วย

            นอกจากนี้ ในอนาคตอีกไม่ไกลน่าจะเกิด Digital Hospital ขึ้น ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศเริ่มมีแล้ว เป็นการที่โรงพยาบาลให้คำปรึกษาผ่านทางอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วขึ้น ยิ่งกับในสังคมไทยที่จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ Digital Hospital นี้น่าจะตอบโจทย์การเดินทางของผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยสะดวกมากขึ้นด้วย ก่อนหน้านี้ จะพบว่า ประเทศอังกฤษได้เริ่มใช้แอปพลิเคชั่นระบบบริการสุขภาพ เพื่ออำนวยความสะดวก โดยก่อนหน้านี้ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในเดือนมีนาคม 2023 จะทำให้มีการใช้งานในลักษณะการที่ผู้ใช้บริการได้รับข้อความการนัดหมายต่าง ๆ จากโรงพยาบาลผ่านแอปพลิเคชั่นได้ และในปี 2024 จะทำให้สามารถปรึกษาแพทย์ผ่านวิดีโอคอลได้ ดังเช่น ลักษณะของการเป็น Digital Hospital ที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งประเทศอังกฤษที่ผ่านมามีการใช้ระบบที่ชื่อว่า NHS App (National Health Service) กล่าวคือเป็นระบบเดียวกับระบบบริการสุขภาพของรัฐ ซึ่งในประเทศไทย มีที่เริ่มใช้ลักษณะนี้บ้างในบางโรงพยาบาล เช่น ศิริราชคอนเน็กต์ (Siriraj Connect) ของโรงพยาบาลศิริราช หรือ สมิติเวช เวอร์ชัวล์ ฮอสพิทอล (Samitivej Virtual Hospital) ของโรงพยาบาลสมิติเวช เป็นต้น แต่แอปพลิเคชั่นเหล่านี้เป็นเพียงแอปพลิเคชั่นเฉพาะของโรงพยาบาล ยังไม่สามารถใช้ระบบเดียวกันทั้งประเทศได้ ซึ่งยังไม่ครอบคลุมเหมือนกับประเทศอังกฤษ ที่เป็นระบบบริการสุขภาพเดียวกัน โดยผู้ใช้บริการจะได้เข้าถึงในสิ่งเดียวกันพร้อมกัน ไม่ต้องแยกเป็นหลายแอปพลิเคชั่น หลายโรงพยาบาล ทำให้เกิดความสะดวกในการติดต่อและเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงข้อมูลไม่กระจัดกระจาย

            แมคคินซี แอนด์ คอมพานี (Mckinsey & Company) (กรุงเทพธุรกิจ, 2566) พบว่า มิติทางด้านสุขภาพที่ควรให้ความสนใจมี 6 มิติ ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจทางด้าน Health & Wellness สามารถนำไปเป็นแนวทางปรับใช้ได้ ประกอบด้วย (1) Better Health คือ การที่ผู้บริโภคสามารถกำหนดการดูแลสุขภาพเองได้ เช่น การขอคำปรึกษาจากแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ การซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์มาไว้ที่พักเพื่อช่วยประเมินสุขภาพเบื้องต้น เป็นต้น ซึ่งแนวโน้มในอนาคตจะมีผู้บริโภคลักษณะนี้เพิ่มขึ้น (2) Better Fitness คือ การมีสมรรถภาพร่างกายที่ดี ซึ่งปัจจุบันเริ่มเป็นไปในลักษณะของการฝึกปฏิบัติที่บ้านผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Trainer มีการสอนผ่านช่อง Youtube เป็นต้น (3) Better Nutrition คือ การมีโภชนาการที่ดี ที่ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจสุขภาพที่มากกว่าเพียงรสชาติเท่านั้น (4) Better Appearance คือ การมีรูปลักษณ์ที่ดี โดยมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะต้องการการผ่าตัดศัลยกรรมความงามเพิ่มขึ้น และต้องการนำเสนอความเป็นตัวเองให้เด่นชัด (5) Better Sleep คือ การที่ผู้บริโภคต้องการการนอนหลับที่ดี หลับลึก หลับสบาย เพื่อฟื้นฟูสุขภาพมากขึ้น โดยปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาผลิตภัณฑ์ทั้งที่บริโภคได้ รวมถึงอุปกรณ์ นวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมการดูแลสุขภาพทางอ้อมให้นอนหลับได้ดีขึ้น (6) Better Mindfulness คือ สิ่งที่ช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจที่ดี ซึ่งปัจจุบันก็มีแอปพลิเคชั่นที่ทำมาเพื่อตอบสนองในส่วนนี้เพิ่มขึ้นด้วย

            สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่นั้น ก็ได้แก่เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันนี้ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ได้มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องของสุขภาพ ซึ่งสิ่งที่ควรรู้เพิ่มเติมอีกคือ แนวโน้มเทคโนโลยีที่จะได้รับความนิยมในปี 2024 อันจะทำให้ทราบข้อมูลที่อาจมีผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหรือแย่ลง ประกอบด้วย

          (1) การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบพลังงาน: เน้นที่พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยเฉพาะระบบการจัดการพลังงานและเทคโนโลยีบ้านอัจฉริยะ

          (2) การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการจัดส่งและโลจิสติกส์: เนื่องจากการสั่งสินค้าออนไลน์มีเพิ่มขึ้น ระบบคลังและการติดตามขนส่งจึงเป็นสิ่งที่อาจมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

           (3) ระบบจัดการการเงินและการชำระเงินดิจิทัล: จะมีการใช้บัตรเครดิตออนไลน์เพิ่มขึ้น การชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่น ในลักษณะสังคมไร้เงินสด

          (4) การเพิ่มความปลอดภัยในอินเทอร์เน็ต: การเพิ่มการป้องกันการแฮกระบบ การเข้าถึงรหัสต่าง ๆ ด้วยวิธีการที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งหรือความปลอดภัยของข้อมูลเพิ่มขึ้น

          (5) นวัตกรรมด้านสุขภาพและการดูแลสุขภาพ: มีทั้งการใช้แอปพลิเคชั่นเพื่อช่วยตรวจสอบ นัดหมายทางการแพทย์ หรือตัวช่วยสำหรับการดูแลสุขภาพต่าง ๆ เนื่องจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ทำให้สามารถพัฒนาฟังก์ชั่นการทำงานต่าง ๆ ได้มากมาย

            และเมื่อกล่าวถึงนวัตกรรมด้านสุขภาพและการดูแลสุขภาพ ก็ยังมี 5 เมกะเทรนด์สุขภาพ ที่เกี่ยวข้องอีกต่อหนึ่ง อันเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 ประกอบด้วย

          (1) Internet of Health กล่าวคือ เป็นระบบบริการสุขภาพที่เชื่อมต่อกับเทคโนโลยี เช่น การให้คำปรึกษาทางออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต สังคมไร้เงินสด เป็นต้น

          (2) Human Dynamic for Well-being กล่าวคือ ความหลากหลายของประชากรในด้านต่าง ๆ เช่น วัย เพศ สถานภาพ การประกอบอาชีพ รายได้ การศึกษา เป็นต้น ย่อมส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์ทางด้านสุขภาพของประชากรกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายนี้ได้

          (3) An Era of New Risk Frontiers กล่าวคือ เป็นทิศทางความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ที่ส่งผลต่อด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือสถานการณ์รูปแบบใหม่ต่าง ๆ ก็ตาม

          (4) People Centric Prosumer กล่าวคือ เป็นทิศทางการดูแลสุขภาพในรูปแบบใหม่ ที่ประชาชนมีความตระหนักรู้เพิ่มขึ้นในการดูแลสุขภาพ และเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของตนเองได้ด้วยตัวเองเพิ่มขึ้น รวมถึงตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐผ่านแพลตฟอร์ม social media ต่าง ๆ ได้

          (5) Decentralized financing model กล่าวคือ เป็นทิศทางการเงินแบบใหม่ที่มีลักษณะการกระจายและทำให้เกิดแรงจูงใจเพิ่มขึ้นในการกระตุ้นให้เกิดการดูแลสุขภาพ ซึ่งแต่เดิมที่มีข้อจำกัดทางการเงิน

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ. (2566). ส่องโอกาสทางธุรกิจ 'สุขภาพและการแพทย์' ปี 2024. สืบค้นจาก    

            https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1098407

กรุงเทพธุรกิจ. (2566). เทรนด์สุขภาพ 2024 ดูแลสุขภาพแบบรายบุคคล. สืบค้นจาก

            https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1096288

ฐานเศรษฐกิจ. (2566). เทรนด์ธุรกิจ ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง. สืบค้นจาก

            https://www.thansettakij.com/business/marketing/580315

ไทยรัฐออนไลน์ . (2565). อังกฤษวางแผนใช้ ‘แอปพลิเคชัน’ กับระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ 

            หวังปรึกษาแพทย์ผ่านหน้าจอภายในปี 2024. สืบค้นจาก 

            https://plus.thairath.co.th/topic/everydaylife/101742

ไทยรัฐออนไลน์. (2566). จับกระแส “เทรนด์ธุรกิจ” ปี 2024 ไปทางไหน? สินค้ารักษ์โลก-เพื่อคนสูงวัย

            และทาสสัตว์เลี้ยง มาแรง!.สืบค้นจาก 

            https://www.thairath.co.th/money/business_marketing/trends/2737882

Xapiwat (นามแฝง). (2566). 5 แนวโน้มเทคโนโลยีที่น่าจะได้รับความนิยมในประเทศไทยปี 2024. สืบค้นจาก

                https://board.postjung.com/1474188

 

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

Kirkland, C. & Hallam, J. S. (2023). Addressing Community Health Worker Wellness and Self-care: 

           A Formative Evaluation. Health Behavior and Policy Review, 10(3): 1279-1290. Retrieved from

            https://kasets.art/3JE577

 

Okpalauwaekwe, U.; Ballantyne, C.; Tunison, S. & Ramsden, V. R. (2022). Enhancing health and 

            wellness by, forand with Indigenous youth in Canada: a scoping review. BMC Public Health, 

            22(1): 1-18. Retrieved from https://kasets.art/xMV56N

 

Plester, B.; Sayers, J. & Keen, C. (2022). Health and wellness but at what cost? Technology media j

            ustifications for wearable technology use in organizations. Organization, 00(0): 1-23. 

            Retrieved from https://kasets.art/YcNJMA

 

White, R.; Flynn, A.; Riadi, I.; Rodrigues, E.; Moreno, S.; Cosco, T. & Sixsmith, A. (2022). 

            Technologies for healthand wellness in later life. Gerontechnology, 21. 

            Retrieved from https://kasets.art/lIg45W

 

Zhou, M.; Luo, H.; Hong, J.; Gao, D.; Shen, Y. & Liang, M. (2023). Establishment of a value 

            evaluation system for health and wellness tourism resources: Reflections on China's 

            official tourism resource evaluationcriteria. PLoS ONE, 18(7): 1-16. 

            Retrieved from https://kasets.art/vRbJSp

 


 
 
 
1xbet casino siteleri bedava bahis kaçak bahis superbetin yeni giriş casino siteleri