KULIB Talk#31 กำแพงแสนม่วงจัมโบ้ กระเจี๊ยบแดงสายพันธุ์ใหม่ ที่มีสารแอนโทไซยานินปริมาณสูง ต่อต้านอนุมูลอิสระ ผลงานชิ้นโบว์แดงจากคุณอุทัยวรรณ ด้วงเงิน

วันนี้จะพาทุกท่านมาที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน มาชมกระเจี๊ยบอีกหนึ่งสายพันธุ์ซึ่งมีการพัฒนาให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม และให้คุณค่ามากกว่าเดิมด้วย ตอนนี้ผู้ที่จะมาให้ข้อมูลกับเรานั่งอยู่ตรงนี้แล้ว ขอต้อนรับอาจารย์อุทัยวรรณ ด้วงเงิน

จากที่เกริ่นไปจะเป็นกระเจี๊ยบแดงพันธุ์กำแพงแสนม่วงจัมโบ้ อยากทราบว่ามีลักษณะพิเศษอย่างไร
กระเจี๊ยบแดงพันธุ์กำแพงแสนม่วงจัมโบ้ เป็นพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมข้ามระหว่างพันธุ์สุดาและพันธุ์กลีบยาว เราต้องเข้าใจก่อนว่ากระเจี๊ยบแดงที่ปลูกในประเทศไทยสามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ ก็คือกระเจี๊ยบแดงที่ใช้บริโภคยอดอ่อนใบอ่อนกับกระเจี๊ยบแดงที่ใช้กลีบดอก หรือคนทั่วไปมักจะเรียกว่า ดอกกระเจี๊ยบแดงเป็นหลัก สำหรับกระเจี๊ยบแดงม่วงจัมโบ้จะมีกลีบสีม่วงขนาดใหญ่กว่าพันธุ์เดิมซึ่งใช้กันอยู่ และก็มีสารแอนโทไซยานินซึ่งเป็นสารสำคัญสูงกว่าพันธุ์ดั้งเดิมที่ใช้กันอยู่

ในส่วนของที่เราเอามาทำน้ำกระเจี๊ยบแดง เราเอามาจากสายพันธุ์อะไร
ในตลาดทั่วไปที่ใช้กันอยู่หลายสิบปีมาแล้ว จะมีอยู่ 2 พันธุ์ก็คือ พันธุ์สุดาและพันธุ์กลีบยาวมก.

ที่เราบอกว่าดอกกระเจี๊ยบ เราเรียกถูกหรือไม่
จริงๆแล้ว ส่วนที่เรียกว่าดอกกระเจี๊ยบจะเข้าใจกันผิด คนทั่วไปจะเข้าใจว่าส่วนที่เราเอามาต้มน้ำเป็นสีแดง สีม่วงคือดอก แต่จริงๆแล้วคือส่วนของกลีบเลี้ยง ดอกกระเจี๊ยบเป็นพืชที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับพวกชบา ดอกของเขาจะบานแค่วันเดียว แล้วก็ร่วงไป พอร่วงไปแล้วกลีบเลี้ยงเขาจะมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

พิธีกร เพราะฉะนั้นแสดงว่าที่เราเอามาต้มทำเป็นน้ำกระเจี๊ยบ ไม่ใช่ดอกถูกไหมคะ เป็นกลีบเลี้ยง แต่ดอกจริงๆ คือร่วงไปแล้ว
: ใช่ค่ะ เหมือนดอกไม้ คือบานแล้วจะร่วงลงไปภายในวันเดียว

กระเจี๊ยบแดงสรรพคุณหลักๆมีอะไรบ้าง
ในกระเจี๊ยบแดงมีสารสำคัญหลักๆอยู่ก็คือสารแอนโทไซยานินและกรดอินทรีย์หลายชนิด ทั้งกรดซิตริก มาลิก ทาร์ทาริก จากข้อมูลของคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่าประโยชน์ของสารแอนโทไซยานิน ก็คือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ แล้วก็มีการวิจัยพบว่ามีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระได้สูงกว่าวิตามินซีและวิตามินอี ถึง 2 เท่า

พิธีกร อันนี้คือช่วยเรื่องลดริ้วรอย
: ใช่ค่ะ นั่นส่วนหนึ่งลดการอักเสบ ช่วยปกป้องหลอดเลือด กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจหลอดเลือดได้ และยังช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด สามารถป้องกันมะเร็งได้หลายชนิด แล้วก็ยับยั้งเชื้อ E.coliที่เป็นสาเหตุของท้องเสียได้ด้วย

พิธีกร แสดงว่ามันไม่ได้ช่วยในเรื่องของการขับถ่าย
: กระเจี๊ยบแดงถ้าเราทำเป็นน้ำดื่ม มันเป็นยาระบายอ่อนๆ อยู่แล้ว จะช่วยขับปัสสาวะและก็เป็นยาระบายอ่อนๆ

พิธีกร แสดงว่าทานมากไม่ดี
: ก็แล้วแต่ธาตุคน ถ้าคนที่ธาตุแข็งทานกระเจี๊ยบดีก็จะช่วยระบายได้ดีขึ้น

พิธีกร จะเป็นการระบายในส่วนของการขับปัสสาวะ ไม่ใช่เป็นการถ่ายใช่ไหมคะ
: ใช่ค่ะ

นอกจากเราเอามาทำน้ำกระเจี๊ยบแล้ว ตัวกระเจี๊ยบแดงสามารถนำมาทำผลิตภัณฑ์อะไรอื่นๆ ได้อีกไหม
เท่าที่มีการทำอยู่ทั่วไปในระดับอุตสาหกรรม ก็จะเป็นการสกัดสีธรรมชาติ สกัดสารแอนโทไซยานินทำเยลลี่ แยม ไวน์ พวกนี้ แต่ว่าจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาได้นำกระเจี๊ยบแดงไปทำเป็นยาเม็ดกระเจี๊ยบแดง สำหรับผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงด้วย

พิธีกร เอาสรรพคุณที่อาจารย์เกริ่นมาก่อนหน้านี้ มาสกัดเป็นเม็ดยา มันมีวางจำหน่ายทั่วไปไหม
: เป็นยาพื้นฐานยังไม่ได้จำหน่ายทั่วไป แต่แพทย์สามารถให้ยาอันนี้แก่ผู้ป่วยได้

พิธีกร ถือเป็นยาสมุนไพร
: ใช่ค่ะ ที่ค่อนข้างปลอดภัยมาก

เราพูดถึงกระเจี๊ยบแดงทั่วไป ในต้นเทปพูดถึงพันธุ์กำแพงแสนม่วงจัมโบ้ อาจารย์มีการวิจัยพันธุ์นี้ออกมาได้อย่างไร อยากให้อาจารย์เล่าให้ฟัง
คือช่วงแรก เราได้ทำการศึกษากระเจี๊ยบแดงหลากหลายสายพันธุ์ 20กว่าพันธุ์ เราก็จำแนกได้อย่างที่บอก ก็คือพวกกลีบเลี้ยงเล็กๆ ซึ่งเราใช้ประโยชน์จากยอดอ่อน แล้วก็พวกกลีบเลี้ยงใหญ่ซึ่งใช้ประโยชน์จากกลีบเลี้ยง พบว่าในตลาดที่ใช้อยู่ ก็จะมีหลักๆแค่ 2พันธุ์ คือพันธุ์สุดาและพันธุ์กลีบยาว ซึ่งเราใช้มานานมากหลายสิบปี แล้วก็จากการที่ทำงานกับกระเจี๊ยบแดง เราก็พบว่าดอกของเขามีความสวยงาม แล้วกลีบก็สวยด้วย

พิธีกร ยังไม่เคยเห็นดอก โดยมากจะเห็นตัวที่เขาเอามาทำน้ำ
: ใช่ค่ะ เพราะว่าหลังจากดอกบานแล้วมันต้องใช้เวลาอีกประมาณ1เดือน ถึงจะสามารถเก็บเกี่ยวกลีบเลี้ยงได้ เมื่อกี้พูดถึงพันธุ์สุดากับพันธุ์กลีบยาวก็เลยมีความคิดว่า ถ้าอย่างนั้นจากการวิจัยเขาก็พบว่ากระเจี๊ยบแดงเป็นพืชผสมตัวเอง ก็คือการผสมข้ามในธรรมชาติเกิดขึ้นน้อยมาก น้อยกว่า 0.1 0.5% ด้วยซ้ำไป

พิธีกร ผสมตัวเองในที่นี้ หมายถึงว่า เกสรตัวผู้ตัวเมีย
: เขาจะผสมกันก่อนที่ดอกจะบาน ทำให้ไม่สามารถที่จะผสมข้ามพันธุ์ทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นพันธุ์อื่นได้ ซึ่งการวิจัยพบว่ามันสามารถผสมได้ แต่น้อยมากๆ ก็เลยลองใช้วิธีถ้าเราปลูกแล้วก็ใช้ผึ้งในธรรมชาติเป็นตัวช่วยในการถ่ายละอองเกสร จะลองดูว่าเขาสามารถผสมข้ามระหว่างพันธุ์ได้ไหม ก็เลยเกิดเป็นแนวความคิดว่า เราจะลองทำดูโดยใช้ผึ้งจากธรรมชาติ เพราะมือคนไม่สามารถทำได้

พิธีกร คือก็จะคล้ายๆหลักการผสมปกติทั่วไปคือผึ้งจะเป็นตัวนำ
: ใช่ค่ะ ปกติผึ้งเป็นแมลงที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ต่อพืชต่างๆมาก ในการช่วยผสมเกสรแล้วก็ทำให้เกิดติดดอกติดผล หรือการก่อเกิดพันธุ์ใหม่ๆขึ้นมา อันนี้ก็ถือเป็นโชคดี ซึ่งที่เราสามารถได้พันธุ์ลูกผสมที่เกิดจากการผสมข้ามระหว่างพันธุ์สุดาและพันธุ์กลีบยาว หลังจากได้พันธุ์ลูกผสมรุ่นแรก ก็ได้ทำการปลูกเป็นรุ่นที่ 2 3 4 แล้วก็ทำการคัดเลือก ในการคัดเลือกเราก็จะใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับขนาดของกลีบเลี้ยง สี แล้วก็รูปทรงของกลีบเลี้ยงด้วย เพราะว่าการกระจายตัวของยีนที่ควบคุมสีจะต่างกัน ถ้าสีเข้มจะเป็นยีนเด่น สีเข้มคือสีแดง ม่วง สีม่วงจะเป็นยีนเด่น ส่วนสีขาว สีชมพู จะเป็นยีนด้อย มันก็จะเกิดการกระจายตัวของยีน การจับคู่ของยีน ทำให้เราได้สายพันธุ์กระเจี๊ยบแดงพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีตั้งแต่สีม่วง ม่วงเข้ม สีแดง สีแดงอ่อน สีชมพู สีขาว มาพร้อมๆกัน

พิธีกร แสดงว่าเราก็จะได้ทุกสีเลย มาจากต้นเดียวๆ
: ใช่ค่ะ รุ่นผสมรุ่นแรก

ความจัมโบ้มาจากสายพันธุ์อะไร
ความจัมโบ้ เราต้องเข้าใจว่าพันธุ์ที่เกิดจากเป็นลูกผสมจะมีความดีเด่นกว่าพันธุ์พ่อแม่ เราก็ใช้ลักษณะพวกนี้ คือกลีบใหญ่ แข็งแรง เติบโตดี แล้วก็มีสารสูง อันนี้เป็นลักษณะที่ดีของพันธุ์ลูกผสมทั่วๆไป ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ว่าเราต้องการคัดเลือกลักษณะไหนที่เราต้องการนำมาใช้ประโยชน์

พิธีกร ก็คือเราสามารถเลือกยีนเด่นของมันออกมา
: ใช่ค่ะลักษณะเด่นของเขาออกมาได้ ซึ่งจริงๆ ในการคัดเลือก เราสามารถได้พันธุ์ที่มีสีม่วงเข้มมากกว่าพันธุ์ม่วงจัมโบ้ด้วย ซึ่งเราเรียกว่าพันธุ์แอนโทไซยานินสูง แต่ว่าขนาดของกลีบเลี้ยงจะเล็กกว่าพันธุ์ม่วงจัมโบ้

พิธีกร มาจากสายพันธุ์เดียวกันใช่ไหม
: ต้นพันธุ์เดียวกัน แต่ว่าเกิดการกระจายตัวในรุ่นลูก รุ่นต่อๆ มา ซึ่งเราก็ได้ทำการคัดเลือกจนกระทั่งถึงรุ่นที่ 7 รุ่นที่8 จนกระทั่งเกิดความคงตัวของสายพันธุ์ แล้วก็ทำการเผยแพร่ให้สาธารณชนรู้จัก ก็อยากให้ได้เห็นความสวยงามของดอกของเขา แล้วก็ได้เห็นประโยชน์ความหลากหลายของกลีบเลี้ยงที่ออกมา

พิธีกร เพราะว่าโดยมากที่เข้าใจว่า อันที่ต้มกินคือดอก แต่อันนี้ทำให้บุคคลทั่วไปได้รู้ว่า ลักษณะส่วนต้นหรือส่วนประกอบของกระเจี๊ยบมันเป็นอย่างไร
: ใช่ค่ะมีความหลากหลายมากขึ้นแล้วก็ใช้ประโยชน์กว้างขวางขึ้น

นอกจากกลีบเลี้ยงจะขนาดใหญ่แล้ว คุณค่าอะไรที่เพิ่มขึ้นมามากขึ้น
ที่หลักๆก็จะเป็นปริมาณสารแอนโทไซยานินซึ่งจริงๆแล้วสารแอนโทไซยานินเราสามารถพบได้ในผัก ผลไม้ และธัญพืชที่มีสีแดงม่วง สีน้ำเงิน แต่ว่าในกระเจี๊ยบจะพบได้ในปริมาณสูงทีเดียวแล้วมันก็สามารถจะไปพัฒนาเป็นอาหารชนิดต่างๆ เป็นยา เป็นเวชภัณฑ์ได้หลายชนิดโดยใช้ประโยชน์จากสารแอนโทไซยานินตัวนี้ มีสรรพคุณทางด้านเภสัช อย่างที่บอกไปแล้วก็จะทำง่ายๆ ทำเป็นน้ำกระเจี๊ยบ มันก็จะช่วยแก้ไข้ แก้ร้อนในแก้เจ็บคอ ทำให้สดชื่นเนื่องจากมีวิตามินซี อะไรพวกนี้

พิธีกร วิตามินซีสูง
: ใช่ค่ะ ในแง่สมุนไพรก็สามารถดื่มชงเป็นชากระเจี๊ยบ ช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาล สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำตาลในเลือด แล้วก็ไขมันในเลือดได้
ตอนนี้ทางอาจารย์ได้พัฒนาออกมากี่สายพันธุ์
ตอนนี้ที่เราได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ไปแล้วจำนวน 12 สายพันธุ์ เป็นพันธุ์แอนโทไซยานินสูง 2 พันธุ์ เป็นพันธุ์จัมโบ้มีสีม่วงสีแดง สีชมพู 3 พันธุ์ เป็นพันธุ์กลีบบาน มี 3 สีเหมือนกัน 3 พันธุ์ แล้วก็เป็นพันธุ์กลีบหุบ มี 3 สีอีกเหมือนกัน 3 พันธุ์ แล้วก็พันธุ์สีขาว

แต่ละสายพันธุ์มีความต่างกันอย่างไร
ความแตกต่างของเขาอย่างที่บอก อันที่หนึ่งก็คือสีของกลีบเลี้ยง ซึ่งเราจะเป็น4สีหลักๆ ก็คือ สีม่วง ม่วงก็คือแดงม่วง สีแดง สีชมพู และก็สีขาว นอกจากสีแล้ว เราก็จะดูรูปทรงของกลีบดอกว่าเป็นแบบไหน มันก็จะมีแบบทรงกระบอก ทรงกลีบบานแล้วก็ทรงกลีบหุบแบบดอกบัวอย่างนี้ ช่วงคัดเลือกก็จะเวียนหัวหน่อย ทำไมมันมากมายขนาดนี้

อยากทราบความแตกต่างแต่ละสายพันธุ์ที่อาจารย์พัฒนามา มีการเอาไปแปรรูปในรูปแบบต่างๆหรือว่ามันแปรรูปได้เหมือนกัน
แปรรูปกลีบเลี้ยงสีม่วง สีแดง สีชมพู สามารถเอามาแปรรูปได้ทุกชนิด แต่ว่ากลีบเลี้ยงสีม่วงก็จะมีปริมาณแอนโทไซยานินสูงกว่าสีแดง และก็สูงกว่าสีชมพู 3 สีอันนี้มันเป็นตัวบ่งบอกว่ามันมีปริมาณอยู่มากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นในแง่ของการใช้ประโยชน์จากสารแอนโทไซยานินไปสกัดสี สกัดสารแอนโทไซยานินทำเป็นสมุนไพรเป็นยา เป็นเครื่องดื่ม สีม่วงจะให้ปริมาณสารสำคัญดีที่สุดสูงที่สุด

พิธีกร แล้วอย่างพวกดอกที่เป็นดอกสีขาว อันนั้นเราเอาไปทำอะไรได้
: สีขาวมีปริมาณกรดเหมือนกับกระเจี๊ยบแดงที่มีสีอื่น แต่ไม่มีสารแอนโทไซยานินเราสามารถจะนำมาใช้เป็นสารเติมความเปรี้ยวให้กับเครื่องดื่มชนิดอื่นๆได้อย่างเช่น ผลหม่อน ลูกหม่อนที่ทำน้ำหม่อนรสชาติก็จะจืดๆใช่ไหม น้ำเครื่องดื่มอื่นๆที่ไม่มีรส เราสามารถใช้กระเจี๊ยบสีขาวนำไปสกัดสีเพิ่มความเปรี้ยวได้ หรือจะนำไปรับประทานสดๆก็ได้ ใส่ในสลัดในยำ ซึ่งจะเป็นความเปรี้ยวแบบกรอบๆ ของกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดง

 

 

พิธีกร ก็คืออย่างไรมันก็ยังให้คุณค่าทางอาหารเหมือนกัน
: อีกอย่างหนึ่งนอกจากใช้ทำอาหารแล้ว กระเจี๊ยบแดงอย่างที่บอกเขามีกลีบเลี้ยงสวยงามมีรูปทรงของกลีบเลี้ยงต่างๆกัน กลีบเลี้ยงของเขามีความคงทนสามารถใช้เป็นไม้ปักดอก ไม้ปักแจกัน หรือทำช่อดอกไม้ก็ได้


พิธีกร คือต้องบอกอาจารย์ก่อนว่ายังไม่เคยเห็นดอก ที่เป็นดอกของมันเลยเพราะตอนแรกคือทุกทีก็จะเห็นตามตลาดจะเป็นกลีบเลี้ยงที่นำมาต้ม ก็เลยสงสัยว่ามันเอามาทำอะไรได้นอกจากแปรรูปทำอาหาร ทำน้ำ ก็คือเอามาตกแต่งได้
: ใช่ค่ะ ตอนนี้เราก็กำลังทำวิจัยว่าจะนำกระเจี๊ยบแดงไปทำไม้ปักดอกได้อย่างไรบ้าง วิธีการรักษาอย่างไรให้คงอยู่นาน

พิธีกร และลำต้นมัน ใช้ได้ไหม
: ใช้ได้ จริงๆกระเจี๊ยบแดงใช้ได้ทุกส่วน ลำต้นจะมีไฟเบอร์สูงมาก บางที่จะเอาไปทำเป็นเชือก

พิธีกร แต่ไม่ได้เอามาทาน ตอนแรกเข้าใจว่ามีไฟเบอร์สูงต้องทาน เอาไปทำเชือกใช่ไหมคะ
: ที่ทานคือยอดอ่อน และใบอ่อน มีไฟเบอร์มากเราก็จะเคี้ยวไม่ไหว ไม่น่ากิน มันหยาบ แต่ว่าที่เราทานกันก็จะเป็นยอดอ่อนแล้วก็ใบอ่อนของกระเจี๊ยบ

พิธีกร ลำต้นส่วนมากเขาจะเอามาทำเป็นเชือก
: แต่ในบ้านเราก็จะมีการใช้ประโยชน์ค่อนข้างน้อย ที่ใช้ก็คือใช้ทานยอด ทานยอดอ่อนดอกอ่อนซึ่งจะมีวิตามินเอสูง และก็จะมีธาตุพวกแคลเซียมและแมกนีเซียมสูงด้วย

แต่ละสายพันธุ์ ในการปลูกมันมีวิธีปลูกที่มันแตกต่างกันไหม เราจะต้องมีการเตรียมสถานที่ปลูก เตรียมดินอย่างไร
จริงๆกระเจี๊ยบแดงเป็นพืชที่ปลูกค่อนข้างง่าย แล้วก็ค่อนข้างทนแล้ง แต่ว่าในช่วงแรกของการปลูก ก็อาจจะต้องการน้ำฝนช่วยในการเจริญเติบโตด้วย แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงเราอาจจะต้องให้น้ำเพิ่ม จริงๆ การปลูกกระเจี๊ยบแดงไม่ได้ต่างจากพันธุ์ดั้งเดิม ก็คือสามารถจะปลูกโดยการหย่อนเมล็ดโดยตรง หรือจะเพาะกล้าก็ได้ ถ้ามีปริมาณเม็ดน้อยๆหรือจะปลูกในพื้นที่ไม่เยอะ การเตรียมดินก็เหมือนกับการปลูกข้าวโพดปลูกพืชไร่อะไรทั่วไป ก็คือไถพรวน กำจัดวัชพืช ถ้าในที่ที่ระบายน้ำได้ไม่ดีก็อาจจะทำการยกร่องสักหน่อย เพราะกระเจี๊ยบแดงจะไม่ชอบน้ำขัง เพราะน้ำขังอาจจะทำให้เกิดโคนเน่า รากเน่าได้

มักจะปลูกในช่วงไหน
กระเจี๊ยบแดงพิเศษนิดนึง เพราะเขาเป็นพืชวันสั้นที่ตอบสนองต่อแสงแดด กระเจี๊ยบแดงเขาจะไม่ออกดอกทั้งปี เขาจะออกดอกเมื่อช่วงวันสั้นมาถึง ก็คือประมาณเดือนตุลาคมเท่านั้น ฉะนั้นฤดูปลูกที่เหมาะสมสำหรับกระเจี๊ยบแดงคือประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมของทุกปี

พิธีกร อันนี้ถือเป็นพืชล้มลุกไหมคะ
: เป็นพืชล้มลุก ถ้าเราปลูกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม พอเริ่มเข้าเดือนตุลาคม เขาก็จะเริ่มออกดอก ถูกกระตุ้นด้วยแสงชั่วโมงของแสงที่มันลดลงก็จะกระตุ้นให้เขาออกดอก พอดอกออกดอกร่วงไป กลีบเลี้ยงเขาจะเติบโตเขาจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนพฤศจิกายนจนถึงธันวาคมซึ่งช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่ปลอดฝนแล้วก็มีแดดดีซึ่งมันเหมาะสำหรับการตากแห้ง

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ออกมาตลอดปีเพราะว่ามันมีช่วงในการออกดอกอยากจะถามว่าผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้กระเจี๊ยบแดงตลอด เขาเอาผลิตภัณฑ์เก็บอย่างไร
ส่วนใหญ่เขาจะใช้วิธีตากแห้งหรืออบแห้งไว้ใช้ปีต่อปี

พิธีกร ก็คือจะเก็บช่วงเดียว
: ใช่ค่ะ สามารถจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงพฤศจิกายน ธันวาคม อาจจะถึงมกราคมแล้วช่วงนี้เราก็ทำการตาก หรืออบเก็บไว้ในที่ไม่โดนแสง ก็จะสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานหลายเดือน


พิธีกร สรรพคุณจะเท่ากับสดไหมคะ
: สรรพคุณ ปริมาณสารสำคัญในกลีบเลี้ยงก็จะลดลงเรื่อยๆ ตามการเก็บรักษาขึ้นอยู่กับสถานที่ที่เราเก็บมันมืดไหม มีแสงไหม ถูกออกซิเจนเข้าไปทำปฏิกิริยามากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นการเก็บรักษานี้มีส่วนในการรักษาคุณภาพของกระเจี๊ยบแดง


พิธีกร ก็แสดงว่าอยู่ที่ห้องเก็บด้วยว่าเรามีห้องเก็บกระเจี๊ยบเหมาะสม
: ไม่ต้องห้อง อาจจะเก็บในถุงทึบแสง หรือในขวดโหลได้เหมือนกัน

พิธีกร เข้าใจว่าอาจจะต้องอยู่ในห้องปิดทึบหรือห้องแลปหรือมีอะไรอย่างนี้
: ไม่จำเป็นค่ะ เก็บในที่แห้งและเย็นกันชื้นไม่โดนแสงเท่านั้นเองเก็บแบบแช่แข็งก็ได้ แล้วก็นำมาใช้ ใช้ได้เหมือนกัน

อาจารย์บอกว่ามันจะsensitiveกับน้ำ เรื่องน้ำเราต้องดูแลเรื่องน้ำมันอย่างไร
ก็คือจริงๆแล้วกระเจี๊ยบแดง ถ้าเราปลูกในหน้าฝนส่วนใหญ่ มันจะได้น้ำฝนช่วยในการเจริญเติบโต แต่ในบริเวณที่มีน้ำขังอะไรพวกนี้มันก็อาจจะกระตุ้นให้กระเจี๊ยบแดงเป็นโรคได้ง่ายขึ้น การระบายน้ำก็เป็นสิ่งจำเป็นเท่านั่นเอง นอกจากนี้การใช้ระยะปลูกที่เหมาะสม ก็คือถ้าเราปลูกเร็ว ประมาณกรกฎาคม สิงหาคมก็ควรจะใช้ระยะปลูกห่างหน่อย เพราะกระเจี๊ยบจะมีการเจริญเติบโตทางลำต้น กิ่งก้านมาก ถ้าปลูกแน่น ชิดเกินไปอาจทำให้เกิดเป็นโรค การหักล้มได้ง่าย กระเจี๊ยบต้องการแดดมากเป็นพืชต้องการแสงมากไม่ควรปลูกในที่ร่ม รำไร


พิธีกร สงสัยว่าถ้าต้องการแดดมากทำไมเราไม่ปลูกในช่วงหน้าร้อน
: ถ้าปลูกในช่วงหน้าร้อนเขาจะโตแต่ลำต้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงตุลาคม จะไม่มีดอก ต้นจะสูงใหญ่มาก บ้านเรามีแดดทั้งปี แต่ว่าเมษายนอุณหภูมิจะสูงมาก จะร้อนเกินไป และการสะสมสารแอนโทไซยานินในพืช ในกระเจี๊ยบแดง หรือพืชอื่นๆ เขาพบว่ามีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิ ยิ่งอุณหภูมิต่ำจะยิ่งช่วยกระตุ้นให้พืชสามารถสร้างสารแอนโทไซยานินได้สูงขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นการปลูกในฤดูหนาวหรือว่าฤดูที่ไม่ร้อนจัดจะช่วยให้กระเจี๊ยบสามารถสะสมสารสำคัญได้สูงขึ้นด้วย

พิธีกร ถ้าจะตัดกระเจี๊ยบไปใช้ประโยชน์ควรตัดในช่วงปลายๆ ปี
: ใช่ค่ะ จะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคม อุณหภูมิจะเริ่มลดลง จะเริ่มเย็นลง จะกระตุ้นให้กระเจี๊ยบสร้างสารได้สูงขึ้นมากขึ้น

ถ้าท่านผู้ชมสนใจสอบถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ช่องทางไหนบ้าง
สามารถติดต่อได้ทาง facebook ของศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน ติดต่อมาที่เบอร์โทรศัพท์ 081-9369260 และเป็นเบอร์ Line id ด้วย

 

แนะนำทรัพยากรสารสนเทศที่น่าสนใจ


 
 
 
1xbet casino siteleri bedava bahis kaçak bahis superbetin yeni giriş casino siteleri